life

The Writer’s Room
No.02

ห้องไร้สัญญาณไวไฟ และกระท่อมกลางป่า ของนีล เกแมน (Neil Gaiman)
ผู้ใช้ศิลปะการเล่าเรื่องปลุกความฝัน และจินตนาการของคนทุกวัยให้กลายเป็นจริง

Photo: MasterClass (2019). Neil Gaiman Teaches the Art of Storytelling. Yanka Industries Inc.

นีล เกแมน เป็นมากกว่านักเขียน เพราะเขาคือ ‘นักเล่าเรื่อง’ (storyteller) ผู้สร้างสรรค์ผลงานได้อย่างโดดเด่น ผ่านการใช้ภาษาเขียนเพื่อบรรยายและอธิบายภาพในความคิดที่เขาเห็นหรือจินตนาการไว้ ด้วยวิธีการสื่อสารที่แตกต่างกัน ผลงานของเขาจึงมีรูปแบบการนำเสนอที่หลากหลาย ทั้งหนังสือ ภาพยนตร์ ซีรีส์ เพลง ภาพวาด บทความเชิงข่าว หรือแม้กระทั่งบทสัมภาษณ์ที่เขามีโอกาสได้พูดคุยกับบุคคลสำคัญ

ทุกวันนี้ ชื่อของเขาได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ในฐานะเจ้าของผลงานเขียนที่ประสบความสำเร็จระดับโลก โดยเฉพาะในแวดวงของผู้ที่สนใจเรื่องสั้นและนวนิยายแนวแฟนตาซี เพราะเขาสามารถผสมผสานเรื่องราวระหว่างตำนานลึกลับ ความเชื่อโบราณ และเทพปกรนัม เข้ากับแง่มุมเชิงวิทยาศาสตร์ให้ออกมาเป็นผลงานใหม่ได้อย่างสนใจ และชวนให้ติดตามอ่านอยู่เสมอ 

ในฐานะผู้อ่าน หลายคนอาจสงสัยว่า
อะไร คือสาเหตุที่ทำให้เขาเชี่ยวชาญด้านการเขียนเรื่องเล่า และ
อะไร คือเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของผลงานเหล่านั้น

Photo: Stanislav Lvovsky (2010). Neil Gaiman. Flickr.

เมื่อย้อนกลับไปในวัยเด็ก นีล เกแมน เริ่มอ่านหนังสือได้เองตั้งแต่อายุ 4 ขวบ ถือว่าเร็วมากเมื่อเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่นๆ ในวัยเดียวกัน เขายังบอกด้วยว่า ตั้งแต่จำความได้ การอ่านหนังสือคือสิ่งที่เขารักมากที่สุด และมีความสุขทุกครั้งเมื่ออยู่ในห้องสมุด

ทุกครั้งที่มีเวลาว่าง เขาจะเข้าไปนั่งอ่านหนังสือในห้องสมุดของโรงเรียน หรือไม่ก็ห้องสมุดชุมชนย่านชนบทในประเทศอังกฤษ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านนัก เขาเรียกตัวเองว่า นักอ่านตัวยง ถึงขนาดอ่านหนังสือสำหรับเยาวชนจนครบทุกเล่ม

ช่วงชีวิตในวัยเด็กของเขาจึงเติบโตมากับผลงานนิยายสยองขวัญของ เดนนิส วีตลีย์ (Dennis Wheatley) วรรณกรรมชุดตำนานแห่งนาร์เนียของ ซี. เอส. ลิวอิส (C. S. Lewis) วรรณกรรมเรื่องอลิซในดินแดนมหัศจรรย์ ของ ลูอิส แคร์รอล (Lewis Carroll) นิยายแฟนตาซีเรื่องเดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ของ เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน (J. R. R. Tolkien) และตัวละครแบทแมนในหนังสือการ์ตูน

นิสัยรักการอ่านทำให้เขารู้ตัวเองอย่างชัดเจนว่า จะโตขึ้นไปเป็นนักเขียนให้ได้ แล้วเขาก็ไม่เคยไขว้เขว้ในเป้าหมายที่ตั้งไว้ จนกระทั่งเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น เขาและครอบครัวย้ายถิ่นฐานมาใช้ชีวิตในสหรัฐอเมริกาแทน ในที่สุด เขาได้เริ่มต้นอาชีพที่ใช้ทักษะการเขียนอย่างผู้เขียนข่าว (journalist) และนักหนังสือพิมพ์ ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นนักเขียนการ์ตูนให้กับค่าย DC Comics ซึ่งเป็นงานที่เริ่มสร้างชื่อเสียงให้เขา

Photo: Vera Golosova (2014). How I met Neil Gaiman in Stockholm. http://veragolosova.pro/

ผลงานการ์ตูนของเขาจำนวนมากได้รับรางวัลยอดเยี่ยม เปิดโอกาสให้เขาเริ่มต้นจริงจังกับการเขียนนวนิยายและเรื่องสั้น รวมถึงสร้างสรรค์ผลงานเขียนใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมาโดยตลอด

ถึงตรงนี้ คำตอบของทั้งสองคำถามที่หลายคนใคร่รู้ จึงไม่ได้ลึกลับ ซับซ้อน หรือมีเงื่อนงำเหมือนกับนวนิยายที่เขาเขียน หากแต่เป็นคำตอบที่เรียบง่ายและตรงไปตรงมาที่สุด นั่นคือ ‘การอ่าน’

เมื่อการอ่านเป็นกิจกรรมสำคัญในชีวิตของ นีล เกแมน เขาจึงสร้างห้องสมุดขนาดใหญ่ไว้ภายในบ้าน

Photo: Neil Gaiman [@neilhimself]. (2012). Retrieved from https://twitter.com/neilhimself/status/253514354786447360
หนังสือทุกเล่มถูกจัดเรียงเข้าชั้นอย่างเป็นระเบียบ ชวนให้คิดเล่นๆ ว่า หากต้องนับจำนวนหนังสือในห้องนี้ว่ามีทั้งหมดกี่เล่ม คงเป็นงานที่หนักหนาเอาการ และอาจต้องใช้เวลาเป็นวัน 

Photo: Ron Brinkmann (2009). The Neil Gaiman Library. Flickr.

หากสังเกตลงไปในรายละเอียดจะพบว่า หนังสือหลายเล่มมีสภาพเก่าเก็บ ทั้งยังปรากฏร่องรอยผ่านการเปิดอ่าน หรือใช้งานมาอย่างสมบุกสมบัน ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ที่บอกให้รู้ว่า นี่แหละคือห้องของหนอนหนังสือตัวจริง

Photo: Ron Brinkmann (2009). The Neil Gaiman Library. Flickr.

ถึงแม้ว่าบรรยากาศในห้องสมุดจะชวนให้ใช้ความคิด และปลอดปล่อยจินตนาการได้อย่างอิสระ แต่เขากลับไม่ได้ใช้ห้องนี้เป็นสถานที่เขียนงาน เพราะห้องทำงานจริงๆ ของเขาต้องเดินออกจากตัวบ้านเป็นระยะทางไกลมากพอ จนสัญญาไวไฟส่งไปไม่ถึง เป็นความตั้งใจเพื่อจะได้ไม่ถูกรบกวนจากความวุ่นวายใดๆ ขณะใช้สมาธิคิดและเขียน

ที่ลับแห่งนั้นคือ ศาลาไม้ทรงแปดเหลื่ยม (gazebo) แวดล้อมไปด้วยแมกไม้ยืนต้นสูงตามธรรมชาติ ไม่มีเสียงโทรศัพท์ดังรบกวน ไม่มีเสียงแจ้งเตือนข้อความจากอีเมล หรือแอปพลิเคชันใดๆ เพราะเขาไม่ใช้คอมพิวเตอร์ จะมีก็แต่เสียงนกร้อง และเสียงใบไม้เสียดสีกันอย่างไม่เป็นจังหวะเพราะแรงลม ซึ่งเสียงจากธรรมชาติเหล่านี้เองที่สร้างสมาธิให้เขาสามารถจดจ่ออยู่กับงานเขียนได้ตลอดทั้งวัน

Photo: Neil Gaiman (2013). in which the author goes for a walk and then tries to answer some of the things in the mailbag. Neil Gaiman’s Journal.

บนโต๊ะทำงาน มีสมุดและกระดาษกองใหญ่ ปากกาหลายขนาด และขวดที่บรรจุน้ำหมึกสีเข้ม เพราะเขาคุ้นชินกับวิธีเขียนด้วยลายมือมากกว่า ทั้งวาดการ์ตูนและเขียนนวนิยาย เขาบอกว่าการเลือกใช้สีหมึกสลับกันในแต่ละวัน ระหว่างน้ำเงินกับดำ เป็นเคล็ดลับส่วนตัวที่ช่วยให้เขาเขียนงานได้ไหลลื่นและต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลงานเขียนระดับรางวัลอย่าง The Graveyard Book

Photo: Craig Lassig (2010). Associated Press. via Business Insider.

บนโต๊ะของเขายังมีสิ่งแปลกประหลาดวางอยู่ด้วย นั่นคือ ซากมือซอมบี้ 

เขาบอกว่ามันไม่เคยอยู่นิ่งๆ หรอกนะ เพราะระหว่างใช้จินตนาการเพื่อเขียนเรื่องราวต่างๆ เขาจะเห็นมันขยับ และคืบคลานไปทั่วห้อง เป็นความรู้สึกที่เขาชอบมากๆ 

Photo: Neil Gaiman (2013). Friends, Companions & Protectors. Neverwear.

ไม่ใช่มีแค่มือซอมบี้ที่เป็นแรงบันดาลใจให้เขา แต่ยังมีสถานที่ในความฝัน เรื่องราวการผจญภัย กำหนดนัดส่งงาน ความเศร้า รวมถึงเพื่อนสี่ขาตัวใหญ่

เขาเรียกมันว่า Cabal ตามชื่อสุนัขของกษัตริย์อาเธอร์ในยุคกลาง เพราะมันมักจะตามเขาเข้ามาอยู่ในห้องนี้ด้วย ราวกับว่าเป็นผู้คุ้มครองประจำตัว Cabal จึงเป็นสัตว์เลี้ยงที่เขารักมากที่สุด และเสียใจที่สุดในวันที่ต้องสูญเสียมันไป

Photo: Neil Gaiman (2013). a very late blog, about trying to make art with a lot of people, including you. Neil Gaiman’s Journal.

หลังจากนั่งเขียนงานในศาลามานานนับสิบๆ ปี ปัจจุบัน เขาสร้างกระท่อมหลังเล็กๆ สำหรับทำงานโดยเฉพาะ 

Photo: Neil Gaiman [@neilhimself]. (2018). Retrieved from https://twitter.com/neilhimself/status/1068917427679973376
และหันมาใช้คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คพิมพ์งานควบคู่ไปกับการเขียนด้วยมือ

Photo: Weston Wells (2019). Inside Neil Gaiman’s Rural Writing Retreat. Variety.

สำหรับนีล เกแมน ไม่มีอะไรจะดีไปว่าการได้ลงมือทำในสิ่งที่รักอย่างกล้าหาญ เพราะเขาเชื่อมั่นในพลังของการริเริ่มด้วยตัวเอง เขียน วาด และสร้างสรรค์ในแบบที่ตัวเองเป็น ซึ่งเขาได้พิสูจน์ให้เห็นผ่านผลลัพธ์จากความตั้งใจจริง

แน่นอน คงไม่ใช่เพียงแค่เขาคนเดียว เพราะสำหรับคนที่ทุ่มเทให้กับทุกขั้นตอนในการทำงาน ย่อมรู้ความจริงในข้อนี้ดีว่า ความสำเร็จไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เกิดขึ้นจากความมุ่งมั่นและความพยายามอย่างสุดความสามารถ

ไม่ว่าจะอยู่ในวัยไหนหรือมีอายุเท่าไหร่ หากได้อ่านหนังสือของเขา ทุกคนจะมีความสุขไปกับเรื่องราวในจินตนาการและความฝัน ซึ่งจะไม่มีวันสิ้นสุดลง

ผลงานเขียนเล่มสำคัญของนีล เกแมน

Stardust (1997)
นวนิยายแนวแฟนตาซีโรมานซ์ (Romantic Fantasy) ว่าด้วยเรื่องราวของ ‘ทริสตัน’ ผู้พยายามมอบหัวใจให้กับสาวที่เขาตกหลุมรัก แต่เธอกลับเย็นชาและทำตัวห่างเหิน เขาจึงให้คำมั่นว่าจะออกตามหา และเก็บดวงดาวที่ร่วงหล่นจากฟ้ามาเป็นของขวัญให้เธอ ในฐานะหญิงผู้เป็นที่รัก โดยเขาไม่รู้เลยว่าคำสัญญาเพื่อพิสูจน์รักแท้ จะนำพาเขาไปสู่โลกแห่งจินตนาการเกินนึกฝัน

Coraline (2002) / คอรัลไลน์ (ฉบับภาษาไทย โดย สำนักพิมพ์เวิร์ดส์วอนเดอร์)
นวนิยายแนวสยองขวัญที่กระตุ้นเร้าให้ผู้อ่านรู้สึกหวาดกลัว (Dark Fantasy) ว่าด้วยเรื่องราวของ ‘คอรัลไลน์’ เด็กสาวผู้เบื่อหน่ายชีวิตในบ้านหลังใหม่ เพราะพ่อและแม่ของเธอต่างทำงานจนไม่มีเวลาให้ วันหนึ่งเธอค้นพบกับประตูสู่โลกคู่ขนาน ทุกสิ่งในบ้านหลังนั้นน่าตื่นตากว่ามาก แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความแปลกประหลาดเริ่มปรากฏ เธอจะต้องใช้ความฉลาดและความกล้าหาญเพื่อค้นหาความจริง และกลับออกมาสู่ชีวิตเดิมให้ได้ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป

The Graveyard Book (2008) / ผจญภัยในสุสาน (ฉบับภาษาไทย โดย สำนักพิมพ์เวิร์ดส์วอนเดอร์)
นวนิยายแนวแฟนตาซี ว่าด้วยเรื่องราวของ ‘บ๊อด’ เด็กชายที่เติบโตขึ้นมาในสุสานเก่า เขาได้รับการเลี้ยงดูและอบรมสั่งสอนโดยเหล่าวิญญาณและภูตผี เพราะโลกของคนเป็นมีแต่ความโหดร้ายและอันตราย โลกแห่งความตายภายในสุสานจึงเป็นสถานที่คุ้มภัย คอยปกป้องเขาจากการถูกบางสิ่งบางอย่างตามล่า จนกระทั่งวันที่เขาได้รู้จักกับเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง ชะตาชีวิตของเขาจึงพลิกผันครั้งใหญ่ หลังจากตกลงเป็นเพื่อนกับเธอ

อ้างอิง