ยูเทรกต์ (Utrecht) คือเมืองแห่งหนึ่งในประเทศเนเธอร์แลนด์
ล่าสุด เมืองแห่งนี้ได้อันดับหนึ่ง จากผลสำรวจ ดัชนีเมืองจักรยาน 2019 (2019 Bicycle Cities Index) ที่จัดทำโดย Coya บริษัทประกันภัยสัญชาติเยอรมัน
แซงหน้าเมืองจักรยานที่หลายคนคุ้นเคยอย่างอัมสเตอร์ดัมและโคเปนเฮเกน
“เราพยายามอย่างหนักที่จะสร้างเมืองนี้ให้เป็นสวรรค์ของคนขี่จักรยาน”
Stientje van Veldhoven รองรัฐมนตรีที่กำกับดูแลด้านโครงสร้างพื้นฐานของเมืองยูเทรกต์กล่าว
ปัจจุบัน ยูเทรกต์จึงกลายเป็นเมืองที่มีจำนวนผู้ใช้จักรยานเติบโตเร็วที่สุดในเนเธอร์แลนด์ เฉลี่ย 125,000 คันต่อวัน
หรือเกือบราวๆ ครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากร 330,000 คน
“ถ้าคุณต้องการให้ผู้คนเลิกใช้รถยนต์ และใช้ขนส่งสาธารณะ คุณต้องสร้างบริการขนส่งสาธารณะที่ใช้ง่ายและสะดวกสบาย
“อย่างการมีที่จอดรถจักรยานใกล้กับสถานีรถไฟ และคุณไม่ต้องใช้เวลาหาที่จอดนานนัก”
คำพูดของผู้ดูแลเมืองอย่าง Stientje van Veldhoven ทำให้รู้ว่า กว่ายูเทรกต์จะกลายเป็นเมืองจักรยานอย่างทุกวันนี้ ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ
คำถามคือ แล้วยูเทรกต์ทำอย่างไร
อันที่จริง ถ้าย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ ยูเทรกต์คือเมืองแรกในเนเธอร์แลนด์ที่มีทางจักรยานตั้งแต่ปี 1885 ดังนั้น ผู้คนที่นี่จึงขี่จักรยานเป็นชีวิต
‘เฮนนี่’ ชาวดัตช์แต่กำเนิด พูดถึงประเด็นนี้กับ common ผ่านไลน์ว่า ในมุมมองของเขา คนที่นี่ขี่จักรยานกันเป็นเรื่องปกติมากๆ ไม่ต่างจากการหัดพูด ว่ายน้ำ หรืออ่านหนังสือ
“เราเรียนรู้ที่จะขี่จักรยานตั้งแต่เด็กๆ”
ถึงแม้ยูเทรกต์จะดูเป็นเมืองจักรยานมานมนาน แต่การก้าวกระโดดขึ้นมาเป็นเมืองจักรยานอันดับหนึ่งของโลกนั้นเกิดจากความตั้งใจ
เมื่อภาครัฐและคนในเมืองเล็งเห็นว่าในอนาคตอันใกล้ ปัญหาวิกฤตสภาพอากาศและจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ของเมือง
“ฉันเรียก ‘มัน’ ว่าเป็นอาวุธลับในการต่อต้านความแออัด สภาพอากาศที่เลวร้ายในเมือง และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขณะเดียวกันก็ดีต่อสุขภาพกาย และเงินในกระเป๋า”
คือคำพูดของผู้ดูแลเมืองอย่าง Stientje van Veldhoven
ในปี 2011-2014 เมืองยูเทรกต์จึงเริ่มนโยบาย Utrecht – we all cycle! ที่เป็นแผนในเชิงปฏิบัติการ เพื่อขับเคลื่อนให้จักรยานเป็นส่วนหนึ่งของเมืองมากขึ้น
โดยพัฒนาเส้นทางจักรยานหลัก สร้างทางจักรยานทั้งบนดิน ใต้ดิน รวมถึงสะพานหรือเลนลอยฟ้า และปรับปรุงป้ายจราจรบนท้องถนนให้เอื้อกับผู้ขับขี่จักรยานมากกว่าเดิม
ทั้งนี้ การเกิดขึ้นของสิ่งต่างๆ ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างลอยๆ แต่เกิดจากการคิดและลงมือทำอย่างต่อเนื่องและจริงจังอย่างสม่ำเสมอ
“คุณต้องเชื่อว่าผู้คนคือเจ้าของเมือง ไม่ใช่เครื่องจักร”
Lott van Hooijdonk รองนายกเทศมนตรีเมืองยูเทรกต์ยืนยันว่า ความคิดเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย เพราะในอดีตช่วงปี 1970s ยูเทรกต์เคยถมคลองเพื่อสร้างถนนและให้ความสำคัญกับรถยนต์ ต่างจากยูเทรกต์ในวันนี้ที่พยายามหวนคืนสู่อดีต
โดยภาครัฐได้วางนโยบายอย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่ปี 2015-2020 (Action Plan 2015-2020 in PDF) เพื่อสร้างเมืองแห่งนี้ให้รองรับจำนวนจักรยานที่เพิ่มขึ้น
ทางเดินที่ดี เต็มไปด้วยสีเขียวชอุ่ม และทางจักรยาน คือข้อสรุปที่เมืองยูเทรกต์ยุคใหม่จะก้าวต่อไป
เพื่อให้เห็นผลงานที่แสดงถึงความมุ่งมั่นของเมืองยูเทรกต์ชัดขึ้น ที่จอดจักรยานที่สถานีรถไฟ Stationsplein ณ ใจกลางเมือง คือสถานที่ที่ต้องพูดถึง
ที่แห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็นที่จอดรถจักรยานที่ใหญ่ที่สุดในโลก จุจักรยานได้มากถึง 22,000 คัน เปิดตลอด 24 ชั่วโมง มีระบบช่วยผู้ขับขี่ค้นหาจุดจอด มีที่จอดจักรยานเฉพาะสำหรับจักรยานแบบพิเศษ เช่น จักรยานตอนยาวสองที่นั่ง หรือจักรยานที่มีแฮนด์กว้างกว่าปกติ
“นักการเมืองทุกคนซีเรียสกับเรื่องจักรยานมาก” Mark Wagenbuur นักรณรงค์ด้านจักรยานชาวดัตช์เคยให้สัมภาษณ์กับ The New York Times
ถามว่าการสร้างเมืองจักรยานของยูเทรกต์ใช้งบประมาณเท่าไหร่?
ข้อมูลจาก Time ระบุว่าราว 55 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ถึงแม้จำนวนงบประมาณจะดูมหาศาล แต่ในมุมมองของรัฐบาลท้องถิ่นมองว่าคุ้มค่า เมื่อเทียบกับการประหยัดค่าใช้จ่ายจากมลพิษทางอากาศและปัญหาด้านสุขภาพที่จะตามมา ซึ่งคิดเป็นเงินราว 300 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี
กลับมาที่ ‘เฮนนี่’ อีกครั้ง…
พอ common พูดถึงมุมมองที่เรามีต่อเมืองจักรยานอย่างยูเทรกต์อย่างตื่นใจในฐานะ ‘คนนอก’
คนในอย่างเฮนนี่กลับบอกว่า สำหรับเขา สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ
เพราะขนส่งสาธารณะที่นี่ ไม่ว่ารถเมล์ รถไฟ หรือแท็กซี่ราคาแพงมาก “ภาษีรถยนต์ส่วนตัวก็โหดหิน!”
ด้วยเหตุนี้ คนที่นี่จึงสัญจรด้วยจักรยาน และเป็นเจ้าของจักรยานมากกว่าหนึ่งคัน จนยูเทรกต์กลายเป็นเมืองที่มีจักรยานมากกว่าจำนวนประชากร
“ที่นี่เราไม่มีระบบรถโรงเรียนรับ-ส่งแบบในอเมริกา ดังนั้นเมื่อเด็กๆ โตพอ พวกเขาจะต้องขี่จักรยานไปโรงเรียน”
วิถีชีวิตในเมืองที่ถูกออกแบบโดยให้ความสำคัญกับ ‘จักรยาน’ เป็นหัวใจหลัก เปรียบเสมือนวิชาภาคบังคับให้คนที่นี่หันมาขี่จักรยาน โดยรัฐพยายามสร้างสภาพแวดล้อมเอื้อให้คนอยากใช้ ขณะเดียวกันก็ขึ้นภาษีเป็นกำแพงเพื่อลดการเข้าถึงยานพาหนะอื่นๆ
แน่นอน ได้อย่างก็ต้องเสียอย่าง แต่อย่างน้อยยูเทรกต์ก็ถือเป็นหนึ่งตัวอย่างของเมืองที่แสดงให้เห็นว่า ทุกเมืองสามารถเลือกที่จะเป็นเมืองในแบบที่ตัวเองอยากเป็นได้
เพียงแค่ลงมือทำอย่างเอาจริงเอาจัง โดยมีเป้าหมายว่า
เมืองที่เราฝันนั้นเป็นอย่างไร?
อ้างอิง:
- Coya. Global Bicycle Cities Index 2019. https://coya.com/bike/index-2019
- Simon MacMichael. Utrecht tops global cycling cities index, Bristol leads UK. http://bit.ly/30nybFJ
- Laura Bliss. How Utrecht Became a Paradise for Cyclists. http://bit.ly/2KLuuV4
- Patrick Lynch. City of Utrecht Opens Largest Bicycle Parking Lot In The World. http://bit.ly/2KV8YMu
- BICYCLE DUTCH. Utrecht; Cycling City of the Netherlands?. http://bit.ly/33KHtxM
- Senay Boztas. Dutch take cycling to a new level, with world’s biggest multistorey bike park. http://bit.ly/2ZcLbgc