ใครเคยเดินทางไปเที่ยวประเทศอินเดีย คงทราบดีว่า เครื่องดื่มประจำชาติที่แทบจะดื่มบ่อยกว่าน้ำ ก็คือ ชานมที่เรียกว่า จัย (chai)
เราสามารถพบจัย (หรือมาซาลาจัย) ได้ทุกที่ทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการไปซื้อของตามร้านค้า ที่หลังจากต่อราคาจนคอแหบคอแห้งเป็นที่เรียบร้อย เจ้าของร้านใจดีมักเสิร์ฟจัยให้จิบเติมความหวานแบบคล่องคอสักหนึ่งจอก
หรือในตอนที่โดยสารรถไฟข้ามเมืองก็จะมีคนขายจัยแบกหม้อต้มชาเวียนมาขายไม่ขาดสาย และไม่ว่าจะเดินอยู่ในตรอกเล็กตรอกน้อยของเมืองไหนๆ เป็นต้องเจอพ่อค้าคอยต้มชาเสิร์ฟให้จิบในทุกหัวมุมถนนจริงๆ
แม้กระทั่งระหว่างการประท้วง คนอินเดียก็ยังต้องจิบจัยไม่มีขาด
นั่นทำให้ภาพของพ่อค้าขายชานมกลายเป็นอาชีพธรรมดาสามัญที่พบเห็นจนเกลื่อนแดนภารตะ
ทว่ามีแผงขายชาธรรมดาที่ไม่ธรรมดาแห่งหนึ่งในกรุงนิวเดลี ที่ไม่ได้ขายแค่ชานมมาซาลาเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นแผงขายหนังสือไปในตัว โดยพ็อกเกตบุ๊กทุกเล่มที่วางเรียงรายขายแบกะดินอยู่นั้น ล้วนเป็นผลงานเขียนของ ลักษมัณ ราโอ คุณลุงวัย 70 ปี คนเดียวกับที่กำลังง่วนอยู่กับการต้มชาเสิร์ฟลูกค้ามือเป็นระวิงตรงหน้านี่เอง
ความโด่งดังของร้านชาแห่งนี้ วัดได้จากการพิมพ์คำว่า Laxman Rao ลงบน Google Map จากนั้นแผนที่ก็จะนำพาคุณไปพบกับลักษมัณ ณ แผงขายชาในย่าน ITO ใจกลางกรุงนิวเดลีได้ไม่ยาก
ลักษมัณ ราโอ เป็นเจ้าของผลงานประพันธ์หนังสือกว่า 30 เรื่อง มีทั้งบทละคร นิยาย เรื่องสั้น บทความทางการเมือง งานทางวิชาการ ฯลฯ ที่เขาควักกระเป๋าพิมพ์เอง ขายเอง มานานกว่า 40 ปี
และไม่ต่างจากนักเขียนระดับเบสต์ เซลเลอร์ ทั่วโลก ที่เมื่อเรื่องราวในหนังสือเริ่มทำงาน ใครๆ ต่างก็อยากฟังผู้ประพันธ์เรื่องราว ‘เล่า’ เรื่องของตัวเองบ้าง
ปัจจุบัน ลักษมัณจึงกลายเป็นหนึ่งในนักพูดสร้างแรงบันดาลใจแห่งอินเดียไปโดยปริยาย
แต่กว่าที่ชีวิตของเขาจะเดินทางมาถึงจุดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ชายที่มีเงินติดกระเป๋าแค่ 40 รูปี (ประมาณ 20 บาท) ในตอนที่ตัดสินใจเดินทางจากบ้านเกิดในรัฐมหาราษฏระสู่กรุงนิวเดลี ต้องผ่านการถูกหยามเหยียดและพบแต่คำปรามาสว่า คนขายชาไม่มีทางได้พิมพ์หนังสือเป็นของตัวเอง กลับสามารถสร้างผลงานที่ตราตรึงใจคนทุกระดับชั้น ไม่เว้นแม้แต่ประธานาธิบดีแห่งอินเดีย
เหตุผลที่หนังสือของคนขายชาเป็นที่รักของหนอนหนังสือแห่งแดนภารตะ คงเพราะแต่ละเล่มบรรจุไว้ซึ่งเรื่องเล่าที่กลั่นจากชีวิตจริงของผู้คนที่ลักษมัณพบเจอ และใช้ศิลปะในการเล่าเรื่องร้อยเรียงจนออกมาเป็นเรื่องราวที่เข้าไปอยู่กลางใจผู้คนได้ไม่ยาก
เมื่อส่วนผสมของความทะเยอทะยานมุ่งมั่นทำในสิ่งที่ฝันจนสำเร็จ หลอมรวมเข้ากับความสมถะ อ่อนน้อมถ่อมตน และภูมิใจกับอาชีพขายชานมไม่เคยเปลี่ยน ทำให้เรื่องราวของพ่อค้าชาและนักเขียนคนนี้ยังคงได้รับการเล่าสู่กันฟังมาตลอด 4 ทศวรรษ
โตขึ้นผมอยากเป็นนักเขียน
บ้านเกิดของลักษมัณอยู่ที่หมู่บ้าน Talegaon Dashasar ในรัฐมหาราษฏระ ทางตะวันตกของประเทศอินเดีย จัดเป็นพื้นที่ชนบทอันห่างไกลความเจริญที่ไม่มีแม้แต่โรงเรียนให้เขาได้เรียนหนังสือ
เด็กชายลักษมัณจึงต้องย้ายไปอยู่เมืองอมราวตี เพื่อเข้าโรงเรียน แต่ด้วยฐานะทางบ้านที่ยากจน ทำให้เขาต้องทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยจนจบการศึกษาระดับสูงสุดเพียงแค่เกรด 10
เขาเป็นหนอนหนังสือมาตั้งแต่เด็ก และชื่นชอบผลงานของ Gulshan Nanda นักเขียนบทละครและบทภาพยนตร์ชื่อดัง นั่นทำให้ความฝันของเด็กชายลักษมัณแตกต่างจากเพื่อนคนอื่นๆ ที่มักตอบคำถามผู้ใหญ่ว่าโตขึ้นอยากเป็นหมอหรือวิศวกร ส่วนเขาชัดเจนในความมุ่งมั่นว่า “โตขึ้นผมอยากเป็น Gulshan Nanda”
และเมื่อเขาทราบว่า นิวเดลีเป็นสถานที่ที่เขาสามารถพิมพ์หนังสือขายได้ ดังนั้น ทันทีที่เรียนจบเกรด 10 เขาจึงขอยืมเงินจากพ่อเป็นจำนวน 40 รูปี เพื่อใช้เป็นค่าเดินทางข้ามรัฐด้วยระยะทางไกลกว่า 1,000 กิโลเมตร เพื่อมุ่งหน้าไปสร้างฝันให้เป็นจริง ณ เมืองหลวงของประเทศ
แต่ไปได้กลางทางถึงแค่เมือง Bhopal เงินก็หมด เขาจึงต้องรับจ้างเป็นคนงานก่อสร้างอยู่ 3 เดือน เพื่อหาค่าเดินทางต่อ
ในที่สุด ลักษมัณในวัยเบญจเพสก็เดินทางมาถึงกรุงนิวเดลีในเดือนกรกฎาคม ปี 1975 โดยมีสัมภาระติดตัวเพียงแค่เสื้อเชิ้ต 2 ตัว ประกาศนียบัตรสำเร็จการศึกษาเกรด 10 และความฝันที่ต้องเป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จให้ได้
เมื่อมาถึงเดลี อย่างแรกที่ต้องทำคือ หางานและหาเงิน ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่าย จึงเป็นอีกครั้งที่เขาต้องรับจ้างเป็นกรรมกรแบกหาม ควบคู่กับการเป็นพนักงานเสิร์ฟในร้านอาหารนานกว่า 2 ปี กว่าที่เขาจะเก็บหอมรอมริบจนสามารถเปิดแผงขายหมากพลูและบุหรี่เป็นของตัวเองได้
ในระหว่างนั้น เขาไม่เคยหยุดขวนขวายที่จะมีหนังสือเป็นของตัวเอง โดยลักษมัณรู้ดีว่าต้องก้าวผ่านกำแพงสำคัญไปให้ได้ นั่นคือ เรื่องของภาษา
เพราะภาษาที่เขาใช้ในบ้านเกิดคือ ภาษามราฐี ในขณะที่ประชากรค่อนอินเดียใช้ภาษาฮินดีเป็นหลัก ดังนั้น เขาจึงต้องเร่งเรียนรู้ภาษาฮินดีให้เร็วที่สุด เพราะเขาต้องการผลิตผลงานออกมาในภาษาฮินดี
“ผมเลือกที่จะเขียนด้วยภาษาฮินดี เพื่อที่คนอินเดียทั้งประเทศจะได้สามารถอ่านงานของผมได้ ดังนั้น ผมจึงต้องเริ่มอ่านหนังสือฮินดีให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ โดยแหล่งซื้อหนังสือฮินดีของผมอยู่ที่ตลาดหนังสือมือสอง Daryaganj ในนิวเดลี ที่ผมไปซื้อหนังสือเป็นประจำทุกวันอาทิตย์”
หลังจากเปิดแผงขายหมากและบุหรี่ได้ 3 ปี เขาก็ขยับขยายมาเปิดแผงขายชาจัย โดยเริ่มขายตั้งแต่ 9 โมงเช้าจรดค่ำ และใช้เวลาช่วงกลางคืนอ่านและเขียนหนังสือจนถึงประมาณตี 1 เพื่อเตรียมผลิตต้นฉบับสำหรับตีพิมพ์ออกมาเป็นเล่มในอนาคตใกล้
นักเล่าเรื่องจริง
ผลงานเขียนชิ้นแรกในชีวิตของลักษมัณชื่อ Ramdas เรื่องราวของเพื่อนร่วมชั้นเรียนในวัยเด็ก ที่เป็นเด็กหัวรั้น แต่ได้คุณครูใจดีค่อยๆ เปลี่ยนเขาให้กลายเป็นที่รักของทุกคนในโรงเรียน
แต่โชคร้ายที่รามดาสต้องจากไปก่อนวัยอันควรจากอุบัติเหตุจมน้ำ เหตุการณ์นี้กระทบจิตใจของลักษมัณเป็นอย่างมาก จนเขาเลือกที่จะเขียนเรื่องราวชีวิตของรามดาสออกมาเป็นหนังสือเล่มแรกในชีวิต ซึ่งก็ประสบความสำเร็จในภายหลัง โดยสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศจาก Indraprastha Sahitya Bharti Award ปี 2003 มาครอง
งานเขียนลำดับที่สองของเขา ใช้ชื่อว่า Nayi Duniya ki Nayi Kahani (New Stories for A New World) ว่าด้วยบทบันทึกการเดินทางจากชนบทสู่เมืองใหญ่ และการตัดสินใจเป็นนักเขียนของตัวเขาเอง
และเมื่อมีนิยายถึง 2 เรื่องในมือ ลักษมัณจึงพร้อมแล้วที่จะพกความมั่นใจไปยังสำนักพิมพ์ในย่าน Dariyaganj เพื่อแจ้งความจำนงว่า สนใจที่จะตีพิมพ์ผลงานของตัวเอง แต่เขากลับได้รับการปฏิเสธ โดยทางสำนักพิมพ์อ้างว่า ถ้าจะพิมพ์หนังสือ นักเขียนต้องออกเงินค่าพิมพ์ให้กับทางสำนักพิมพ์ (ซึ่งเป็นธรรมเนียมของสำนักพิมพ์ในอินเดียที่ยังคงมีอยู่จนทุกวันนี้)
จุดเปลี่ยนที่สำคัญเกิดขึ้นเมื่ิอหนึ่งในคนของสำนักพิมพ์ปรามาสลักษมัณว่า เป็นแค่คนขายชา จะมารู้เรื่องอะไรเรื่องการทำหนังสือ กลับไปเรียนรู้เสียก่อนเถอะ
เมื่อถูกสำนักพิมพ์ปฏิเสธอย่างไม่ไยดี ลักษมัณจึงนำเงินเก็บจำนวน 7,000 รูปี ที่ตอนแรกเขาตั้งใจจะนำไปซื้อบ้านขนาด 75 ตารางหลา (ประมาณ 63 ตารางเมตร) มาเป็นทุนในการตีพิมพ์หนังสือโดยเขาเลือกพิมพ์ New Stories for A New World เป็นเล่มแรกในปี 1979 พร้อมกับคิดง่ายๆ ว่า “เดี๋ยวพิมพ์หนังสือขายเสร็จแล้ว ค่อยซื้อบ้านหลังใหญ่กว่านี้ก็ได้”
แต่ผ่านมาแล้ว 40 ปี เขาก็ยังไม่สามารถมีบ้านเป็นของตัวเองได้เสียที ปัจจุบัน ลักษมัณยังคงต้องเช่าบ้านในราคาเดือนละ 15,000 รูปี และใช้แผงขายชาของตัวเองแทนหน้าร้านขายหนังสือเหมือนเดิม
เป็นทั้งนักเขียนและนักขาย
ในเมื่อออกทุนพิมพ์หนังสือเองแล้ว ขั้นตอนการขายก็ต้องทำเองเช่นกัน โดยช่วงแรก ลักษมัณทดลองขนหนังสือใส่จักรยาน ปั่นข้ามเมืองไปเสนอขายตามห้องสมุดและโรงเรียนต่างๆ ก่อนจะพบว่า วางขายที่แผงขายชาของตัวเองดีที่สุด
เขาชงชานมขาย ไปพร้อมๆ กับขายหนังสือของตัวเองแบบวันต่อวัน รู้ตัวอีกที 40 ปีที่ผ่านมา หนังสือของเขาถูกจำหน่ายไปแล้วกว่า 30,000 เล่ม ภายใต้ชื่อสำนักพิมพ์ Bhartiya Sahitya Kala Prakashan ที่ตีพิมพ์เฉพาะผลงานของเขาแต่เพียงผู้เดียว โดยหากราคาปกอยู่ที่ 300 รูปี เขาจะนำมาวางขายที่แผงชาของเขาในราคา 200 รูปี
ปัจจุบัน งานเขียนของลักษมัณสามารถหาซื้อได้ทางออนไลน์อีกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็น Amazon, Flipkart และ Kindle
แต่ไม่ว่าจะขายได้มากเท่าไร เงินจากการขายก็ไม่เคยงอกเงยเป็นกำไร เพราะต้องเปลี่ยนไปเป็นต้นทุนในการพิมพ์หนังสือครั้งใหม่ ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้นักเล่าเรื่องแห่งแผงขายชานมคนนี้ท้อใจแต่อย่างใด
และแล้วเรื่องราวของคนขายชาที่ริอ่านเป็นนักเขียน ถึงขั้นลงทุนพิมพ์หนังสือขายเอง ก็ไปสะดุดหูนักข่าวประจำหนังสือพิมพ์ The Times of India เข้า เรื่องราวของลักษมัณจึงถูกบอกเล่าลงในหนังสือพิมพ์เมื่อปี 1981 ทำให้เขาเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น
จนกระทั่งในปี 1984 สมาชิกอาวุโสแห่งพรรคคองเกรสคนหนึ่งได้อ่านบทความเกี่ยวกับลักษมัณเข้า และเห็นว่าชายหนุ่มคนนี้มีชีวิตที่น่าสนใจจึงนำไปเล่าให้ นางอินทิรา คานธี นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นฟัง
ลักษมัณจึงรับการเทียบเชิญให้เข้าพบนางอินทิรา คานธี เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 1984 เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องราวของนักเขียนสู้ชีวิตคนนี้ เธอให้กำลังใจเขาและบอกให้เขียนหนังสือต่อไป ลักษมัณจึงแจ้งความจำนงว่าเขาอยากเขียนอัตชีวประวัติของนายกรัฐมนตรีหญิงแห่งอินเดียคนนี้
นางอินทิราจึงแนะนำให้เขาเขียนเกี่ยวกับนโยบายการทำงานของเธอจะดีกว่า ทำให้ในเวลาต่อมา ลักษมัณก็เขียนบทละครที่ชื่อ Pradhanmantri ขึ้น โดยมีหน้าปกเป็นภาพนางอินทิรา คานธี ที่สื่อถึงเนื้อหาในเล่มได้โดยไม่ต้องอธิบายให้มากความ
ผลงานส่วนใหญ่ของลักษมัณมีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตจริงของผู้คนที่อยู่รอบตัวเขา ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน และลูกค้าที่แวะเวียนมาพูดคุยไม่ซ้ำหน้าตลอดทั้งวัน
“เด็กผู้ชายคนหนึ่งเคยเล่าถึงเด็กสาวเพื่อนร่วมชั้นเรียนให้ฟังว่าเธอเป็นคนไม่ค่อยพูด ผมฟังแล้วรู้สึกสะดุดใจ เลยถามว่า ขอเจอเธอได้ไหม และหลังจากนั้น เธอก็ได้กลายมาเป็นตัวละครหลักในหนังสือชื่อ Renu ของผม”
“เรณู” เป็นหนังสือที่ลักษมัณพกติดตัวไปแนะนำแก่ ประติภา ปาฏีล อดีตประธานาธิบดีคนที่ 12 ของอินเดีย ผู้นำอีกหนึ่งคนที่เป็นแฟนตัวหนังสือของเขา และเทียบเชิญให้ลักษมัณพร้อมครอบครัวเข้าพบถึง Rashtripati Bhavan ซึ่งเป็นที่พำนักของประธานาธิบดีแห่งอินเดีย เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2009
นอกจากเรื่องสั้น นิยาย และบทละครแล้ว ลักษมัณยังแสดงความคิดเห็นทางการเมืองผ่านงานเขียนอยู่บ่อยครั้ง เรียกได้ว่า กระแสสังคมตอนนั้นกำลังให้ความสนใจกับเรื่องอะไร เขาก็พร้อมจะแสดงความคิดเห็นออกมาเป็นตัวหนังสืออย่างทันท่วงที
อาจเป็นเพราะความใฝ่รู้ที่เข้มข้นอยู่ในตัวเสมอไม่ว่าจะย่างเข้าสู่วัยใดก็ตาม ทำให้ลักษมัณกล้าคิด กล้าเขียน กล้าแสดงออก และไม่หยุดที่จะเรียนรู้ต่อไปเรื่อยๆ
นักเรียนนอกห้องเรียน
บ่อยครั้งที่มีคนถามเขาว่า ลุงเรียนจบอะไรมา ยิ่งวันคำถามเหล่านี้ก็ยิ่งกระตุ้นให้เขากลับมาเรียนหนังสืออีกครั้งผ่านระบบการศึกษานอกโรงเรียน และสำเร็จการศึกษาเกรด 12 ในวัย 40 ปี
จากนั้น ลักษมัณก็สมัครเรียนต่อระดับอุดมศึกษาทางไปรษณีย์ จนสำเร็จปริญญาตรีทางด้านศิลปศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเดลี และปริญญาโทสาขาวรรณกรรมฮินดีที่ IGNOU (The Indira Gandhi National Open University) โดยเขาเริ่มเรียนปริญญาโทเมื่ออายุย่างสู่วัยเกษียณเข้าไปแล้ว
แม้ใบปริญญาจะไม่สำคัญอะไรกับอาชีพที่เขาทำอยู่ ไม่ว่าจะเป็นในฐานะคนขายชาหรือนักเขียน แต่ลักษมัณก็ให้สมดุลกับการศึกษาทั้งในและนอกห้องเรียนอย่างละเท่าๆ กัน พร้อมกับเขยิบเป้าหมายในชีวิตให้ใหญ่ขึ้นอย่างเป็นขั้นเป็นตอน
“ผมพอใจกับชีวิตของตัวเอง และต้องการก้าวต่อไป หวังว่าหนังสือของผมจะช่วยให้ผมหาเงินได้มากๆ ในวันข้างหน้า ถ้าเป็นอย่างนั้นเมื่อไร ผมจะเลิกขายชา และทุ่มเทให้กับงานเขียนเต็มตัว ซึ่งก็ไม่นานเกินรอ” เขามักให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อแบบนี้เสมอ แต่จนแล้วจนรอด ลักษมัณก็ยังคงไม่เลิกที่จะขายชา
อาจเพราะหลายเหตุผลประกอบกัน ทั้งรายได้จากการขายหนังสือที่ไม่มากพอจะเลี้ยงทั้งครอบครัว จึงต้องอาศัยรายได้จากการขายชาควบคู่กันไป
รวมถึงการอาศัยเรื่องเล่าจากผู้คนที่แวะเวียนมาอุดหนุนเขาที่แผงขายชา เพราะประสบการณ์ชีวิตของแต่ละผู้คนคือวัตถุดิบชั้นดีของนักเขียนคนนี้
และถึงจะไม่ได้ร่ำรวย แม้จะมีองค์กรใดหรือใครเสนอทุนในการตีพิมพ์หนังสือให้กับเขา ลักษมัณก็ยืนกรานปฏิเสธเรื่อยมา โดยเขาบอกว่า ถ้าอยากช่วยเหลือกันจริงๆ ก็ช่วยซื้อหนังสือของเขาไปอ่านจะดีที่สุด
“ผมเชื่อว่า นักเขียนที่ไม่ลงมือขายหนังสือด้วยตัวเอง ไม่มีทางเป็นนักเขียนเต็มตัวได้ และการจะแจ้งเกิดเป็นนักเขียนได้นั้นควรผ่านประสบการณ์ชีวิตมาแล้วอย่างน้อย 50 ปี หลังจากนั้น งานเขียนจะยังคงมีชีวิตต่อไปได้อีกยาวนาน แม้ตัวนักเขียนจะจากโลกนี้ไปแล้ว” เขาแสดงทัศนะถึงนิยามของนักเขียนในความหมายเฉพาะตัว ตามแบบที่เขาลงมือทำด้วยตัวเองมาทั้งชีวิต
ทุกวันนี้นอกจากอ่านหนังสือ เขียนหนังสือ และต้มชาขายแล้ว ลักษมัณยังแบ่งปันความรู้ด้านการเขียนด้วยการจัดเวิร์คช้อปสำหรับนักเขียนมือใหม่ขึ้นอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการได้รับเชิญไปบรรยายตามสถานที่ต่างๆ แม้แต่เวที TED x WalledCity ก็เคยต้อนรับเขามาแล้ว
“คำพูดของผมมักทำให้ผู้ฟังเกิดแรงบันดาลใจ เรื่องที่ผมเล่าก็คือประสบการณ์ในชีวิตว่าผมได้ลงมือทำอะไรมาบ้าง และผมเชื่อว่าทุกคนก็ทำแบบผมได้”
อาจกล่าวได้ว่าฝันของเขาที่อยากเป็นอย่างนันทา นักเขียนในดวงใจ เป็นจริงแล้ว ดังนั้น ลักษมัณจึงฝันต่อ เพื่อก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง
“ผมอยากจะเป็นเช็กสเปียร์แห่งอินเดีย ผมอยากเห็นบทละครที่ผมเขียนถูกนำไปแสดงบนเวทีจริงๆ ในสักวัน”
อ้างอิง
- Tanaya Singh.He Has Published 12 Books and Won Praise from a PM& a President.Why’s He Selling Tea Then?.https://bit.ly/2QLvivh
- Hindustan Times.Laxman Rao: The ‘Chaiwala’ Who Has Authored 25 Books.https://www.youtube.com/watch?v=yOQiG7DbWgQ
- Snigdha Basu.Meet Laxman Rao, Tea Seller, Novelist and Student.https://bit.ly/3593Sbp