life

เอ่ยชื่อ ‘ธรรมศาลา’ หลายคนอาจรู้จักกิติศัพท์ในฐานะเมืองทางตอนเหนือของอินเดียที่ชาวทิเบตลี้ภัยมาพึ่งพิง รวมถึงเป็นที่พำนักของทะไลลามะองค์ที่ 14 ที่ทรงลี้ภัยมาอยู่ที่ธรรมศาลายาวนานกว่า 60 ปี

ดังนั้น เป้าหมายส่วนใหญ่ของนักเดินทางทั่วโลกที่ดั้นด้นเดินทางมายังธรรมศาลา หรือ ดารัมซาล่า (Dharamshala) หนีไม่พ้นการได้มาซึบซัมวัฒนธรรมของชาวทิเบต ทั้งจากวิถีชีวิตของชาวบ้านที่ทำมาค้าขายปะปนกับชาวอินเดีย รวมถึงบรรดาพระลามะห่มจีวรสีแดงเข้มที่ยังคงรักษาวัตรปฏิบัติแบบดั้งเดิมไว้อย่างเหนียวแน่น

Dharamshala
หุ่นจำลองบรรยากาศแบบดั้งเดิมของพระราชวังโปตาลาที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์

หรือแม้กระทั่งความหวังอันสูงสุดของหลายๆ คน ก็คือ การได้ร่วมฟังเทศน์หรือเข้าเฝ้าองค์ทะไลลามะสักครั้งในชีวิต ซึ่งแม้จะมีโอกาสไม่มาก แต่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เอาเสียเลย เพียงเช็คกำหนดการทรงงานของท่านล่วงหน้าทาง www.dalailama.com และเมื่อไปถึงธรรมศาลาก็รีบไปลงทะเบียนตามระเบียบที่วางไว้ เท่านี้ก็มีลุ้นที่จะได้เข้าเฝ้าผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวทิเบตแล้ว

Dharamshala

Dharamshala
บรรยากาศภายใน Norbulingka Institute

แต่นอกเหนือไปจากเสน่ห์ของความเป็นดินแดนทิเบตน้อย ธรรมศาลายังเป็นเมืองที่เหมาะกับคนรักการเดินป่าเดินเขา ด้วยทำเลที่ตั้งซึ่งอยู่บนเทือกเขาธาเลาธาร (Dhalaudhar) ทำให้ธรรมศาลาเต็มไปด้วยเส้นทางเทรคกิ้งหลากหลาย มีตั้งแต่ง่ายไปยาก เดินวันเดียวจบหรือจะเดินข้ามเขานานเป็นอาทิตย์ก็เลือกได้ตามระดับความสามารถในการปีนป่ายเฉพาะบุคคล

Dharamshala
ธงมนต์ประดับประดาใน Norbulingka Institute

Becommon ขอแนะนำ 3 เส้นทางเทรคกิ้งเดินสนุก ใช้เวลาบุกป่าฝ่าดงแบบวันเดียวจบก็ได้ หรือใครอยากชิลกว่านั้นก็กางเต็นท์ค้างแรมสักคืน การันตีว่าเป็นเส้นทางที่ไม่เกินความสามารถของคนจากที่ราบลุ่มแม่น้ำอย่างเราๆ

พิชิตยอดเขา ‘ตรีอุนด์’

โดยปกติแล้ว นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปธรรมศาลามักจะไม่พักที่ธรรมศาลาโดยตรง แต่จะจับรถจี๊ปขึ้นเขาไปอีก 10 กิโลเมตร เพื่อพำนักที่ Upper Dharamshala หรือในอีกชื่อเรียกที่คุ้นหูกว่าว่า แม็คลอดกันจ์ (McLeod Ganj) ซึ่งเต็มไปด้วยตัวเลือกของเกสต์เฮ้าส์ ร้านค้า และร้านอาหารต่างๆ มากมาย

Dharamshala
ทิวทัศน์ระหว่างทางเดินไปสู่ตรีอุนด์
(Photo: Mowgli)

และสำหรับใครที่อยากพักผ่อนแบบสงบใกล้ชิดธรรมชาติ แนะนำให้จับรถจี๊ป จ้างออโต้ หรือจะแบกเป้เดินขึ้นเขาไปอีก 3 กิโลเมตรด้วยตัวเองก็ยังได้ แล้วเลือกหย่อนกายพักใจในเกสต์เฮ้าส์ที่มีให้เลือกมากมายในดารัมกต (Dharamkot) แหล่งพักพิงที่เหมาะแก่การเป็นจุดสตาร์ทในการสำรวจธรรมชาติบนภูเขาลูกนั้นลูกนี้รอบๆ ธรรมศาลา

และหนึ่งในจุดหมายที่เหล่านักเดินทางเลือกตั้งเข็มทิศเพื่อเดินเท้าไปให้ถึง ก็คือ ยอดเขาตรีอุนด์ (Triund) ที่เป็นเหมือนกับเช็คพ้อยท์ว่า หากมาเยือนธรรมศาลาแล้วไม่ได้เดินขึ้นยอดตรีอุนด์เพื่อชมวิวหิมะลดเลี้ยวเคี้ยวคดพาดยาวไปตามแนวเทือกเขาธาเลาธาร ก็เหมือนมาไม่ถึง

Dharamshala
ดอกโรโดเดนดรอน (Rhododendron) บานให้เห็นตลอดทาง
(Photo: Mowgli)

การออกเดินเท้าไปยังยอดเขาตรีอุนด์ควรเริ่มแต่เช้า เพราะแม้จะไม่ใช่ยอดเขาที่ท้าทายความสามารถอะไรมากมาย โดยมีความสูงอยู่ที่ 2,827 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล (สูงกว่ายอดเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทยอย่างดอยอินทนนท์ประมาณ 200 เมตร) แต่ภูเขาก็คือภูเขา การเดินไต่ระดับความสูงผ่านทิวแถวของต้นโรโดเดนดรอน (Rhododendron) ที่ออกดอกสีชมพูสลับแดงขึ้นไปเรื่อยๆ แม้จะงดงาม แต่ก็ย่อมต้องอาศัยระยะหยุดพักหอบหายใจอยู่หลายพัก จึงต้องใช้เวลาเดินอย่างน้อย 4 ชั่วโมงจากดารัมกตถึงยอดตรีอุนด์ ดังนั้น จึงควรเผื่อเวลาสำหรับเดินชิลถ่ายรูปบนยอดเขา และเวลาที่จะต้องเดินลงจากเขาอีกอย่างน้อย 2 ชั่วโมง

Dharamshala
พักจิบมาซาลาจัยเพิ่มพลังระหว่างทาง

ข้อดีของการเทรคกิ้งบนเส้นทางยอดนิยมคือ จะมีคาเฟ่ไว้คอยให้บริการเครื่องดื่มและขนมขบเคี้ยวกระจายกำลังไว้เป็นระยะๆ ระหว่างทาง ซึ่งแม้จะได้ชื่อว่าคาเฟ่ แต่ก็มีลักษณะเป็นเพิงเล็กๆ พร้อมเสิร์ฟมาซาลาจัย (ชาร้อนใส่เครื่องเทศ) ในแก้วกระดาษ น้ำมะนาวโซดา หรือแม็กกี้ (มาม่าอินเดีย) ต้มเสิร์ฟแบบง่ายๆ พอให้อิ่มท้องแล้วมีแรงก้าวขึ้นเขาต่อ

Dharamshala
ฝูงปศุสัตว์บนยอดเขา

เมื่อเดินขึ้นมาจนถึงยอดตรีอุนด์แล้ว ใครอยากค้างแรมเพื่อนอนดูดาวสักคืน บนยอดเขาตรีอุนด์ก็มีที่พักไว้บริการไม่ว่าจะเป็นเต็นท์หรือเกสต์เฮ้าส์ขนาดย่อม ก่อนจะเดินลงจากเขาตอนเช้าแบบสบายๆ ไม่เร่งร้อน

สำหรับการเตรียมตัวในการเดินเขาที่ธรรมศาลา ไม่ว่าจะรูทสั้นหรือยาว ควรมีทั้งอุปกรณ์กันแดดกันหนาว รวมถึงกันฝนให้พร้อมสรรพ เพราะอากาศบนภูเขาหนาวเย็นตลอดทั้งปี และองศาแดดก็ร้อนแรงไม่แพ้กัน

Dharamshala
บ้านพักบนตรีอุนด์ที่มีเทือกเขาธาเลาธารเป็นฉากหลัง
(Photo: Mowgli)

สัมผัสไอเย็นของน้ำตก The Big Waterfall

นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่มาเยือนแม็คลอดกันจ์มักไม่พลาดโอกาสที่จะเดินเท้าไปเยือนน้ำตกบักสุนาค (Bhagsunag waterfall) ที่สามารถเดินจากตลาดในตัวเมืองแม็คลอดกันจ์ไปได้เลย เพราะเส้นทางเดินสะดวกสบาย แถมที่ปลายน้ำตกยังมีคาเฟ่แสนเก๋ที่ชื่อ ศิวะ คาเฟ่ (Shiva cafe) ไว้คอยบริการความอร่อยพร้อมมุมถ่ายรูปคู่น้ำตกให้สมกับเป็นขวัญใจทัวริสต์

Dharamshala
ศิวะ คาเฟ่ (Shiva cafe)

ส่วนใครที่แสวงหาความสงบ และไม่อยากเจอฝูงชนอินเดียและนักท่องเที่ยวที่หนาแน่นเกินไป แนะนำให้ไปเยือนน้ำตกไร้ชื่อ ซึ่งผู้คนที่เคยไปเยือนพากันให้สมญาว่า The Big Waterfall ที่แม้จะเส้นทางจะยากกว่า ใช้เวลาเดินนานกว่า ทว่าก็คุ้มค่าทางความรู้สึกมากกว่า จนเราไม่อยากให้คุณพลาด

Dharamshala
เดินเลียบตามแนวท่อส่งน้ำไว้ ไม่มีหลง

การออกเดินทางไปยัง ‘น้ำตกใหญ่โต’ สามารถเริ่มต้นจากดารัมกตได้เช่นกัน หรือใครที่พักที่แม็คลอดกันจ์จะเช่ารถขึ้นไปเริ่มต้นที่วัดกัลลูเทวี (Gallu Devi temple) ก็จะสะดวกกว่า และแม้จะไม่มีป้ายบอกทางเด่นชัด ก็ไม่ยากเกินไปที่จะเดาว่านี่คือเส้นทางที่มุ่งหน้าไปยังน้ำตก เพราะตลอดเส้นทางการเดินลัดเลาะไปตามแนวป่าและหุบเหวจะมีท่อส่งน้ำทอดยาวขนานตลอดเส้นทาง เพียงเดินเลียบตามแนวท่อไปเรื่อยๆ รับรองไม่มีหลง และจะพบน้ำตกที่ปลายทางในที่สุด

Dharamshala
เส้นทางบางช่วงต้องเดินปีนป่ายบนก้อนหิน
Dharamshala
นักเดินทางตัวเล็กๆ (มุมล่างซ้ายของภาพ) บนเส้นทางสู่ The Big Waterfall

เส้นทางเดินไปน้ำตกใหญ่โตอยู่ในระดับไม่ง่ายและไม่ยาก ควรสวมรองเท้าผ้าใบหรือรองเท้าที่กันลื่นได้ดี (ไม่ควรสวมรองเท้าแตะ) เพราะมีบางช่วงต้องเดินบนก้อนหินเป็นระยะทางยาวพอสมควร และเมื่อไปถึงบริเวณน้ำตกก็จะต้องเดินไต่บนหินก้อนยักษ์อีกหลายก้อน จึงควรมั่นใจในรองเท้าที่สวมใส่ว่าจะไม่พาลื่นล้มจนหมดสนุก

Dharamshala
ธารน้ำที่ The Big Waterfall

หากสังเกตบนก้อนหินขณะเดินไปถึงกลางทาง จะปรากฏข้อความเขียนไว้ให้ใจชื้นว่า waterfall 20 minutes ซึ่งในความเป็นจริงอาจต้องใช้เวลาในการเดินนานกว่านั้นนานนับชั่วโมง แต่เมื่อไปถึงปลายทาง พลังงานของน้ำตกจะทำให้หลายๆ คนหายเหนื่อยและหายบ่นได้เป็นปลิดทิ้ง พร้อมที่จะทิ้งตัวเสพความงามของธารน้ำลึกลับที่ถูกโอบล้อมด้วยทิวเขา โขดหิน และแมกไม้ได้นานหลายนาน (อย่าลืมเผื่อเวลาในการเดินกลับให้ทันก่อนพระอาทิตย์ตกดินก็พอ)

Dharamshala
บรรยากาศพระอาทิตย์ตกดินระหว่างเส้นทาง The Big Waterfall
(Photo: Mowgli)

ตั้งแคมป์ริมทะเลสาบหิมะ ‘คาเรริ’

ไม่ไกลจากแม็คลอดกันจ์มีจุดท่องเที่ยวยอดนิยมอย่าง ทะเลสาบดาล (Dal lake) ที่ไกด์บุ๊กทุกเจ้าแนะนำให้ไป แต่เราอยากเสนอให้เขยิบห่างออกไปไกลจากธรรมศาลาอีกสักหน่อย เพื่อสัมผัสกับประสบการณ์เทรคกิ้งสู่ทะเลสาบคาเรริ (Kareri lake) ที่ทอดตัวอย่างสงบนิ่งบนยอดเขาที่ปกคลุมด้วยหิมะตลอดทั้งปี รอให้แขกผู้มาเยือนเดินทางไปทักทายความงามของธรรมชาติที่เหนือชั้นยิ่งกว่า

Dharamshala
ทิวทัศน์ข้างทางจากธรรมศาลาสู่หมู่บ้านคาเรริ
Dharamshala
สาย (ธาตุ) แข็งอย่าลืมแวะจิบเลมอนมิ้นต์โซดาริมทางเพิ่มความสดชื่น

จากธรรมศาลาสามารถเช่ารถหรือเช่ามอเตอร์ไซค์ขี่ไปทางตะวันตกประมาณ 9 กิโลเมตร ก็จะถึงหมู่บ้านคาเรริที่แสนจะเงียบสงบ คะเนด้วยสายตาปริมาณทุ่งข้าวสาลีน่าจะเยอะกว่าบ้านคนด้วยซ้ำ และจากตรงนี้เองที่เป็นจุดตั้งต้นในการเดินเขาบนเส้นทาง Kareri lake ที่เสียค่าธรรมเนียมเพียงคนละ 10 รูปี (ประมาณ 5 บาท) ก็สามารถเริ่มต้นเดินเข้าป่าได้ทันที

Dharamshala
คาเรริ หมู่บ้านทุ่งข้าวสาลี
Dharamshala
พระอาทิตย์ตกลับเหลี่ยมเขาที่คาเรริ

ระยะทางรวมทั้งหมดจากปากทางไปจนถึงทะเลสาบตีเป็นตัวเลขเพียง 10 กิโลเมตร แต่จัดเป็นสิบกิโลแม้วที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะเส้นทางที่มีแต่ขึ้นกับขึ้นและขึ้นนั้น มีบางช่วงที่ต้องเดินข้ามลำธาร ทรงตัวบนน้ำแข็งที่ปกคลุมช่องเขา และย่ำไปบนดงมูลสัตว์อย่างลาและล่อที่เป็นเจ้าของพื้นที่ตัวจริง

Dharamshala
ป้ายยินดีต้อนรับสู่ทะเลสาบคาเรริบริเวณจุดเริ่มต้นเส้นทางเทรคกิ้ง
Dharamshala
หนทางช่วงแรก ก้าวขาขึ้นลูกเดียว

แต่เพราะความยากลำบากของเส้นทางนี่เอง ที่ทำให้เหล่านักเดินป่ามือสมัครเล่นต้องหยุดพักหายใจบ่อยทุก 4-5 ก้าว ที่แปรเปลี่ยนเป็นรางวัลทางความรู้สึกตลอดเส้นทาง เพราะยิ่งพักบ่อยก็ยิ่งได้สัมผัสธรรมชาติรอบตัวได้นานขึ้น ขณะที่หัวใจกำลังเต้นแรงจากความเหนื่อยลองแหงนขึ้นมองฟ้าก็จะเจอกับนกเจ้าถิ่นสยายปีกและส่งเสียงร้องอยู่ไม่ไกล ก้มมองลงไปบนพื้นเมื่อไรเป็นต้องเจอฝูงเต่าทองเดินกันเกลื่อนกล่นตลอดเส้นทาง และกวาดสายตามองไปรอบกายในแต่ละระยะก็เจอกับพรรณไม้ที่ค่อยๆ เปลี่ยนหน้าตาไปเรื่อยๆ ตามความสูงที่เพิ่มขึ้น

Dharamshala
เจ้าถิ่นนอนอาบแดดยินดีต้อนรับ
(Photo: Mowgli)

Dharamshala
ทิวทัศน์บนเส้นทาง Kareri Lake Trek

และเมื่อสูงสุดถึงระดับหนึ่ง ก็เป็นอีกครั้งที่เทือกเขาดาเลาธารผืนมหึมาได้โอกาสโชว์เส้นสายของ snowline เป็นฉากหลังอีกครั้ง

รู้ตัวอีกทีคุณก็มายืนอยู่ริมทะเลสาบคาเรริเป็นที่เรียบร้อย สำหรับสายลุย ภูผาหิมะเบื้องหน้ายังสามารถเดินลุยต่อไปได้ หากคุณมีพละกำลังและเตรียมเครื่องแต่งกายพร้อมอุปกรณ์ที่จำเป็นในการเดินเขามาอย่างเพียงพอ

Dharamshala
ทะเลสาบคาเรริ
(Photo: Mowgli)

แต่สำหรับใครที่ต้องการพักผ่อนสบายๆ เพื่อรับพลังบริสุทธิ์จากธรรมชาติแห่งทะเลสาบและขุนเขา แค่เช่าเต็นท์ค้างริมทะเลสาบสักคืน สนนราคาคืนละไม่ถึง 1,000 รูปี (ประมาณ 500 บาท) ละเลียดเวลานอนมองฟ้านับดาวแล้วตื่นแต่เช้ามาเดินออกกำลังกายรอบๆ ทะเลสาบแสนกว้างใหญ่ เท่านี้คุณก็อาจจะได้รู้ซึ้งถึงความนัยในความหมายของชื่อรัฐ “หิมาจัลประเทศ” อันเป็นที่ตั้งของเมืองธรรมศาลาแห่งนี้ ที่มีความหมายว่า เขตแดนที่มีหิมะปกคลุม

เพราะไม่ว่าจะมาเยือนหิมาจัลประเทศในฤดูไหน ยอดเขาสีขาวโพลนก็พร้อมที่จะต้อนรับอาคันตุกะด้วยทิวทัศน์ตระการตาแบบนี้เสมอมาและตลอดไป

แนวปฏิบัติในการเดินทางไปอินเดีย

  • ลงทะเบียนทางเว็บไซต์ http://www.newdelhiairport.in/airsuvidha/apho-registration ซึ่งประกอบด้วยข้อมูลการเดินทางไปต่างประเทศในช่วง 14 วันก่อนที่จะเดินทางเข้าอินเดีย
  • แนบผลตรวจโควิด-19 แบบ RT-PCR ซึ่งมีอายุไม่เกิน 72 ชม. ก่อนเดินทาง หรือ ใบรับรองการฉีดวัคซีนโควิด-19 แบบครบโดส
  • เมื่อไปถึงอินเดียสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ทันทีโดยไม่ต้องกักตัว
  • ทั้งนี้ ในแต่ละเที่ยวบินจะมีผู้โดยสารจำนวนร้อยละ 2 ที่ถูกสุ่มเพื่อเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยเมื่อได้รับการเก็บตัวอย่างแล้ว ผู้โดยสารสามารถเดินทางออกจากสนามบินได้ และหากผลตรวจเป็นบวก จะต้องทำการรักษา/กักตัวตามมาตรการต่อไป