life

เข้าสู่เดือนสุดท้ายของปี 2565 หลายคนเตรียมตัวขับรถทางไกลกลับบ้าน หรือวางแผนขับรถไปเที่ยวพักผ่อนตามจังหวัดต่างๆ ไม่ว่าจะขึ้นดอย เที่ยวทะเล ตระเวนกินอาหารอร่อยทั่วไทย ฯลฯ เพื่อชาร์จแบตชีวิตให้กลับมากระชุ่มกระชวยต้อนรับปีใหม่

ไม่ว่าจะเป็นทริปใกล้หรือไกล ผู้รับหน้าที่เป็นสารถีประจำทริปควรเตรียมร่างกายให้พร้อมในการขับขี่ เริ่มตั้งแต่พักผ่อนให้เพียงพอก่อนวันเดินทาง และจัดปรับท่วงท่าในการขับรถให้ถูกต้อง เพื่อไม่ให้เกิดการสะสมความเมื่อยล้าโดยไม่รู้ตัว

ดังนั้น ก่อนสตาร์ทรถ อย่าลืมปรับองศาของ 5 อุปกรณ์บนรถยนต์เหล่านี้ให้เหมาะสม จะได้ไม่ต้องทรมานขณะขับขี่ พร้อมเก็บเกี่ยวความสุขแบบเต็มที่เมื่อถึงจุดหมายปลายทาง

1.

ปรับเบาะรถ

driving posture

ควรใส่ใจทั้งระยะห่างและความสูงต่ำของเบาะรถให้พอดีกับผู้ขับขี่ โดยควรนั่งให้กระดูกสันหลังส่วนเอวชิดกับเบาะพอดี เท้าสามารถเหยียบแป้นเบรคได้จนสุด และเข่าสามารถงอได้เล็กน้อยในขณะเหยียบเบรค (ประมาณ 120 องศา)

การวางเท้าซ้าย (เท้าข้างที่ไม่จำเป็นต้องใช้เหยียบเบรค-แตะคันเร่ง) ก็สำคัญ อย่าเหยียดขาตลอดเส้นทาง ควรพักขาในท่างอเข่าเหมือนนั่งเก้าอี้ตามปกติให้บ่อยที่สุด

2.

ปรับพนักพิง

driving posture

ขณะนั่งขับรถ แผ่นหลังของผู้ขับขี่ควรติดพนักพิงเสมอ และควรปรับพนักพิงให้เอียงประมาณ 20-30 องศา วิธีเช็คว่าปรับพนักพิงในระดับที่เหมาะสมแล้วหรือยัง ให้สังเกตว่าข้อมือจะสามารถแตะกับพวงมาลัยได้พอดี

3.

ปรับหมอนรองศีรษะ

driving posture

หลายคนมองข้ามความสำคัญของหมอนรองศีรษะ ทั้งๆ ที่เบาะเล็กๆ ชิ้นนี้ทำหน้าที่แสนยิ่งใหญ่อย่างการรองรับการกระแทกบริเวณศีรษะขณะเกิดอุบัติเหตุ เพื่อไม่ให้ศีรษะสะบัดไปทางด้านหลังอย่างรุนแรง ซึ่งอาจทำให้กระดูกคอเป็นอันตรายได้

ดังนั้น ควรปรับหมอนรองศีรษะให้อยู่ตำแหน่งกลางศีรษะพอดี เพื่อความปลอดภัยที่สำคัญไม่แพ้การคาดเข็มขัดนิรภัย

4.

ปรับระดับพวงมาลัย

driving posture

ระดับความสูงของพวงมาลัยควรขนานกับหลัง ไม่ควรปรับให้สูงหรือต่ำเกินไป เพราะจะทำให้เกิดความเมื่อยล้าขณะขับรถระยะทางไกลได้

ท่วงท่าที่เหมาะสมในการจับพวงมาลัย คือ ควรให้ข้อศอกงอทำมุมประมาณ 120 องศา และจากจุดศูนย์กลางของพวงมาลัยถึงบริเวณหน้าอกของผู้ขับขี่ควรมีระยะห่างประมาณ 10 นิ้ว หรือ 30 เซนติเมตร

5.

ปรับกระจก

driving posture

ก่อนออกเดินทาง อย่าลืมปรับกระจกซ้าย-ขวาให้มองเห็นไปถึงข้างหลัง หรือมองเห็นทัศนวิสัยที่กว้างที่สุด เพื่อจะได้เห็นว่ามีรถคันไหนขับตามหรือแซงขึ้นมา

กระจกหลังต้องปรับให้อยู่ในระดับที่สายตาสามารถหันมองไปเห็นรถข้างหลังได้พอดี ไม่บังกระโปรงรถหรือเพดานรถจนมองไม่เป็นว่ามีใครอยู่ข้างหลัง

อ้างอิง