life

“ไม่อยากทำงานโว้ย”

สำหรับบางคน วลีนี้คงผุดขึ้นมาทุกเช้ายามนาฬิกาปลุกแผดเสียง แต่ต่อให้หนังตาจะปิดสักเพียงใด สุดท้ายคุณก็ต้องหอบสังขารไปเผชิญกับคลื่นมนุษย์ แก่งแย่งที่นั่งบนรถไฟฟ้า ก่อนพ่ายแพ้อย่างหมดรูป และลงเอยด้วยการยืนขาแข็งตลอดทางเพื่อไปเผชิญกับกองงานปริมาณมหาศาลที่ดูเหมือนจะไร้สิ้นสุด กิจวัตรประจำวันเหล่านี้เป็นสิ่งที่มนุษย์เงินเดือนหลายๆ คนต้องเจอ จนบ่อยครั้งเราก็รู้สึกเหนื่อยล้าเหลือเกิน

Photo: https://twitter.com/MedievalPete/status/1009831105124618240/photo/1

บางครั้งชีวิตคนเราก็ทุกข์ทนเพราะต้องไปทำงาน แล้วจะเป็นไปได้ไหม? ถ้าเราจะไม่ไปทำงาน

เมื่อได้ยินคำถามนี้ หลายคนอาจจะตอบทันควันว่า ‘เป็นไปไม่ได้’ โดยเฉพาะในยุคเศรษฐกิจฝืดเคืองและสังคมที่ทวีความเหลื่อมล้ำ การไม่ทำงานแทบจะเทียบเท่ากับคำว่าหายนะ เพราะนั่นหมายความว่า คุณจะไม่มีเงินสำหรับการจับจ่ายในชีวิต ไหนจะหนี้สิน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเทอมลูก ชีวิตนั้นหมุนด้วยเงินจากการทำงานทั้งสิ้น ดังนั้น ต่อให้คุณจะขยาดการทำงานขนาดไหน การไม่ไปทำงานนั้นเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้

แต่ช้าก่อน เรามาลองเซตสมการนี้กันใหม่ สมมติว่าคุณเป็นคนที่ไม่มีปัญหาเรื่องเงิน ปลอดหนี้ ไม่ต้องทำงานก็ไม่อดตาย จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าทุกคนไม่ต้องทำงาน และสำหรับบางคน เมื่อตัดเอางานซึ่งเป็นต้นเหตุของความทุกข์ทิ้งไป ชีวิตจะมีแต่ความสุขจริงหรือ?

แล้วชีวิตเราจะยังมีความหมายหรือเปล่า?

Photo: Edward Hopper, Office at Night (1940) / Walker Art Center, Minneapolis

 

จะดีกว่าไหมถ้าทุกคนไม่ต้องทำงาน

แน่นอนว่าหากเราทุกคนไม่ทำงาน วงจรอุบาทว์เหล่านี้ก็จะหมดไป แต่จะถูกแทนที่ด้วยปัญหาใหม่ที่ชวนปวดหัวกว่าเดิม สิ่งแรกที่เกิดขึ้นคือ เศรษฐกิจหยุดชะงัก เกิดความแตกแยกทางวัฒนธรรมซึ่งหมายถึงการสูญเสียค่านิยมหรือความเชื่อที่เคยยึดถือร่วมกัน และท้ายที่ก็สุดส่งผลกับสุขภาพจิตของเรา

ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเดือนกันยายน ปี 1977 มีการประกาศปิดโรงงาน Campbell Works ในเมืองยังส์ทาวน์ รัฐโอไฮโอ ซึ่งส่งผลให้เมืองที่เคยเป็นต้นแบบด้านเจริญรุ่งเรืองของสหรัฐอเมริกามีคนตกงานกว่า 50,000 ตำแหน่ง และเสียค่าจ้างภาคการผลิตถึง 1.3 พันล้านดอลลาร์ เกิดผลกระทบรุนแรงมากจนกลายเป็นปรากฏการณ์ ‘ภาวะซึมเศร้าในระดับภูมิภาค’ (Regional Depression) หมายถึง การที่คนสูญเสียงานจนมีอาการซึมเศร้า

Photo: http://www.therustjungle.com/rustjungle/2017/8/22/a6paljpcej69rrdmzzs4x68o906070

ดังนั้น นอกจากเศรษฐกิจของเมืองจะหยุดชะงักแล้ว คดีทำร้ายคู่สมรสและฆ่าตัวตายก็เพิ่มขึ้นด้วย ภายในทศวรรษเดียว ปริมาณผู้ป่วยของศูนย์สุขภาพจิตในพื้นที่เพิ่มจำนวนเป็นสามเท่า

จอห์น รุสโซ (John Russo) ศาสตราจารย์ด้านแรงงานศึกษา ประจำมหาวิทยาลัย Youngstown State University ได้ชี้ให้เห็นว่า สำหรับอเมริกาที่บูชาความขยันและอุตสาหะ ยังส์ทาวน์เป็นเรื่องราวที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นอเมริกาเป็นอย่างดี เพราะเมื่องานที่ผูกติดกับคุณค่าและความหมายของชีวิตหายไป พื้นที่ทางวัฒนธรรมก็ถูกกำจัดไปด้วย กล่าวคือเมื่อผู้คนถูกทำลายความเชื่อ ประเพณี หรือค่านิยมที่ยึดถือร่วมกัน ก็จะนำมาสู่ความแตกแยกทางวัฒนธรรม ซึ่งมีผลกระทบที่เลวร้ายยิ่งกว่าความแตกแยกทางเศรษฐกิจเสียอีก

ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า เราไม่อาจมองข้ามความสำคัญของงานได้เลย เพราะงานมีความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นกับการดำรงชีวิตของมนุษย์ อีกทั้งคุณค่าและตัวตนของเราก็สัมพันธ์กับงานอย่างแยกไม่ได้ แม้แต่ในทางปรัชญางานก็ถูกยกให้เป็นความสำคัญในการกำหนดความหมายของชีวิต

เพลโต

เหมือนกับแนวคิดของ เพลโต (Plato) ที่บอกว่า รัฐในอุดมคติ หรือ รัฐที่เที่ยงธรรม (Republic) คือ รัฐที่มีระบบความเชี่ยวชาญด้านแรงงาน แต่ละบุคคลจะได้รับมอบหมายให้เป็นหนึ่งในสามชนชั้นทางเศรษฐกิจตามความสามารถที่มีมาแต่กำเนิด ได้แก่ ชนชั้นผู้ผลิตหรือชนชั้นการค้า ชนชั้นนักรบที่ต้องรักษาความสงบและปกป้องเมือง และชนชั้นผู้ปกครองซึ่งเป็นของ ราชาปราชญ์ (Philosopher-Kings) 

สำหรับเพลโตการแบ่งงานกันทำจะช่วยทำให้เมืองเกิดความเจริญรุ่งเรือง ซึ่งความเจริญนั้นจะมาจากการดำเนินการโดยผู้ที่มีความสามารถมากที่สุด เช่นเดียวกับในปรัชญาตะวันออก ความคิดแบบดั้งเดิมของขงจื๊อก็ยอมรับทั้งการทำงานหนักและความอุตสาหะไม่ต่างกัน

จะเห็นว่าทั้งปรัชญาตะวันตกและตะวันออกให้ความสำคัญกับ ‘งาน’ ในแง่ที่เป็นส่วนสำคัญต่อสังคมอย่างไม่อาจมองข้าม แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า นักปรัชญาทุกคนจะเห็นด้วยกับแนวคิดเหล่านี้ โดยเฉพาะในยุคเริ่มต้นของการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้เกิดการทำงานหนักจนทำร้ายทั้งสุขภาพกายและใจ

Photo: Gustave Courbet, The Stonebreakers (1849) / Dresden, Germany

นำไปสู่อีกหนึ่งแนวคิดของของมาร์กซิสต์ในเรื่องของงานและแรงงานที่ทำนายว่า ระบบทุนนิยมสมัยใหม่จะทำให้แรงงานเกิดความแปลกแยก (alienation) จนนำไปสู่การปฏิวัติเพื่อสร้างสังคมไร้ชนชั้น ในที่สุดแล้ว งานก็จะลดน้อยลงเพราะถูกกระจายกันไปอย่างเท่าเทียม

 

ทำไมเราต้องทำงาน? : ย้อนรอยประวัติศาสตร์แห่งการทำงานของมนุษยชาติ

งานเป็นสิ่งสำคัญที่อยู่คู่สังคมมนุษย์โดยเฉพาะในปัจจุบัน ลองจินตนาการว่าหากทุกคนหยุดทำงานพร้อมกันสักหนึ่งวัน ระบบสาธารณสุขก็คงพังเละเทะไม่เป็นท่า อาจเกิดความวิบัติ อลหม่านตามมา อีกทั้งความหมายในชีวิตก็อาจถูกสั่นคลอนไปด้วย แต่ถึงอย่างนั้น บางคนก็ยังเกลียดการทำงานเข้ากระดูกดำ 

เช่นเดียวกับ บ๊อบ แบล็ค (Bob Black) ผู้นิยมลัทธิอนาธิปไตย (การปกครองซึ่งไร้รัฐ) ที่เขียนเปิดบทความเรื่อง ‘The Abolition of Work’ (1985) ของเขาไว้ว่า

“ไม่มีใครควรทำงาน การทำงานเป็นที่มาของความทุกข์ยากเกือบทั้งปวงในโลก ความชั่วร้ายเกือบทุกชนิดที่คุณอยากจะเอ่ยชื่อนั้นมาจากการทำงาน หรือการใช้ชีวิตในโลกที่ออกแบบมาเพื่อการทำงาน เพื่อที่จะหยุดทุกข์ เราต้องหยุดทำงาน”

ภาพหน้าปกงานเขียน The Abolition of Work (1985) ของ บ๊อบ แบล็ค

น่าเสียดายที่วิถีแห่งการหยุดทุกข์ของแบล็คไม่อาจใช้ได้ เพราะตอนนี้ งานยังคงชนะในฐานะที่มันเป็นบรรทัดฐานในการกำหนดชีวิตและค้ำจุนไม่ให้ระบบเศรษฐกิจและสังคมล่มสลาย อย่างไรก็ตาม การยอมรับความสำคัญของงานก็ชวนให้เราตั้งคำถามต่อไปว่า การทำงาน (ที่ว่าสำคัญเป็นนักหนา) เริ่มต้นมาจากที่ใด?

หนังสือ Work: A Deep History, from the Stone Age to the Age of Robots (2022) ของ เจมส์ ซุสแมน (James Suzman) จะช่วยให้เราเข้าใจถึงที่มาที่ไปของงานได้มากยิ่งขึ้น และความลับทั้งหมดเริ่มต้นที่หินสโตนเฮนจ์ (ใช่แล้ว เจ้าท่อนหินหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคหินใหม่ ที่จนปัจจุบันเราก็หาคำตอบทางโบราณคดีไม่ได้นั่นแหละ)

ท่ามกลางความเลือนรางของประวัติศาสตร์ได้ปรากฏสิ่งที่แน่นอนขึ้นประการหนึ่ง เราพบว่าผู้ก่อสร้างอนุสาวรีย์เหล่านี้ก็คือพวกว่างจากงานเกษตรกรรม กล่าวคือ นับตั้งแต่เกษตรกรในเมืองนั้นสามารถผลิตพืชผลทางการเกษตรได้จำนวนมหาศาลจนไม่ต้องเฝ้าพะวงอยู่ที่ไร่นา พวกเขาก็สามารถหยุดกิจกรรมเพาะปลูก แล้วหันมาใช้พลังงานแสนมีค่าไปกับการลากหินยักษ์ผ่านภูเขาเพื่อสร้างอนุสาวรีย์หินประหลาดที่ว่า

Photo: Adrian Dennis / AFP

ซุสแมนกำลังชี้ให้เราเห็นว่า ถ้าหากคุณโชคดีมีผลผลิตจนเป็นที่น่าพอใจ นั่นก็ยินดีด้วยที่คุณจะเหลือเวลาไปลากหินยักษ์ ขอบคุณพระเจ้า หาคู่ ไปจนถึงการตบหัว ทะเลาะกัน ทว่าสำหรับสังคมเกษตรกรรมที่ผลผลิตยังขาดแคลน ทุกอย่างล้วนเป็นไปตามเป้าประสงค์ของลม ฟ้า อากาศ

การหยุดงานเพียงแค่หนึ่งวันอาจเปรียบได้กับการทำวัวหลุดหายไปทั้งฝูง การไม่รดน้ำหนึ่งวันก็อาจทำให้ผลผลิตออกมาไม่ดี ในเมื่อการผลิตอาหารคือหนทางแห่งการอยู่รอด พวกเขาจำต้องมุ่งเน้นไปที่เป้าหมายในอนาคต การดูแลพืชไร่และเลี้ยงสัตว์เป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากว่าเกิดความผันเปลี่ยนทางฤดูกาล อย่างน้อยเหล่าเกษตรกรก็จะยังพอมีผลผลิตไว้เลี้ยงชีพก่อนถึงคราวเพาะปลูกรอบถัดไป

ดังนั้น เมื่อมนุษย์อยู่ในจักรวาลของความไม่แน่นอน เหล่าเกษตรกรจึงต้องขยันหมั่นเพียร เพราะยิ่งทำงานหนักเท่าใด ความเสี่ยงยิ่งน้อยเท่านั้น และพวกเขาก็จะยิ่งทวีความมั่นคั่งมากขึ้น

Photo: Jean-François Millet, Gleaners (1875)

ยิ่งไปกว่านั้นสังคมเกษตรยังเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานหนักเจียนตายของมวลมนุษยชาติ และยังนำไปสู่ความสัมพันธ์ในลักษณะ แรงงาน และ ลูกหนี้ อีกด้วย กล่าวคือ การทำเกษตรกรรมคือการที่เราต้องแยกตัวของเราออกจากสิ่งแวดล้อม นำมาสู่การแบ่งแยกพื้นที่เป็นพื้นที่ทางธรรมชาติ และพื้นที่ทางวัฒนธรรม 

พื้นที่ทางวัฒนธรรม คือ พื้นที่ที่มีผลผลผลิตจากแรงงาน ในขณะพื้นที่ธรรมชาติคือ พื้นที่ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของมนุษย์ และเราสร้างรั้วเพื่อแบ่งพื้นที่ทั้งสองออกจากกัน ซุสแมนยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น สัตว์เลี้ยงเป็นสัตว์ที่อยู่ภายใต้ความควบคุมของมนุษย์ ในขณะที่สัตว์ป่าจะอยู่ตามท้องทุ่งอย่างอิสระ ไม่เว้นแม้แต่พืชที่อยู่เหนือการควบคุม ก็จะกลายเป็นสิ่งแปลกปลอมที่เราเรียกมันว่าวัชพืช

นี่จึงไม่แปลกเลยว่าทำไมเกษตรกรจึงมองว่าตนเองกำลังแลกเปลี่ยนกับสิ่งแวดล้อม และเมื่อพวกเขาเป็นผู้ทำให้ผืนดินมีผลผลิต มนุษย์ก็เลยเชื่อว่าผืนดินเป็นหนี้พวกเขา เพราะถ้าไม่มีมนุษย์ก็ไม่มีผลผลิตบนผืนดินนั้น

ต่อมาความสัมพันธ์ในลักษณะแรงงาน ลูกหนี้ ก็ขยายไปสู่ความสัมพันธ์ระหว่างคนด้วยกัน หากเป็นคนในครอบครัวพวกเขาก็จะแบ่งปันกัน แต่หากอยู่นอกกรอบของญาติสนิทมิตรสหาย การแบ่งปันก็จะกลายเป็นการแลกเปลี่ยน ดังนั้น นี่จึงเป็นสิ่งที่ซุสแมนเรียกว่า “อาหารกลางวันฟรีไม่มีในโลกของเกษตรกร ทุกคนต้องทำงาน”

 

จากเกษตรกรบ้านไร่ สู่ซาลารีแมนกลางกรุง

บรรพบุรุษของเราได้ปลูกฝังวัฒนธรรมการทำงานหนักมาตั้งแต่สังคมเกษตรกรรม เมื่อเวลาผ่านไปการเข้ามาของทุนนิยมหรือเสรีนิยมใหม่ก็ส่งผลให้วงจรแห่งซาลารีแมนหรือมนุษย์เงินเดือนกลายมาเป็นวิถีปกติที่ใครๆ ต่างก็ยอมรับเช่นกัน

น่าเศร้าที่วัฒนธรรมการทำงานหนักฝังรากลึกเสียจนคุณค่าของคนถูกกำหนดด้วยผลของงาน

Photo: Yoshikazu Tsuno / AFP

คุณอาจได้ยินประโยคที่กล่าวว่า ‘การทำงานคือการพัฒนาตนเองรูปแบบหนึ่ง’ หรือ ‘งานหนักไม่เคยฆ่าใคร’ แต่โลกต้องกลับมาตั้งคำถามกับวาทกรรมเหล่านี้อีกครั้ง เมื่อ มิวะ ซาโดะ (Miwa Sado) ผู้สื่อข่าวของโทรทัศน์สัญชาติญี่ปุ่น NHK เสียชีวิตจากการทำงานหนักเกินไปในปี 2013 โดยเดือนก่อนหน้าที่ซาโดะจะเสียชีวิต เธอได้ทำงานล่วงเวลาไปแล้วกว่า 159 ชั่วโมงอย่างเป็นทางการ และ 209 ชั่วโมงอย่างไม่เป็นทางการ แน่นอนว่าการเสียชีวิตของซาโดะไม่ใช่รายแรกและรายสุดท้าย ส่งผลให้กระทรวงแรงงานของญี่ปุ่นยอมรับว่า สาเหตุการเสียชีวิตของเธอคืออาการ ‘คาโรชิ’ (Karoshi Syndrome)

คำศัพท์นี้ถูกบัญญัติขึ้นเมื่อปี 1970 หมายถึง ความตายที่เป็นผลมาจากการทำงานหนักเกินไป นอนหลับไม่เพียงพอ ได้รับสารอาหารไม่มากพอ และขาดการออกกำลังกาย จนทำให้เกิดความเจ็บปวดของหัวใจที่เหน็ดเหนื่อย ไม่เพียงเท่านั้น กระทรวงแรงงานของญี่ปุ่นยังได้มีการบัญญัติคำว่า ‘คาโรจิซัตสึ’ (Karojisatsu) อันหมายถึง การฆ่าตัวตายของพนักงานเนื่องมาจากปัญหาความเครียดที่ล้นเกิน

ซุสแมนได้แสดงความคิดเห็นว่า ปรากฏการณ์ของซาโดะคือความทะเยอทะยานที่อยากเป็นไปตามความคาดหวังของเจ้านายซึ่งแตกต่างไปจากสังคมยุคเกษตรกรรมที่พุ่งเป้าไปที่การทำงานหนักเพื่อความอยู่รอด และโรคทะเยอทะยานนี้ก็ส่งผลให้การเสียชีวิตจากการทำงานหนักมีสัดส่วนตัวเลขที่พุ่งสูงขึ้น

“นับเป็นที่บรรจบกันของการแสวงหาความร่ำรวยสมัยใหม่และจริยธรรมขงจื๊อที่พร่ำสอนให้คนมีความรับผิดชอบ ความจงรักภักดี และความมีเกียรติ”

กล่าวได้ว่า สำหรับประเทศที่ยึดถือจริยธรรมแบบขงจื๊อ วิถีชีวิตของผู้คนกับการทุ่มเททำงานเพื่อองค์กรกลายเป็นสิ่งที่ฝังรากลึกจนกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาแทนที่จะเป็นปัญหา กระนั้นแล้ว วัฒนธรรมการทำงานหนักก็ไม่ได้ปรากฏแค่ในแถบเอเชียตะวันออก เพราะแม้แต่ยุโรปตะวันตกเองก็ประสบกับปัญหาทางจิตใจอันเนื่องมาจากการทำงานเช่นกัน

องค์กร Health and Safety Executive ของอังกฤษรายงานว่า ในปี 2018 แรงงานกว่าหกแสนคนยืนยันว่าตนมีปัญหาทางด้านจิตใจเกี่ยวกับการทำงาน นอกจากนี้ ผู้คนยังยอมรับได้อย่างง่ายดายอีกด้วยว่าตนเป็น ‘โรคเสพติดงาน’ (Workaholism) ซึ่งภาวะนี้อาจนำมาสู่การเสียชีวิตได้

เรื่องที่ชวนหดหู่ใจยิ่งกว่าคือ แม้ผู้คนจะรู้สึกเจ็บปวดหรือแปลกแยกจากงานของตนแค่ไหน แต่พวกเขาก็รู้สึกว่าการลาออกจากงานก็ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก เพราะมันจะกลายเป็นความผิดและตราบาปที่ตอกย้ำว่าชีวิตของพวกเขาเป็นไอ้ขี้แพ้และห่วยแตก

“กูไม่ออก ออกไปแล้วกูจะเอาไรแดก”
Photo: ลัดดาแลนด์ (2554), จีเอ็มเอ็ม ไท ฮับ

ความสิ้นหวังกระอักกระอ่วนนี้นำมาสู่การเกิดขึ้นของ Exit บริษัทรับจ้างลาออกของญี่ปุ่นที่มีบริการเป็นตัวแทนให้กับพนักงานที่ไม่กล้าลาออกด้วยตนเอง นิอิโนะ โทชิยูกิ (Niino Toshiyuki) ผู้ก่อตั้งบริษัทเปิดเผยว่าลูกค้าของเขาต้องกัดฟันอดทนเพื่อที่จะไม่ฆ่าตัวตายขณะอยู่ในที่ทำงาน และ Exit ก็พยายามช่วยให้พวกเขาหยุดความคิดนั้น

ฉะนั้นแล้ว สำหรับบางคน การงานจึงเป็นเสมือนดาบสองคม ที่แม้จะจำเป็นต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม แต่ข้อเสียของมันก็คือความสามารถในการพรากความสุข หรืออาจพรากความสุขในชีวิตของมนุษย์ได้อย่างง่ายดาย จนคุณอาจไม่ทันได้รู้ตัว

ไม่ว่าจะเป็นมรดกจากยุคเกษตรกรรม อิทธิพลของขงจื๊อ หรือแนวคิด American Dream ที่เชิดชูความพยายามและอุตสาหะในการทำงาน ทั้งหมดนี้ก็ล้วนแต่เป็นภัยเงียบที่ชอนไชกัดกร่อนชีวิตของคุณให้ตกสู่วังวนแห่งการทำงานหนักตั้งแต่เกิดจนตาย

 

โลกที่หุ่นยนต์ผงาด กับงานที่สาบสูญ

ย้อนกลับมาที่คำถามแรกของเราที่ถามว่า จะเกิดอะไรขึ้นถ้า…เรามาถึงจุดที่ทุกคนไม่ไปทำงาน เป็นที่แน่ชัดว่าในตอนนี้แม้บางคนจะเกลียดการทำงานแค่ไหน เราก็คงไม่อาจให้ทุกคนหยุดทำงานได้ แต่สำหรับอนาคตเล่า? ในโลกที่เทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด หากเรามีหุ่นยนต์ที่สามารถผ่าตัดรักษาคนไข้ได้โดยไม่ต้องใช้มือมนุษย์ เมื่อถึงจุดนั้นยังเป็นไปได้ไหมที่ทุกคนจะหยุดทำงาน

Photo: Frank Perry / AFP

คำตอบคือ ไม่ว่าจะชอบหรือชังงาน คุณก็อาจไม่มีทางเลือกนักหรอก!

การผงาดขึ้นมาของหุ่นยนต์ไม่เพียงแต่ทำให้ทุกคนได้หยุดทำงานเท่านั้น แต่โลกใบนี้อาจจะไม่เหลืองานให้ทำเลยต่างหาก นั่นหมายความว่าคุณจะรอดชีวิตจากการทำงานหนักจนตาย และความตรากตรำขมขื่นทั้งหมดก็จะหมดไป มิหนำซ้ำระบบเศรษฐกิจและสังคมก็ยังดำรงอยู่ได้โดยการดำเนินการของหุ่นยนต์และอัลกอริทึม ดูเหมือนนี่จะเป็นยุคที่มวลมนุษยชาติเป็นไทอย่างแท้จริง

แต่มันจริงหรือ? ฟังเพียงผิวเผินคุณอาจจะกระโดดโลดเต้นที่สุดท้ายคุณจะได้หลุดออกจากวงจรนรกแตกของมนุษย์เงินเดือนและใช้ชีวิตไปกับการนอนตีพุงอยู่บ้าน แต่เมื่อมองอีกมุมหนึ่ง หากคุณว่างงานไปสักระยะแล้ว คุณจะจัดการกับความรู้สึกแย่หรือเบื่อหน่ายจากการไม่ได้ทำอะไรเลยอย่างไร หรือในกรณีที่ไม่ได้มีความมั่นคงทางการเงินมากพอ การเข้ามาของหุ่นยนต์จะต่างอะไรจากการถูกแย่งงานแล้วบีบบังคับให้มนุษย์จนตรอก

ถ้านั่นเป็นอนาคตที่ไม่อาจเลี่ยง เราจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอย่างไรเพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยกับกรณีของเมืองยังส์ทาวน์ที่สูญเสียพื้นที่ทางวัฒนธรรมไป เราจะเอาอะไรกิน เมื่อหุ่นยนต์มาพรากงาน และเราจะจัดการกับความหมายของชีวิตในโลกที่ไร้งานอย่างไร

Photo: Behrouz Mehri / AFP

เมื่อหุ่นยนต์ก้าวเข้ามามีบทบาทในงานของมนุษย์ สิ่งแรกที่เราจะต้องเผชิญคือการลดลงของจำนวนแรงงานซึ่งถูกแทนที่ด้วยคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ ดังนั้น แรงงานจำนวนมากจะต้องเปลี่ยนมาอยู่ในสภาวะ ‘ตกงาน’ อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ซึ่งนี่คงเป็นคราวโลกแตกของใครหลายๆ คน เพราะเราต่างก็รู้ว่างานสำคัญกับชีวิตของพวกเราปานไฉน (แม้บางครั้งจะเกลียดก็ตาม)

ลองจินตนาการว่ามีใครสักคนเดินดุ่มๆ มาบอกว่า “เฮ้ ขอแสดงความเสียใจด้วย แต่ต่อจากนี้เราจะไม่มีงานทำละ!” ดูสิ คุณคงนิ่งฉงนไปพักหนึ่งทีเดียว

หรือบางทีคุณอาจตั้งคำถามว่า แม้หุ่นยนต์จะมาแย่งงานเราในอนาคต แต่มันอาจจะมีงานประเภทใหม่ๆ ผุดขึ้นมาอยู่ดีแหละ มิหนำซ้ำงานบางจำพวกก็ไม่มีทางที่หุ่นยนต์จะมาแทนที่ได้ด้วย!

หนังสือ 21 Lessons for the 21st Century (2018) ของนักเขียนชื่อก้อง ยูวัล โนอาห์ แฮรารี (Yuval Noah Harari) จะพลิกเปลี่ยนมุมมองของคุณใหม่ และเผยให้เห็นความเป็นไปได้ว่าในอนาคตอาจไม่มีสายงานไหนเลยที่รอดพ้นจากเงื้อมมือของหุ่นยนต์ เพราะเอไอกับมนุษย์มีความแตกต่างสำคัญประการหนึ่ง โดยสิ่งที่เอไอมีแต่มนุษย์ไม่มีคือความสามารถในการในการเชื่อมโยงและปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัย (updateability)

Photo: Yuri Kadobnov / AFP

ตัวอย่างเช่น หากรถสองคันวิ่งสวนกัน คนขับรถที่เป็นมนุษย์มีโอกาสที่จะสื่อสารพิดพลาดจนเกิดการชนหรืออุบัติเหตุขึ้นมาได้ ในขณะที่เอไอเป็นอัลกอริทึมที่เป็นโครงข่ายเดียวกัน พวกมันจึงมีโอกาสที่จะทำความผิดพลาดได้น้อยกว่า ไม่เพียงเท่านั้นเอไอยังมีความสามารถที่จะเชื่อมโยงข้อมูลทั้งหมดได้

แฮรารียกตัวอย่างว่า หากโลกเรามีแพทย์ไอเอนับล้านตัว เมื่อมีการอัปเดตข้อมูลทางการแพทย์ใหม่ๆ แพทย์เอไอก็จะสามารถปรับปรุงข้อมูลเป็นเวอร์ชันล่าสุดได้ในเสี้ยววินาที หรือแม้แต่อาชีพในแวดวงศิลปินก็ใช่ว่าจะรอดพ้น หากเอไอสามารถทำความเข้าใจอารมณ์ของมนุษย์ซึ่งเป็นผลมาจากกระบวนการชีวเคมี เจ้าอัลกอริทึมยังสามารถสร้างบทเพลงหนึ่งเดียวบนโลกที่ตรงกับคีย์อารมณ์ของคุณด้วยซ้ำไป

ดังนั้น เราจึงไม่อาจมั่นใจได้เลยว่าอนาคตของตลาดแรงงานจะเป็นอย่างไร และถึงแม้ว่ามนุษย์ต้องเปลี่ยนไปทำอาชีพใหม่ๆ แต่อาชีพเหล่านั้นล้วนต้องใช้ทักษะแรงงานขั้นสูงเกือบทั้งสิ้น จะทำอย่างไรให้พนักงานขับแท็กซี่เปลี่ยนมาเป็นคนควบคุมโดรน (แถมในอนาคตเราอาจไม่ต้องใช้คนควบคุมโดรนแล้วด้วย) ด้วยเหตุนี้ แฮรารีจึงเรียกขานกลุ่มคนเหล่านี้ว่า ชนชั้นไร้ประโยชน์ (Useless Class) ซึ่งหมายถึงชนชั้นที่ตกงานเพราะหุ่นยนต์นั่นเอง

ประเด็นก็คือแล้วเราจะจัดการกับสังคมที่เต็มไปด้วยชนชั้นไร้ประโยชน์อย่างไร?

Photo: Wang Zhao / AFP

แฮรารีเสนอให้รัฐบาลหันใช้สิ่งที่เรียกว่า รายได้พื้นฐานสากล (Universal Basic Income: UBI) ซึ่งจะเป็นรายได้ที่ได้มาจากเก็บภาษีเหล่าคนรวยที่ควบคุมอัลกอรึทึมและหุ่นยนต์ และรายได้เหล่านี้ก็จะถูกนำไปเป็นเงินที่ช่วยเหลือค่าครองชีพแก่คนจนที่สูญเสียงาน เพื่อให้พวกเขามีปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพอยู่ได้ ดังนั้น เราอาจดำเนินมาถึงยุคที่การทำงานไม่ได้เท่ากับเงิน หรือก็คือเราสามารถได้เงินโดยไม่ต้องทำงาน

นี่อาจเป็นอนาคตที่สดใสกว่าที่คิด เหล่านักทฤษฎี Post-workists ที่เชื่อว่าสังคมมนุษย์ในอนาคตคือการไม่ต้องทำงานที่ซ้ำซากจำเจและปล่อยให้เครื่องจักรเข้ามารับหน้าที่นี้แทน ดังนั้นเมื่อการจ้างงานหายไป ยุคทองของความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นก็จะตามมา

เบนจามิน ฮันนิคุตต์ (Benjamin Hunnicutt) หนึ่งในนัก Post-workists กล่าวว่า สังคมเช่นนี้จะทำให้วิทยาลัยกลับมาเป็นศูนย์วัฒนธรรมอีกครั้งแทนที่จะเป็นสถาบันที่เตรียมแรงงานเข้าสู่งาน ดั่งคำที่ฮันนิคุตต์กล่าวว่า “เราเคยสอนผู้คนให้เป็นอิสระ” ทว่า “ตอนนี้เรากลับสอนให้พวกเขาทำงาน”

ลองคิดถึงโลกที่ทุกคนสามารถเรียนในสิ่งที่ชอบโดยไม่ต้องสนใจความต้องการแรงงานของตลาดสิ นั่นคงจะเป็นชีวิตที่ดีไม่น้อย ยิ่งผนวกกับการมี UBI ซึ่งเป็นรัฐสวัสดิการที่ป้องกันไม่ให้มีใครถูกทิ้งหรือตกขอบ เราก็จะยิ่งมีหลักประกันให้ชีวิตมั่นคงปลอดภัย ไม่แน่มนุษย์อาจกล้าเสี่ยงและลงมือสร้างสรรค์ในสิ่งใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทุกคนมีอิสระที่จะได้ทำในสิ่งที่ตนรัก โลกของเราก็อาจพลิกโฉมด้วยจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ก็เป็นได้

Photo: Edward Hopper, Office in a Small City (1953) / Metropolitan Museum of Art, New York City

สุดท้ายแล้วไม่คำว่าทำนายของเหล่านักอนาคตศาสตร์จะเป็นอย่างไร การที่ทุกคนไม่ไปทำงาน ดูจะเป็นปรากฏการณ์ที่ใกล้จะเป็นจริง และสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาอาจเป็นการปฏิวัติความหมายของชีวิต เมื่อคุณค่าของเราไม่ได้ผูกติดอยู่ที่เงินและงาน

อย่างน้อยๆ มรดกการขูดรีดตนเอง หรือมรดกที่ได้มาจากสังคมเกษตรที่ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นในยุคทุนนิยมจะสามารถทลายหายไป นำสู่การปลดเปลื้องโซ่ตรวนทางความคิดที่ผูกอยู่กับเศรษฐกิจและความมั่นคั่งร่ำรวยที่พ่วงมากับความขยัน ซึ่งแท้จริงแล้วสำหรับคนบางคนต่อให้ขยันมากเพียงใดก็อาจเป็นการยากที่จะหลุดพ้นจากความยากจนได้ เนื่องจากขาดโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรณ์มาแต่แรก

ในขณะที่คนบางคนกลับทวีความร่ำรวยตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา หรือแท้จริงแล้วการเกิด ทำงาน ตาย อาจเป็นเพียงการวิ่งเป็นวงกลมเพื่อไล่ตามสิ่งสมมติอันไม่มีจริง และมันสมควรแก่เวลาแล้วที่มนุษยชาติจะขยับออกจากถ้ำไปสู่จินตนาการและอนาคตใหม่ๆ เสียที?

 

อ้างอิง

  • เจมส์ ซุสแมน. (2565). Work ประวัติศาสตร์แห่งการทำงาน (ไปทำไม) (เขมลักษณ์ ดีประวัติ, แปล), กรุงเทพฯ: โซเฟีย อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง.
  • ยูวัล โนอาห์ แฮรารี. (2562). 21 บทเรียนสำหรับศตวรรษที่ 21 (นำชัย ชีววิวรรธน์ และ ธิดา จงนิรามัยสถิต,แปล), กรุงเทพฯ: ยิปซี กรุ๊ป.
  • Derek Thompson. (2015). A WORLD WITHOUT WORK. https://bit.ly/3NuQmU2
  • Michael Cholbi. (2022). Philosophical Approaches to Work and Laborhttps://stanford.io/3pgwzQ3
  • Chloe Taylor. (2023). This startup will quit your job on your behalf and save you the guilt trip—all for $144. https://yhoo.it/46mLtoG