pe©ple

การพากย์มันเป็นเรื่องของการแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย คือสิ่งที่ ปลาย – พิพัฒน์ บุญสิทธิเลิศ บอกกับเรา หลายคนอาจรู้จักเขาในนามของ รีวิวแมน ช่องยูทูปรีวิวของเล่นที่มียอด subscribe กว่า 470,000 คน

แต่นั่นไม่ใช่หลักใหญ่ใจความที่เราจะมาพูดถึงกันในวันนี้ เพราะเชื่อว่าหลายคนคงต้องเคยผ่านเสียงของเขามาแล้วไม่มากก็น้อยในฐานะนักพากย์ไทยคนหนึ่ง หรือถ้าให้ลองไล่เลียงเสียงคร่าวๆ อาจจะอ๋อขึ้นมาตามๆ กัน 

อย่างเสียงแรก คุโรโกะ จากคุโรโกะ นายจืดพลิกสังเวียนบาส เสียงที่สอง ปีเตอร์ พาร์คเกอร์ จาก The Amazing Spider-Man เสียงที่สาม โทคิโท มุอิจิโร่ จาก ดาบพิฆาตอสูร และเสียงล่าสุดเมื่อไม่นานนี้อย่าง ฮอนโก ทาเคชิ จาก Shin Kamen Rider

ที่สำคัญ เขายังมีสถานะเป็นผู้กำกับนักพากย์ให้กับอนิเมะเรื่อง โจโจ้ ล่าข้ามศตวรรษ กว่า 5 ซีซั่น ใช้นักพากย์ไปกว่า 116 ชีวิต นับว่าเป็นการยกระดับงานพากย์เพื่อหวังอยากให้หลายคนเลิกอคติกับพากย์ไทย 

เราจึงอยากชวนเขาคุยในฐานะ ‘ผู้กำกับเสียงพากย์’ ที่น้อยคนจะรู้ว่า การลงเสียงบางครั้งไม่ได้จบที่หลังไมค์ และการต่อสู้ของพวกเขาก็ไม่ได้อยู่แค่ในหน้าจอ แต่ยังต้องฝ่าฟันกับปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ที่ถูกละเมิดอย่างเอาจริงเอาจัง และต่อจากนี้คือเสียงของปลาย นักพากย์ผู้มีความฝัน

 

 

เถื่อนในแท้

เข้าประเด็นเลย นักพากย์เถื่อนคืออะไร มาจากไหน

ถ้าพูดถึงการพากย์ของเถื่อนแบบเต็มตอนและหลายตอน เราไม่รู้เจตนาว่า เขาทำเพื่ออะไร อาจจะเป็นแค่เด็กที่อยากฝึกพากย์ แต่อย่างน้อยเขาควรจะรู้ว่า หนังหรือการ์ตูนเรื่องหนึ่ง เมื่อมันถูกซื้อลิขสิทธิ์เข้ามาในไทยแล้ว เขาไม่ควรดันทุรังทำพากย์ไทยออกมาไม่แคร์ลิขสิทธิ์แบบนี้ อย่างน้อยต้องมีสามัญสำนึก และเลิกทำอะไรแบบนี้เถอะ

แถมมันทำให้คนเข้าใจผิดอีกต่อหนึ่งว่า อันนี้คืองานลิขสิทธิ์ แล้วพอคุณภาพของเถื่อนไม่ได้ดีเท่าของจริง คนก็จะไปด่าว่า พากย์ไทยมันห่วย มันส่งผลเสียต่อตัวนักพากย์ด้วย จนต้องมีการถกกันว่า ไปดูมาจากที่ไหน มันไม่ใช่นะ อันนั้นมันของเถื่อน มาดูอันนี้สิ

ถ้าคุณอยากจะเข้ามาในวงการพากย์ แล้วคุณมาทำลายตั้งแต่ตอนเริ่มแบบนี้ ใครเขาจะอยากเอาคุณมาทำงาน และช่องทางที่อำนวยให้คนเกิดความเข้าใจผิดก็เลวร้ายเหมือนกัน

 

เกี่ยวข้องกับที่ Cartoon Club ออกมาแถลงข่าวเมื่อเดือนมิถุนายนด้วยใช่ไหม

ที่ทาง Cartoon Club แถลงข่าวคือ มีแอปหนึ่งที่ถูกลิขสิทธิ์ แต่เขากลับปล่อยให้มีคนเผยแพร่ของละเมิดลิขสิทธิ์ในช่องทางของเขา

มันกลายเป็นว่า เราทำผลงาน Exclusive ที่ดูได้แค่ที่ที่เดียวเท่านั้น แต่มันดันไปโผล่อยู่ในแอปของเขาในฐานะของเถื่อนที่โดนดูดไป กลายเป็นว่าคนที่เขาลงทุนกับงานชิ้นนั้นก็ไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่ควรจะได้ แล้วแบบนี้เขาจะเอาเงินจากไหนมาจ้างต่อ กำลังในการทำให้งานมันออกมาดีก็น้อยลง

การอุดหนุนของถูกลิขสิทธิ์ นอกจากช่วยคนที่เขาซื้อลิขสิทธิ์มาแล้ว มันยังเป็นการช่วยนักพากย์ด้วยนะครับ มันทำให้นักพากย์มีงานมากขึ้น และค่าตอบแทนก็จะสมน้ำสมเนื้อกับสิ่งที่เขาลงทุนลงแรงไป และงานที่ออกมาก็จะดียิ่งขึ้น ทุกอย่างมีแต่ บวกๆๆ แค่ดูของถูกลิขสิทธิ์เท่านั้นเอง

 

เรื่องนี้ต้องรับมือยังไง

มันอยู่ที่จิตสำนึกเลยครับ เราทำได้แค่ปลูกฝังผ่านช่องทางของเรา จริงๆ เรื่องแบบนี้มันควรจะอยู่ในบทเรียนด้วยซ้ำ ให้เด็กได้รู้ว่า ลิขสิทธิ์คืออะไร และมันจะเสียหายยังไงถ้าเราไม่เคารพลิขสิทธิ์

เรื่องนี้ต้องวอนให้ทุกภาคส่วนช่วยกัน ภาครัฐ เอกชน สถาบันครอบครัว เพราะด้วยความที่มันเป็นสื่อบันเทิง เขาอาจมองว่ามันไม่ใช่ของจำเป็น ทำไมเขาจะต้องมาจ่ายเงินให้กับสิ่งที่ดูได้ฟรีๆ ตามอินเทอร์เน็ต

ทั้งที่ความจริงแล้ว ถ้าคุณอยากกินข้าว คุณก็ต้องเอาเงินไปจ่ายค่ากินข้าว ถ้าคุณอยากดูหนัง คุณก็ต้องเอาเงินไปจ่ายค่าดูหนัง แต่พอดีว่าการดูหนังดันมีของผิดลิขสิทธิ์มายั่วตายั่วใจ กลับกัน มันไม่มีร้านข้าวไหนที่เป็นของผิดลิขสิทธิ์ให้คนไปกินฟรีๆ ไง (หัวเราะ)

 

 

ในฐานะนักพากย์ เสียใจมากไหมที่มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น

เสียใจที่สุด

มีบางคนที่เข้ามาคุยกับเรา เราก็ดีใจนะที่เขาติดตามผลงานของเรา แต่คุยไปคุยมา ปรากฏว่าเขาไปดูมาจากของเถื่อน โอ๊ย (ถอนหายใจ) คือเขาอาจจะไม่รู้ก็ได้ สื่อสมัยนี้แค่กดค้นหามันก็ขึ้นมาให้ดูได้แล้ว แม้แต่พ่อแม่บางคนก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าของถูกลิขสิทธิ์คืออะไร ก็เปิดให้ลูกดูด้วยความไม่รู้ จะไปว่าเขาก็ไม่ได้ แต่ถ้าจะว่าได้ก็คือ ไอ้คนที่มันทำแบบนี้ขึ้นมาต่างหาก เพราะว่ามันจงใจที่จะขโมย จงใจที่จะทำผิดเต็มๆ

 

เพื่อนบ้านที่แสนดี Spider-Man

คุณเข้ามาในวงการพากย์เสียงแบบ Official ได้ยังไง

เราส่งเดโม่ไปให้หลายๆ ที่ ส่งไปให้นักพากย์หลายๆ ท่าน ซึ่งก็ต้องขอบคุณ อาหนูเล็ก-อิสรีย์ พงษ์แก้ว ที่ให้โอกาสเรา และเราก็ตัดสินใจมาทำงานนี้ทันทีหลังจากเรียนจบ มันเลยมีการเดิมพันเกิดขึ้นกับทางบ้านว่า เราขอ 1 ปี ขอลองดูว่าเราจะไปรอดกับอาชีพนี้ไหม ถ้าไปรอดก็เอา ถ้าไปไม่รอดก็ไปทำงานประจำ

ผ่านไปเกือบปี เริ่มมีช่วงหนึ่งที่งานเราเยอะขึ้นขนาดที่สามารถให้เงินคุณพ่อคุณแม่ได้ พวกเขาเลยเห็นแล้วว่า เรายืนด้วยลำแข้งของตัวเองได้แล้ว

 

จุดเปลี่ยนที่ทำให้เริ่มยืนได้ด้วยตัวเองคืออะไร

ช่วงนั้นมีงานเคเบิ้ลเข้ามา ได้พากย์หนังหลายเรื่อง หนังผี หนังเอเชีย ทุกวันนี้ยังไม่รู้เลยว่าไปฉายที่ไหน (หัวเราะ)

แต่จุดเปลี่ยนเลยน่าจะเป็นตอนที่เราได้พากย์ The Amazing Spider-Man การที่เราได้มาจับหนังบล็อคบัสเตอร์ อาจจะไม่ถึงระดับหน้ามือเป็นหลังมือ แต่เรารู้สึกได้ว่า คนรู้จักเรามากขึ้น

 

 

ยากไหมตอนเป็นนักพากย์ใหม่ๆ 

ยากครับ เชื่อว่าน่าจะยากกันทุกคน แต่ละคนน่าจะมีปัญหาต่างกัน ส่วนตัวปัญหาใหญ่ๆ ของเราคือ พากย์หัวเราะไม่เป็น

 

หัวเราะไม่เป็นคือยังไง

ปกติเวลาคนเราขำก็จะหัวเราะปกติ (หัวเราะ) แต่กับหนังการ์ตูนเนี่ย มันจะ ฮึๆๆ ฮ่าๆๆๆ ไม่มีใครหัวเราะแบบนี้ในชีวิตประจำวัน! เราเลยทำไม่ได้ ฝึกหัวเราะอยู่เป็นปีสองปี

ส่วนอื่นก็เป็นความยากทั่วไป เรื่องของการตีอารมณ์ สีหน้าแบบนี้คืออารมณ์แบบนี้ เสียงแบบนี้คืออารมณ์แบบนี้ ต้องถ่ายทอดอารมณ์ยังไง แบบไหนถึงจะดี ตรงนี้ผู้ใหญ่ในวงการหลายท่านสอนเราไว้เยอะมาก

มันทำให้เราได้ฝึกเยอะขึ้น ได้พากย์ทั้งตัวประกอบและตัวหลัก แต่ว่าตัวหลักจะนานๆ ที มันต้องเป็นตัวที่เหมาะกับเราจริงๆ เพราะเรายังเป็นเด็กใหม่ที่ฝีมือยังไม่เข้าขั้น การที่ฝีมือเรายังไม่แข็ง แล้วเราไปพากย์ตัวหลักที่พูดเยอะอาจจะทำให้ทีมทำงานช้าลง สมมุติเราพากย์แล้วอารมณ์ยังไม่ได้ หัวหน้าทีมก็ต้องคอยมาสอน คอยมาเบรก จนต้องขึ้นเทคใหม่บ่อยๆ และงานจะออกมาไม่ดี เพราะฉะนั้นเราจะต้องฝึกจากตัวประกอบให้คล่องก่อน

 

การเป็นนักพากย์ อะไรควรทำ ไม่ควรทำ

เรามีหน้าที่ทำให้เป็นภาษาไทย เพราะงั้นเราก็ต้องถ่ายทอดออกไปให้มันเป็นภาษาไทยให้ได้มากที่สุด ทั้งการถ่ายทอดอารมณ์ของตัวละครให้ตรงกับต้นฉบับ หรือปรับเปลี่ยนบริบทให้เข้ากับบ้านเรา โดยที่ไม่ได้เปลี่ยนสาระสำคัญของหนังไป

ในมุมมองของการทำงาน วินัยเป็นสิ่งที่ควรมี แต่อีโก้เป็นสิ่งที่ไม่ควรมี ต้องเป็นแก้วน้ำที่พร้อมจะถูกเติมอยู่ตลอดเวลา เพราะเราจะเจอบทบาทที่ใหม่ขึ้นในทุกๆ วัน

 

 

ตัวละครตัวไหนที่รู้สึกว่าพากย์ยากที่สุด หรือเหนื่อยที่สุดตั้งแต่เคยพากย์มา 

พากย์ยากนี่มีหลายตัวอยู่

อากิ จากเชนซอว์แมน คุโรโกะว่านิ่งแล้ว แต่อากินิ่งแบบ นิ่งงงงงง ซะจนพากย์ยากกว่าคุโรโกะอีก

กิวทาโร่ก็ยากตรงที่เล่นลีลาเยอะมาก! เดี๋ยวเสียงในลำคอ เสียงสาก ๆ บางทีก็เต็มเสียง จู่ ๆ อยากตะโกนก็ตะโกน ท้าทายมากเหมือนกัน

โจรูโน่กับฉาก ไร้ค่า 7 หน้า ในตำนาน นั่นก็ยากและเหนื่อยมากเหมือนกัน ฉากนั้นฉากเดียวพากย์เป็นชั่วโมง

แต่ถ้าเน้นเรื่องเหนื่อยที่สุด ช่วงนี้ก็น่าจะเป็น แอสต้า จาก Black Clover The Movie ที่ตะโกนโหวกเหวกโวยวายยิ่งกว่าในตอนธรรมดาเยอะมาก ทำเอาเราตะโกนจนเสียงไม่มี ต้องพักจิบน้ำ ต้องยืนพากย์ ต้องเค้นพลังลมปราณจากด้านล่างขึ้นมาจากท้องส่งมาที่ปาก

หนังคนแสดงก็มีเรื่อง Hacksaw Ridge ตอนนั้นพากย์ไปจะเป็นลมไป เพราะเขาหอบเยอะ มันเหมือนเราบังคับให้ตัวเองหอบโดยการกระแทกลมหายใจออกมาแรงๆ แล้วการสูดกลับเข้าไปแรงๆ อีกมันฝืนธรรมชาติร่างกาย แล้วยิ่งเป็นคนแสดง เราต้องทำให้มันเนียนไปกับการแสดงของเขาที่สุด เพราะงั้นการหอบ เราก็ต้องดูด้วยว่าเขาหายใจเข้าด้วยความแรงแค่ไหน หรือยาวแค่ไหน พ่นออกด้วยความแรงแค่ไหน หรือยาวแค่ไหน ทำแป๊ปเดียวก็จะหน้ามืดแล้ว

 

ถ้าลองประเมินตัวเอง คิดว่าเราพัฒนาขึ้นมากขนาดไหนจากวันแรก

จริงๆ สิ่งที่จะเป็นตัวชี้วัดความสามารถหรือความสำเร็จของเราได้น่าจะอยู่ที่ว่า เรามีผลงานมากน้อยแค่ไหน และผลงานที่พากย์ออกไปถูกใจคนดูมากแค่ไหน การที่เรามีงานหลายๆ ที่ ได้พากย์หลายๆ ตัวละคร มันก็บ่งบอกว่าฝีมือเราเป็นที่ต้องการ แต่ความประพฤติก็มีส่วนด้วยเช่นกัน ซึ่งเราน่าจะสอบผ่านตรงนี้ประมาณหนึ่ง

 

โจรูโน่ โจบาน่า ผู้นี้มีความฝัน 

การจะมาเป็นผู้กำกับนักพากย์ต้องทำยังไง

ทักษะการพากย์เป็นสิ่งสำคัญ เพราะคนเป็นผู้กำกับ ถ้าเขามีทักษะการพากย์ที่ดี เขาจะสามารถชี้แนะคนที่เขากำกับได้ว่า ต้องถ่ายทอดอารมณ์ออกไปแบบไหน ควรจะเน้นคำจังหวะไหน เว้นวรรคยังไง ซึ่งสตูดิโอที่เห็นความสามารถของเราก็จะเป็นคนเลือกเราไปทำเอง

แต่ว่าไม่ใช่นักพากย์ทุกคนที่จะชอบหรืออยากเป็นผู้กำกับนะ เพราะรายละเอียดมันเยอะมาก บางคนเขาก็ชอบที่จะไปพากย์ เสร็จแล้วก็กลับบ้าน แต่ผู้กำกับไม่จบ ผู้กำกับต้องเอางานกลับไปทำที่บ้านด้วย

 

เยอะในที่นี้คือต้องทำอะไรบ้าง

ผู้กำกับจะต้องดูแลตั้งแต่ต้นทางยันปลายทาง

เริ่มตั้งแต่การเอาหนังมาเช็คว่า ตัวละครนี้จะคัดเลือกใครที่เหมาะสมกับบทดี ส่งไปให้ต้นทางอนุมัติ ตรวจบทพากย์ว่าจะแก้หรือเปลี่ยนตรงไหนไหม ตรงนี้ถูกต้องไหม  คุมพากย์ตัวละคร  พอพากย์เสร็จก็ต้องเอาหนังกับเสียงพากย์มาประกอบรวมกันเพื่อเช็คอีกทีว่า มีปัญหาอะไรไหม ทิศทางของเสียงพากย์ไปด้วยกันรึเปล่า หรือบางทีเราดูแล้วอาจจะปิ๊งคำใหม่ที่เข้ากับบริบทหนังมากกว่าขึ้นมา ก็จะมีการพากย์ซ่อมตรงจุดนั้น สุดท้ายก็เข้าสู่กระบวนการมิกซ์เสียง

 

 

รู้สึกยังไงตอนที่รู้ว่าจะได้มากำกับพากย์ไทยของอนิเมะเรื่องโจโจ้ 

ตอนที่ได้รับบรีฟมาว่าให้ทำเรื่องนี้ก็ดีใจจนต้องใช้คำว่า ฝันที่ไม่กล้าฝัน เพราะเราไม่คิดว่าการ์ตูนที่เรารัก ที่เรารอดูเวอร์ชั่นพากย์ไทยมาตลอด และลุ้นว่าใครจะมาทำพากย์ไทยวะ สุดท้าย เฮ้ย! ได้ทำเอง 

ตอนนั้นบอกกับตัวเองเลยว่า ต้องทำเรื่องนี้ออกมาให้ดีที่สุดเท่าที่ขีดจำกัดจะทำได้

 

ขีดจำกัดคืออะไรบ้าง

งบประมาณ คิวห้องอัด ตารางงานของนักพากย์แต่ละคน แต่เราก็จะทำให้มันออกมาดีที่สุดภายใต้ขีดจำกัดเหล่านี้ สุดท้ายก็เลยซัดนักพากย์ไปกว่า 116 คน 6 ภาค 5 ซีซั่น (ภาค 1 กับ 2 รวมกันอยู่ในซีซั่น 1) 

เราตั้งใจจะให้มีเสียงพากย์ซ้ำน้อยที่สุดเท่าที่จะซ้ำได้ เพราะว่าเราโตมากับคอมเมนต์ของคนที่อคติพากย์ไทยโดยให้เหตุผลว่า นักพากย์ไทยใช้คนซ้ำไปซ้ำมา ทั้งเรื่องพากย์อยู่ 8 คน นี่ไง ทั้งเรื่องพากย์กัน 116 คน ซึ่งโจโจ้มันทำแบบนี้ได้เพราะว่า ตัวอนิเมะมันเอื้อเราด้วย 

รูปแบบของการ์ตูนโจโจ้คือ จะมีแก๊งพระเอกประจำภาค และตัวร้ายประจำตอนมาสู้ พอสู้เสร็จ ตัวร้ายตัวนั้นส่วนใหญ่ก็จะหายไปเลยไม่โผล่มาอีก มีน้อยมากที่จะกลับมา มันจึงทำให้เราสามารถคัดเลือกนักพากย์ได้ค่อนข้างเยอะ และสามารถขอคิวกับนักพากย์คนนั้นได้ง่ายๆ เพราะบางตัวละครมาพากย์แค่ไม่กี่คิว

เราก็เลยเอามาทั้งนักพากย์มือใหม่ที่เป็นเด็กนักเรียนที่เราสอน รุ่นกลาง รุ่นเรา รุ่นใหญ่กว่าเรา กระทั่งรุ่นระดับครูอาจารย์มาอยู่ในโจโจ้ ส่วนเราก็พากย์เป็นโจรูโน่ โจบาน่า พระเอกภาค 5 (ซีซั่น 4)

 

 

อะไรคือสิ่งที่กดดันที่สุดในการทำพากย์ไทยโจโจ้ 

ตรงที่ตั้งแต่ภาค 3 เป็นต้นมาจะมีสิ่งที่เรียกว่า Battle Cry ที่หลายคนคงเคยได้ยินอย่าง โอร่า โอร่า โอร่า โอร่า ซึ่งตรงนั้นท้าทายเรามาก และกดดันเรามากด้วยว่าจะทำได้ดีเท่าของญี่ปุ่นไหม หลายๆ คนก็จับจ้องว่าพากย์ไทยจะปล่อย Sound รึเปล่า การปล่อย Sound คือการใช้เสียงต้นฉบับไปเลย แต่ไม่ใช่ เราพากย์หมด

อันหนึ่งที่กดดันมากคือตัวละคร โจรูโน่ โจบาน่า ที่เราเป็นเราพากย์ เพราะคำว่า ‘มุด้า’ (Muda) ที่เป็น Battle Cry ของตัวละครมันต้องแปล ที่มันต้องแปลเพราะว่า คำนี้ไม่ใช่การออกเสียงที่ถูกดีไซน์มาอย่าง ‘โอร่า’ แต่คำว่า ‘มุด้า’ มันเป็นคำที่มีความหมายว่า ‘ไร้ค่า’ และมันยังเป็นคำติดปากของดีโอ (ตัวร้ายในภาค 1 และ 3) เพราะฉะนั้นทำไมเราจะไม่แปลล่ะ เวลาตะโกนของตัวละครนี้เลยเป็น ไร้ค่า ไร้ค่า ไร้ค่า ไร้ค่า!

 

มีวิธีทำการบ้านกับการพากย์โจโจ้ยังไงบ้าง

ด้วยความที่เราเคยอ่านมังงะมาก่อนแล้ว เราค่อนข้างจะรู้คาแรกเตอร์หมด เรามีหน้าที่แค่ทบทวนอีกรอบหนึ่ง แต่การอ่านมังงะอย่างเดียวจะไม่รู้เสียงต้นฉบับ เพราะฉะนั้นเราก็จะต้องตีโจทย์โดยเคารพเสียงต้นทางจากญี่ปุ่นด้วย

แต่มันจะมีเรื่องของการแปลบทที่เราจะต้องเปลี่ยนหลายๆ คำ ซึ่งไม่ใช่การเปลี่ยนความหมายนะ เราแค่เปลี่ยนคำให้เข้ากับบ้านเราเท่านั้น เช่น มุกตลกต่างๆ หรือตอนที่โจสุเกะถีบคิระแล้วต้นฉบับพูดว่า ‘โดร่า’ ซึ่งเป็น Battle Cry แต่เราเปลี่ยนเป็น ‘เต็มตีน’

 

มีเทคนิคในการบรีฟนักพากย์อย่างไร

ถ้าเป็นนักพากย์อาชีพก็ไม่มีอะไรมากครับ ถ้าเป็นน้องๆ รุ่นใหม่ก็อาจจะต้องจี้เยอะหน่อย ต้องดังอีก พลังต้องมาอีก

 

พอใจกับผลที่ออกมาขนาดไหน

เป็นสิ่งที่ภูมิใจมากในชีวิต คิดว่าเป็นถ้วยรางวัลหนึ่งในชีวิตได้เลย มันยังมีแผลอยู่ก็จริง แต่เราก็เก็บแผลที่เห็นไปแก้ไขในงานหน้า นั่นก็คืออนิเมะภาค 7 กับภาค 8 (หัวเราะ)

 

สู้ต่อไป ฮอนโก ทาเคชิ

การเป็นนักพากย์ในไทยยากไหม

โอ้ (ครุ่นคิด) จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก แต่สุดท้ายมันก็อยู่ที่เซนส์ของเราเองด้วย อยู่ที่พรสวรรค์กับพรแสวง คุณจะไปแตะถึงจุดที่ทำให้คนรู้จักได้มากน้อยแค่ไหน คนรู้จักคุณเพราะอะไร เพราะฝีมือในการพากย์ หรือเพราะตัวตนที่คุณสร้างขึ้นมา

แต่สิ่งที่ดีคือ ควรทำให้คนรู้จักจากฝีมือ ในยุคนี้ถ้าฝีมือดีพร้อมกับสร้างตัวตนที่ดีให้คนรู้จักได้ ก็จะยิ่งดีเข้าไปอีก

 

คำแนะนำสำหรับคนที่อยากก้าวเข้าสู่อาชีพนี้

แนะนำอย่างแรกคือ เรื่องการอ่านหนังสือให้แตกฉานเป็นด่านแรกของนักพากย์ครับ 

และการ Copy ตัวละคร เราจะต้องเข้าใจว่าตัวละครรู้สึกมากน้อยแค่ไหน แล้วถ่ายทอดออกไป ผ่านอินเนอร์ของเขา ผ่านคาแรกเตอร์ของเขา เขาตะโกนด้วยความโมโหแค่ไหน ตะโกนด้วยความเศร้าระดับไหน สิ่งเหล่านี้สำคัญกว่าการไปเลียนแบบตามโน้ตที่เขาเปล่งออกมา จนมันไม่ใช่ภาษาไทย

ส่วนคำเตือน ทุกวงการมันน่าจะโหดอยู่แล้วถ้าเราไม่กระตือรือร้น ทุกๆ อาชีพโดยเฉพาะฟรีแลนซ์อย่างพวกเราจะต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา ทำงานให้ออกมาดี แล้วสุดท้ายมันก็จะปากต่อปากกันไปเองในวงการว่า คุณเก่ง คุณดี

 

คิดว่าตัวเองจะพากย์ไปถึงเมื่อไร

อยากพากย์จนกว่าจะพากย์ไม่ไหวนะครับ แต่ว่าพอถึงเวลาหนึ่ง เราก็คงไม่ได้อยากทำแต่งานพากย์เพียงอย่างเดียว เราอยากทำรายการ อยากทำของเล่นด้วย แต่เราก็จะยังคงพากย์ต่อไป

 

ความฝันสูงสุดในฐานะนักพากย์คืออะไร

อยากจะซื้อการ์ตูนเรื่องที่ชอบ แล้วเอามากำกับเสียงพากย์ตามที่ต้องการโดยที่งบประมาณไม่จำกัด เวลาไม่จำกัด และทำได้ตามจินตนาการ 100% พร้อมให้เงินเป็นค่าตอบแทนกับนักพากย์เยอะๆ ด้วย