life

อาจสรุปสั้นๆ ได้ว่า การเดินทางไกลยาวนานหนึ่งปีครึ่ง และยังคงเดินทางต่อไปของชายหนุ่มจากเมืองไทยชื่อ ฐาวันต์ รงคพรรณ ในทวีปอเมริกาเป็น ‘การเดินทางที่ไร้จุดหมาย’ มันไม่มีบทเรียนชีวิตอันยิ่งใหญ่ เป็นเพียงการปลดปล่อยคำถามมากมายถึงค่านิยมที่ถูกสังคมกำหนดไว้ให้ เป็นการไม่ไถ่ถามตามหาความหมายของชีวิตใดๆ ซึ่งสุดท้ายแล้วได้นำมาซึ่ง ‘อิสระ’ ที่ไม่คาดฝัน

ฐาวันต์ รงคพรรณ เคยลาออกจากคณะวิศกรรมศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยชื่อดังของไทยขณะที่เขาเรียนมาได้กว่าครึ่งทางเมื่อตอนปี 3 ก่อนบินไปศึกษาศาสตร์ด้านสอนดนตรีที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ 

แม้จะรู้ว่าตัวเองมีต้นทุนมากกว่าคนอื่นอยู่บ้าง มีโปรไฟล์ที่น่าจะเลือกทำงานเงินเดือนมหาศาลตามค่านิยม ไต่ระดับสู่ความสำเร็จในอาชีพที่สูงขึ้นไปปีต่อไป แต่เรียนจบกลับมา เขากลับเลือกไปสมัครเป็นครูสอนเด็กน้อยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลของจังหวัดพังงา ที่ซึ่งเขาไม่ได้แค่สอนวิชาดนตรี แต่ได้สอนวิชาอื่นๆ ทั้งคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ เป็นครูประจำชั้น สอนทั้งประถมและอนุบาล เนื่องจากภาวะการขาดแคลนบุคลากรของโรงเรียนตามต่างจังหวัดในระบบการศึกษาและราชการไทยที่มีปัญหาซึ่งเราพบเห็นได้บ่อยครั้ง 

แต่เขามองว่านั่นไม่ใช่เรื่องยิ่งใหญ่ ก็แค่มีบางสิ่งที่แบ่งปันได้ก็แบ่งปัน ขณะเดียวกันก็แลกมากับการได้ชีวิตที่หลุดจากบรรทัดฐานเดิมๆ ของสังคม ใช้ชีวิตเท่าที่อยากใช้ อยู่ในสถานที่อากาศดี มีชุมชนที่ดี และเขาก็ไม่ได้เป็นแค่ครูเท่านั้น แต่ในมุมกลับ เขายังได้เป็นนักเรียนที่ได้เรียนรู้วิชาชีวิตจากสิ่งเหล่านี้ไปพร้อมๆ กัน…

“ตัวงานชอบมาก ยังชอบจนถึงตอนนี้ แต่ตอนนั้นยังเป็นวัยรุ่น อยู่ไปเรื่อยๆ ก็รู้สึกว่าชีวิตมันเงียบไปนิดหนึ่ง บวกกับเจอปัญหาการเมืองภายในองค์กร ซึ่งตอนนั้นทำให้รู้สึกผิดหวังมาก แต่เมื่อมองย้อนกลับไป เราก็คิดว่าไม่น่าจะไปยอมแพ้กับอะไรเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้เลย”

อิ่มตัวจากการใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ฐาวันต์ลาออกเพื่อกลับมาใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพ แต่ก็ไม่ได้เลือกทำงานเป็นหลักเป็นแหล่งอย่างที่เพื่อนๆ ทำกัน เขายังสอนดนตรีเป็นรายชั่วโมง และใช้เวลาอื่นๆ ทำงานมากมาย ทั้งเป็นนักเขียนฟรีแลนซ์ ทำงานแปล เป็นคนดูแลแกลลอรี่ เป็นพนักงานต้อนรับในโรงแรม ทำมาร์เก็ตติ้ง จัดห้อง ทำครัว ฯลฯ 

“เราชอบทำอะไรใหม่ๆ ใครชวนให้ทำอะไรก็เลยทำหมดเลย แต่แน่นอนว่าพอทำอะไรที่ไม่ใช่เส้นทางปกติของสังคม มันก็จะเคว้งและโดดเดี่ยวนิดหนึ่ง เพราะเพื่อนมีงาน มีธุรกิจ มีลูกมีเมียหมดแล้ว แต่กูทำอะไรอยู่ ซึ่งนั่นก็เป็นแค่อุปสรรคหนึ่ง”

ซึ่งเขาอธิบายให้ฟังว่า เมื่อเลือกเดินในเส้นทางที่ผิดแปลกออกไป ‘ความสุขในชีวิต’ ก็จะมาในรูปแบบที่แตกต่างออกไปเช่นกัน

“คนที่ไม่อยู่ในครรลองปกติ ก็ต้องหาว่าความสุขของเราคืออะไร นี่คือความท้าทายของคนที่เดินออกมาจากทางหลัก เราต้องจัดการมันให้ได้” ซึ่งสำหรับเขามันคือการได้พานพบประสบการณ์ใหม่ๆ อยู่เสมอ

จนกระทั่งการเดินทางอีกครั้งก็มาถึง…

หลายปีก่อน ฐาวันต์เคยปั่นจักรยานที่เพื่อนลืมไว้จากสวิตเซอร์แลนด์สู่ประเทศอื่นในยุโรปเป็นระยะทางกว่า 1,200 กิโลเมตร และโหยหาการปั่นอย่างเป็นอิสระแบบนั้นอีกครั้ง นั่นเองที่ในปี 2019 เขาจึงตัดสินใจออกเดินทางตามคำชวนของเพื่อนนักปั่นชาวเม็กซิโกสู่ทวีปอเมริกา แม้ว่าเพื่อนชาวเม็กซิโกที่ออกปากชวนจะขอถอนตัวไปก่อนล่วงหน้าเนื่องจากปัญหาสุขภาพ ซึ่งทำให้เขาต้องเดินทางครั้งนี้เพียงลำพัง…

 

“เมื่อมันไม่มีปลายทาง มันก็เลยไม่หลงทาง เราเลยเดินดุ่มๆ ไปได้เรื่อยๆ เพราะเราไม่ได้แคร์ว่ามันจะต้องไปถึงตรงไหน ทั้งจุดหมายทางเชิงกายภาพและจิตวิญญาณ”

 

‘การเดินทางปลายเปิด’ บนเส้นทางที่ไม่ได้กำหนดจุดหมาย สู่การเตร็ดเตร่ไร้ความหมายที่เปี่ยมความหมายอย่างไม่คาดฝัน

พฤษภาคม ปี 2019 ฐาวันต์ รงคพรรณตัดสินใจเดินทางสู่คอสตาริกา ในทวีปอเมริกากลาง พร้อมจักรยานคู่ใจหนึ่งคัน ปั่นไล่ลงมาจนถึงปานามา ก่อนจะได้มีโอกาสโบกเรือติดสอยห้อยตามนักล่องเรือใบไปตามชายฝั่งของทะเลแคริบเบียนในฐานะคนช่วยดูทาง ท่องเที่ยวไปตามเกาะเล็กเกาะน้อยต่างๆ ก่อนจะเข้าสู่เมืองหลวงของปานามา และจับเครื่องบินไปยังโคลอมเบีย

“ต้องบินมาโคลอมเบีย เพราะระหว่างปานามากับโคลอมเบียไม่มีถนนเชื่อมต่อกัน หลังจากนั้นก็ปั่นคนเดียว จนกระทั่งเจอเพื่อนคนเม็กซิโกคนหนึ่งระหว่างทาง แล้วก็ปั่นจนกระทั่งเข้าเปรู”

ฐาวันต์เล่าว่า ตลอดระยะเวลายาวนานของการเดินทาง จุดที่ยากที่สุดก็คือ ‘วันแรก’

“วันแรกโหดสุด เพราะทางโหด เป็นทางลูกรัง แล้วเราก็ไม่เคยปั่นจักรยานที่มีสัมภาระเยอะขนาดนี้ ต้องผ่านถนนที่มีแม่น้ำตัดขาด และเชี่ยวในระดับหนึ่ง แล้วเราก็ค่อยๆ ผ่านไป ทั้งวันมีแม่น้ำสี่ห้าสาย มีฝนตก ทางยาก เป็นความยากทั้งกายภาพและด้านจิตใจ ต้องอยู่คนเดียวในป่า…

“มันเหมือนเราได้เจอกับความท้าทายใหม่ๆ ของตัวเอง เพราะเราไม่เคยเดินทางคนเดียวยาวขนาดนี้ มันเป็นดินแดนใหม่ที่เราไม่เคยไปถึง ต้องเดินทางคนเดียว อยู่บนถนนกว้างๆ ลำพัง ซึ่งมันก็ทำให้กลัวไปหมด เพราะตอนแรกมันยังไม่เห็นภาพว่าจะเป็นอย่างไร เช่น ถ้าไปกางเต็นท์ข้างทางจะมีคนมาปล้นเราไหม ตอนเช้าจะไปเข้าห้องน้ำที่ไหน กินข้าวยังไง มันมีความกังวลเล็กๆ น้อยๆ เต็มไปหมด ซึ่งสิ่งที่เรียนรู้ระหว่างทางก็คือ ‘กังวลไปก็ไม่มีประโยชน์’ ก็ปล่อยให้มันเป็นไป เดินทางไปข้างหน้า ยอมรับกับทุกสถานการณ์ที่ผ่านเข้ามา”

ปั่นจักรยานจนถึงเปรู เขาก็ต้องจอดจักรยานคู่ใจทิ้งไว้เฉยๆ ยาวนานกว่าหนึ่งปี เนื่องด้วยสถานการณ์โควิดที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก ที่ทำให้การเดินทางข้ามพรมแดนเป็นไปไม่ได้ นั่นเองที่เรานึกสงสัย และถามเขาว่าเหตุใดทั้งๆ ที่ต้องเจอสถานการณ์ลำบาก ต้องใช้ชีวิตท่ามกลางสถาพแวดล้อมที่ไม่มีเพื่อนพูดภาษาเดียวกันในประเทศห่างไกลและแปลกหน้า เขาจึงตัดสินใจไม่เดินทางกลับมาตั้งหลักยังประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองก่อน

“ตอนแรกที่เริ่มเดินทาง มันเป็นการเดินทางปลายเปิดที่ไม่มีข้อจำกัด ไม่มีกรอบเวลา ซึ่งในตอนที่มีโควิด-19 ช่วงแรก ตอนนั้นเราคิดว่ามันน่าจะยังไปต่อได้ ไม่ได้คิดว่าหนึ่งปีผ่านไปจะยังมีการล็อกดาวน์กันอยู่ เพื่อนที่ปั่นมาด้วยกัน ก็บอกว่าเดี๋ยวสามสัปดาห์ก็ได้ออกแล้ว ส่วนตัวเราก็มองว่าคงน่าจะประมาณสองเดือนสามเดือนคงได้ออก แต่ปรากฏว่าผ่านไปสามเดือนมันก็ยังปิดอยู่เหมือนเดิม (หัวเราะ) อีกอย่างค่าตั๋วไฟลต์ส่งคนกลับถิ่นก็ค่อนข้างแพง บวกกับถ้ากลับไปก็ไม่รู้จะกลับไปทำอะไร…”

โชคดีที่เขาได้พักในที่พักสำหรับนักปั่นจักรยานโดยเฉพาะ ที่ต่อมาก็กลายเป็นเหมือนคนในครอบครัว ฐาวันต์จึงได้อยู่ในบ้านพักของเพื่อนชาวเปรูแบบฟรีๆ โดยไม่ต้องจ่ายค่าเช่า จะมีก็แค่ช่วยค่าน้ำค่าไฟบ้างบางครั้ง แล้วในการหยุดชะงักงันอันยาวนาน อีกด้านหนึ่งมันก็นำมาซึ่งโอกาสใหม่ๆ ในชีวิต

“พอดีเพื่อนที่เขาเปิดบ้านต้อนรับคนมาพัก เขาทำร้านขายจักรยานด้วย ช่วงโควิดก็เลยร่วมกันลงทุนสั่งจักรยานมาจากเมืองไทยมาขาย ใครจะคิดว่ามาที่นี่จะได้เป็นนักธุรกิจ ได้ลองสั่งจักรยานมาขาย (หัวเราะ)”

 

“สำหรับเราจุดประสงค์ของการมีชีวิตอยู่มันคือช่วงเวลาเหล่านี้ ช่วงเวลาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในบางครั้ง เช่น การแบ่งปันแบบนี้ นั่งมองพระอาทิตย์ตก หรือใดๆ ก็ตามที่เป็นโมเมนต์ที่สวยงาม”

 

เมื่อไร้ปลายทาง จึงไม่หลงทาง แล้วคำถามมากมายก็ถูกขจัดออกไป

ฐาวันต์พบเจอทั้งผลกระทบของโรคระบาดที่ทำให้การเดินทางหยุดลงชั่วขณะในประเทศเปรูยาวนานกว่าหนึ่งปี  ทั้งความล่องลอยที่เกิดขึ้นระหว่างการล็อกดาวน์ที่ทำให้เขาไม่ได้ออกไปไหนเป็นระยะเวลาหลายเดือน ทั้งการจับพลัดจับผลูกลายมาเป็นผู้ประกอบการ นำเข้าจักรยานจากประเทศไทยมาขายในประเทศเล็กๆ ของอเมริกาใต้

กระนั้น แม้จะผ่านมาหนึ่งปีครึ่ง มีสิ่งที่พอจะเริ่มจับต้องได้ให้เห็นลางๆ ในเส้นทางเบื้องหน้า แต่ฐาวันต์ก็บอกว่าชีวิตของเขาในตอนนี้นั้นยังไม่มีแผนการแน่ชัด

“เราไม่ได้มีแผนอะไรตั้งแต่แรก อย่างที่เห็นว่าตอนแรกมาด้วยจักรยาน พอมาเจอเรือก็ไปกับเรือ ไม่ขี่จักรยานก็ไม่มีปัญหาอะไร มันเป็นปลายเปิดมากๆ ที่สถานการณ์มันจะพาไป ให้เราพบเจอกับอะไรก็ได้ ไปอยู่ตรงโน้นหนึ่งเดือน ตรงนี้อีกหนึ่งเดือน เหมือนจะไร้จุดหมายเลยด้วยซ้ำ”

และมีบ่อยครั้งที่ภาวะสงสัยว่า ‘กูมาทำอะไรที่นี่’ ก็เกิดขึ้น

“รู้สึกหนักบางช่วง ยิ่งช่วงที่ออกไปไหนไม่ได้ประมาณสี่ห้าเดือน อยู่กันสี่ห้าคน มีนักเดินทางอีกสองคน เจ้าของบ้านอีกหนึ่งคน อยู่กันไปวันๆ โดยไม่ได้ทำอะไรจริงๆ จังๆ ทั้งที่เราพยายามทำนู่นทำนี่ เรียนออนไลน์บ้างอะไรบ้าง แต่มันก็รู้สึกเหมือนว่าไม่ได้ทำอะไรเลยอยู่ดี” 

ซึ่งจริงๆ แล้วเขาบอกว่าความรู้สึกเช่นนี้เกิดขึ้นอยู่ตลอดระยะเวลาของการเดินทางด้วยซ้ำ

“ความรู้สึกนี้มันมีอยู่ตลอดทริป เพราะเราไปหยุดอยู่หลายที่ ทั้งบนเกาะตอนที่ล่องเรือที่ปานามาหนึ่งเดือน อยู่ที่โฮสเทลหนึ่งเดือน อยู่ในโบโกตา (เมืองหลวงของโคลอมเบีย) หนึ่งเดือน อยู่ในเมืองเล็กๆ ของเอกวาดอร์อีกหนึ่งเดือน ช่วงเวลาตรงนั้นก็คือเหมือนไม่ได้ทำอะไรเหมือนกัน และมันจะมีหลายๆ ครั้งในระยะเวลาเหล่านั้นที่รู้สึกว่า เฮ้ย กูทำอะไรอยู่วะ เพราะ แม่ง เหมือนมันไม่เกิดอะไรเลย…”

แต่ทุกครั้งคำถามในหัวมากมายก็มักได้รับการปลดปล่อยออกไปด้วยภาวะไร้จุดหมายที่ดูจะย้อนแย้งในตัวเองนี้เอง

“เมื่อมันไม่มีปลายทาง มันก็เลยไม่หลงทาง เราเลยเดินดุ่มๆ ไปได้เรื่อยๆ เพราะเราไม่ได้แคร์ว่ามันจะต้องไปถึงตรงไหน ทั้งจุดหมายทางเชิงกายภาพและจิตวิญญาณ ในที่สุดก็แค่ช่างมัน ไปเรื่อยๆ ถึงจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น เราก็ได้เรียนรู้ ทั้งเรื่องภาษา วัฒนธรรม การปฏิสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนมนุษย์ หรือถึงไม่ได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เราก็ได้เรียนรู้การอยู่กับตัวเองจากการไม่ได้ทำอะไรเลยตรงนั้นอยู่ดี พอได้ทำอะไรแบบนี้มันเลยรู้สึกเป็นอิสระจริงๆ มันไม่ต้องคิดว่าเราจะอยู่ตรงนี้ได้นานแค่ไหน อยู่เพิ่มอีกสักสามวันเสียเวลาไหม มันไม่มีข้อจำกัดในหัวเลย ค่าใช้จ่ายไม่แพงก็อยู่ต่อไปเรื่อยๆ”

โดยเขาเล่าว่า คำถามถึงการมีชีวิตอยู่ของเขาที่ทุกคนอาจเคยตั้งถำถามถึงจุดประสงค์ในการดำรงอยู่ของตัวเองเหมือนกัน ตอบได้ด้วยการเผชิญหน้ากับช่วงจังหวะสวยงามของชีวิตที่จะผุดขึ้นมาอย่างไม่คาดคิดเมื่อไหร่ก็ได้

“วันอาทิตย์ที่ผ่านมา เพิ่งชวนเพื่อนๆ มาร่วมสังสรรค์ มากินข้าว มาแบ่งปันกัน มันไม่มีอะไรมากไปกว่านี้เลย แล้วมีเพื่อนคนหนึ่งเดินมา แล้วพูดว่า ‘เฮ้ย ความสวยงามของชีวิตมันคือการแบ่งปันเว้ย’ เราก็ฉุกคิดว่า เฮ้ย จริงว่ะ สำหรับเราจุดประสงค์ของการมีชีวิตอยู่มันคือช่วงเวลาเหล่านี้ ช่วงเวลาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในบางครั้ง เช่น การแบ่งปันแบบนี้ นั่งมองพระอาทิตย์ตก หรือใดๆ ก็ตามที่เป็นโมเมนต์ที่สวยงาม”

แต่อีกด้านหนึ่งการได้อยู่นิ่งๆ สำหรับนักเดินทางที่ไม่อยากหยุดอยู่กับที่ บางครั้งมันก็เป็นกับดักได้เช่นกัน โดยฐาวันต์แสดงความคิดว่า

“ทุกครั้งที่จะออกเดินทางใหม่ มันต้องกลั้นใจ เพราะการเดินทางมันไม่สบายเท่าการอยู่เฉยๆ”

 

“เราไม่ต้องยอมรับค่านิยมนี้ของสังคมก็ได้ ‘แต่’ เราก็มองตัวเองในความเป็นจริงว่าเราทำอย่างนี้ได้เพราะเราเป็นอภิสิทธิ์ชน ที่บ้านมีตังค์ เรามีการศึกษา”

 

Privilege ที่ตระหนักอยู่ตลอดเวลา แต่ก็ต้องมีความกล้าในการตัดสินใจก้าวเดิน

ฐาวันต์รู้ว่าเขามีอภิสิทธิ์มากกว่าคนอื่นที่ขาดไร้โอกาสในดินแดนที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำอย่างประเทศไทย เขาถือ privilege ของตัวเองเอาไว้ เขาจึงมีที่ทางและโอกาสที่จะเป็นอิสระและเดินทางได้มากเท่าที่ใจอยาก

“เห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าคนที่จะเดินทางได้ต้องเป็นอภิสิทธิ์ชนระดับหนึ่ง และนักเดินทางที่เจอระหว่างทางทุกคนก็คิดอย่างนี้ แต่การเดินทางบ้างครั้งมันไม่ใช่การท่องเที่ยวที่ต้องอยู่สบายเสมอไป บางคนเขาอาจจะไม่อยากเดินเยอะ ไม่อยากเดินทางลำบาก หรือพักโฮสเทล ซึ่งเราไม่ได้มองว่าการอยู่โอสเทลมันลำบากนะ (หัวเราะ) เพราะฉะนั้น ถ้าเรากำจัดการเดินทางแบบเอาความสบายมากกว่าที่คนบางใหญ่คิดออกไป มันก็ไม่จำเป็นต้องเป็นอภิสิทธิ์ชนขนาดนั้นก็ได้ แต่ใช่ โดยพื้นฐานคนที่เดินทางได้อย่างน้อยต้องสลัดข้อจำกัดทางการเงิน หรือครอบครัวต่างๆ ออกไปให้ได้ก่อน”

โครงสร้างทางสังคมที่เหลื่อมล้ำ ความคาดหวังบางอย่างที่เกิดเป็นค่านิยม ลิดรอนอิสระและความฝันไปจากหลายคน—เกิด เติบโต เรียนจบ ทำงาน เก็บเงิน แต่งงาน ไต่ทะยานไปตามเส้นทางอาชีพที่ใครหลายคนมองไปในทิศทางเดียวกัน ความเป็นไปได้อื่นของชีวิตที่มีเยอะกว่านี้จึงถูกจำกัด ในภาพใหญ่ จึงดูเหมือนเราต่างมีเส้นทางที่คล้ายๆ กันไปหมด และอภิสิทธิ์ชนผู้เคยลาออกจากมหาวิทยาลัยกลางคัน ทั้งที่หากมองตามบรรทัดฐานของสังคมไทยนั่นดูเหมือนจะเป็นเรื่อง ‘เสียเวลา’ ก็มองว่า

“มันเหมือนขีดมาหมดแล้วว่าอะไรทำได้ทำไม่ได้ ไม่ใช่แค่เรื่องเรียนนะ แต่มันอยู่ในชีวิตของเราทุกอย่าง เช่น บ้าหรือเปล่าจะไปเที่ยวสองปี กลับมาได้แล้ว เหมือนทุกคนมีสิ่งที่สังคมบอกให้เราต้องทำ เป็นบรรทัดฐาน เป็นแพตเทิร์น

“ตอนที่เราออกจากมหาวิทยาลัยตอนปี 3 มันก็ผิดจาก norm นี้แล้ว คือเราชอบเนื้อหาของวิศวะนะ แต่พอไปได้เห็นชีวิตวิศกร เรารู้สึกว่าโคตรโหดเลย ต้องไปอยู่ในโรงงาน ทำงานเช้าถึงเย็นทุกวัน มันเลยทำให้เราเห็นว่าจริงๆ เราไม่ต้องยอมรับค่านิยมนี้ของสังคมก็ได้ ‘แต่’ เราก็มองตัวเองในความเป็นจริงว่าเราทำอย่างนี้ได้เพราะเราเป็นอภิสิทธิ์ชน ที่บ้านมีตังค์ เรามีการศึกษา แม้หลังจากเรียนจบเราจะไม่ได้ใช้เงินที่บ้านแล้ว แต่เราก็รู้สึกว่าที่เราทำอะไรแบบนี้ได้ เพราะเรามีความรู้ วันที่เราไม่มีปัจจัยในการใช้ชีวิต เราก็ยังสามารถหางานทำดีๆ ได้เพื่อเลี้ยงชีวิตตัวเอง ดังนั้นในเส้นทางของชีวิต เราจึงสามารถเลือกจะเดินออกจากหนทางปกติได้”

แต่ชีวิตทุกคนก็ควรมีอิสระแบบนี้ได้มิใช่หรือ เลือกทำในสิ่งที่ตัวเองยากทำ ใช้ชีวิตตามที่อยากใช้ หากโลกมันเท่าเทียมกว่านี้ ฐาวันต์ก็เชื่อว่าทุกคนควรมีโอกาสและทางเลือกเป็นของตัวเอง เป็นคนธรรมดาสามัญที่ออกเดินทางได้โดยไม่ต้องคาดคั้นว่าจะได้พบปลายทาง

“ที่เดินทางส่วนหนึ่งเพราะรับไม่ได้กับอากาศรอบตัวเราที่มันเป็นพิษ และมันเป็นพิษเพราะเรา เป็นพิษเพราะเราทนกับการเมืองแย่ๆ ที่มันไม่ยอมทำอะไรเลยกับสิ่งทีเราหายใจเอาเข้าปอดไปทุกวินาที ตอนนี้คิดอยู่ทุกวันถ้ากลับไปจะเข้าร่วมการเรียกร้อง ก่อนหน้านี้ก็คิดอยู่ทุกวันว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง แต่มันก็น่าเศร้านะที่บ้างครั้งเราคิดไม่ออกว่าเราจะทำอะไรกับอำนาจล้นฟ้าพวกนั้นได้เพื่อให้มันเกิดการเปลี่ยนแปลง ก็ได้แค่เขียนๆ ในโซเชียลมีเดียไปเพื่อให้เพื่อนๆ หรือญาติมิตรของเรารับรู้ว่าเราก็ไม่พอใจเหมือนกัน”

ภาพโดย: ฐาวันต์ รงคพรรณ