life

The Writer’s Room
No. 19

ห้องที่โอบล้อมด้วยขุนเขาของเปาโล คนเญตติ
นักเขียนชาวอิตาลีผู้ค้นพบชีวิตใหม่จากความทรงจำและการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ

Photo: Jacques Demarthon / AFP

ความสงบเงียบไม่เพียงทำให้ เปาโล คนเญตติ (Paolo Cognetti) มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่ตัวเองกำลังตั้งใจเขียนอยู่เบื้องหน้า แต่ยังช่วยให้เขาได้ยินเสียงของใจที่ไม่เคยเงี่ยหูฟังสักครั้ง ทั้งๆ ที่ความดังของเสียงนั้นอาจกึกก้องอยู่ภายในไม่เคยผ่อนเบาเช่นกัน เพราะตลอดเวลาที่ผ่านพ้น เสียงในใจของคนเญตติกลับถูกคลื่นอื้ออึงจากความวุ่นวายในเมืองใหญ่ดังกลบรบกวนทุกวินาที

ก่อนหน้านี้ ชีวิตวัยผู้ใหญ่ของเขาเผชิญกับจุดพลิกผันครั้งสำคัญ เมื่อทุกอย่างในปัจจุบันไม่เป็นไปอย่างใจต้องการ คนเญตติจึงหวนคิดถึงวัยเด็กในอดีต หวังให้โอกาสตัวเองได้คืนสู่วันวานอีกครั้ง เขาจึงออกเดินทางกลับไปสู่ความทรงจำโดยลำพัง และนั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนเญตติมีชีวิตใหม่เป็นเจ้าของผลงานวรรณกรรมอิตาลีร่วมสมัยเรื่องเอกอย่าง ‘แปดขุนเขา’ ที่ได้รับการยกย่องเทียบขั้นวรรณกรรมคลาสสิกระดับโลก

เดิมทีคนเญตติเป็นคนเมืองโดยกำเนิด เพราะเขาเกิดและเติบโตที่มิลาน หนึ่งในเมืองท่องเที่ยวขึ้นชื่อของประเทศอิตาลี แต่พ่อของคนเญตติมักจะพาครอบครัวไปตากอากาศบนหุบเขาที่ห่างไกลจากเมืองใหญ่เป็นประจำทุกปี ซึ่งไม่ใช่การท่องเที่ยวหรือพักผ่อนหย่อนใจ ถ้าจะเรียกให้ถูกต้องที่สุด เป็นการเปลี่ยนสถานที่เพื่อใช้ชีวิตในอีกรูปแบบหนึ่งเสียมากกว่า

Photo: Courtesy of Paolo Cognetti

ด้วยความเป็นเด็ก ในสายตาของคนเญตติ ณ ตอนนั้น มองเห็นพ่อของตัวเองเป็นคนนิ่งเงียบและเคร่งขรึม ทั้งคู่แทบจะไม่เคยคุยเล่นหรือเย้าแหย่กันเลย เพราะพ่อจริงจังกับการพร่ำสอนให้เขารู้จักเอาตัวรอดและเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติบนหุบเขาแห่งนั้น คนเญตติจึงกลายเป็นเด็กที่ต้องจำใจทำตามสิ่งที่พ่อบอก ทั้งเดินเท้าลัดเลาะไปตามเส้นทางต่างระดับของหุบเขา หัดตกปลานำมาประกอบอาหาร เฝ้าสังเกตความเปลี่ยนแปลงของต้นไม้ใบหญ้า และฝึกฝนร่างกายให้สอดรับกับสภาพแวดล้อมรอบตัว แม้ว่าในหัวของเขาจะเต็มไปด้วยคำถามก็ตาม

ยังดีที่บนหุบเขาพอมีเด็กรุ่นราวคราวเดียวกับคนเญตติให้เขาคบหาเป็นเพื่อน ทั้งคู่จึงสนิทสนมและเข้าขากันในเวลาอันสั้น อาจเป็นเพราะว่าไม่มีคนมากหน้าหลายตาเหมือนในเมืองใหญ่ให้เขาเลือกที่รักมักที่ชังใครก็ได้ เมื่อไร้ตัวเลือก มิตรภาพจึงก่อเกิดขึ้นอย่างไม่ต้องลังเลใจ ความแตกต่างใดๆ ทั้งภูมิหลังและพื้นเพที่แต่ละคนเกิดและเติบโตขึ้นมาล้วนไม่ใช่ปัญหา หากแต่เป็นโอกาสให้พวกเขารู้จักทำความเข้าใจกันและกัน

เวลาตรงนั้นล่วงเลยไปเร็วเสมอ โดยเฉพาะตอนที่คนเญตติรู้สึกว่าตัวเองกำลังมีความสุขอยู่กับเพื่อน ในที่สุดย่อมถึงคราวที่เขาและครอบครัวต้องกลับสู่สังคมเมือง ในแง่หนึ่งคล้ายกับว่าชีวิตของคนเญตติได้คืนสู่ความคุ้นเคยมากกว่าความตรากตรำกลางหุบเขาที่ไม่คุ้นชินเท่าไหร่ แล้วความห่างเหินจากธรรมชาติก็ทำให้เขาหลงลืมประสบการณ์ในวัยเด็กไป

Photo: https://torino.repubblica.it/cronaca/2020/05/15/news/paolo_cognetti_un_incubo_la_quarantena_in_montagna_senza_la_natura_-300900140/

คนเญตติจบการศึกษาด้านคณิตศาสตร์ แต่ด้วยความสนใจภาพยนตร์เป็นทุนเดิมทำให้เขาหันเหมาเรียนการสร้างภาพยนตร์ภายหลัง ส่วนวรรณกรรมอเมริกันซึ่งเป็นสิ่งที่หลงใหลมาตั้งแต่วัยรุ่น เพราะคนเญตติชื่นชอบวรรณกรรมสะท้อนชีวิตที่มีดำเนินเรื่องหรือมีฉากหลังเป็นธรรมชาติ เขาเลือกเรียนรู้วรรณกรรมและภาษาอังกฤษด้วยตัวเองผ่านการอ่านวรรณกรรมชั้นครู อย่างผลงานของ มาร์ก ทเวน (Mark Twain) และ เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ (Ernest Hemingway)

สาเหตุที่คนเญตติสนใจวรรณกรรมและการเขียนเป็นเพราะว่าเขาเคยดู Dead Poets Society (1989) ตอนอายุ 16 ปี แล้วเรื่องราวในภาพยนตร์ก็ทำให้ข้างในของเขาสั่นไหว คนเญตติคิดว่าตัวเองก็เป็นนักเขียนได้ นับแต่นั้น อาชีพนักเขียนจึงเป็นความใฝ่ฝันเงียบๆ ภายในใจที่ไม่เคยบอกให้ใครรู้ และเริ่มหัดเขียนบทกวีและบันทึกส่วนตัว

อาชีพแรกของคนเญตติคือผู้กำกับหนังสารคดี เขาเริ่มออกเดินทางไปค้นหาเรื่องราวชีวิตผู้คนที่น่าสนใจในเมืองใหญ่ จนตกหลุมรักมหานครนิวยอร์ก เพราะเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยเรื่องเล่า ถึงอย่างนั้น คนเญตติไม่เคยลืมความฝันของตัวเอง เขาซุ่มเขียนเรื่องสั้นควบคู่ไปด้วย แต่ขนาดห้องในอะพาร์ตเมนต์ที่เช่าอยู่ค่อนข้างคับแคบ สถานที่แรกๆ ที่คนเญตติเลือกใช้เป็นทางออกสำหรับนั่งเขียนงานก็คือร้านกาแฟ

ธรรมชาติของร้านกาแฟคือความจอแจของผู้คนที่เดินเข้าออกร้านตลอดเวลา แต่ทั้งหมดเป็นเงื่อนไขที่คนเญตติรับได้ เพื่อแลกกับสถานที่นั่งสบายและกาแฟดีๆ สักแก้ว ซึ่งเขาต้องการดื่มระหว่างเขียนงานทุกครั้ง

Photo: Courtesy of Agf Editorial

นอกจากแก้วกาแฟที่วางอยู่ บนโต๊ะตัวเดียวกันยังมีสมุดกับปากกาที่เขาพบติดตัวเป็นประจำ เพื่อเอาไว้บันทึกเรื่องราวที่พบเห็นและความรู้สึกที่นึกขึ้นได้เมื่ออยู่นอกบ้านหรือที่พัก ซึ่งเรื่องสั้นเรื่องแรกของเขาก็เกิดขึ้นในสมุดเล่มนั้นเช่นกัน

ปี 2003 คนเญตติในวัยยี่สิบห้า ตีพิมพ์เรื่องสั้นภาษาอิตาลีเป็นของตัวเองครั้งแรกในชื่อ Fare ordine บอกเล่าชีวิตและความสัมพันธ์ที่โกลาหลของตัวละครด้วยความหนาเพียง 12 หน้า ที่สำคัญคือคว้ารางวัลด้านวรรณกรรมอิตาลีประเภทนักเขียนที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปี กลายเป็นใบเบิกทางสู่อาชีพนักเขียนและเป็นหลักฐานที่พิสูจน์ว่าเขาเอาดีด้านนี้ได้จริง แต่ถึงอย่างนั้นคนเญตติยังคงใช้ชีวิตเป็นทั้งคนทำหนังและนักเขียน จนกระทั่งกลับมาอยู่บ้านเกิดที่เมืองมิลาน

คนเญตติจำได้ชัดเจนว่า ในวัยสามสิบ เขารู้สึกว่าตัวเองประสบกับปัญหาใหญ่ในชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นคือวิกฤตวัยกลางคน

ตอนนั้นเขาไม่มีความสุข ว่างงาน เงินเก็บเริ่มร่อยหรอ ความสัมพันธ์กับคนรักก็จบลงไม่ดี ความอ้างว้างทำให้เขาเดินเข้าไปในโรงหนังคนเดียว และดู Into the Wild (2007) ฉลองวันเกิดที่เส็งเคร็งที่สุดในชีวิต แต่หลังจากภาพยนตร์จบลง เขามีเป้าหมายใหม่ทันที เพราะหวนนึกถึงชีวิตวัยเด็กที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติขึ้นมาเสียดื้อๆ อย่างน้อยก็เป็นความทรงจำที่มีความสุขกับเพื่อนเก่า จึงเดินทางกลับไปยังขุนเขาแห่งนั้นด้วยตัวคนเดียว และอยู่บนนั้นครั้งแรกนาน 2 เดือน เพื่อซึมซับความหลัง หวังถ่ายทอดเรื่องราวและความรู้สึกออกมาเป็นนวนิยายสักเรื่อง

Photo: Courtesy of Roberta Roberto via https://www.bazarkustannus.fi/kirjailijat/paolo-cognetti/

แต่ละวันบนหุบเขา คนเญตติใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติอย่างกลมกลืน สิ่งที่พ่อสอนตอนเด็กทำให้เขามีทักษะเอาตัวรอดและรู้จักธรรมชาติรอบตัว เขาเป็นทั้งนักปีนเขาและนักสำรวจ เพื่อนสนิทของเขายังอยู่ที่นั่น พื้นที่โปรดปรานมากที่สุดของคนเญตติคือเทือกเขาแอลป์และหิมาลัย หากต้องเดินทางไกลกับเพื่อนเขาจะพบสมุดบันทึกไปด้วยเสมอ เพื่อเขียนทุกอย่างที่เป็นประโยชน์กับงานเขียน ห้องที่เขานั่งเขียนเรื่องจึงเป็นที่ไหนสักแห่งบนหุบเขา ดีที่สุดอาจเป็นเต็นท์ หรือบ้านของคนในพื้นที่ที่เขาแวะพักค้างแรมระหว่างทาง ไม่ใช่ห้องเพียบพร้อมที่มีทุกอย่างเหมือนนักเขียนอาชีพคนอื่นๆ

Photo: Courtesy of Roberta Roberto via https://www.bazarkustannus.fi/kirjailijat/paolo-cognetti/

นอกเหนือจากการเดินเขา คนเญตติใช้เวลาส่วนใหญ่นั่งเขียนงานภายในกระท่อมหลังกะทัดรัดที่สร้างจากวัสดุธรรมชาติอย่างไม้และก้อนหิน เขาใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่บนตัวโต๊ะโล่งๆ ค่อยๆ เรียบเรียงความทรงจำในหัวเข้ากับจินตนาการแล้วแต่งเป็นเรื่องราวใหม่ลงสมุด โดยเรื่องราวเหล่านั้นยังคงกลิ่นอายเค้าโครงจากประสบการณ์จริง ทั้งตัวละคร ฉากหลัง และการบรรยาย

Photo: Courtesy of Roberta Roberto via https://www.bazarkustannus.fi/kirjailijat/paolo-cognetti/

ตั้งแต่อายุ 30 เป็นต้นมา ทุกๆ ปี คนเญตติจะแบ่งเวลา 6 เดือนเต็มขึ้นไปใช้ชีวิตและเขียนงานบนหุบเขา แต่เขาไม่ได้ต้องการจำศีล เพราะยังพบปะเพื่อนสนิทอยู่เรื่อยๆ และตั้งใจทำเป้าหมายให้สำเร็จ

Photo: Courtesy of Roberta Roberto via https://www.bazarkustannus.fi/kirjailijat/paolo-cognetti/
Photo: Courtesy of Campi Bisenzio via http://www.unmercoledidascrittori.it/?p=1553

ในที่สุด ปี 2016 คนเญตติได้ตีพิมพ์ผลงานที่เป็นผลลัพธ์จากการปลีกวิเวกไปอยู่บนหุบเขาด้วยภาษาแม่ คือภาษาอิตาลี นับเป็นงานเขียนลำดับที่ 6 ของเขา ความโดดเด่นของเนื้อหาและการดำเนินเรื่องของ ‘แปดขุนเขา’ ที่เห็นภาพความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตกับธรรมชาติและความงดงามของคำราวกับกำลังอ่านกวีนิพนธ์ ซึ่งกลายเป็นลายเซ็นประจำตัวของเขาในเวลาต่อมา ทำให้ผลงานนี้คว้า Premio Strega หรือรางวัลใหญ่ที่สุดของแวดวงวรรณกรรมอิตาลี รวมถึง Prix Médicis étranger รางวัลวรรณกรรมของฝรั่งเศส สร้างชื่อให้คนเญตติได้รับจดจำในฐานะนักเขียนที่น่าจับตามอง

ทุกเรื่องราวที่คนเญตติเขียนล้วนแต่แฝงความตั้งใจบางอย่างไว้ด้วยเสมอ ทั้งความหวงแหนธรรมชาติที่ไม่อยากให้เลื่อนหายไปจากใจของคน บันทึกความทรงจำที่มีความสุขของตัวเอง และเป็นหนทางทำความเข้าใจคนใกล้ชิดในชีวิตอย่างพ่อและเพื่อนสนิท เพราะการเขียนคือส่วนสำคัญให้เขารู้คำตอบที่เคยสงสัยในวัยเด็กรวมถึงสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาในชีวิตก่อนหน้า โดยใช้บทสนทนาและความนึกคิดของตัวละครเผยแง่มุมในชีวิตจริงแทนการบอกกล่าวอย่างตรงไปตรงมา

Photo: Courtesy of Roberta Roberto via https://www.bazarkustannus.fi/kirjailijat/paolo-cognetti/

ผลงานเขียนของคนเญตติจึงมักจะบอกเล่าเรื่องการเติบโตที่เป็นหมุดหมายของชีวิตผู้ชาย ทั้งความสัมพันธ์ระหว่างพ่อและลูก และมิตรภาพระหว่างเพื่อนที่เติบโตเคียงบ่าเคียงไหล่กันมา เพราะเขารู้สึกว่าเป็นกลิ่นอายที่ไม่พบเจอบ่อยนักในโลกวรรณกรรมหรือนวนิยายอิตาลี

คนเญตติพบชีวิตใหม่ท่ามกลางความสงบของหุบเขา เขารู้ตัวว่าจะอุทิศตนอย่างเต็มที่กับการเขียน นั่นเป็นที่ที่เหมาะให้เขาทุ่มเทสร้างสรรค์งานเขียนได้อย่างอิสระโดยไม่มีผู้อื่นมารบกวน เพราะธรรมชาติทำให้เขารู้จักใจตัวเอง ได้ยินเสียงข้างใน และทำสิ่งนั้นให้สำเร็จได้

ความโดดเดี่ยวไม่เคยเป็นสิ่งรบกวนใจให้คนเญตติหวาดหวั่น ตรงกันข้ามเขากลับยิ่งมีพลังและสมาธิอยู่กับการสร้างสรรค์งานเขียนที่เขาตั้งใจทำมากที่สุด สำหรับเขาความโดดเดี่ยวกลางหุบเขาคือการเลือกของเราที่จะอยู่ท่ามกลางความโดดเดี่ยวแต่กลับไม่รู้สึกเปลี่ยวเหงา เพราะป่าและภูเขาเต็มไปด้วยชีวิตของธรรมชาติ แม้จะเป็นชีวิตที่แตกต่างไปจากตัวเรา แต่กลับไม่รู้สึกแปลกแยก ขณะที่เมืองใหญ่ผู้คนอาจไม่รู้สึกโดดเดี่ยวแต่เหงาจับใจ แล้วความเหงานั้นก็อาจจองจำเรา และแบ่งแยกผู้คนให้ถอยห่างออกจากกัน

Photo: https://www.cameralook.it/web/dalle-alpi-allalaska-paolo-cognetti-sogni-di-grande-nord/

เขาไม่ได้ชังเมืองใหญ่หรือผู้คน เพียงแต่หาจุดกึ่งกลางที่สมดุลระหว่างเมืองกับกระท่อมบนภูเขาสูงกว่า 2,000 เมตรเท่านั้น และหวังว่าทุกคนที่ได้อ่านผลงานเขียนของเขา จะพบกับจุดกึ่งกลางที่ช่วยสร้างสมดุลให้ชีวิตเช่นเดียวกัน เพราะนั่นเท่ากับว่าได้พบชีวิตใหม่ เป็นชีวิตที่ดีกว่าที่ผ่านมา

ผลงานเขียนเล่มสำคัญของ เปาโล คนเญตติ

Il ragazzo selvatico. Quaderno di montagna (ตีพิมพ์ครั้งแรกปี 2013)
ข้อเขียนที่ร้อยเรียงจากประสบการณ์และความทรงจำในวัยหนุ่มของคนเญตติ เมื่อเขารู้สึกว่าชีวิตในเมืองใหญ่วุ่นวายมากเกินทน จึงตัดสินใจไปใช้ชีวิตยังหุบเขาออสตาของอิตาลี ทำให้คนเญตติค้นพบชีวิตใหม่ที่แตกต่างจากก่อนหน้าอย่างสิ้นเชิง เกิดเป็นคำถามถึงคุณค่าที่แท้จริงของการดำรงอยู่ แล้วชีวิตของเขาก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ฉบับแปลภาษาอังกฤษ ตีพิมพ์ครั้งแรกปี 2019 ในชื่อ The Wild Boy: A Memoir

Le otto montagne (ตีพิมพ์ครั้งแรก ปี 2016)
แปดขุนเขา (ฉบับภาษาไทย โดย สำนักพิมพ์อ่านอิตาลี)
บอกเล่ามิตรภาพของเด็กผู้ชายสองคนที่เกิดขึ้นบนภูเขาแห่งหนึ่งในเทือกเขาแอลป์ ทั้งคู่เติบโตขึ้นพร้อมกันบนความสัมพันธ์ที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง แม้ว่าคนหนึ่งจะไม่เคยจากขุนเขาซึ่งเป็นบ้านเกิดไปไหนเลย ส่วนอีกคนออกเดินทางท่องโลกกว้างด้วยความหวังว่าจะได้เห็นยอดเขาสวยหลายลูกในที่ไกลๆ ถึงแม้นำไปสู่คำถามชวนคิดว่า วิธีไหนทำให้เรียนรู้และเข้าใจชีวิตได้มากกว่า แต่นั้นกลับไม่ใช่แก่นสำคัญของเรื่องราวทั้งหมด

Senza mai arrivare in cima: Viaggio in Himalaya (ตีพิมพ์ครั้งแรก ปี 2018)
จากความตั้งใจฉลองวันเกิดในวัย 40 ปี ที่ต้องการเดินทางตามรอย ปีเตอร์ แมตธิเอสเซน (Peter Matthiessen) ในผลงาน The Snow Leopard (1978) กลายเป็นแรงบันดาลใจอันแกร่งกล้าให้เดินเท้ามุ่งหน้าไปยัง Dolpo ภูมิภาคอันห่างไกลบนเทือกเขาหิมาลัยที่ซึ่งเนปาลมาบรรจบกับทิเบตพร้อมกับเพื่อนที่ไม่เคยออกเดินทาง ผลลัพธ์สุดท้าย จึงไม่ใช่บันทึกการเดินทางธรรมดา แต่เป็นข้อเขียนที่ชวนให้สำรวจตัวเองผ่านธรรมชาติและวิถีชีวิตของผู้คนที่พบเจอระหว่างทาง ฉบับแปลภาษาอังกฤษใช้ชื่อว่า Without Ever Reaching the Summit: A Himalayan Journey

 

อ้างอิง