life

วินัย ดิษฐจร เป็นช่างภาพข่าวและสารคดี

ชื่อ ‘Vinai Dithajohn’ ของเขาเป็นที่รู้จักในระดับสากล ตั้งแต่วันที่ฟิล์มยังเป็นปัจจัยที่ 5 ของช่างภาพ

ทุกวันนี้วินัยเป็นช่างภาพข่าวอิสระ ถ่ายภาพ เขียน และตัดต่อวิดีโอสารคดีให้กับสำนักข่าวไทยและเทศ

แต่ถ้าย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น จุดเริ่มต้นของวินัยไม่ค่อยสวยงามเท่าไหร่ เขาเคยเป็นกระเป๋ารถเมล์ ทหารอาสาสมัคร และจับกังโรงงานผลิตยา

“เมื่อก่อนการถ่ายรูปสำหรับผม เป็นเหมือนความฝันราคาแพง”

วินัยพลิกชีวิตตัวเองจากจุดเริ่มต้นที่ติดลบได้อย่างไร?

“เราคิดแบบเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ได้คิดแบบแทงหวย”

คำถาม…อะไรคือส่วนผสมของวิธีคิดที่ว่า

“คนเราโอกาสมันมา ถ้าเราถอยหนี ก็ไม่มีโอกาส”

วินัย ดิษฐจร
บันทึกความรู้เรื่องกล้องถ่ายรูปในสมุดของวินัย ดิษฐจร

1. ขวนขวายความรู้

หลังเลือกหยุดอาชีพกระเป๋ารถเมล์ตอนอายุ 23 วินัยไปสมัครเป็นทหาร ช่วงนั้นเขาฝันอยากเป็นช่างภาพเพราะได้ดูหนังเรื่อง The Killing Fields หรือ ทุ่งสังหาร

แต่ในค่ายทหารไม่มีกล้องและความรู้ วินัยจึงขวนขวายเรียนวิชาถ่ายภาพ ด้วยการสมัครเรียนทางไปรษณีย์กับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในหลักสูตรนิเทศศาสตร์

“เราไม่มีกล้องถ่ายรูป แต่ต้องทำข้อสอบ 150 ข้อ เราทำผิดไม่เกินสิบข้อ แต่ใส่ฟิล์มไม่เป็นนะ กล้องก็ไม่มี แต่ที่ทำได้เพราะเป็นเรื่องที่เราสนใจ”

วินัย ดิษฐจร
วินัยขณะฝึกภาคสนาม

การเรียนรู้ของวินัยเป็นไปอย่างลับๆ เพราะในค่ายทหารไม่อนุญาตให้นำหนังสือติดตัวไปอ่านขณะฝึกภาคสนาม

“ถ้าพกไปเป็นเล่มๆ มันดูโจ่งครึ่มไง อีกอย่างเป็นพลทหารไปทำตัวมีการศึกษาไม่ได้ โดนตบ เจ้านายไม่ชอบ”

แต่ด้วยความอยากเรียนรู้ วินัยใช้คัตเตอร์กรีดแบ่งหนังสือเล่มหนาให้บางลงเพื่อยัดใส่เป้ กางเกง หรือใส่กระบอก M79 เพื่อแอบเอาไปอ่านระหว่างฝึกซ้อม

“คือเราไม่มายด์หรอกว่าเราจะต้องกราบไหว้หนังสือ หรือห้ามนั่งทับหนังสือ สำหรับเรา เราได้หนังสือมา เราต้องอ่านมัน เราต้องเอาเนื้อหาจากในหนังสือให้ได้ เพราะว่าสำหรับเรา กว่าจะได้มา มันไม่ง่าย

วินัย ดิษฐจร
ภาพสารคดี ‘ไฟใต้’ นิตยสาร National Geographic (photo: วินัย ดิษฐจร)

2. กล้าเสี่ยง

หลังปลดประจำการ วินัยกลับมาอยู่กรุงเทพฯ ทำงานเป็นจับกังในโรงงานเภสัชกรรมชื่อ แอตแลนติค ตั้งอยู่ปากซอยสุขุมวิท 62

ช่วงนั้นวินัยพยายามเก็บหอมรอมริบค่าแรงอันน้อยนิด โดยเดินกลับไปกินข้าวกลางวันที่บ้านทุกวัน เพื่อเก็บเงินซื้อกล้องถ่ายรูป จนกระทั่งพอนำไปซื้อกล้อง Pentax K1000 มือสอง จากนั้นราวเดือนกว่า วินัยอ่านเจอข่าวประกาศรับสมัครงานช่างภาพนิตยสารสัตว์เลี้ยง เขาตัดสินใจส่งใบสมัครทันที แม้จะเพิ่งเคยถ่ายภาพแค่ฟิล์มม้วนเดียว

วินัย ดิษฐจร Pentax K1000
กล้อง Pentax K1000

“ตอนนั้นเราไม่มีทางเลือกไง คนเราโอกาสมันมา ถ้าเราถอยหนี ก็ไม่มีโอกาส อีกอย่างเราผ่านการเป็นทหารมา เฮงซวยกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว ถ้าเราทำผิด ไม่มีใครมาประหารชีวิตเรา ไม่มีใครตบตีเรา

“ส่วนเรื่องอับอายก็ไม่กลัว เพราะอย่างเก่งก็แค่โดนด่า ถ้าโดนไล่ออกก็ไปสมัครที่อื่น แต่เมื่อโอกาสมันมา เราต้องเอาไว้ก่อน”

“เราผิดหวัง เราให้อภัยมัน แล้วเราเริ่มต้นใหม่ ไม่ใช่ผิดหวังทีเดียวแล้วฟูมฟาย”

เวลาคนสัมภาษณ์งานถามว่า ทำได้ไหม? วินัยตอบว่า “ทำได้” ทันที แม้ว่าเขาจะยังไม่แน่ใจในความสามารถตัวเองก็ตาม

แต่ชีวิตไม่ใช่แค่เรื่องลมปาก เพราะเมื่อถึงหน้างาน วินัยต้องพิสูจน์ว่าเขาทำได้จริงอย่างที่พูด ด้วยการเรียนรู้อย่างหนัก และยอม ‘เข้าเนื้อ’ ในบางครั้ง

“ตอนนั้นเรายอมเดินไปอัดรูปเองที่ร้าน เพื่อปกปิดความผิดพลาด ถ้าอัดออกมาแล้วดี เราเก็บ ถ้าไม่ดี เราฉีกทิ้ง เราควักเงินตัวเองด้วย เพื่อให้ตัวเลขไม่น่าเกลียด เรายอม”

วินัย ดิษฐจร
วินัยถ่ายงานในสตูดิโอของสำนักงานบางกอกโพสต์

หรือเมื่อตอนที่ไปสมัครงานบางกอกโพสต์ คนสัมภาษณ์งานถามว่า “ใช้ไฟเป็นไหม?” วินัยตอบทันทีว่า “เป็น” ทั้งที่ความจริงแล้ว เขาไม่เคยถ่ายภาพในสตูดิโอเลย

“ช่วงนั้นเราอยากเป็นสตูดิโอแมน มีความสนใจ เพราะมันเป็นงานเทคนิค ต้องใช้อุปกรณ์ แต่เราไม่มีปัญญาซื้อ มีทางเดียวที่จะได้ทำ คือต้องเอาตัวเข้าไปทำงานที่นั่นให้ได้

“จำได้ว่าใบสมัครเป็นภาษาอังกฤษด้วยนะ ก่อนไป เราก็ไปซื้อตำราเขียนใบสมัครงาน เขียนเรซูเม่ เขียนจดหมายรักที่เป็นภาษาอังกฤษมาอ่าน แล้วก็เอามาตัดต่อเองอีกที”

เมื่อโอกาสเดินทางมาหา วินัยบอกว่า นอกจากเดินหน้าคือ “อย่าไม่ยอมแพ้”

วินัย ดิษฐจร
สมุดบันทึกของวินัย
วินัย ดิษฐจร Sunday Magazine
ปก Sunday Magazine ถ่ายโดย วินัย ดิษฐจร สมัยทำงานที่บางกอกโพสต์

3. รู้จักที่จะผิดหวัง

“มีความฝัน” คือเหตุผลสั้นๆ ที่ทำให้วินัยถีบตัวเองออกจากชีวิตกระเป๋ารถเมล์ ทหาร จับกังในโรงงานผลิตยา ขึ้นมาเป็นช่างภาพข่าวสารคดีอาชีพ

“โชคจริงๆ เกิดจากการที่เรามองหาความน่าจะเป็น แล้วทำให้ความน่าจะเป็น…เป็นไปได้”

สำหรับวินัย ‘ความฝัน’ ไม่ใช่คำนาม แต่เป็นคำกริยาที่ให้แรงพลัง และทำให้รู้จักการดีลกับความผิดหวัง

“คนบางคนไม่ได้มีข้อบกพร่องอะไรมากมาย แต่กลับคิดว่าเป็นอุปสรรค บางคนพยายามครั้งเดียวแล้วก็ท้อแท้ เรามีคติอยู่ว่าผิดพลาดร้อยครั้งพันครั้ง ยังไงก็ขออีกสักครั้ง ไม่ใช่ทำห้าครั้งสิบครั้งแล้วยอมแพ้

“เราผิดหวัง เราให้อภัยมัน แล้วเราเริ่มต้นใหม่ ไม่ใช่ผิดหวังทีเดียวแล้วฟูมฟาย เศร้าระทม มันไม่ใช่

“เราต้องเป็นเพื่อนสนิทกับความผิดหวัง”

วินัย ดิษฐจร
ภาพจากสารคดีชุด ‘คนเก็บรังนก’ ที่รับรางวัลชนะเลิศจากเวทีประกวดภาพสารคดี โดยนิตยสาร National Geographic ปี 2001 จากนั้นชื่อ ‘Vinai Dithajohn’ ก็เริ่มเป็นที่รู้จักในต่างประเทศ (photo: วินัย ดิษฐจร)

4. สร้างความน่าจะเป็น

ภาพถ่ายของวินัยหลายภาพ ทุกสิ่งคล้ายอยู่ถูกที่ถูกเวลาเหมือนเสกขึ้นมา ช่างภาพข่าวหลายคนรู้ดีว่าการจะได้ภาพแบบนี้ไม่ใช่ของง่าย ชีวิตของวินัยก็เช่นกัน

วินัย ดิษฐจร
(photo: วินัย ดิษฐจร)

“โชคมีส่วน” วินัยบอก แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะส่วนที่เหลือคือ ‘การวางแผน’ เพื่อพาตัวเองเข้าไปอยู่ใน ‘ความน่าจะเป็น’

โชคจริงๆ เกิดจากการที่เรามองหาความน่าจะเป็น แล้วทำให้ความน่าจะเป็น…เป็นไปได้  ไม่ใช่อยู่ดีๆ แล้วมีโชค”

‘จงเดินเข้าไปหาความน่าจะเป็น แล้วเปลี่ยนความน่าจะเป็น ให้เป็นไปได้’

บางทีนี่อาจเป็นประโยคที่สรุปวิธีคิดของ วินัย ดิษฐจร อดีตกระเป๋ารถเมล์ที่ไต่เต้าขึ้นมาเป็นช่างภาพข่าวสารคดีอาชีพ

ได้ดีที่สุด.

วินัย ดิษฐจร
(photo: วินัย ดิษฐจร)

_____

*หมายเหตุ: เรียบเรียงใหม่จากบทสัมภาษณ์ ‘ภาพถ่าย-ชีวิต ความน่าจะเป็นและความฝัน’ โดย วชิรวิชญ์ กิติชาติพรพัฒน์ นิตยสาร happening ฉบับที่ 76 มิถุนายน พ.ศ.2556