pe©ple

Google เป็นคลังความรู้ของโลกที่ยิ่งใหญ่และกว้างขวางจนเราแทบปฏิเสธไม่ได้ที่จะไม่ใช้มัน แน่นอนว่า Google มีคุณประโยชน์มหาศาลในฐานะคลังความรู้โลก แต่มันเป็นเช่นนั้นเสมอไปแน่หรือ? เพราะแม้แต่ Google เองก็มีข้อจำกัดบางประการเช่นกัน

คุณเคยสังเกตไหมว่า เวลาคุณพูดถึงอะไรสักอย่างแล้วสิ่งนั้นมักจะกลับมาปรากฏอยู่บนหน้า feed ของคุณในเวลาเพียงไม่กี่วินา ทำไมอัลกอริทึมจึงรู้จักเราดีขนาดนั้น มันจะส่งผลกระทบอะไรต่อเราอย่างไรบ้าง แล้วทำไมนักปรัชญาทั้งหลายจึงหันมาสนใจในประเด็นนี้

Photo: Kris Krüg via https://www.flickr.com/photos/poptech/5107602045

ในปี 2011 บนเวที TED Talk เอลี ปารีเซอร์ (Eli Pariser) นักเคลื่อนไหวและนักคิดชาวอเมริกัน ได้ขึ้นมาพูดเรื่อง ‘Beware Online Filter Bubbles’ ที่พยายามชี้ให้เห็นว่าโลกอินเทอร์เน็ตทุกวันนี้ล้วนตกอยู่ในปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ‘Filter Bubble’ หรือภาวะตัวกรองฟองสบู่ อันหมายถึงการที่อัลกอริทึมในเว็บไซต์ต่างๆ จะแสดงผลการค้นหาแต่ในสิ่งที่คุณชอบหรือสนใจเท่านั้น และสิ่งใดที่อยู่นอกเหนือจากนั้นก็จะถูกผลักให้ออกไปจากวงโคจรการรับรู้ของเรา เปรียบเหมือนฟองสบู่ที่ข้างในมีแต่ข้อมูลที่เราอยากเห็นและอยากเชื่อ

ปรากฏการณ์ Filter Bubble เป็นผลมาจากสิ่งที่เรียกว่า ‘Personalization’ หมายถึงการที่เว็บไซต์ต่างๆ เก็บข้อมูลจากพฤติกรรมการท่องโลกออนไลน์ของแต่ละบุคคล ทุกครั้งที่คลิก ทุกคลิปที่ดู ทุกโพสต์ที่กดถูกใจ อัลกอริทึมได้บันทึกความสนใจของคุณเอาไว้ในระบบแล้วทั้งสิ้น

ซึ่งสิ่งที่ตามมาคือหากคุณเสิร์ชหาคำใดคำหนึ่งบนเว็บไซต์ แม้จะเสิร์ชเรื่องเดียวกันแต่ผลการค้นหาของคุณอาจแตกต่างจากของเพื่อนอย่างสิ้นเชิง เพราะผลลัพธ์จะแสดงตามความสนใจของคุณ ท้ายที่สุดแล้ว โลกออนไลน์จะแสดงในสิ่งที่คุณ ‘อยาก’ เห็น แต่จะไม่แสดงในสิ่งที่คุณ ‘จำเป็น’ ต้องเห็นเลย

https://medium.com/@ziomam14/the-filter-bubble-75da2744eb09

ปรากฏการณ์นี้ไม่ต่างอะไรกับ ‘กะลาครอบหัว’ ที่กักขังไม่ให้เราเข้าถึงความรู้ต่างๆ ได้ แต่จะทำเราเผลอคิดไปว่าสิ่งที่เห็น สิ่งที่เชื่อนั้นถูกต้องและเป็นจริงที่สุด เพราะไม่ว่าจะมองไปทางไหน ข้อมูลที่ได้มาก็เป็นไปในทางเดียวกัน ซึ่งการ ‘เผลอคิดไปว่าเรารู้ ทั้งๆ ที่เราไม่รู้’ นั้นถือเป็นอันตรายอย่างมากในแนวคิด ญาณวิทยา (Epistemology) ซึ่งเป็นแขนงหนึ่งของปรัชญา เป็นศาสตร์ที่สนใจเกี่ยวกับธรรมชาติของความรู้ เช่น ความรู้คืออะไร ธรรมชาติของความรู้คืออะไร มนุษย์สามารถเข้าถึงความรู้ได้ไหม ความเชื่อของเรามีเหตุผลสนับสนุนพอที่จะถือเป็นความรู้หรือไม่ เป็นต้น

ฉะนั้นแล้วหาก ‘Google’ ในฐานะเครื่องมือที่ช่วยในการเข้าถึงความรู้ยอดนิยมยังมีข้อจำกัดดังกล่าว นั่นก็ถือเป็นปัญหาที่อาจส่งผลกระทบในวงกว้างและอันตรายอย่างคาดไม่ถึงต่อความคิดของผู้คนและสังคมเพื่อให้เข้าใจปรากฏการณ์ดังกล่าวมากขึ้น เราจึงขอชวนทุกคนไปคุยกับอาจารย์เฟิร์น รศ. ดร. ศิรประภา ชวะนะญาณ อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในนักปรัชญาผู้เชี่ยวชาญเรื่องญาณวิทยาของไทย และชวนให้พวกเรามาร่วมหาคำตอบไปพร้อมๆ กันว่า ‘เราจะก้าวออกจากกะลาครอบที่ทำให้มองไม่เห็นนี้ได้อย่างไร’

 

ในฐานะนักปรัชญา อาจารย์มีมุมมองต่อ Google อย่างไร

ในชีวิตประจำวันเรามีหลายเครื่องมือในการใช้หาข้อมูล เช่น dictionary ChatGPT ซึ่ง Google เองก็เป็นเครื่องมือหนึ่ง ที่เห็นได้ว่าเป็นเครื่องมือที่สำคัญมากในยุคปัจจุบัน และถ้าถามว่ามีมุมมองอย่างไร ก็ต้องยอมรับว่าเราไม่ได้มองแค่ว่า Google เป็นเครื่องมือที่พาไปสู่เป้าหมายบางอย่างแล้วจบเท่านั้น แต่เราพยายามจะมองให้รอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ Google เป็นเครื่องมือในการใช้หา ‘ความรู้’

โดยส่วนตัวเราถนัดญาณวิทยา ซึ่งญาณวิทยาสนใจเกี่ยวกับธรรมชาติของความรู้ ดังนั้นในมุมมองของคนที่สนใจว่าจริงๆ แล้วความรู้คืออะไร พอต้องมาพิจารณา Google ในฐานะเครื่องมือของการหาความรู้ ก็จะต้องมองให้รอบว่าเครื่องมือนี้นำไปสู่ความรู้แบบไหน ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะพูดว่า Google เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์มาก เป็นการพลิกโฉมการค้นหาข้อมูลจากสมัยก่อน เด็กรุ่นใหม่อาจจะเกิดไม่ทันแต่สมัยก่อนเราค้นหาอะไรเราไม่มี Google ไง เรามีแต่ ไดเรกทอรี (Directory) เกิดทันไหม (ยิ้ม)

 

 

ไดเรกทอรีคืออะไร

เว็บแบบไดเรกทอรีก็คือเว็บรวบรวมลิงก์ต่างๆ เป็นหมวดหมู่ สมมุติเราสนใจดูเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย เราก็เข้าไปดูหมวดหมู่สถาบันการศึกษา สถาบันอุดมศึกษา ก็จะมีรวบรวมลิงก์ของมหาวิทยาลัยไทยไว้ให้ อยากเข้าอันไหนก็ไปกดดู แต่ถ้าเป็น Google เราพิมพ์สิ่งที่เราต้องการค้นหาแล้วก็จะได้สิ่งที่เกี่ยวข้องมาเลย แน่นอนว่าทำให้การหาข้อมูลไวขึ้นและเป็นประโยชน์มากขึ้น

ในมุมมองของนักญาณวิทยาก็ต้องมาพิจารณาว่าเครื่องมือนี้มีข้อจำกัดอะไรหรือเปล่า เพราะถ้าเราจะใช้ Google ทุกวันในการหาความรู้ สิ่งสำคัญก็คือเราต้องรู้ว่า Google มีอะไรที่เราต้องระวัง เราไม่ได้มอง Google ในเชิง positive สุดๆ หรือ negative สุดๆ แต่มองอย่างระมัดระวังว่า Google คือเครื่องมือหนึ่ง เรายอมรับว่าเครื่องมือนี้มีประโยชน์และสามารถใช้ได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องพยายามตระหนักและรู้ทันให้ได้ว่าเครื่องมือนี้มีลักษณะเฉพาะและมีข้อจำกัดอะไร

 

ข้อดีและข้อจำกัดที่ว่าของ Google คืออะไร  

คิดว่าทุกคนเห็นข้อดีชัดมากอยู่แล้ว ให้หาข้อมูลอะไร ทุกคนก็นึกถึง Google ให้ข้อมูลที่ค่อนข้างหลากหลาย ช่วยรวบรวมสิ่งที่เกี่ยวข้องมาให้ แต่ถ้าพูดถึงเรื่องข้อจำกัดก็ต้องยอมรับว่าการจะเป็นเครื่องมือที่ใช้หาความรู้และข้อมูลที่ดี สิ่งสำคัญก็คือเครื่องมือนั้นต้องให้ข้อมูลที่มีความเป็นกลางมากที่สุด

สมมุติถ้าเรามองว่าความรู้เป็นสิ่งที่มีค่าในตัวเอง เครื่องมือหาความรู้ที่ดีก็ต้องนำไปสู่ความรู้ที่เป็นกลางมากที่สุด มีอคติน้อยที่สุด เพราะฉะนั้น Google จะมีค่าในตัวเองถ้าเป็นเครื่องมือที่ให้ข้อมูลที่เป็นกลางมากที่สุด 

บางคนอาจบอกว่าความเป็นกลางไม่มีอยู่จริง แต่สิ่งที่เรากำลังพูดถึงในที่นี้คือ ‘ความเป็นกลางมากที่สุด’ คงต้องยอมรับว่าอย่างน้อยการได้ข้อมูลจากหลายๆ มุม ทำให้เราเกิดการคิดวิเคราะห์ ตรวจสอบ มากกว่ารับแต่ข้อมูลจากแหล่งเดียวที่มีพื้นฐานความเชื่อบางอย่าง และถ้าถามว่า Google ทำได้ดีไหมในเรื่องของความเป็นกลาง ก็ต้องยอมรับว่ายังมีปัญหาหลายอย่างเลย

 

 

ปัญหาที่ว่าคืออะไร

ปัญหาแรก คือ ปัญหาความเป็นกลางที่มาจากอัลกอริทึมต่างๆ ของ Google เวลาเราเสิร์ชผ่าน Google เราไม่รู้เลยว่าผลการค้นหาเป็นตัวแทนข้อมูลทั้งหมดของเรื่องที่เราต้องการรู้หรือเปล่า

ปัญหาที่สอง คือ ความไม่เป็นกลางที่มาจากการที่ผู้สร้างเว็บทั่วๆ ไปเขารู้เทคนิคว่าจะทำแบบไหนให้เว็บของเขาขึ้นมาหน้าแรกๆ ดังนั้นจึงทำให้สิ่งที่ขึ้นมาใน Google อาจขาดความเป็นกลาง แล้วถ้าถามว่าความเป็นกลางสำคัญไหม ก็ตอบได้เลยว่า ‘ถ้าความรู้สำคัญหรือมีค่าในตนเอง สิ่งนี้ (ความเป็นกลาง) ก็สำคัญ’

อีกทั้งถ้ามองในเชิงสังคม สมมุติว่าคนคนหนึ่งเป็นสมาชิกของสังคมประชาธิปไตย ซึ่งให้อำนาจในการตัดสินใจแก่ปัจเจกทุกๆ คน อย่างน้อยปัจเจกบุคคลควรตัดสินใจโดยมีพื้นฐานมาจากข้อมูลที่เป็นกลางมากที่สุด นี่จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่อย่างน้อยเครื่องมือในการหาความรู้ที่ดีต้องมีความเป็นกลางมากที่สุด

Google อาจขาดความเป็นกลาง และความเป็นกลางสำคัญต่อคนคนหนึ่งในฐานะที่เขามองว่าความรู้สำคัญและมีค่าสำหรับเขา ความเป็นกลางก็สำคัญต่อเขาเพราะเป็นส่วนหนึ่งในสังคมประชาธิปไตยที่ให้อำนาจในการตัดสินใจแก่ปัจเจกบุคคล ซึ่งก็ควรมีพื้นฐานมาจากความรู้ที่เป็นกลางมากที่สุด

ปัญหาที่สามคือ Google ดูเป็นเครื่องมือที่ไม่เป็นกลางเพราะผลการค้นหาขึ้นอยู่กับเราแต่ละคน หรือที่เรียกว่า Personalization

 

Personalization คืออะไร แล้วนำมาสู่การเกิดขึ้นของ ‘Filter Bubble’ ได้อย่างไร 

ช่วงหลายๆ ปีที่ผ่านมา Google ได้พัฒนาการแสดงผลการค้นหาให้ขึ้นอยู่กับแต่ละคน ซึ่งเขาใช้คำว่า personalization สิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับ Google แต่เกิดขึ้นกับแทบจะทุกเว็บ เช่น เราเข้า Netflix เราก็จะเห็นหนังหรือซีรีส์ที่เขาเดาแล้วว่าเหมาะกับเรา เข้าเว็บอะไรก็ตามจะมีการแสดงผลแบบขึ้นอยู่กับเรา แต่ประเด็นคือ Google เป็นเครื่องมือที่คนใช้ในการหาความรู้อย่างชัดเจน แล้ว Google พยายามที่จะแสดงผลการค้นหาให้ตรงกับความสนใจของเราแต่ละคน หมายความว่าคนสองสามคนเสิร์ชคำเดียวกัน ผลไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับว่าในอดีตที่ผ่านมา Google เห็นว่าเขาสนใจอะไร สิ่งนี้มีข้อดีตรงที่ Google สามารถรักษาลูกค้าเอาไว้ได้ เพราะไม่ว่าจะเสิร์ชอะไรก็จะเจออย่างรวดเร็ว เนื่องจาก Google รู้ว่าเขาสนใจสิ่งนั้น ทำให้ลูกค้าเกิดความรู้สึกว่า ‘โอ้โฮ! เครื่องมือนี้ดีจังเลย รู้ว่าฉันต้องการอะไร’

แต่ในขณะเดียวกัน สิ่งที่นักญาณวิทยากังวลเกี่ยวกับลักษณะแบบนี้ก็คือ ถ้าทำแบบนี้ ถ้าแสดงผลการค้นหาตามสิ่งที่เคยสนใจมาในอดีตก็จะเท่ากับว่า สิ่งที่คุณเห็นในผลการค้นหาเป็นสิ่งที่คุณสนใจอยู่แล้ว เป็นสิ่งที่คุณเชื่ออยู่แล้ว อะไรที่คุณไม่เชื่ออะไรที่คุณไม่สนใจก็มักแสดงขึ้นมาน้อยในผลการค้นหา ซึ่งสิ่งนี้ในทางปรัชญาเราจะเรียกว่า ทำให้เกิด ‘อคติในเชิงยืนยัน’ (Confirmation bias) อันหมายความว่า เรามีแนวโน้มที่จะเชื่อสิ่งซึ่งตรงกับความเชื่อเดิมของเราและมีแนวโน้มที่จะปฏิเสธสิ่งซึ่งไม่ตรงกับความเชื่อเดิมของเรา

แล้วถ้าเกิด Google แสดงผลการค้นหาแบบนี้ คนที่เสิร์ชเรื่องการเมืองแล้วเจอแต่เว็บที่ตนเองสนับสนุนความเชื่อตนเองก็จะยิ่งเชื่อสิ่งที่ตนเองเชื่อ คนที่มีจุดยืนทางการเมืองอีกแบบหนึ่งเสิร์ช Google แล้วก็ได้ข้อมูลที่มันสอดคล้องกับความเชื่อตัวเองก็ยิ่งคิดว่าสิ่งที่คิดอยู่มันถูกแล้ว 

ปัญหา Confirmation bias จึงสำคัญมากเพราะทำให้อคติของคนเราแต่ละคนในสังคมรุนแรงมากยิ่งขึ้น บางทีคนใช้งาน Google อาจคิดว่าสิ่งนี้คือเครื่องมือที่เข้าถึงข้อมูลทั้งโลก โดยอาจไม่รู้เลยว่าที่จริงแล้วกำลังเข้าถึงข้อมูลที่ถูกจำกัดอยู่เท่านั้น เหมือนอยู่ใน Filter Bubble (ตัวกรองฟองสบู่)

Filter Bubble เป็นคำที่ เอลี ปารีเซอร์ (Eli pariser) พูดใน TED Talk เขาคือคนที่เขียนหนังสือเรื่อง The Filter Bubble What the Internet is Hiding From You เขาบอกว่าการอยู่ใน Filter Bubble คือการที่พอเราเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านเว็บต่างๆ แล้วเว็บต่างๆ ก็ฟิลเตอร์สิ่งที่เราต้องการจะเห็นมาให้ เวลาเราเข้าไปในเว็บที่เราใช้บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น YouTube Facebook Google Netflix ฯลฯ เขาฟิลเตอร์มาให้เราหมดเลยโดยที่เราไม่รู้ สิ่งที่เราเห็นผ่านอินเทอร์เน็ตก็จะเป็นสิ่งที่เราสนใจหรือเชื่ออยู่แล้ว

สมมุติว่าเราชอบโทนสีฟ้า เราก็จะเห็นแต่ของพวกนี้ สีอื่นๆ ไม่ได้เข้ามา ถูกกันเอาไว้ ปัญหาสำคัญของ Filter Bubble ก็คือเป็นสิ่งซึ่งเรามองไม่เห็น เป็นการการกันข้อมูลไม่ให้เข้ามาให้เราเห็นโดยที่เรามองไม่เห็นว่ามีกำแพงบางอย่างอยู่ ในขณะที่ชีวิตจริงเวลาเราเลือกที่จะกันข้อมูลบางอย่างเรารู้ตัว อย่างเช่น ถ้าไม่ใช่เรื่องออนไลน์ เราก็จะรู้ตัวว่า ‘โอเคนะ ฉันนั่งดูแต่ข่าวช่องนี้’ ‘นี่ฉันเลือกอยู่นะ’ หรือ ‘ฉันดูข่าวจากเฉพาะหนังสือพิมพ์นี้’ นี่คือรู้ตัวว่าตัวเองฟิลเตอร์ตัวเอง แต่กรณีของ Google กรณีของ Filter Bubble เจ้าตัวไม่รู้ตัวและการไม่รู้ตัวนี้ทำให้ความเชื่อที่เขาคิดว่าถูกมันถูกยิ่งขึ้น ‘นี่ไง! ข้อมูลถูกต้องแล้ว’ 

ความมั่นใจว่าข้อมูลของตัวเองถูกทำให้เกิดปัญหาหลายๆ อย่าง หนึ่งเลยคือมันเป็นไปได้ที่คนในสังคมจะพูดกันไม่รู้เรื่อง เหมือนอยู่กันคนละมัลติเวิร์ส โดยอาจได้ข้อมูลมากันคนละชุด บางคนก็เชื่อแบบนี้มาก บางคนก็เชื่ออีกแบบหนึ่งมากแล้วก็คิดว่าตนเองถูกต้อง

 

 

สำหรับอาจารย์แล้ว Personalization มีข้อดีไหม

มีแน่นอน ถ้า Google รู้ใจเรา ผลการค้นหาที่เราได้ก็จะตรงใจเราอย่างรวดเร็ว หรือก็คือมันทุ่นเวลา เราไม่ต้องเสียเวลาเลื่อนหานานเพราะ Google รู้ว่าเราอยากได้ข้อมูลอะไร

 

ถ้าพูดว่า ‘อยากกิน KFC’ แล้วโปรโมชั่น KFC ก็เด้งขึ้นมาหน้า Feed อาจารย์มองว่า Personalization ที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือการตลาดแบบนี้เป็นอย่างไร

มีทั้งข้อดีและเสีย ข้อเสียนอกจากเรื่องอคติ และความไม่เป็นกลางแล้ว ยังมีข้อเสียเรื่องความเป็นส่วนตัวด้วย เราก็คงไปกดตกลงเอาไว้แล้ว แต่ถ้าถามว่าเราต้องการให้ Google แสดงผลแบบนี้ไหม โดยความเห็นส่วนตัวนะ เราต้องการให้เป็นข้อมูลส่วนตัวของเรามากกว่า แล้วคำว่าส่วนตัวก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน บางที ‘อยากกิน KFC’ อาจจะไม่ใช่ความลับของใครบางคน แต่บางคนบอกว่า ‘นี่มากไป มาติดตามฉันมากไป’ การตลาดแบบนี้จึงมีข้อเสียที่เราผู้ใช้อาจเสียความเป็นส่วนตัว

 

อาจารย์เคยเจอการ Personalization ด้วยตัวเองไหม แล้วเป็นอย่างไร

ตัวอย่างชัดๆ เลยคือมีคนรู้จักคนหนึ่งซึ่งเขาก็มีความเชื่อบางอย่างทางการเมือง เวลาที่เขาจะให้เหตุผลสนับสนุนความคิดตัวเอง วิธีการที่เขาใช้ก็คือ ‘นี่ไงหลักฐานจากการค้นหาข้อมูล’ แล้วสิ่งที่เป็นหลักฐานนั้นเป็นหลักฐานที่ไม่ดูแหล่งอื่นเลย ค้นหาจากแหล่งเดิมๆ ที่สนับสนุนความเชื่อตนเอง  ตัวอย่างนี้เป็นเรื่องการเมือง แต่ถ้าถามว่าปัญหานี้ไปได้ทุกด้านไหม ก็สามารถไปทุกด้าน สิ่งที่เห็นผ่าน Google เป็นแบบนี้ได้หมดเลย ทั้งคนในวงการทำงานอื่นๆ หรือความเชื่อต่างๆ

 

Confirmation Bias ที่เกิดขึ้นจากปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างไรต่อสังคมโลก

การที่คนเรามีอคติที่มาจากการถูกยืนยันความเชื่อจากเครื่องมือในการหาความรู้ส่งผลต่อสังคมในหลายระดับมาก หนึ่งคือส่งผลต่อตัวปัจเจกบุคคลคนนั้นเอง การที่เขาเป็นแบบนี้ เขาจะเข้าถึงความรู้ยากขึ้นกว่าคนอื่นที่มี Confirmation Bias น้อยกว่า การจะเข้าถึงความรู้หนทางอาจยากลำบากเพราะมีความเชื่อฝังหัวที่มีปัญหาเต็มไปหมด เขาไม่มีความเปิดกว้าง และจริงๆ แล้วความใจกว้างเป็นคุณลักษณะที่จะทำให้คนคนหนึ่งมีแนวโน้มจะได้ความรู้ แต่เขาขาดของพวกนี้ไป นี่คือผลกระทบในระดับปัจเจกบุคคล

ทีนี้ผลกระทบในระดับสังคม เนื่องจากปัจเจกบุคคลเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ลองนึกสภาพสังคมที่ประกอบไปด้วยปัจเจกบุคคลที่เป็นแบบนี้ก็ส่งผลต่อสังคม ถ้าคนในสังคมเลือกที่จะเชื่อตาม Confirmation Bias ของตัวเอง มีการตัดสินจากข้อมูลที่ซึ่งมีอคติ ปัญหาก็จะตกอยู่กับสังคมว่า สุดท้ายแล้วการตัดสินใจอะไรของเราไม่ได้มาจากพื้นฐานของข้อมูลที่รอบด้าน

นอกจากนี้ถ้ามองในมุมที่ไม่ใช่เรื่องการเมือง การมี Confirmation Bias ยังส่งผลให้คนเราทะเลาะกันมากขึ้น เพราะเรามองไม่เห็นว่าความเห็นของคนอื่นมีเหตุผล เราคิดว่าเราถูกและเรายิ่งมั่นใจมากขึ้นทุกวันผ่านเครื่องมือพวกนี้ การมั่นใจมากขึ้นทุกวันทำให้กลายเป็นว่าถึงจุดหนึ่งเราคุยกับคนบางคนไม่ได้ แล้วถามว่าเป็นปัญหาไหม คือสังคมที่ดี สังคมประชาธิปไตย อย่างน้อยต้องคุยกันได้ด้วยเหตุผล แต่ตอนนี้ เช่นเราลองดูทวิตเตอร์การคุยกันบางทีคุยกันไม่รู้เรื่องเลย

ปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่ในระดับที่เราไม่รู้ตัว ซึ่งมาจากองค์ประกอบเล็กๆ อย่างเครื่องมือหาความรู้ ถ้าเครื่องมือหาความรู้เริ่มต้นจากความไม่เป็นกลางก็ลำบากเลย แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าต้องโทษ Google อย่างเดียว เครื่องมืออื่นๆ ก็ส่งผลเหมือนกันไม่ว่าจะเป็นพวกเรื่องสำนักข่าวหรือหนังสือพิมพ์

 

 

แล้วผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสังคมไทยโดยเฉพาะในช่วงสุญญากาศทางการเมืองที่ไม่มีความมั่นคงและไร้เสถียรภาพเช่นนี้ เป็นอย่างไร

ถ้า Google ทำให้เกิด Confirmation Bias แล้วคิดถึงสถานการณ์การเมืองตอนนี้ พูดได้เลยว่าจะทำให้‘การเมืองไม่ไปไหน เราลองสังเกตสถานการณ์การเมืองตอนนี้สิ ถ้าเราไม่ชอบอะไรโอกาสที่จะเปลี่ยนใจค่อนข้างน้อยมาก ทั้งนี้ไม่ได้โทษ Google อย่างเดียว หลายๆ อย่างเอื้อให้เกิดของพวกนี้ แต่ Google เป็นส่วนหนึ่งของระบบที่ทำให้เกิด Bias แต่ถ้าถามว่าส่งผลอย่างไร ทำให้หนักรุนแรงมากยิ่งขึ้นไหม ก็คือรุนแรงยิ่งขึ้นแน่ๆ อย่างเช่นการที่คนคนหนึ่งไม่ชอบพรรคบางพรรค ก็จะมีความเชื่อว่าพรรคนี้ไม่ดี มีแนวโน้มจะเชื่อและแชร์สิ่งที่สอดคล้องกับความเชื่อเดิมของตัวเอง แล้วก็เกิดความขัดแย้ง คุยกันไม่รู้เรื่องโดยไม่มีความพยายามลดอคติลงแล้วคุยกัน ความขัดแย้งก็จะบานปลายและทำให้การเมืองไม่ไปไหน

 

นอกจากเรื่องการเมืองมีด้านไหนอีกไหม

เช่น เรื่องศาสนาหรือความเชื่อ สมมุติว่าเราศรัทธาในอะไรสักอย่างก็มีแนวโน้มที่จะทำให้เราเชื่อสิ่งนั้นยิ่งขึ้น เพราะเราเห็นแค่หลักฐานที่สนับสนุนความเชื่อที่เราเชื่ออยู่แล้ว พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าการนับถือใดๆ ไม่ว่าจะทางการเมือง การแพทย์ หรือศาสนามีอคติเสมอไป แต่มีการนับถือบางแบบที่มาจากอคติ บางทีคนเราสามารถนับถืออะไรได้โดยมาจากการที่เราตัดสินใจแล้ว ตรวจสอบแล้ว พยายามหลีกเลี่ยงอคติต่างๆ แล้ว และก็พบว่าแนวคิดหรือความเชื่อนี้มีเหตุมีผลที่สุด

ถ้าเป็นเรื่องศาสนา สมมุติว่ามีหลายศาสนาที่พูดความจริงเกี่ยวกับโลกไม่เหมือนกันแต่พอเราได้ไปอ่านทุกคำอธิบายแล้วพบว่าพุทธมีปัญหาน้อยสุด ไม่ใช่ไม่มีนะแต่มีปัญหาน้อยสุด ดังนั้นศาสนานี้น่าจะพอเป็นหลักชีวิตฉันได้ อันนี้ไม่ใช่เรื่องอคติ ดังนั้นในทุกๆ เรื่องไม่จำเป็นว่าจะต้องมาจากอคติเพียงแต่ว่าอคติสามารถทำให้เกิดสิ่งเหล่านั้นได้

 

เช่น การหลงรักในศิลปิน เหมือนกันไหม

ลักษณะนั้นเป็นทางเลือกของแต่ละคน แต่จะเริ่มมีปัญหาถ้ามีอคติบางอย่างเข้ามาเกี่ยว อย่างเช่นศิลปินที่เรารักมากๆ ทำอะไรผิดด้วยการไป Sexual Harassment แล้วเราปกป้องเขาทุกอย่าง นี่อาจเป็น Bias แต่ถ้าเกิดเขาทำผิดแล้วเรารู้ว่าอันนี้เขาทำไม่ถูก อย่างน้อยยังอยู่บนพื้นฐานของเหตุผล

 

 

ในโลกที่เทคโนโลยีและเอไอพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดดปัญหา Personalization จะเป็นอย่างไร

จริงๆ แล้วก็เป็นไปได้ที่ Google จะเพิ่ม Personalization ให้เข้มข้นเพื่อดึงฐานลูกค้า ส่วนโลกที่เอไอพัฒนาไปมาก การที่เรามีหลายเครื่องมือมองได้หลายแง่มาก หากเราพยายามใช้หลายเครื่องมือมาตรวจสอบกัน แบบนั้นกลับเป็นเรื่องดี เพราะว่าเราอ่านอันนี้ อันนู้น อันนั้น แล้วเราก็อาจพบว่าอันนี้ขัดกับอันนั้น และสิ่งเหล่านี้ก็อาจกระตุ้นให้เราไปหาต่อว่าตกลงแล้วอะไรถูก แต่ก็ไม่เสมอไป ถ้าเกิดบางคนมีแนวโน้มที่จะเชื่อง่ายๆ อยู่แล้วหรือที่เรียกว่ามีข้อจำกัดทางญาณวิทยา ไม่ว่าจะมีอีกกี่เครื่องมือ กี่ AI เขาก็มีแนวโน้มจะเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นในแง่หนึ่งมันขึ้นอยู่กับผู้ใช้ด้วย อย่างไรก็ตาม หากเราจำเป็นต้องใช้เครื่องมือนี้ เราอาจต้องมีทักษะบางอย่าง เช่นความพยายามค้นคว้าหาความจริง ความใจกว้าง เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่พูดถึงไปให้ได้มากที่สุด

 

ถ้า Google เป็นมนุษย์คนหนึ่ง คิดว่าเขาจะเป็นคนแบบไหน

ก็อาจเป็นคนที่เต็มไปด้วยข้อมูลมากมาย แล้วก็อาจจะเป็นคนที่ดูใส่ใจคนอื่นในแง่ที่เขาก็พยายามที่จะตอบอะไรแบบที่เน้นเราเป็นศูนย์กลาง หรือก็คือเป็นคนที่มีข้อมูลมากและก็พยายามจะให้ข้อมูลที่ทุกคนต้องการ ถ้าถามว่าเป็นเพื่อนแบบไหน ก็น่าจะเป็นเพื่อนที่หลายๆ ครั้งทำให้เกิดEcho Chamber ก็คือจะเป็นเพื่อนที่ ‘แกดูดี! วันนี้แกดูดี’ แล้วก็ดูดีกันอยู่ในกลุ่ม แต่ถ้าออกไปข้างนอกเขาเห็นด้วยแบบนี้ไหมก็อาจจะไม่ (หัวเราะ)

 

นักญาณวิทยาจะแก้ไขหรือรับมือกับปัญหาอย่างไร

อย่างน้อยปรัชญาหรือญาณวิทยาจะช่วยชี้ให้เห็นปัญหานี้ ช่วยให้คนตระหนักว่าของแบบนี้มีอยู่ แต่ถ้าถามว่านักปรัชญาหรือนักญาณวิทยาช่วยแก้ปัญหาอะไรได้ไหม คำตอบคือนี่เป็นปัญหาในระดับใหญ่ที่ทุกคนต้องเข้ามาเกี่ยว แม้กระทั่งรัฐบาบ นักพัฒนาเว็บไซต์ หรือผู้ใช้ แม้แต่ครูในโรงเรียนก็ต้องสอนให้ใช้เครื่องมือนี้เป็น

ทั้งนี้ นักญาณวิทยาอาจช่วยชี้ให้เห็นว่ามีคุณสมบัติอะไรบ้างที่คนเราต้องมีเพื่อส่งเสริมให้คนใช้เครื่องมือนี้ได้ดีขึ้น อะไรคือลักษณะนิสัยที่ดีสำหรับการหาความรู้ ตัวอย่างเช่น ความใจกว้าง ความพยายามตรวจสอบข้อมูล การพยายามตระหนักถึงอคติที่ตนเองมี ความพยายายามคิดวิเคราะห์หาความคิดเบื้องหลังการอ้างเหตุผลต่างๆ ล้วนเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราสามารถใช้เครื่องมือหาความรู้ได้ดีขึ้น

 

เครื่องมือทางญาณวิทยาที่จะช่วยให้มนุษย์ได้มาซึ่งความรู้ควรเป็นอย่างไร เพื่อที่สุดท้ายแล้วเราจะได้ไม่หลงคิดไปว่าเรารู้ ทั้งที่เราไม่รู้อะไรเลย

เครื่องมือควรให้ข้อมูลที่มีหลักฐานน่าเชื่อถือ รอบด้าน มีอคติน้อยที่สุด เป็นกลางมากที่สุด  เช่น เครื่องมือนั้นไม่ควรให้ข้อมูลซึ่งผลิตซ้ำการ Stereotype (การเหมารวม) เกี่ยวกับอคติด้านชาติพันธุ์ หรืออคติทางเพศ และควรเป็นเครื่องมือที่ใช้ง่าย

นอกจากนี้ เครื่องมือหาความรู้ควรเป็นเครื่องมือซึ่งไม่นำไปสู่ ‘ความเหลื่อมล้ำทางความรู้’ คนทุกคนควรมีโอกาสเข้าถึงเครื่องมือนั้น เพราะสุดท้ายมันจะช่วยสนับสนุนให้เกิดสังคมที่เสมอภาคที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

 

อยากให้เล่าถึงหน่วยงานที่สนใจเรื่องอคติของอัลกอริทึ่มที่อาจารย์ทำอยู่

ตอนนี้เราทำงานในโครงการของ The <A+> Alliance โดยเรียกว่า f<a+i>r network ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการพยายามที่จะใช้ AI เพื่อทำให้เกิดสังคมที่ยุติธรรม ตัวอย่างเช่น ใช้เพื่อให้คุณภาพชีวิตทุกคนดีขึ้นอย่างเท่าเทียม หรือพยายามแสดงให้เห็นอคติของอัลกอริทึ่มที่ AI ประมวลผลเพื่อทำให้เกิดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสังคม (ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://aplusalliance.org/)

 

 

มีตัวอย่างของโปรเจกต์ที่ที่ทำไหม

งาน Feminist AI Hackathon ของ f<a+i>r network กลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยโครงการนี้จัดตั้งโดยหน่วยงาน Women@theTable และ Instituto Tecnológico de Costa Rica (TEC) เพื่อพยายามรวมนักวิชาการ นักกิจกรรม นักเทคโนโลยี มาสร้างต้นแบบของ AI แห่งอนาคตที่จะทำให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศโดยการอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรม 

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีทีมหลายทีมที่พยายามเสนอความคิดเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางความรู้ เช่น ทีมจากโรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร (ฝ่ายมัธยม) เสนอแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า Law for All ที่ทำให้การบริการด้านกฎหมายเข้าถึงประชาชนทุกคน โดยจะช่วยให้คำปรึกษาเรื่องข้อกฎหมายต่างๆ และทำงานเป็นทนายความเอไอ  ซึ่งมีรูปแบบการทำงานเป็นแชทบอท สามารถพูดคุยกับผู้ใช้และให้คำปรึกษาด้านกฎหมายได้ 

สมมุติเราเป็นผู้หญิงที่โดน Sexual Harassment ด้วยความเชื่อบางอย่างที่สังคมปลูกฝังมา อาทำให้เราอายไม่กล้าคุยกับใคร แต่เราสามารถคุยกับแชทบอท แล้วแชทบอทจะประเมินให้ว่าสถานการณ์ของเราเกี่ยวข้องกับกฎหมายใดบ้าง ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางความรู้เพราะบางคนไม่รู้กฎหมาย เข้าถึงทนายความไม่ได้ 

เวลาใช้เครื่องมือในการหาความรู้ เราควรพิจารณาเกณฑ์ต่างๆ ตามที่ได้พูดถึงไปว่าเครื่องมือควรให้ข้อมูลที่ถูกต้องที่มีเหตุผลที่น่าเชื่อถือสนับสนุน มีอคติน้อยที่สุด เป็นกลางมากที่สุด  ควรเป็นเครื่องมือที่ให้ข้อมูลรอบด้านที่ครบถ้วน ใช้ง่าย และไม่ควรนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางความรู้ หรือหมายความว่าเครื่องมือนั้นไม่ควรทิ้งใครไว้ข้างหลัง อีกทั้งเรายังควรพัฒนาลักษณะนิสัยของตัวเองในด้านต่างๆ ตามที่พูดถึงไปซึ่งจะส่งผลดีต่อการได้ความรู้ ผลดีนี้ไม่ได้ตกอยู่แต่กับตัวคนคนนั้น แต่ยังส่งผลถึงสังคมโดยรวมด้วย

 

อ้างอิง

  • Kristen Allred. (2018). The Causes and Effects of “Filter Bubbles” and how to Break Free. https://bit.ly/43eflkd