life

The Writer’s Room
No. 13

ห้องใต้หลังคา โซฟา และกระดาษกลาดเกลื่อนโต๊ะ ของแดเนียล แฮนด์เลอร์
นักเขียนผู้หลงใหลเรื่องตลกร้าย เหตุอับโชค และชะตาชีวิตพลิกผันที่ไม่เป็นดั่งใจฝัน

Photo: Angela Weiss / AFP

“ถ้าคุณชอบเรื่องราวที่จบลงอย่างมีความสุขแล้วล่ะก็ คุณไปอ่านหนังสือเล่มอื่นน่าจะดีกว่า”

ในบรรดานักเขียนวรรณกรรมสำหรับเด็ก เยาวชน และคนวัยหนุ่มสาว (young adults) ทั้งหมด จะมีสักกี่คนที่ออกตัวห้ามนักอ่านอย่างตรงไปตรงมาเหมือน แดเนียล แฮนด์เลอร์ (Daniel Handler) นักเขียนอเมริกันเชื้อสายยิวผู้มองเห็นเด็กๆ ด้วยสายตาที่แตกต่างไปจากผู้ใหญ่คนอื่น

แฮนด์เลอร์มักจะเดือดเนื้อร้อนใจทุกครั้ง หากรู้ว่าใครก็ตามพยายามปกปิดความจริงหรือถึงขั้นพูดโกหก เมื่อเด็กๆ ผู้กำลังเผชิญเหตุการณ์บางอย่างในชีวิต โดยเฉพาะเหตุการณ์ไม่ปกติที่มักสร้างความรู้สึกไม่สบายใจให้พวกเขา เริ่มต้นถามผู้ใหญ่ด้วยความใคร่รู้ว่า ‘เกิดอะไรขึ้น’

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด คำตอบที่เด็กๆ ได้รับจากผู้ใหญ่ส่วนมากกลับกลายเป็นเพียงการบอกปัดรำคาญอย่างส่งๆ ทำนองว่า ‘ไม่เห็นจะมีอะไร ทุกอย่างก็ปกติดี’ ในมุมมองของแฮนด์เลอร์เป็นคำตอบที่น่าผิดหวังและในบางกรณีอาจเรียกว่าเลวร้ายด้วยซ้ำ เพราะนอกจากจะไม่ใช่คำตอบที่ดีแล้ว ยังห่างไกลจากคำอธิบายในสิ่งที่เด็กต้องการ

แฮนด์เลอร์เข้าใจดีว่าผู้ใหญ่ (รวมถึงตัวเขาเอง) ทำทุกอย่างได้เพื่อปกป้องเด็กๆ โดยเฉพาะเด็กที่เป็นลูกเป็นหลาน จากบางสิ่งที่เขาเห็นว่าอันตรายหรือเป็นภัยคุกคาม นี่คือหน้าที่สำคัญของผู้ใหญ่และผู้ปกครองทุกคน เพียงแต่เขาคิดกลับกันเพิ่มด้วยว่า คงจะดีกว่าการปกป้องอย่างเดียวไหม หากผู้ใหญ่อธิบายความจริงอย่างซื่อตรงให้เด็กเข้าใจเหตุการณ์ทั้งหมด โดยไม่ด่วนตัดสินไปก่อนว่า เป็นเรื่องที่เด็กไม่ควรรู้

https://www.usatoday.com/story/life/books/2012/10/22/daniel-handler-new-snicket-book/1639595/

ดังนั้น ต่อให้เป็นเรื่องราวสะเทือนใจ บีบคั้นอารมณ์และความรู้สึกขนาดไหน หรือเป็นเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น เพราะนำมาซึ่งความทุกข์และความเศร้า แต่สำหรับแฮนด์เลอร์แล้ว ทั้งหมดเป็นเรื่องสามัญที่เด็กสมควรรับรู้ เพื่อพวกเขาจะได้เข้าใจว่า นี่คือความจริงแท้ของชีวิตที่ไม่ได้มีแต่เรื่องสวยงามหรือชวนฝันเสมอไป เพราะเป็นไปได้ว่าวันหนึ่งวันใดพวกเขาอาจต้องเผชิญหน้ากับเรื่องชวนหดหู่ใจอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ผลงานเขียนของแฮนด์เลอร์จึงไม่ใช่นิทานชวนฝันที่มีแต่เจ้าหญิงเลอโฉมผู้เพรียบพร้อม นางฟ้าผู้ใจดี สัตว์สวยงามในเทพนิยาย และอัศวินผู้เก่งกาจอาจหาญ แล้วเรื่องราวทั้งหมดนี้ก็ลงเอยด้วยความสุขสงบตลอดกาลนาน ราวกับว่าความวุ่นวายต่างๆ ไม่เคยมีอยู่จริง แต่เป็นเรื่องราวที่สะท้อนความเจ็บปวดจากประสบการณ์และโชคชะตาของชีวิตที่ไม่เป็นไปตามใจหวัง ทำให้ผู้อ่านหลายคนสงสัยว่า ทำไมผลงานของแฮนด์เลอร์จึงหมกมุ่นอยู่กับเรื่องไม่น่าอภิรมย์ อย่างการพลัดพรากและการสูญเสีย

เบื้องหลังวิธีคิดเฉพาะแบบ ซึ่งกลายมาเป็นลายเซ็นประจำตัวของแฮนด์เลอร์ในฐานะนักเขียน เริ่มขึ้นจากการเลี้ยงดูของพ่อชาวยิว หลังหลบหนีการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุของนาซีในประเทศเยอรมนีด้วยความทุลักทุเล และลี้ภัยมายังสหรัฐอเมริกาได้สำเร็จ ก่อนปักหลักใช้ชีวิตใหม่และมีครอบครัวที่ซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อแฮนด์เลอร์โตพอรู้เรื่อง พ่อของเขาจึงมักจะบอกเล่าความทุกข์ยากที่เคยพบเจอให้ฟังเสมอ

https://www.thescottishsun.co.uk/news/scottish-news/3281065/lemony-snicket-daniel-handler-free-books-for-schools/

ตั้งแต่แฮนด์เลอร์จำความได้ เรื่องราวความทรงจำอันโหดร้ายของพ่อก็กลายเป็นหัวข้อสนทนาหลักในบ้าน ซึ่งสมาชิกทุกคนต่างพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเป็นปกติ ทำให้เขาเข้าใจว่า ท้ายที่สุดแล้วไม่มีใครขีดเส้นหรือกำหนดชะตากรรมของตัวเองไปได้ตลอด เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่า วินาทีข้างหน้าหรือในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นอีกบ้าง แล้วสิ่งนั้นจะกระทบกระเทือนเส้นทางชีวิตของเราจนแปรเปลี่ยนไปอย่างไร

ในวัยเด็ก แฮนด์เลอร์เป็นนักอ่านตัวยง เขาอ่านหนังสือหลากหลาย ยกเว้นประเภทเดียวที่เขาไม่เคยคิดหยิบขึ้นมาอ่าน คือหนังสือที่มีแต่เรื่องราวความสุข หากบังเอิญไปอ่านเข้า เขาจะโยนหนังสือเล่มนั้นทิ้งทันที ไม่ต้องการสำลึกความสุขเหล่านั้น

ความจงเกลียดจงชังนี้เป็นผลมาจากเรื่องราวของพ่อที่เขาได้รับรู้มาตลอด และความรู้สึกสันโดษ หลังจากเลือกขึ้นมาอยู่ตัวคนเดียวบนห้องใต้หลังคาของบ้าน ซึ่งพ่อดัดแปลงพื้นที่ว่างให้กลายเป็นห้องนอนขนาดใหญ่เพื่อแฮนด์เลอร์

Photo: The Very Fortunate Daniel Handler (2017) / The Articulate Foundation

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เขาจะเป็นคนโอบกอดความเศร้าหรือชื่นชมความทุกข์ทนทุกเวลา แค่รู้สึกว่าชีวิตยังมีแง่มุมอื่นๆ นอกเหนือจากความสุขร่วมอยู่ด้วย ทำให้เด็กชายแฮนด์เลอร์โปรดปรานหนังสือของ โรอาลด์ ดาห์ล (Roald Dahl) วิลเลี่ยม คีปเปอร์ แมกซ์เวลล์ จูเนียร์ (William Keepers Maxwell jr.) และเอ็ดเวริด์ กอร์เรย์ (Edward Gorey) มากเป็นพิเศษ เพราะเรื่องราวที่ไม่ได้สวยงามเหล่านี้ ทำให้เขาขบคิดตาม จนอยากเขียนหนังสือเป็นของตัวเองบ้าง

แฮนด์เลอร์ตัดสินใจลงมือสร้างสรรค์งานเขียนอย่างจริงจังเมื่อเข้าสู่วัยมหาวิทยาลัย โดยเริ่มจากเขียนบทกวี และเคยได้รับรางวัลจาก Academy of American Poets ในปี 1990 เมื่อเรียนจบเขาทำงานเป็นผู้เขียนบทรายการวิทยุ และเขียนบทความวิจารณ์ภาพยนตร์ให้กับหนังสือพิมพ์บ้างประปราย ระหว่างนี้เองเขาซุ่มเขียนนิยายเรื่องแรกในชีวิตควบคู่ไปกับงานประจำด้วย จนกระทั่งเสร็จสมบูรณ์

แม้จะถูกสำนักพิมพ์ต่างๆ ปฏิเสธครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ในที่สุด The Basic Eight หนังสือเล่มแรกของแฮนด์เลอร์ก็ได้รับการตีพิมพ์ในปี 1999 ว่าด้วยเรื่องราวสะเทือนใจของนักเรียนมัธยมปลายขั้นปีสุดท้ายที่เกี่ยวข้องกับมิตรภาพและการฆาตกรรม แต่ผลงานสร้างชื่อที่ประสบความสำเร็จสูงสุดและทำให้แฮนด์เลอร์เป็นนักเขียนอาชีพเต็มตัวคือ A Series of Unfortunate Events หรือวรรณกรรมชุดอยากให้เรื่องนี้ไม่มีโชคร้าย (ตีพิมพ์ครั้งแรกระหว่างปี 1999-2006) ประกอบด้วยหนังสือ 13 เล่ม ภายใต้นามปากกาใหม่ว่า Lemony Snicket (เลโมนี สนิกเก็ต) ซึ่งเป็นชื่อที่นักอ่านทั่วโลกรู้จักและคุ้นเคยมากกว่าชื่อจริงของเขาเสียอีก

แฮนด์เลอร์ใช้เวลาส่วนใหญ่นั่งเขียนหนังสืออยู่ภายในห้องเพียงลำพัง สำหรับเขาความเงียบ ไร้เสียงรบกวนใดๆ ทำให้ความคิดของเขาลื่นไหลไปได้อย่างไม่มีสะดุด หน้าทางเข้าห้องทำงานจึงมีป้ายเขียนไว้ชัดเจนว่า กรุณารักษาความสงบ

http://www.authorsroad.com/DanielHandler.html

เขามักจะเริ่มเขียนงานหลังจากจัดการกิจวัตรในตอนเช้าเสร็จเรียบร้อยแล้ว จนถึงเวลาประมาณบ่ายสามหรือบ่ายสี่โมงเย็น เป็นเช่นนี้ประจำทุกวัน หากระหว่างจดจ่ออยู่กับหน้ากระดาษและหน้าจอคอมพิวเตอร์แล้วรู้สึกอยากพักสายตา แฮนด์เลอร์จะหยิบดินสอไม้แท่งใหม่ที่ยังไม่ได้เหลาขึ้นมา ซึ่งไม่ได้เอาไว้ใช้เขียน แต่เป็นของชิ้นสำคัญที่เขาพกติดตัวไปด้วยทุกที่ เพื่อใช้กะระยะสายตาใกล้ไกลเหมือนเวลาจิตรกรใช้พู่กันกะระยะภาพวาดบนผืนผ้าใบ และมีความหมายเป็นของนำโชคส่วนตัว โดยเอาไว้ดูดซับความตื่นเต้นวิตกกังวล ช่วยสร้างความอุ่นใจ มีสมาธิกับงานตรงหน้า และทำให้ทุกอย่างดำเนินไปได้อย่างราบรื่น

ส่วนขั้นตอนการเขียนของแฮนด์เลอร์ ก็เป็นวิธีที่เขาคิดขึ้นเองตามความถนัด ทุกครั้งที่มีไอเดียหรือความคิดเข้าท่า เขาจะรีบจดลงสมุดบันทึกก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นจึงแบ่งความคิดออกเป็นส่วนๆ คลายเหตุการณ์ย่อยๆ ที่แยกจากกันได้ โดยเขียนลงบนแผ่นกระดาษขนาดกว้าง 3 นิ้ว และยาว 5 นิ้วคล้ายการ์ด ทำให้นำมาจัดเรียงเป็นเรื่องใหม่ได้เรื่อยๆ เมื่อกำหนดเส้นเรื่องและเหตุการณ์สำคัญได้แล้ว เขาจะนำแผ่นกระดาษแปะใส่สมุดแล้วเขียนรายละเอียดเพิ่มเติมจนรู้สึกพอใจ แล้วค่อยนำเรื่องราวทั้งหมดพิมพ์ลงคอมพิวเตอร์เป็นต้นฉบับสำหรับส่งไปยังสำนักพิมพ์ เหตุผลที่แฮนด์เลอร์เลือกใช้การพิมพ์เป็นขั้นตอนสุดท้ายเพราะเขาชอบความรู้สึกขณะได้จับปากกาหรือดินสอเขียนมากกว่า

https://www.dumbofeather.com/conversations/daniel-handler-embraces-complexity/#gallery-5

นอกจากแก้วใส่กาแฟ หรือบางครั้งก็เป็นเพียงแก้วใส่น้ำ บนโต๊ะทำงานของแฮนด์เลอร์จึงมีสิ่งของวางเกลื่อนกลาดไม่เป็นระเบียบ เพราะตรงนี่คือพื้นที่ของคนทำงานจริงๆ ทั้งกองสมุดจด และกระดาษแผ่นเล็กแผ่นน้อย ทุกอย่างอยู่รวมกันบนโต๊ะตัวเดียว ยังไม่นับหนังสืออ่านประกอบและพจนานุกรมเล่มโตอีกจำนวนหนึ่งที่เขาต้องใช้ค้นคว้าระหว่างการเขียน

https://www.dumbofeather.com/conversations/daniel-handler-embraces-complexity/#gallery-4

หากได้อ่านผลงานของแฮนด์เลอร์จะเข้าใจว่า เขาเป็นนักเขียนคนหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับการเลือกใช้คำศัพท์และไวยากรณ์อย่างมาก ถึงขนาดสร้างตัวละครเป็นคุณป้าผู้รอบรู้การใช้ภาษาอังกฤษ นำไปสู่การแกะรหัสลับผ่านประโยคที่เขียนผิดเพื่อเป็นเบาะแสการสืบหาความจริงต่อไป รวมทั้งใช้คำเป็นมุกตลก หรือสร้างความประทับใจให้ผู้อ่านเสมอด้วยคำศัพท์ยากๆ และการเล่นคำ ซึ่งไม่มีทางคาดเดาได้เลยว่าจะเจออะไรสนุกๆ อีกบ้างบนหน้ากระดาษถัดไป

อีกด้านหนึ่งของห้องมีแผ่นซีดีเพลงจำนวนมากหลายแนวเพลง เพราะเดิมทีแฮนด์เลอร์เป็นนักดนตรีตั้งแต่สมัยเรียน เขาเคยร่วมวงดนตรีกับเพื่อนมหาวิทยาลัย เครื่องดนตรีที่เขาถนัดและทำได้ดีคือ หีบเพลง (accordion) และเขียนเนื้อเพลงให้วงด้วย ตอนนี้แม้จะหันมาทุ่มเทเวลาให้กับงานเขียน แต่เขาก็ยังเป็นคนดนตรีที่ยังมีเสียงเพลงอยู่ในใจ

https://www.dumbofeather.com/conversations/daniel-handler-embraces-complexity/#gallery-3

ไม่ไกลจากโต๊ะทำงาน แฮนด์เลอร์มีชั้นหนังสือเต็มผนัง หนังสือส่วนมากเป็นนิยายที่เขาชอบอ่าน เมื่อเลือกหนังสือได้แล้ว เขาจะนั่งลงอ่านบนโซฟาตัวใหญ่ที่สั่งทำพิเศษด้วยหนังสีดำทะมึน ความนุ่มสบายของโซฟายิ่งทำให้เขารู้สึกว่าที่ตรงนี้เป็นของเขาคนเดียว และหลายครั้งที่เรื่องราวโชคร้ายในหนังสือของเขาเกิดขึ้นขณะนั่งอยู่บนโซฟา แฮนด์เลอร์เคยคิดทีเล่นทีจริงว่า เขายอมตายบนโซฟาดูดวิญญาณตัวนี้ เพราะอย่างน้อยที่สุดก็อุ่นใจได้ว่าเป็นการตายอย่างสบาย

https://www.wsj.com/articles/lemony-snickets-melodramatic-attic-hideaway-1501599297

ทุกครั้งหากแฮนด์เลอร์มีโอกาสพูดคุยกับผู้อ่านหน้าใหม่ที่เริ่มสนใจหนังสือของเขา เขามักจะเกริ่นเตือนเสมอว่า อย่าอ่านมันเลย เพราะหนังสือไม่ใช่แค่จบอย่างไม่มีความสุข แต่ไม่มีความสุขใดๆ ตั้งแต่เริ่มเรื่อง ถึงกลางเรื่องยิ่งแล้วใหญ่ มีความสุขอยู่น้อยเหลือเกิน แต่คำเตือนทำนองนี้กลับสร้างจุดเด่นทำให้ผู้อ่านยิ่งสนใจอยากอ่านมากขึ้นไปอีก เข้าตำรายิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ

และถ้ามีใครถามแฮนด์เลอร์ว่า ทำอย่างไรถึงจะได้เป็นนักเขียนอาชีพ เขาจะไม่ได้สนับสนุนในทันที แต่ถามย้อนคนถามว่า แน่ใจแล้วหรือว่านั่นคือสิ่งที่ต้องการเป็นจริงๆ ก่อนจะแนะนำต่อว่า ในเมื่อโลกนี้มีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย สิ่งที่ควรทำคือหาให้ได้ว่าชื่นชอบอะไรมากที่สุด ซึ่งอาจไม่ได้มีแค่สิ่งเดียว แต่เมื่อรู้และแน่ใจแล้ว ให้อ่านหนังสือ อ่านไปเรื่อยๆ นั่นแหละ จนกระทั่งพบวิธีหรือคำตอบที่เป็นหนทางให้ได้ทำสิ่งที่ชอบเกิดขึ้นจริงๆ ในชีวิต

ผลงานเขียนเล่มสำคัญของ แดเนียล แฮนด์เลอร์

The Bad Beginning (ตีพิมพ์ครั้งแรก 1999)
ลางร้ายเริ่มปรากฏ (ฉบับภาษาไทย โดย สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์)
วรรณกรรมเยาวชนลำดับแรกในชุด A Series of Unfortunate Event เปิดฉากด้วยเรื่องราวโชคไม่ช่วยของเด็กกำพร้าสามพี่น้องน่าสงสารที่เพิ่งสูญเสียพ่อและแม่ไปในเหตุการณ์ไฟไหม้ปริศนา ทำให้พวกเขาต้องระหกระเหินไปอยู่กับญาติผู้ชั่วช้าสามานย์ เป็นจุดเริ่มต้นของชะตากรรมอันโหดร้ายที่เด็กๆ ไม่อาจหลบหนีให้หลุดพ้นไปได้ในเร็ววัน จนทำให้ผู้อ่านได้แต่หวังว่า ‘อยากให้เรื่องนี้ไม่มีโชคร้าย’

Why We Broke Up (ตีพิมพ์ครั้งแรก 2011)
นวนิยายร่วมสมัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่ต้องจบลงอย่างเจ็บปวดเพราะไม่เคยตัดใจให้ลืมได้เลย เป็นเรื่องราวของคู่รักวัยมัธยมปลายตั้งแต่วันแรกที่ทั้งสองคนเริ่มรู้จักกัน จนถึงวันสุดท้ายที่รักกลายเป็นอดีต โดยบอกเล่าผ่านจดหมายและสิ่งของมากความหมายซึ่งเป็นชิ้นส่วนความทรงจำที่ประกอบเข้าเป็นเหตุผลว่า ทำไมพวกเขาถึงเลิกกัน แม้จะเป็นความรักของวัยรุ่น แต่ขอเตือนไว้ก่อนว่า ระวังหน้ากระดาษเปื้อนน้ำตา

Bottle Grove (ตีพิมพ์ครั้งแรก 2019)
เรื่องราวเสียดสีและตลกร้ายของคู่แต่งงานที่พร้อมบาดลึกถึงก้นบึ้งหัวใจ เพราะฝ่ายหนึ่งลวงเพื่อรัก ส่วนอีกฝ่ายคบเพราะโลภ จนกลายเป็นทั้งแรงผลักและแรงดันในความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นเปลี่ยนไปสู่การพึ่งพิงอิงอาศัยและความเลวร้ายเหนือธรรมชาติ โดยมีฉากหลังของเรื่องเป็นภาพชีวิตที่ขัดแย้งกันภายใน Bottle Grove เมืองสมมุติของซานฟรานซิสโก ซึ่งสะท้อนความเหลื่อมล้ำ ความลับ และความทรงจำที่ใครบางคนพยายามจะลืมให้ได้

 

อ้างอิง