pe©ple

“โอ้! บล็อกโดยเจมส์”

ปี 2016 บาสเกตบอล NBA รอบชิงชนะเลิศเกมที่ 7 ระหว่าง Golden State Warriors และ Cleveland Cavaliers เหลืออีก 1.50 นาทีก่อนหมดเวลา ทั้งสองทีมเสมอกันอยู่ที่สกอร์ 89-89 ก่อนหน้านี้แชมป์ควรตกเป็นของ Golden State Warriors ไปแล้วด้วยซ้ำ เมื่อพวกเขาขึ้นนำก่อนไปด้วยชัยชนะ 3 ต่อ 1 เกม แต่ Cleveland Cavaliers ภายใต้การนำของ เลอบรอน เจมส์ (LeBron James) ก็กลับมาตีเสมอได้ที่ 3 ต่อ 3 เกม ซึ่งทำให้ทั้งสองทีมต้องตัดสินกันในเกมที่ 7

เจมส์บล็อกอิกัวดาล่า / Photo:BECK DIEFENBACH / AFP

นาทีที่ 1.50 ก่อนเสียงสัญญาณหมดเวลาจะดัง อันเดร อิกัวดาล่า (Andre Iguodala) แห่งทีม Golden State Warriors เก็บรีบาวด์ได้จากฝั่งตัวเอง เสียงผู้บรรยายดังก้องสนาม

“อิกัวดาล่าส่งให้เคอร์รี่ (Stephen Curry) บอลกลับไปที่อิกัวดาล่า เขากำลังพุ่งไปเพื่อจะเลย์อัพ …โอ้! บล็อกโดยเจมส์” 

บล็อกช็อตของเลอบรอน เจมส์ นักกีฬาบาสเกตบอลที่โด่งดังที่สุดแห่งยุค ด้วยการไล่ตามไปอย่างไม่ลดละกลายเป็นหนึ่งในช็อตที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของวงการบาสเก็ตบอล เกมจบลงด้วยชัยชนะของ Cleveland Cavaliers ที่ 93-89 ซึ่งทำให้ Cavaliers กลายเป็นทีมแรกในประวัติศาสตร์ที่กลับมาอย่างยิ่งใหญ่หลังจากตามอยู่ 3 ต่อ 1 เกมในรอบไฟนอล และยุติการรอคอยถ้วยแชมป์ที่ยาวนานกินเวลา 52 ปี 146 ซีซั่น 18,802 วัน ของทีมจากเมืองเล็กๆ แห่งรัฐโอไฮโอทีมนี้

หน้าปก Sports Illustrated ฉบับ 18 กุมภาพันธ์ 2002  / Photo: vault.si.com

เลอบรอน เจมส์ กลายเป็น ‘ผู้ถูกเลือก’ ตามรอยสักที่เขาสักไว้กลางหลังว่า ‘Chosen 1’ หลังจากที่ผ่านเรื่องราวมากมายใน NBA มาหลายปี เคยเป็นทั้งความหวัง เป็นจูดาสผู้ทรยศสโมสรบ้านเกิด ย้ายไปหาความสำเร็จกับอีกสโมสรที่มีทรัพยากรพร้อมกว่า และกลับมาสู่บ้านเกิดอีกครั้ง

ย้อนกลับไปปี 2002 เจมส์เป็นเด็กหนุ่มจากเมืองแอครอน รัฐโอไฮโอ ผู้มีครอบครัวไม่สมประกอบ มีแม่ที่เป็นแม่วัยสาว มีพ่อที่มีประวัติทางอาชญากรรมเป็นหางว่าว และไม่เคยอยู่ดูแลครอบครัว แต่อีกด้านหนึ่งด้วยความสามารถทางกีฬา เขาก็กำลังเป็นนักบาสเกตบอลที่น่าจับตามองที่สุดในระดับชั้นมัธยม กระทั่งได้ขึ้นปกนิตยสาร Sports Illustrated ฉบับ 18 กุมภาพันธ์ 2002 โดยมีคำโปรยว่า ‘The Chosen One’

รอยสักกลางหลังของเจมส์ / Photo: cleveland.com

“เมื่อคุณนำเด็กหนุ่มคนหนึ่งมาขึ้นปกและป่าวประกาศว่าเขาคือ ‘ผู้ถูกเลือก’ มันอาจจะทำลายชีวิตของเขาได้มากกว่าคำอื่นๆ” แกรนท์ วาห์ล (Grant Wahl) ผู้เป็นคนเขียนเรื่องราวของเจมส์ใน Sports Illustrated ฉบับนั้นแสดงความคิดเห็น “แต่มันก็ทำให้ผมรู้สึกถึงขนาดที่ว่า ชีวิตของเขาจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เมื่อความกดดันเพิ่มขึ้นอย่างมโหฬาร”

เจมส์ตอบรับความกดดันนั้นด้วยรอยสัก ‘Chosen 1’ ขนาดใหญ่ที่กลางหลัง ปี 2003 เขาเข้าสู่การดราฟต์ของ NBA ทันทีหลังจบมัธยมโดยตัดสินใจไม่เข้ามหาวิทยาลัย และถูกเลือกเป็นดราฟต์อันดับหนึ่งโดยทีม Cleveland Cavaliers จากรัฐบ้านเกิด

นั่นคือจุดเริ่มต้นของความหวัง ปีแรกใน NBA เขาช่วยทีมเพิ่มอัตราการชนะเป็นสองเท่า และคว้ารางวัล Rookie of the Year มาครองได้ ไม่ว่าจะเจอความกดดันรูปแบบไหน ทั้งฉายา King James ที่แสนเย่อหยิ่งและน่าหมั่นไส้ซึ่งติดตัวเขามาตั้งแต่มัธยม, แรงกดดันจากแฟนๆ หรือแรงกดดันจากสัญญามูลค่ามหาศาลที่เขาได้รับหลังจากนั้น และอื่นๆ ที่ตามมากอีกมาย ประโยคหนึ่งที่เจมส์มักพูดเสมอราวเป็นม็อตโต้ก็คือ “ผมเอาอยู่” ทว่านั่นไม่ได้หมายความว่าเขาไม่เคยพ่ายแพ้เลย

การโปรยแป้งเคยเป็นพิธีประจำตัวการทำงานแข่งขันของเจมส์ / Photo: Wikimedia Commons

ฤดูกาล 2006–07 เขาพา Cleveland Cavaliers ทะลุเข้าสู่รอบชิงได้สำเร็จ แต่ก็ต้องพ่ายชนิดที่สู้ไม่ได้ให้แก่ความแข็งแกร่งของ San Antonio Spurs ทีมที่เปี่ยมไปด้วยผู้เล่นมากประสบการณ์ด้วยผล 4 ต่อ 0 เกม

แม้เจมส์จะได้รางวัลส่วนตัวอย่างผู้เล่นทรงคุณค่าแห่งฤดูกาลถึงสองครั้ง (ฤดูกาล 2008–09 และ 2009-2010) แต่หลังจากนั้น Cleveland Cavaliers ก็ไม่เข้าใกล้แชมป์อีกเลย

และแล้วเหตุการณ์ที่ชื่อ The Decision ก็มาถึง เมื่อเจมส์กลายเป็น ‘จูดาสผู้ทรยศ’ ของคนคลีฟแลนด์ทั้งเมือง

คว้าแชมป์กับ Miami Heat / Photo: BRENDAN SMIALOWSKI / AFP

ฤดูกาล 2010-2011 หลังเป็นฟรีเอเจนต์ เจมส์ตัดสินใจย้ายไปร่วมสร้างทีมรวมสตาร์ในนาม ‘บิ๊กทรี’ กับทีม Miami Heat ที่ประกอบด้วย เจมส์, ดเวน เวด (Dwyane Wade)  และคริส บอช (Chris Bosh) ความเดือดดาลกระจายไปทั่ว เสื้อแข่งของ Cleveland Cavaliers ที่มีชื่อของเจมส์อยู่ถูกเผาตัวแล้วตัวเล่า

แดน กิลเบิร์ต (Dan Gilbert) เจ้าของทีม เขียนจดหมายเปิดผนึกโดยระบุว่าการตัดสินใจของเจมส์คือ ความเห็นแก่ตัว ไร้หัวจิตหัวใจ และเป็นการทรยศอย่างขลาดเขลา ส่วนเจมส์ก็ได้รับชื่อเสียงในแง่ลบว่าเป็นนักกีฬาชาวอเมริกันที่มีคนเกลียดที่สุดทันทีทันใด เขาถูกดูแคลนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่เว้นแม้กระทั่งตำนานผู้เป็นพระเจ้าแห่งวงการบาสเกตบอลรุ่นก่อนหน้าอย่างไมเคิล จอร์แดน (Michael Jordan) ที่บอกว่า “ผมคงไม่มีวันจะเรียก แลรี่ เบิร์ด (Larry Bird) แมจิก จอห์นสัน (Magic Johnson) (ทั้งคู่เป็นสองผู้เล่นที่ยิ่งใหญ่ในยุคจอร์แดน) แล้วบอกว่า เฮ่ เรามาเล่นทีมเดียวกันเถอะ ด้วยความสัตย์จริง ผมคงพยายามเอาชนะพวกเขามากกว่า”

การเผชิญหน้ากับ San Antonio Spurs อีกครั้ง / Photo: BRENDAN SMIALOWSKI / AFP

แต่ถ้านับในแง่ของเส้นทางสายอาชีพของนักกีฬาคนหนึ่งแล้ว คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเจมส์ตัดสินใจถูก เขาคว้าแชมป์ NBA แรกกับ Miami Heat ในฤดูกาล 2011-2012 และอีกครั้งกับการมาเผชิญหน้ากับ San Antonio Spurs ในฤดูกาล 2012-2013 โดยระหว่างรอบชิง เจมส์ได้ให้สัมภาษณ์ว่า “ผมแพ้มามากพอแล้ว ผมไม่ต้องการความพ่ายแพ้เพื่อมาเติมเชื้อไฟอีกต่อไป” ซึ่งสุดท้าย เขาก็ล้างแค้นได้สำเร็จ

ไม่ว่าจะชอบเขาหรือไม่ แต่ทุกคนต่างยอมรับว่าเจมส์คือนักบาสแห่งยุค เขามีความสูง 6 ฟุต 8 นิ้ว หนัก 113 กิโลกรัม มีกล้ามเนื้อแกร่งดุจหินผา เขาคือวัตถุระเบิดชนิดทำลายล้าง เขาไดรฟ์เข้าไปวางวงในอย่างไม่เกรงกลัวใคร มีลูกดั๊งก์ทรงพลัง มีการรีบาวด์เปี่ยมประสิทธิภาพ แถมยังยิงได้ทุกระยะ และมีวิสัยทัศน์ในการจ่ายบอลยอดเยี่ยม

เจมส์ฉลองแชมป์หลังคว้าชัยเหนือ Golden State Warriors / Photo: BECK DIEFENBACH / AFP

หลังออกผจญภัยไปคว้าความสำเร็จกับ Heat เจมส์กลับสู่สโมสรบ้านเกิดอีกครั้งในปี 2014 จนกระทั่งกลายเป็นผู้กอบกู้อย่างแท้จริงในปี 2016 เมื่อเขาพา Cleveland Cavaliers คว้าแชมป์จากการเอาชนะ Golden State Warriors ที่กำลังยึดครองลีคอยู่ในขณะนั้นได้สำเร็จ

“โอ้! บล็อกโดยเจมส์” ประโยคของผู้พากย์เกมในวันนั้นดังกึกก้อง

ครั้งหนึ่งเจมส์เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า

“ผู้คนจะเกลียดคุณ ด่าคุณ ทอดทิ้งคุณ ทำลายคุณ แต่การยืนหยัดอย่างแข็งแกร่งคือสิ่งที่จะสร้างให้คุณเป็นคุณ”

งานเลี้ยงมีวันเลิกรา ทั้งปัญหาการบริหารจัดการทีมภายใน และเส้นทางของนักกีฬาอาชีพสมัยใหม่ที่ย่อมต้องมีการขยับเคลื่อนไหวไปข้างหน้า ปี 2018 ด้วยวัย 33 ปี เจมส์ย้ายไปร่วมทีมที่มีประวัติศาสตร์และฐานแฟนคลับใหญ่เป็นอันดับต้นของลีคอย่าง Los Angeles Lakers จะต่างแค่ครั้งนี้ ความเกลียดชังที่มีต่อตัวเขาดูเหมือนจะลดน้อยลงเมื่อเทียบกับการย้ายไป Miami Heat เมื่อปี 2010 

เจมส์ในชุดของ Los Angeles Lakers / Photo: nba.com

ริช พอล (Rich Paul) เอเจนต์ของเขาได้สรุปเส้นทางอาชีพของเจมส์ไว้อย่างสั้นกระชับว่า “ในปี 2010 ตอนที่เขาไป Miami มันคือเรื่องของการเป็นแชมป์ ปี 2014 ตอนที่เขากลับมา Cleveland มันคือการส่งมอบคำมั่นสัญญา และในปี 2018 มันก็แค่การทำในสิ่งที่เขาอยากทำ”

เวลาในชีวิตมนุษย์นั้นแสนสั้น ยิ่งกับชีวิตนักกีฬาที่มีช่วงเวลาจำกัดในการจะเล่นอย่างมีประสิทธิภาพได้แค่ช่วงวัยหนึ่งแล้วมันก็ยิ่งสั้น แต่ดูเหมือนเลอบรอน เจมส์จะใช้เวลาที่มีอย่างคุ้มค่า—รางวัลส่วนตัวมากมายและสถิติอันยากทำลายนับไม่ถ้วน—4 ครั้ง 4 คราวสำหรับการเป็น MVP—4 ครั้ง 4 คราวสำหรับแชมป์ NBA ซึ่งครั้งล่าสุดก็เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเช้านี้ 

ชุดแข่งที่มีชื่อว่า Black Mamba เพื่อระลึกการจากไปของตำนานอีกคนอย่าง โคบี ไบรอันต์ (Kobe Bryant) ผู้จากไปเมื่อต้นปี 2020 / Photo: nba.com

“ผมเล่นบาสราวกับว่าทุกวันคือวันสุดท้ายของผมกับบาสเกตบอล”

ครั้งหนึ่งเจมส์ เคยพูดไว้อย่างนั้น

ฤดูกาลที่ยากลำบากฤดูกาลหนึ่งของ NBA จากผลกระทบของโรคระบาดโควิด-19 จบลงแล้ว

แต่อีกไม่กี่วันข้างหน้า เจมส์ในวัย 35 ปี ก็คงจะกลับไปยังสนามและซ้อมอย่างหนัก ดูแลร่างกายอย่างดี เพื่อยืดเวลาในการเล่นบาสเกตบอลที่เขารักออกไปให้มากที่สุด และสถิติของเขาคงไม่หยุดอยู่แค่นี้

และนี่คือชายผู้เป็นมาแล้วตั้งแต่ ผู้ถูกเลือก ราชา จูดาสผู้ทรยศ ผู้กอบกู้ และแน่นอน…ตำนาน

 

อ้างอิง