pe©ple

จะเป็นอย่างไร หากมนุษย์เติบโตขึ้นมาจากการเลี้ยงดูของสัตว์ป่า

คำตอบเหนือจินตนาการที่หลายคนอาจจะนึกออกได้อย่างรวดเร็ว คงเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเมาคลีลูกหมาป่าที่คุ้ยเคยในรูปแบบภาพยนตร์และแอนิเมชันของดิสนีย์ ซึ่งดัดแปลงจากต้นฉบับนิยาย The Jungle Book ของรัดยาร์ด คิปลิง (Rudyard Kipling) นักประพันธ์ชาวอังกฤษอีกทีหนึ่ง

รัดยาร์ด คิปลิง

แต่ชีวิตของเมาคลีก็ยังห่างไกลจากความเป็นจริงอยู่มาก เพราะมนุษย์และสัตวป่าไม่สามารถสื่อสารได้อย่างเข้าใจชัดเจนด้วยการพูดภาษาเดียวกัน ส่วนมนุษย์เอง กว่าจะออกเสียงเป็นคำที่มีความหมาย ต้องอาศัยระยะเวลาเรียนรู้และได้รับการสั่งสอนจากผู้อื่นที่รู้ภาษาอย่างต่อเนื่อง

ที่สำคัญ แทบเป็นไปไม่ได้ด้วยซ้ำว่ามนุษย์จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับสัตว์ป่าได้อย่างราบรื่น เพราะทารกแรกเกิดหรือเด็กแบเบาะจะมีชีวิตอยู่รอดก็ต่อเมื่อได้รับการเลี้ยงดูจากแม่หรือผู้ปกครอง ต่างจากสัตว์ที่ใช้ชีวิตได้เองตั้งแต่แรกเกิดโดยไม่จำเป็นต้องประคบประหงมเท่ามนุษย์

นอกจากนี้ ด้วยสภาพแวดล้อมในป่า ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นใดที่เอื้อให้เด็กมีชีวิตอยู่รอดอย่างปลอดภัย ประกอบกับสัตว์ป่าส่วนใหญ่ยังมีสัญชาตญาณที่ดุร้าย หากเห็นทารกหรือตัวอ่อนของสัตว์ต่างชนิด บางครั้งแม้กระทั่งชนิดเดียวกันเอง มันมักจะทำร้ายและกินเป็นอาหาร ดังนั้น โอกาสที่เด็กหนึ่งคนจะเติบโตขึ้นมาจากการเลี้ยงดูของสัตว์ป่า จึงมีความเป็นไปได้น้อยมาก

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เหตุการณ์นี้จะไม่มีโอกาสเกิดขึ้นเลย

ย้อนกลับไปในปี 1954 พยาบาลและแพทย์ในเมืองบารัมปูร (Balrampur) ประเทศอินเดีย ต่างแตกตื่นและตกใจกับสภาพของเด็กชายคนหนึ่งที่พวกเขาพบนอกโรงพยาบาล สภาพร่างกายซูบผอมเหลือแต่ผิวหนังหุ้มกระดูกของเด็กชายคนนี้เข้าขั้นวิกฤตต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างเร่งด่วน

สภาพร่างกายของรามู
Photo: https://www.rd.com/list/kids-with-superpowers/

หลังจากแพทย์ตรวจร่างกายอย่างละเอียด ก็พบว่า ผิวหนังบริเวณฝ่ามือ เข่า และเท้าทั้งสองข้างของเด็กชาย มีลักษณะหนาและด้านมากกว่าคนทั่วไป และจุดที่ทำให้แพทย์สงสัยที่สุด คือ ฟันแต่ละซี่ ที่มีขนาดเล็กและแคบ ส่วนบริเวณคอมีบาดแผล ลักษณะคล้ายรอยฟันกัดลงไปแต่ไม่ลึกมาก

ไม่มีใครรู้ที่มาหรือภูมิหลังของเด็กชายมากไปกว่านี้ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีอายุที่แท้จริงเท่าไร (แต่แพทย์ประเมินจากร่างกายว่าเขาน่าจะมีอายุอยู่ในช่วง 7-10 ขวบ) และมานอนอยู่หน้าโรงพยาบาลได้อย่างไร แพทย์จึงได้แต่ให้การรักษาและเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของเขาอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะนายแพทย์ฟิลิป เมสัน-บาร์ (Philip Manson-Bahr) แพทย์และนักสัตววิทยาชาวอังกฤษ ซึ่งให้ความสนใจกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ

นายแพทย์ฟิลิป เมสัน-บาร์

ปรากฏว่าเด็กชายมักจะแสดงท่าทางแปลกๆ ที่แตกต่างไปจากเด็กปกติ เขาไม่ยกแก้วดื่มน้ำ แต่กดหัวลงแล้วแลบลิ้นเลียนนมในแก้วแทน เขาไม่ใช้ช้อนตักและไม่ใช้ซ้อมตัดอาการ แต่ใช้มือทั้งของข้างจับอาหารแล้วใช้ปากกัดฉีกเป็นชิ้นๆ เขาตะเบงเสียงออกมาคล้ายการเห่าหอนของสุนัข ทุกครั้งที่โรงอาหารเลือกใช้เนื้อดิบเป็นวัตถุดิบหลัก เขาจะทำท่าสูดจมูก ทั้งที่สถานที่ประกอบอาหารตั้งอยู่ห่างจากห้องพักของเขาถึง 100 หลา (ประมาณ 90 เมตร)

หากอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ เด็กชายไม่สนใจใครเลย แต่กลับแสดงท่าทีกระตือรือร้นเป็นพิเศษเมื่อเห็นหมาป่าตอนที่โรงพยาบาลพาผู้ป่วยเด็กๆ ไปเที่ยวชมสัตว์ในสวนสัตว์

รามู ขณะนอนกินเนื้อดิบ
Photo: https://www.thesun.ie/archives/irish-news/226351/meet-the-children-kidnapped-or-lost-and-raised-by-monkeys-dogs-and-wolves/

แพทย์สันนิษฐานว่า เด็กชายคนนี้อาจถูกเลี้ยงดูโดยหมาป่า ฉะนั้น รอยฟันบนคอจึงเป็นฟันของหมาป่าที่คาบหรือลากเด็กตามสัญชาตญาณความเป็นแม่ ซึ่งต้องการดูแลลูกมากกว่าทำร้ายให้เจ็บหรือฆ่าแล้วกินเป็นอาหาร เขาได้รับการตั้งชื่อภายหลังว่า Ramu หรือชื่อในภาษาฮินดีว่า Ghadya Ka Bacha หมายถึง ผู้ที่เติบโตมาในป่า และได้รับฉายาว่า Wolf boy หรือลูกหมาป่า เรื่องราวของรามูได้รับความสนใจเป็นวงกว้าง

เมื่อร่างกายของรามูแข็งแรง เขาได้รับการฝึกฝนทักษะชีวิตเพื่อให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างคุ้นชินมากที่สุด แต่ผลลัพธ์ยังห่างไกลกับคำว่าสำเร็จ เพราะรามูยังเดินด้วยเท้าทั้งสองไม่คล่อง ต้องมีคนช่วยประคองตลอดเวลา เขาเป็นเด็กที่ใช้ภาษาพูดไม่ได้ และไม่อาจหักห้ามใจจากกลิ่นเย้ายวนของเนื้อดิบ

ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 1985 หรือกว่า 30 ปีต่อมา รามูนอนเสียชีวิตอย่างสงบในบ้านพัก ตลอดระยะเวลาที่เขามีชีวิต รามูยังเป็นเด็กคนเดิม นั่นคือเด็กชายที่แสดงท่าทีคล้ายสัตว์ป่ามากกว่ามนุษย์

แม่ชีเทเรซาเยี่ยมรามูในปี 1980
Photo: https://www.rd.com/list/kids-with-superpowers/

เรื่องราวของรามูจึงเป็นกรณีศึกษาสำคัญในศาสตร์จิตวิทยาการสื่อสาร เพราะแสดงให้เห็นว่า การสื่อสารในช่วงวัยแรกเริ่มเกี่ยวข้องกับการสร้างตัวตนและบุคลิกภาพ หมายความว่า เด็กคนหนึ่งจะเติบโตขึ้นมาเป็นอย่างไร ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการสื่อสารผ่านการเลี้ยงดู คนทั่วไปเติบโตขึ้นมาในครอบครัว มีพ่อแม่คอยเลี้ยงดู จึงเป็นคนปกติ ส่วนรามูได้รับการสันนิษฐานว่าถูกเลี้ยงดูโดยหมาป่า จึงมีพฤติกรรมที่แตกต่างไปจนคน ตัวตนของรามูจึงไม่ใช่คนแต่เป็นหมาป่า

 

อ้างอิง

  • Elisabeth Bumiller. The Mystery of the Wolf Boy. https://wapo.st/3j4bL6C
  • Emory Griffin. A First Look at Communication Theory. 8th edition. (New York : McGraw-Hill Education, 2011)
  • Julia Wood. Communication Mosaics: An Introduction to the Field of Communication. 7th edition. (Boston : Wadsworth, Cengage Learning 2014)