The Writer’s Room
No. 12
ห้องผีสิงที่ชวนให้รู้สึกแปลกประหลาดและไม่น่าไว้วางใจของ อาร์.แอล. สไตน์
นักเขียนเรื่องสยองขวัญผู้ได้รับการขนานนามว่า สตีเฟน คิงแห่งวรรณกรรมเยาวชน
“Reader Beware—You’re in for a Scare!” (ผู้อ่านจงระวัง เพราะคุณกำลังจะตกอยู่ในภวังค์แห่งความกลัว) นี่คือคำเตือนด้วยความบริสุทธิ์ใจจนกลายเป็นคำประจำตัวของ อาร์.แอล. สไตน์ (R.L. Stine) นักเขียนชาวอเมริกัน เจ้าของสถิติผู้สร้างสรรค์เรื่องราวสยองขวัญสำหรับเด็กและวัยรุ่น (รวมถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น) ที่มีผลงานตีพิมพ์เป็นหนังสือออกมามากที่สุดในโลก เมื่อเห็นใครก็ตามกำลังจะเปิดหน้าหนังสือของเขาเพื่อเริ่มต้นอ่าน เพราะอาจไม่ต่างจากการเข้าไปในบ้านผีสิง
สำหรับผู้อ่านที่ได้ยินคำเตือนนี้ โดยเฉพาะผู้ใหญ่หรือคนที่โตพอจนรู้ว่า เรื่องภูตผี ปีศาจ สัตว์ร้าย และสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติ อาจเป็นเพียงเรื่องแต่งเอาสนุกสำหรับใช้หลอกเด็กไร้เดียงสา ย่อมไม่เชื่ออยู่แล้ว เพราะเข้าใจว่าเรื่องเหนือจริงที่สร้างขึ้นมาให้เด็กหวาดกลัวเป็นความน่าขำขันเสียมากกว่า
ต่างจากนักอ่านรุ่นเล็กอย่างตัวเด็กๆ เอง พวกเขามักจะคิดตรงกันข้ามกับผู้ใหญ่เสมอ อย่างน้อยที่สุดก็คือเรื่องความน่ากลัว ด้วยวัยที่จินตนาการสำคัญกว่าความเป็นจริง ความมืดมิดที่ตาเห็นจึงไม่ใช่แค่มุมอับความสว่างที่แสงส่องไปไม่ถึง แต่อาจเป็นม่านดำที่ช่วยอำพรางสัตว์ประหลาดและวิญญาณอาฆาต ซึ่งรอเล่นงานคนที่ไม่ทันได้ระวังตัว
ส่วนผู้ใหญ่ ต่างก็รู้อยู่แก่ใจว่าความกลัวเป็นทั้งสิ่งน่าขยาดและน่าดึงดูดใจให้ตื่นเต้นในเวลาเดียวกัน เพราะทุกคนล้วนเคยเป็นเด็กมาก่อน ย่อมต้องเข้าใจประสบการณ์กลัวที่เค้นความรู้สึกระทึกขวัญและหวาดเกรงเมื่อครั้งเยาว์วัย
เช่นเดียวกับเด็กชายสไตน์ ผี ปีศาจ อสูรกาย และสัตว์ประหลาด ได้กลายเป็นส่วนสำคัญของชีวิตตั้งแต่เขาจำความได้ แม้ว่าบางครั้งจะรู้สึกกลัวหรือหวั่นใจเมื่อนึกถึง แต่ชีวิตของเขาคงจืดชืดน่าดูหากไม่มีพวกมันคอยสร้างสีสันในฐานะเพื่อนในจินตนาการ เพราะครอบครัวไม่มีเงินมาพอสำหรับซื้อสิ่งฟุ่มเฟือยอย่างของเล่นให้เขาได้ ขนาดเสื้อผ้าที่ใส่ เขายังต้องรับต่อมาจากลูกพี่ลูกน้องอีกทอดหนึ่ง
ความจนทำให้สไตน์อาย เขากลายเป็นเด็กที่ชอบใช้เวลาอยู่กับตัวเองภายในบ้าน ไม่ค่อยอยากไปโรงเรียน ไม่สนใจสนามเด็กเล่นละแวกบ้าน เพราะไม่ชอบเจอหน้าเพื่อนๆ เขาแทบจะไม่เคยออกไปเล่นสนุกเหมือนเด็กคนอื่นเลยด้วยซ้ำ
แม้จะเบื่อหน่ายการเรียนไปบ้าง แต่สไตน์เป็นเด็กรักการอ่าน เขาอ่านหนังสือทุกประเภท ทั้งตำราเรียน วรรณกรรม และที่ขาดไม่ได้คือหนังสือการ์ตูน
การอ่านเปิดโลกใหม่ให้สไตน์รู้จักและจินตนาการถึงเรื่องราวความชั่วร้ายและสิ่งน่ากลัว บางเรื่องปลุกเร้าอารมณ์รุนแรง บางเรื่องชวนให้ขำขัน เมื่อในหัวของเขามีความคิดเหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ สไตน์จึงต้องการถ่ายทอดออกมาเป็นหนังสือสักเล่ม เหมือนกับหนังสือการ์ตูนสยองขวัญราคาถูกที่เขาโปรดปรานมากที่สุดอย่าง Tales from the Crypt (เรื่องเล่าจากหลุมศพ) และ The Vault of Horror (สุสานปีศาจ) ซึ่งสร้างแรงบันกาลใจให้สไตน์สนใจการเขียนเรื่องสั้นของตัวเองบ้าง
ในวัยกำลังซน ขณะที่สไตน์กำลังรื้อค้นของบนห้องใต้หลังคา เขาบังเอิญพบกับเครื่องพิมพ์ดีดเครื่องเก่า แม้ฝุ่นจะขึ้นหนาแต่หลังจากทำความสะอาด เครื่องยังใช้งานได้ไม่มีปัญหา เขาจึงเอามาเป็นสมบัติส่วนตัวในห้องนอนเพื่อพิมพ์เรื่องชวนหัวและมุกตลกเอาไว้อ่านเล่น สไตน์ในวัยเก้าขวบ เริ่มต้นเขียนหนังสือและวาดการ์ตูนเป็นของตัวเอง แต่ทักษะการวาดรูปของเขาแย่มาก พยายามเท่าไหร่ก็ไร้ผล เขาจึงโบกมือลาการวาดการ์ตูน และมุ่งหน้าเอาตีด้านการเขียนอย่างเดียว พร้อมความฝันว่าโตขึ้นจะเป็นนักเขียนให้ได้
สไตน์ทำทุกอย่างเพื่อสร้างฝันให้เป็นจริง เขาศึกษาต่อด้านภาษาอังกฤษเพื่อฝึกฝนให้ตัวเองเชี่ยวชาญการใช้ภาษา และสมัครเป็นบรรณาธิการประจำ The Sundial หรือนิตยสารเรื่องขำขันของมหาวิทยาลัย จนกระทั่งจบการศึกษา เขาไม่ลังเลที่จะเลือกทำงานให้สำนักพิมพ์ เพราะมั่นใจว่าเป็นที่ที่เปิดโอกาสให้เขาเป็นนักเขียนอาชีพได้มากที่สุด
ปี 1967 สไตน์ในวัยหนุ่มอายุ 24 ปี เริ่มต้นเส้นทางนักเขียนอาชีพด้วยตำแหน่งบรรณาธิการ รับผิดชอบหน้าที่ทั้งสร้างสรรค์และดูแลภาพรวมของเนื้อหาในหนังสือและนิตยสารให้เหมาะสมกับเด็ก ผลงานในความดูแลของเขาจึงนำเสนอความตลกขบขันและเรื่องเบาสมองเป็นหลัก
เวลาผ่านไปเกือบ 20 ปี แม้ว่าผลงานของสไตน์จะได้รับความนิยมจากเด็กๆ ด้วยดีเสมอมา แต่สำนักพิมพ์จำเป็นต้องปรับโครงสร้างบริษัท เมื่อรู้ว่าตัวเองกำลังจะกลายเป็นคนว่างงาน สไตน์คิดทบทวนถึงช่วงชีวิตวัยเด็กของตัวเอง ทำให้เขาพบว่า นอกจากความตลก ยังมีอีกความรู้สึกหนึ่งที่เขาไม่ได้รู้สึกถึงมานานมากแล้ว แต่มันยังคงชัดเจนในความทรงจำไม่เคยจางหาย นั่นคือ ความกลัว
หากเรื่องสยองขวัญทำให้เด็กชายสไตน์ชอบอ่านด้วยใจที่กล้าๆ กลัวๆ ได้ บางที่การเปลี่ยนมาเขียนเรื่องสั้นแนวนี้บ้าง คงทำให้เด็กๆ รู้สึกตื่นเต้นและสนใจติดตามอ่านไม่ต่างจากเขาในวัยเด็ก นับตั้งแต่วินาทีนั้น สไตน์จึงตัดสินใจเด็ดขาดว่าจะปลุกปั้นอาชีพนักเขียนอย่างเต็มตัวด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับความน่ากลัว
Blind Date เป็นเรื่องสั้นสยองขวัญสำหรับวัยรุ่นเรื่องแรกของสไตน์ โดยตีพิมพ์ขายเป็นหนังสือในปี 1986 เขาใช้นามปากกาว่า อาร์.แอล. สไตน์ แทนชื่อเต็มอย่าง โรเบิร์ต ลอว์เรนซ์ สไตน์ (Robert Lawrence Stine) หนังสือเล่มแรกของเขาเป็นที่ชื่นชอบของเด็กๆ มาก จนทำให้ต้องเร่งเขียนเรื่องอื่นๆ ตามมา และไม่ว่าเขาจะเขียนเรื่องสยองขวัญเรื่องใด ผลงานของเขาติดอันดับหนังสือขายดีเสมอ ทั้งๆ ที่ไม่ได้ประชาสัมพันธ์ใหญ่โต แต่เป็นเพราะว่าเกิดจากการบอกปากต่อปากในหมู่เด็กๆ
สไตน์รู้สึกว่าตัวเองทำตามความฝันได้สำเร็จ และเป็นนักเขียนอาชีพที่ประสบความสำเร็จสูงสุด ตอนที่เขาเริ่มต้นเขียนเรื่องสั้นสยองขวัญชุด (ซีรีส์) Goosebumps ในปี 1992 หนังสือแต่ละเล่มเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งชั่วร้ายที่สร้างความกลัวให้เด็กๆ เป็นเรื่องสั้นๆ ที่จบในเล่ม เดิมทีเขาตั้งใจเขียนทั้งหมด 62 เล่ม แต่ด้วยความนิยมจากผู้อ่าน ผลักดันให้เขาสร้างสรรค์เรื่องน่ากลัวใหม่ๆ ขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน (กุมภาพันธ์ 2021) นับได้ 235 เล่ม และตีพิมพ์รวมกันทั่วโลกทั้ง 35 ภาษาไปแล้วมากกว่า 400 ล้านเล่ม
ในแต่ละวัน สไตน์มักจะนั่งเขียนงานอยู่ภายในห้องเพียงลำพังตั้งแต่เก้าโมงเช้าจนถึงบ่ายสามโมง เขาไม่ได้อาศัยอยู่ในบ้านเหมือนตอนเด็ก แต่อยู่บนอพาร์ทเม้นท์สูงในเมืองแมนฮัตตัน มหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ด้านหนึ่งของห้องมีหน้าต่างกระจกบานใหญ่เปิดรับแสงแดดให้ส่องเข้ามาไล่ความมืด ถึงอย่างนั้น ทุกคนที่มีโอกาสมาเยี่ยมห้องทำงานของเขา มักจะรู้สึกแปลกประหลาดมากกว่ากลัว
ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะติดภาพจำของนักเขียนเรื่องเขย่าขวัญ ประกอบกับภาพลักษณ์ของสไตน์ แม้ตัวตนจริงๆ ของเขาจะเป็นเพียงคุณลุงมีอายุ แต่ด้วยสีหน้าที่เรียบเฉยตลอดเวลา กลับชวนให้คิดว่าเขากำลังปกปิดแผนการหรือแฝงเร้นความรู้สึกบางอย่างซึ่งคงไม่มีใครคาดเดาได้
อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะบรรยากาศของห้อง เพราะสไตน์จงใจตกแต่งพื้นที่นั่งเขียนงานของเขาให้เกิดความรู้สึกไม่น่าไว้วางใจ โดยนำเอาตุ๊กตาผี โครงกระดูก หัวกะโหลก อสูรกาย แมลงสาบตัวยักษ์ และของต้องคำสาปอย่างหน้ากากหลอนที่เขาเขียนไว้ในหนังสือ มาประดิษฐ์ให้กลายเป็นสิ่งจับต้องได้จริง หากเด็กที่ได้อ่านหนังสือของเขามาเห็นเข้า คงรู้สึกว่าเป็นห้องผีสิงมากกว่าห้องทำงาน
นอกจากนี้ยังชั้นวางที่เต็มไปด้วยหนังสือจำนวนเกินกว่าจะนับไหว ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าตกใจ เพราะสไตน์เขียนหนังสือไปแล้วไม่ต่ำกว่า 330 เล่ม ส่วนผนังภายในห้อง เขานำภาพหน้าปกของการ์ตูนสยองขวัญที่ชอบอ่านตอนเด็กๆ มาติดไว้ทั่ว เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้สร้างสรรค์งานเขียนต่อไป
สำหรับหลักการเขียนเรื่องสยองขวัญของสไตน์ เขาเริ่มต้นจากการวางโครงเรื่อง โดยระบุจุดเหตุการณ์สำคัญๆ ของเรื่องไว้ เขียนเส้นเรื่องออกมาให้ตัวเองเข้าใจชัดเจน เพราะการรู้เรื่องราวทั้งหมดจะทำให้เขียนบรรยายและเพิ่มเติมรายละเอียดอื่นๆ ลงไปได้ง่ายขึ้น ในขั้นตอนนี้ปกติสไตน์จะใช้เวลาวางแผนประมาณสี่ถึงห้าวัน
หลังจากนั้น จึงเขียนเรื่องตามที่วางแผนไว้โดยมีกฎเหล็กคือ ระลึกไว้เสมอว่าเขียนให้เด็กๆ อ่าน คำและประโยคที่ใช้ต้องเข้าใจง่าย กระชับ และไม่ซับซ้อน โดยเฉพาะช่วงเขียนบทสนทนาระหว่างตัวละคร บทสนทนาต้องบอกเล่าเรื่องราวบางอย่างที่เป็นเบาะแสนำไปสู่เหตุการณ์ต่อไปหรือกระตุ้นให้รู้อยากอ่านต่อ ไม่ควรเขียนอะไรก็ตามที่ไร้ความหมาย เพราะจะทำให้เรื่องยืดเยื้อน่าเบื่อ แล้วเด็กๆ จะไม่ทนอ่าน
เหตุการณ์ที่เขียนต้องเชื่อมโยงกับเรื่องใกล้ตัวในชีวิตประจำวันของเด็ก เพื่อสร้างความรู้สึกคุ้นเคยชวนให้รู้สึกมีส่วนร่วมและกลัวว่าจะเกิดขึ้นกับตัวเองในชีวิตจริง ตลอดทั้งเรื่องต้องแทรกจุดหักเหที่เด็กๆ คาดไม่ฝัน เพราะพวกเขาจะได้ไม่ว่างหนังสือลงง่ายๆ
รวมถึงไม่ใช้คำศัพท์ที่สื่อถึงช่วงเวลาหรือกระแสความนิยมในปัจจุบัน เพราะเขาต้องการให้เรื่องราวในหนังสืออยู่เหนือกรอบเวลา หมายความว่า คนรุ่นไหนอ่านแล้วจะรู้สึกว่าเรื่องยังสดใหม่ไม่ได้เก่าแก่หรือโบราณ สไตน์จะใช้เวลาเขียนเรื่องสั้นสยองขวัญให้จบได้ภายในสองถึงสามสัปดาห์
สไตน์เคยเปิดเผยเหตุผลเบื้องหลังซึ่งเป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้เขายืนยันจะแต่งเรื่องน่ากลัวเช่นนี้ต่อไปจนกว่าสังขารจะโรยราว่า “ก็แค่ความอยากเท่านั้น อยากหลอก อยากแกล้งให้เด็กกลัว” เพราะเขาเข้าใจว่าความกลัวสำหรับเด็ก อาจเกิดจากการหลอกล่อของผู้ใหญ่อีกทีหนึ่ง โดยสร้างเรื่องราวหรือข้อห้ามที่เกี่ยวข้องกับความลึกลับ มาเป็นเงื่อนไขคุมประพฤติ ซึ่งต้องการปรามให้เด็กเชื่อฟังไม่ดื้อดึง จนกว่าการเติบโตจะสอนให้เด็กได้เรียนรู้ว่า ทั้งหมดเป็นแค่เรื่องแหกตา
แต่ถ้ามีใครสักคนถามสไตน์ว่า แล้วอะไรคือสิ่งที่เขากลัวที่สุดในชีวิต คำตอบที่ได้รับกลับไม่ใช่ผีสางหรือสัตว์ปีศาจที่เขาเคยกลัวตอนเด็กๆ เพราะตัวเขาเองยังคิดเสมอว่า ถ้าผีมีจริงก็อยากเห็นสักครั้ง แต่ก็ไม่เคยเห็นเลย แต่ในฐานะนักเขียนที่ตั้งมั่นว่าจะแต่งเรื่องเขย่าขวัญไปตลอดเท่าที่ยังมีแรงเขียน เขาตอบว่า “คงไม่มีอะไรสยดสยองมากไปกว่าหน้ากระดาษที่ว่างเปล่า”
ผลงานเขียนเล่มสำคัญของ อาร์.แอล. สไตน์
Fear Street: The New Girl (ตีพิมพ์ครั้งแรก ปี 1989)
นวนิยายสยองขวัญลำดับที่ 1 ในซีรีส์ Fear Street เป็นเรื่องราวของ ‘คอรี่’ นักเรียนหนุ่มชั้นมอปลายผู้หลงเสน่ห์นักเรียนสาวคนใหม่ เธอเพิ่งย้ายเข้ามาเรียนได้ไม่นาน แต่กลับกลายเป็นว่า ยิ่งพยายามจะรู้จักเธอมากเท่าไหร่ เขายิ่งพบความจริงที่ชวนให้สงสัยมากขึ้นเท่านั้น เพราะเพื่อนๆ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เคยเห็นเธอในโรงเรียน เธอไม่มีชื่อในทะเบียนนักเรียน และที่น่าตกใจสุดขีดคือมีคนบอกเขาว่าเธอตายไปแล้ว
Goosebumps: The Haunted Mask (ตีพิมพ์ครั้งแรก ปี 1993)
ชมรมขนหัวลุก ตอน หน้ากากหลอน (ฉบับภาษาไทย โดย สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์)
เรื่องสั้นสยองขวัญลำดับที่ 11 ในซีรีส์ Goosebumps จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อ ‘คาร์ลี เบธ’ เด็กหญิงหน้าตาขี้ริ้วขี้เหร่ ตัดสินใจซื้อหน้ากากปีศาจเพื่อใส่หลอกเพื่อนผู้ชายที่ชอบล้อเลียนเธอในคืนวันฮาโลวัน เพราะความน่ากลัวชวนขนลุกตั้งแต่แรกเห็น ทำให้เธอคิดว่าถึงเวลาเอาคืนพวกนั้นให้สาสม แต่ทันทีที่เธอใส่ ทุกอย่างกลับแปลกประหลาด ทำไมหน้ากากอุ่นเหมือนผิวหนังคนจริงๆ และมันก็ถอดออกยากเหลือเกิน
Just Beyond: The Scare School (ตีพิมพ์ครั้งแรก ปี 2001)
เรื่องราวการต่อสู้เพื่อเอาตัวรอดจากเหตุการณ์เหนือธรรมชาติลำดับที่ 1 ในซีรีส์ Just Beyond เมื่อแก๊งเพื่อนสามคน ‘เจส’ ‘จอช’ และ ‘มาร์ก’ เหนื่อยหน่ายกับการเคี่ยวเข็ญตัวเองเพื่อทนเรียนให้จบไปเป็นวันๆ แต่แล้ววันหนึ่งพวกเขากลับพบบางสิ่งที่น่าสะพรึงในโรงเรียน ซึ่งไม่อาจระบุได้ชัดเจนว่าเป็นอะไร รู้เพียงว่ามันคือสิ่งอันตรายที่จ้องจะทำร้ายทุกคน ทั้งสามจึงต้องร่วมมือกันเพื่อกำจัดมัน ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป
อ้างอิง
- Gabrielle Moss. The True Story Of How ‘Goosebumps’ Was Created, According To R.L. Stine. https://bit.ly/2Z3byrg
- Guinness World Records. Most prolific author of children’s horror fiction novels. https://bit.ly/3tMWdsO
- Jen Doll. R.L. Stine Has Been Giving Us Goosebumps for 20 Years. https://bit.ly/3aRzsvl
- Joanne Kaufman. What Frightens the ‘Goosebumps’ Writer R.L. Stine? https://nyti.ms/3aRzfs3
- R.L. Stine. R.L. Stine: His Life Story. https://bit.ly/3jB6js9
- R.L. Stine (2015). It Came from Ohio! My Life as a Writer. New York : Scholastic.