pe©ple

“มันเหมือนน้ำจิ้มบนโต๊ะจีน ไม่มีไม่ได้ หัวหมูก็ไม่อร่อยถ้าไม่มีน้ำจิ้ม และคุณจะกินน้ำจิ้มอย่างเดียวโดยที่ไม่มีหัวหมูก็ไม่ได้”

อรุณ วัชระสวัสดิ์ นักเขียนการ์ตูนล้อการเมือง วัย 72 ปี ให้มุมมองต่องานของตัวเอง

อรุณ วัชระสวัสดิ์

กว่า 50 ปีที่ผ่านมา อรุณ วัชระสวัสดิ์ ทำงานในฐานะนักเขียนการ์ตูนควบคู่ไปกับการสังเกตเหตุบ้านการเมืองก่อนจะตัดสินใจวางปากกา ดินสอ พู่กัน “พัก” งานวาด แล้วจัดงานแสดงผลงานของตัวเองให้คนทั่วไปได้ชม

สุทธิชัย หยุ่น (ซ้าย) อรุณ วัชระสวัสดิ์ (ขวา)

“การแสดงนิทรรศการการ์ตูนการเมืองของคุณอรุณมีค่ามาก เพราะผมคิดว่าการ์ตูนการเมืองเป็นศิลปะที่สำคัญสะท้อนประวัติศาสตร์ความเป็นไปของสังคมในแต่ละช่วงแต่ละยุค”

สุทธิชัย หยุ่น ผู้สื่อข่าวอาวุโส ผู้ก่อตั้งเดอะเนชั่น (The Nation) พูดถึงงานนิทรรศการ ‘ล้อธรรม’ ในฐานะแขกและคู่สนทนาของอรุณ วัชระสวัสดิ์ ในวันเปิดนิทรรศการที่มีผู้คนมาร่วมงานกันอย่างคับคั่งเมื่อ 24 มิ.ย. ที่ผ่านมา

บทสนทนาในวันนั้น นอกจากจะทำให้เรารู้จักตัวตนของการ์ตูนนิสท์ระดับตำนานของเมืองไทยแล้ว ยังทำให้เห็นมิติด้านลึกของสิ่งที่เรียกว่าการ์ตูนการเมือง และความตลกร้าย (ที่ขำไม่ออก) ของการเมืองไทยในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมาอีกด้วย

‘วิจารณ์โดยไม่ต้องด่า’ ความเป็นสากลในการ์ตูนของอรุณ วัชระสวัสดิ์

ช่วงหนึ่งของชีวิตสุทธิชัยและอรุณเคยทำงานให้กับหนังสือพิมพ์ ประชาชาติรายวัน ซึ่งเวลานั้นเป็นช่วงเดียวกับสงครามเวียดนาม และการ์ตูนล้อการเมืองในอเมริกากำลังเฟื่องฟู

สุทธิชัยนำการ์ตูนจากหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ที่ส่งมาเป็นประจำท่ีสำนักงานมาให้อรุณดู

“เฮ้ย! อรุณนี่ สุดยอดเลย มันได้อารมณ์มากเลย!”

อรุณเล่าความรู้สึกตอนที่ได้เห็นการ์ตูนของฝรั่งในวันนั้นว่า 

“เหมือนมวยไทยกับมวยสากล ต่อยคนละอย่าง เขาออกหมัดสวยกว่า แฟร์กว่า ผมดูแล้วผมคิดแบบนั้น ก็เลยเปลี่ยนวิธีการคิดการเขียนการ์ตูนว่าควรจะเป็นมวยสากล มากกว่าจะเป็นมวยไทย”

แม้การ์ตูนของอรุณจะมีลายเส้นและเนื้อหาคมคายเป็นที่จดจำ แต่อรุณเป็นคนที่ชอบ ‘เลียนแบบ’ ด้วยเหตุนี้ลายเส้นของเขาจึงมีหลากหลายสไตล์

“ผมไม่ชอบเขียนอะไรที่มีสไตล์เดียวอยู่ตลอด ชอบใครก็ลอกเลียนเขาแล้วก็พัฒนามาเรื่อยๆ ความสุขในการเขียนการ์ตูนก็คือตอนที่ได้ค้นคว้าศึกษา ถ้าผมเขียนการ์ตูนสไตล์เดียวตลอด 60 ปี คงไม่ไหว เลยต้องเปลี่ยนไปเรื่อย”

สุทธิชัยบอกว่า คุณอรุณเปิดรับและปรับเปลี่ยนแนวทางการวาดไปเรื่อย ๆ แต่สิ่งที่คุณอรุณมีต่างจากคนอื่นก็คือ “ความเป็นสากล” ซึ่งสุทธิชัยให้ความหมายว่า เป็นมาตราฐานของสื่อมืออาชีพที่มีศิลปะในการ “วิจารณ์ได้โดยไม่ต้องด่า”

ด้วยเหตุนี้ การ์ตูนล้อการเมืองฝั่งอเมริกาส่วนใหญ่จึงเป็นการ์ตูนที่ไม่มีแคปชั่น (คำบรรยาย) แต่ดูแล้วสามารถเข้าใจได้ทันทีว่าหมายถึงอะไร การ์ตูนของอรุณก็เป็นไปในทำนองนี้

อรุณบอกว่า สาเหตุที่ตนไม่ใส่แคปชั่น ส่วนหนึ่งมาจากการเป็นคนที่ไม่เก่งภาษาอังกฤษ แต่พอวันหนึ่งมาทำงานให้ The Nation ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ อรุณจึงต้องวาดทุกอย่างให้จบในภาพ โดยไม่อาศัยคำบรรยายใดๆ มาอธิบาย

“เพราะเหตุนี้จึงทำให้ผมคิดมากขึ้น เรียนรู้ให้มากขึ้น ศึกษาทั้งเศรษฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจ ภาพต้องบอกเรื่องราวได้เลย มันทำให้ฝีมือดีขึ้น เพราะว่าไม่มีคำอธิบาย ต้องวาดออกมาแล้วทำให้คนดูเข้าใจเองได้”

“นี่แหละเป็นการเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส ภาษาอังกฤษเราไม่ได้ไม่เป็นไร เราต้องวาดรูปให้คนเข้าใจได้โดยไม่ต้องอ่านแคปชั่น” สุทธิชัยเสริม

การ์ตูนล้อการเมือง = ความคิดประชาชน

ประเด็นในการวาดการ์ตูนการเมืองมาจากไหน?

สุทธิชัยเล่าว่า ในสมัยอดีตประเด็นหรือความคิดที่จะนำมาเขียนการ์ตูน ส่วนใหญ่จะมาจากห้องข่าว โต๊ะข่าว ประชุมข่าว หรือไม่ก็วงเหล้าของนักข่าวและการ์ตูนนิสต์

เพราะการ์ตูนที่เขียนลงหนังสือพิมพ์ไม่ใช่ Political Cartoon (การ์ตูนการเมือง) แต่เป็น Editorial Cartoon (การ์ตูนบรรณาธิการ) ที่จะวางติดกับบทบรรณาธิการบนหน้าหนังสือพิมพ์ เพื่อบอกจุดยืนของหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น และสะท้อนความคิดความอ่านของคนในกองบรรณาธิการ ว่าคนข่าวคิดว่าประชาชนกำลังมองเรื่องนี้อย่างไร แล้วค่อยสื่อออกมาเป็นภาพวาดในรูปแบบอารมณ์ขันหรือประชดประชัน เพื่อสะท้อนถึงสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนั้น ว่าอะไรคือประเด็นใหญ่ในรอบวันที่ผ่านมา

‘เสียดสีแบบเมตตา’ การ์ตูนล้อการเมืองสไตล์ อรุณ วัชระสวัสดิ์

อรุณเริ่มเขียนการ์ตูนล้อการเมืองครั้งแรก พ.ศ.2515 กับหนังสือพิมพ์สยามรัฐ และยืดหยัดเขียนการ์ตูนล้อการเมืองมาทุกยุคสมัย โดยไม่เคยโดนเรียกไปปรับทัศนคติเลยสักครั้ง

มีการตั้งข้อสังเกตว่า ที่เป็นเช่นนั้นเป็นเพราะอรุณมีเมตตากับนักการเมืองที่เขียนถึงเสมอ

อรุณเล่าว่าครั้งหนึ่งเขาเคยวาดภาพด่านักการเมืองคนหนึ่ง “เรียกว่าติเขาอย่างหนักเลย” แต่สิ่งที่ได้กลับมาก็คือนักการเมืองคนนั้นโทรศัพท์มาหา “ขอรูปไปเอาติดข้างฝาหน่อย”

“ผมเลยคิดว่าตัวเองยังมีความเมตตาอยู่ในสิ่งที่ผมทำ มันเลยไม่น่าเกลียดจนเกินไป”

และส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะผลงานของอรุณมักจะมีความลึกซึ้ง “ลึกซึ้งเกินไปจนเผด็จการอ่านไม่ออก” สุทธิชัยตั้งข้อสันนิษฐาน

สำหรับอรุณนี่คือศิลปะการเสียดสี ซึ่งต้องมีการซ่อนนัยยะและความหมาย เพื่อให้คนอ่านได้ตีความ ถ้าวาดแล้วเชื่อมั่นว่าคนจะเข้าใจ 100% สำหรับเขานั่นอาจไม่ใช่การเสียดสี

“มันเป็นศิลปะในการแสดงออกที่ใช้ความแยบยลวิจารณ์โดยที่ไม่ต้องด่าเขาตรงๆ ซึ่งน่าเสียดายที่ตอนนี้ถดถอยน้อยลงไป” สุทธิชัยแสดงความเห็นว่า Satirize (การเสียดสี) ถือเป็นศิลปะชั้นสูงของคนเขียนหนังสือและคนเขียนการ์ตูน

แต่ถึงกระนั้น ในยุคเผด็จการ พ.ศ.2559 อรุณก็เคยถูกเรียกไปปรับทัศนคติหนึ่งครั้ง เมื่อมีคนแชร์ภาพการ์ตูนเก่าที่อรุณเขียนล้อรัฐธรรมนูญในโซเชียลมีเดีย แต่สุดท้าย กกต. ก็พบว่าเป็นความเข้าใจผิดว่านั่นคือการล้อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

“มันวนซ้ำจนเจ้าหน้าที่เองก็สับสน” อรุณพูดถึงมุมมองที่เขามีต่อการเมืองไทย ซึ่งเป็นเรื่องขันที่ขำไม่ออก

วางมือหันมาเขียนการ์ตูนธรรมะ

วันนี้ อรุณ วัชระสวัสดิ์ ในวัย 72 ปี ประกาศวางปากกาพักการวาดการ์ตูนการเมือง แล้วหันมาเขียนการ์ตูนธรรมะ ด้วยเหตุผลว่า

“ผมเขียนการ์ตูนทุกวัน แต่การเมืองบ้านเรามันไปช้ามาก เรื่องมันซ้ำมาก ซึ่งแสดงว่ามันไม่ได้พัฒนาอะไรเลย ก็เลยเลิก เหมือนกับมวยที่มีบทวางไว้อยู่แล้ว แค่เปลี่ยนผู้เล่น”

ความวนเวียนของการเมืองไทยเป็นเรื่องตลกร้าย ทำให้การ์ตูนนิสต์อย่างอรุณเบื่อหน่ายที่จะสร้างผลงาน แต่หากวันใดบ้านเมืองรุดหน้าไปมากกว่านี้ หรือมีนักมวยใหม่ๆ เดินขึ้นมาบนเวที

ไม่แน่ อรุณ วัชระสวัสดิ์ อาจจะหยิบปากกาขึ้นมาหยอกล้อเหน็บแนมการเมืองอีกครั้งก็ได้.

FACTBOX:

  • การ์ตูนล้อการเมืองสำคัญยังไง?

อรุณเล่าว่าเขาเคยถามคำถามนี้กับ ขรรค์ชัย บุนปาน สมัยทำหนังสือพิมพ์ประชาชาติ ขรรค์ชัยตอบเชิงเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า

“มันเหมือนน้ำจิ้มบนโต๊ะจีน ไม่มีไม่ได้ หัวหมูก็ไม่อร่อยถ้าไม่มีน้ำจิ้ม คุณจะกินน้ำจิ้มอย่างเดียวโดยที่ไม่มีหัวหมูก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นการ์ตูนการเมือง ถึงแม้จะเป็นแค่น้ำจิ้มบนโต๊ะ แต่มันก็สำคัญสำหรับโต๊ะจีนเหมือนกันนะครับ” อรุณหัวเราะเสียงดัง

“น้ำจิ้มนี่วัดอุณหภูมิการเมืองนะครับ” สุทธิชัยเสริม “ก็เหมือนของบนโต๊ะจีน ถ้าน้ำจิ้มมันแป้ก แสดงว่าเหตุการณ์บนโต๊ะจีนนี่ไม่ดี เมื่อไหร่ที่น้ำจิ้มจืดชืดก็แสดงว่าไม่ค่อยมีอะไรน่าเขียนเท่าไหร่”