pe©ple

รู้หรือไม่ว่าในบรรดา 193 ประเทศทั่วโลก มีไม่ถึง 12 ประเทศที่เปิดโอกาสให้สตรีข้ามเพศสามารถประกวดนางงามระดับประเทศได้ 

และ ประเทศในทวีปเอเชียที่เปิดกว้างให้ trans woman ยืนหยัดเคียงคู่สาวงามบนเวทีเดียวกัน ได้แก่ เมียนมาร์ มองโกเลีย และล่าสุดได้แก่ ประเทศเนปาล 

โดยเวทีที่ได้รับการจับตามองมากที่สุดเวทีหนึ่ง ก็คือ Miss Universe Nepal 2020  

เพราะนอกจากจะเป็นการจัดการประกวดนางงามแบบ virtual ที่สามารถฝ่าวิกฤติไวรัสโคโรนาไปได้อย่างสวยงามแล้ว ในรอบสุดท้ายที่มีผู้ผ่านเข้ารอบ 18 คน ยังมีสตรีข้ามเพศเพียงคนเดียวที่ฝ่าด่านยากจนสามารถร่วมเดินแบบในชุดว่ายน้ำและชุดราตรีได้สำเร็จ

AngelLama
Photo: https://whereloveisillegal.com/angel-lama/

เธอคือ Angel Lama สาวน้อยวัย 21 ปี เจ้าของตำแหน่ง Miss Pink Nepal 2017 ผู้เคยแวะมาเช็คอินที่พัทยา ประเทศไทยในการประกวด Miss International Queen 2019 มาแล้ว 

แม้ Angel Lama จะไม่สามารถคว้ามงกุฎผู้หญิงที่สวยที่สุดแห่งประเทศเนปาลมาครอง (เจ้าของตำแหน่ง Miss Universe Nepal 2020 ได้แก่ Anshika Sharmaแต่การได้ผ่านเข้าสู่รอบลึกก็เหมือนเป็นใบเบิกทางชั้นดี ที่ทำให้โลกได้รู้จักนางฟ้าข้ามเพศคนแรกที่ยืนหยัดอย่างมั่นใจบนเวทีประกวดนางงาม ที่เคยสงวนไว้เฉพาะผู้ที่เกิดมาเป็นผู้หญิงเท่านั้น 

การประกวดนางงามไม่ได้วัดกันแค่ความสวย แต่ต้องพิจารณาถึงการพัฒนาศักยภาพในตัวเองด้วย Nagma Shrestha ผู้อำนวยการกองประกวด Miss Universe Nepal เจ้าของตำแหน่ง Miss Universe Nepal 2017 กล่าวถึงนิยามใหม่ของประกวดความงามในดินแดนแห่งเทือกเขาหิมาลัย

AngelLama
Nagma Shrestha ผู้อำนวยการกองประกวด Miss Universe Nepal เจ้าของมงกุฎ Miss Nepal Universe 2017
Photo: https://www.angelopedia.com/news/Miss-Universe-Nepal-2020-Ma-Nepali-Nagma-Shrestha-Beauty-Pageants-Nepal/51404

Nagma มีส่วนอย่างยิ่งในการปฏิวัติวงการนางงามของประเทศเนปาล ด้วยการทลายกรอบกติกาเดิมๆ ของคุณสมบัติผู้ที่สมัครเข้าร่วมประกวด Miss Universe Nepal ประจำปี 2020 แล้วกำหนดคุณสมบัติใหม่ที่เปิดกว้างให้สาวๆ เนปาลีมีส่วนร่วมกับเวทีนี้ได้มากขึ้น 

คุณสมบัติดังกล่าว ได้แก่ การไม่กำหนดเกณฑ์น้ำหนักและส่วนสูงขั้นต่ำ ผู้สมัครไม่จำเป็นต้องพูดภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว ไม่จำเป็นต้องอาศัยอยู่ในประเทศเนปาล และไม่จำเป็นต้องเกิดมาเป็นผู้หญิง ขอแค่รู้ตัวว่าเป็นผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 18-28 ปี และมั่นใจในนิยามความงามในแบบฉบับของตัวเอง ก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการประกวดนางงามระดับประเทศเวทีนี้ได้โดยเท่าเทียม

AngelLama
Angel Lama ในห้องแต่งตัวก่อนขึ้นเวที Miss International Queen 2019 จัดขึ้นที่พัทยา ประเทศไทย
Photo: Jewel SAMAD/ AFP

การประกวดนางงามเป็นการเปิดกว้างให้ผู้หญิงที่มีความแตกต่างหลากหลายได้มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน จนเกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้เองที่เป็นการพัฒนาบุคลิกภาพไปในตัว ดังนั้น พลังของการประกวดนางงามจึงไม่ใช่แค่การนำเสนอตัวเอง แต่ยังหมายถึงการเป็นตัวแทนของประเทศผู้ต้องรับผิดชอบภารกิจในการทำให้ชาวโลกได้รู้จักวัฒนธรรมและความเป็นเนปาลได้ดียิ่งขึ้น 

Nagma เอ่ยด้วยความภาคภูมิใจที่หลังจากนี้เป็นต้นไป เวที Miss Universe Nepal มีจะสถานะไม่ต่างอะไรกับงานประกวดนางงามที่ อินดี้ ที่สุด เพราะไม่ได้วัดกันที่ความสวยงามภายนอกเท่านั้น แต่ยังพิจารณาไปถึง กึ๋น’ ของผู้เข้าประกวดแต่ละคน ว่าจะสามารถรับผิดชอบภารกิจที่ยิ่งใหญ่กว่าอย่างการเป็นตัวแทนประเทศบนเวทีนานาชาติได้ดีแค่ไหน

AngelLama
Angel Lama เตรียมตัวก่อนขึ้นเวที Miss International Queen 2019 จัดขึ้นที่พัทยา ประเทศไทย
Photo: Jewel SAMAD/ AFP

ทั้งหมดนี้สอดรับกับปรัชญาในการประกวด Miss Universe ที่ว่า ‘confidently beautiful’ หรืองามอย่างมั่นใจ ซึ่ง Nagma ระบุว่า Miss Universe Nepal ยังต้องมีคุณสมบัติที่มากกว่านั้น ได้แก่ ความกล้าหาญ ความโดดเด่น และความสวย ซึ่งไม่ใช่แค่ความสวยภายนอก แต่ยังต้องสวยจากภายในด้วยจิตใจที่ดีงามเพียบพร้อมด้วยสติปัญญา และเปี่ยมด้วยพลังในการทำทุกอย่างให้ประสบความสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี 

ซึ่งแน่นอนว่าคุณสมบัติทั้งหมดที่ว่ามาล้วนไหลเวียนอยู่ในตัว Angel Lama อย่างเข้มข้น เธอจึงไม่ลังเลที่จะสมัครเข้าประกวด Miss Universe Nepal 2020 จนสามารถผ่านเข้าสู่รอบ 18 คนได้ในที่สุด

AngelLama
Photo: https://www.facebook.com/photo?fbid=141552394430931&set=a.133151635271007

Angel เปรียบเหมือนดอกไม้เหล็กในการประกวดครั้งนี้ก็ว่าได้ เพราะเธอคือสตรีข้ามเพศคนแรกในประวัติศาสตร์เนปาลที่ลงชิงชัยบนเวทีขาอ่อนที่เคยมีแต่ผู้หญิงเท่านั้นที่สามารถก้าวมายืนบนนี้ได้ 

ฉันบอกตัวเองว่าต้องประกวด Miss Universe Nepal ให้ได้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของผู้คนในสังคม ถ้าฉันได้ยืนบนเวทีนี้และแสดงให้ทุกคนได้เห็น เท่านี้ก็ถือเป็นมงกุฎที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแล้ว Angel กล่าวหลังจากที่เธอรู้ตัวว่าผ่านเข้ารอบ 18 คน 

ตั้งแต่จำความได้ ฉันก็ชอบลุกขึ้นมาแต่งเนื้อแต่งตัวสวยๆ และเล่นตุ๊กตาบาร์บี้กับเด็กผู้หญิง ซึ่งฉันเคยคิดว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา จนกระทั่ย่างเข้าสู่วัยรุ่น เมื่อฉันต้องเข้าไปสู่โลกของเด็กผู้ชายในรั้วโรงเรียน ฉันก็ถูกรังแกอย่างหนักตลอดชั้นประถมจนถึงมัธยม ทำให้ฉันแทบไม่มีเพื่อนเลย ผู้คนเรียกฉันว่าจอมเก็บเนื้อเก็บตัว และหลังจากที่ฉันทนเป็นคนที่แปลกแยกได้ไม่นานจึงตัดสินใจลาออกจากโรงเรียน” Angel เขียนเล่าเรื่องตัวเองไว้ในเว็บไซต์ Where Love Is Illegal ที่เปิดกว้างให้ชาว LGBTQI+ จากทั่วโลกแชร์ประสบการณ์ชีวิตผ่านข้อเขียนของตนเอง

การประกวดนางงามไม่ได้วัดกันแค่ความสวย แต่ต้องพิจารณาถึงการพัฒนาศักยภาพในตัวเองด้วย

ในขณะเดียวกัน แม่ของฉันก็เริ่มมีสุขภาพไม่สู้ดี ฉันจึงต้องเริ่มหางานทำตั้งแต่อายุ 16 ปี ทั้งเพื่อหาเงินมารักษาแม่และหาค่าผ่าตัดแปลงเพศให้ตัวเอง หลังจากย้ายไปทำงานที่นั่นที่นี่อยู่สามเดือน ฉันก็ปลดหนี้ได้ครึ่งนึง แต่หลังจากนั้น พ่อกับแม่ก็หย่ากัน ทำให้ครอบครัวแยกย้ายไปคนละทาง และไม่มีใครเลือกฉันไปอยู่ด้วย 

จนกระทั่ง ในที่สุดฉันก็ได้รับโอกาสและความช่วยเหลือจนเรียนจบปริญญาตรีด้านทันตกรรมในกรุงกาฐมาณฑุ ที่นี่เองที่ฉันได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ และในตอนนี้ เมื่อฉันได้ก้าวมาเป็น Miss Pink Nepal ก็เพื่อทำหน้าที่ย้ำเตือนให้ทุกคนมีความเชื่อมั่นในการศรัทธาและยืนหยัดเพื่อตัวเอง  

ตำแหน่ง Miss Pink Nepal 2018 ทำให้ครอบครัวยอมรับ Angel ในฐานะสตรีข้ามเพศมากขึ้น จากเดิมที่เคยตั้งความหวังให้ลูกแต่งงานมีครอบครัว แต่ในเมื่อนางฟ้าของบ้านเลือกที่จะทำงานกับองค์กรเพื่อสิทธิชาว LGBT+ ที่ชื่อ Blue Diamond Society แทน พวกเขาก็ยอมที่จะเข้าใจ

AngelLama
Angel Lama ในการประกวดรอบชุดประจำชาติบนเวที Miss International Queen 2019 จัดขึ้นที่พัทยา ประเทศไทย Photo: Jade ThaiCatwalk / Shutterstock.com

แม้เนปาลจะเป็นประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู ซึ่งหากมองด้วยสายตาของคนนอก ดูเหมือนน่าจะเป็นประเทศที่มีกรอบประเพณีเคร่งครัด แต่เนปาลกลับเป็นดินแดนที่เปิดกว้างและยอมรับ LGBT+ มากที่สุดประเทศหนึ่ง โดยเห็นได้ชัดตั้งแต่หลังจากลัทธิเหมาล่มสลายในปี 2006 และยกเลิกระบอบศักดินาในอีก ปีให้หลัง 

ปี 2008 จึงเป็นปีแรกที่สมาชิกสภานิติบัญญัติรายหนึ่งซึ่งเป็นเกย์ ได้รับเลือกเข้าไปในทำงานอย่างสมภาคภูมิ โดยศาลสูงของเนปาลได้ออกกฎยกเลิกการเลือกปฏิบัติขึ้นตั้งแต่ปี 2007 และให้การรับรองว่ากลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศมีสิทธิเท่าเทียมประชากรทุกคน นำไปสู่การถือกำเนิด Pride Parade ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2010

AngelLama
Photo: https://www.instagram.com/p/CJO5V1aMDCY/

ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตผลที่ทำให้ Nagma ยิ่งมั่นใจในการปลดล็อคเงื่อนไขของผู้เข้าประกวด Miss Universe Nepal ที่จะทำให้ค่อยๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในสังคม 

ทุกคนล้วนเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นเพศอะไรก็ตาม ถ้าพวกเธอบอกว่าตัวเองเป็นผู้หญิง เธอก็คือผู้หญิงคนหนึ่ง และทุกคนก็ควรปฏิบัติต่อเธอในฐานะผู้หญิงคนหนึ่งเช่นกัน  

 อ้างอิง