‘ไม่เชื่ออย่าลบหลู่’
เคยไหมกับการตั้งคำถามในประเด็นทางศาสนา ที่ไม่ว่าจะเกริ่นมาด้วยวลีใด ก็ไม่แคล้วอาจถูกโต้ด้วยวาทะดังกล่าว แม้แต่การยกมือเพื่อโต้แย้งหรือถามหาเหตุผลในชั้นเรียน คำถามบางประเด็นก็อาจเป็นเรื่องชวนกระอักกระอ่วนต่อทั้งผู้เรียนและผู้สอน ความศรัทธาอย่างมาดมั่นที่ปราศจากความสงสัยอาจแฝงมาด้วยปัญหาบางประการที่ส่งผลกระทบต่อสังคม โดยเฉพาะในสังคมไทยที่ผู้คนยังแอบอิงกับศาสนาและความเชื่อ
หากลองสำรวจสิ่งรอบตัว จะพบว่าร่องรอยและสัญญะของศาสนาจะปรากฏให้เห็น เมื่อก้าวเท้าออกจากบ้านคุณอาจพบกับพระภูมิเจ้าที่, พระพุทธรูปหน้ารถ, ผ้าแพรหลากสีที่พันอยู่รอบต้นไม้ริมถนน ไปจนถึงสัปปายะสภาสถาน ที่แม้จะเป็นอาคารรัฐสภาแต่ถูกออกแบบให้มีเจดีย์จุฬามณีเป็นศูนย์กลาง ทั้งยังเป็นที่ประดิษฐานพระสยามเทวาธิราชอีกด้วย
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ‘ศาสนา’ อยู่ในทุกอณูของชีวิต แม้แต่อาคารซึ่งเป็นพื้นที่ทาง ‘การเมือง’ และเมื่อพิจารณาถึงระบอบการปกครองในรูปแบบประชาธิปไตย จะเห็นได้ว่าการเมืองย่อมเป็นเรื่องของประชาชน ดังนั้นเราจะห้ามไม่ให้ตั้งคำถามเรื่อง ‘ศาสนา’ ซึ่งเกี่ยวกับ ‘การเมือง’ ได้หรือ ? แล้วเรามั่นใจได้อย่างไรว่าศาสนาไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ถ้าการเมืองศาสนาไม่อาจเป็นที่เอ่ยถึงได้ นี่คงเป็นสุญญากาศทางการศึกษาที่น่าเสียดาย เพราะเราไม่อาจทำความเข้าใจสังคมได้เลย หากไม่พูดถึงประเด็นดังกล่าว
บทความนี้ขอเป็นตัวแทนในการตั้งคำถามเกี่ยวกับศาสนาและการเมือง ผ่านการพูดคุยกับ ‘ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชัยวัฒน์ มีสันฐาน’ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา และเป็นผู้บรรยายในรายวิชาการเมืองกับศาสนา (Politics and Religion) ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ สาขาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เพื่อหาคำตอบว่า เหตุใดการวิพากษ์จึงจำเป็นสำหรับศาสนา และทำไมวิชาการเมืองศาสนาจึงทวีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจตนเองและสังคม
เราเรียน ‘วิชาการเมืองศาสนา’ ไปเพื่ออะไร
เพราะในสังคมปัจจุบันเราแยกเรื่องศาสนาออกจากการเมืองไม่ได้ เมื่อมันแยกออกจากกันไม่ได้สิ่งที่เราทำได้ก็คือ เราจะต้องรู้ว่าเราจะวางตัวในเรื่องของศาสนากับการเมืองอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหา วิชาการเมืองศาสนามีความจำเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่ยกเอาศาสนาขึ้นมาเป็นประเด็นทางการเมืองในการสร้างความขัดแย้ง
วิชานี้จะทำให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกันระหว่างศาสนากับการเมือง และจุดยืนของเราในนี้ เราต้องแยกให้ออกก่อนว่าศาสนาเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล ในขณะที่การเมืองหรือกฎหมายเป็นเรื่องของสาธารณะ กล่าวคือ ประเทศต้องมีกฎหมายที่เป็นข้อตกลงในการอยู่ร่วมกัน และสำหรับประชาชนบางกลุ่มที่เขามีความเชื่อในศาสนา นั่นก็เป็นเรื่องส่วนบุคคลของเขา ทว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่เรายกระดับความเชื่อใดกลุ่มความเชื่อหนึ่งขึ้นมาเป็นบรรทัดฐาน (norm) ของสังคม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มความเชื่อที่คนส่วนใหญ่นับถือ หรือจะเป็นกลุ่มความเชื่อที่คนส่วนน้อยนับถือก็ตาม สังคมจะเกิดปัญหาขึ้นทันที เพราะสังคมไม่ได้มีแค่ความเชื่อเดียว
ดังนั้นหากพิจารณาในภาพรวม การเรียนเรื่องการเมืองกับศาสนาจะสะท้อนให้เห็นว่าทั้งสองสิ่งเชื่อมโยงกันจริง โดยวัตถุประสงค์หลักของการเรียนคือ ต้องการให้ผู้เรียนจัดวางตัวเองให้ได้ว่า เมื่อพูดถึงเรื่องความเชื่อเราควรพูดในกลุ่มความเชื่อเท่านั้น แต่เมื่อไรก็ตามที่อยู่ในสังคมหรือชุมชนใหญ่เราต้องเคารพในกฎหมายซึ่งอาจจะผิดไปจากความเชื่อ และเมื่อใดที่เกิดปัญหาเราก็ไม่มีสิทธิใช้ความรุนแรง แต่ต้องใช้กฎหมายจัดการ หากรู้จุดยืนหรือตำแหน่งของตนเองว่าอยู่ตรงไหน เราก็จะอยู่ในสังคมนี้อย่างสงบสุข เพราะเรารู้ว่าต่อให้อยู่ในคนละกลุ่มความเชื่อกัน แต่ตราบเท่าที่ความเชื่อของเขายังอยู่ใต้ร่มใหญ่ของกฎหมาย เราก็ไม่มีสิทธิไปลิดรอน ไปด่าว่า หรือไปด้อยค่าความเชื่อของใคร
วิชาการเมืองศาสนาจะสอนให้เรารู้ความเชื่อมโยงระหว่างศาสนากับการเมือง และวางตัวเองให้ถูกระหว่างชุมชนความเชื่อกับการอยู่ร่วมกันในสังคม
จะเกิดอะไรขึ้นหากรัฐยกหลักศาสนาขึ้นมาเป็นกฎหมาย
นั่นเป็นข้อตกลงของการอยู่ร่วมกันในสังคม และที่สำคัญก็คือเป็นการบังคับใช้ภายใต้บริบทของแต่ละสังคม เมื่อมีการยกระดับกฎหมายขึ้นมาสังคมจะต้องคำนึงถึงการรับเอาความเชื่อท้องถิ่นขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งในการร่างกฎหมายด้วย ในบางประเทศที่คนถือศาสนาอิสลามเป็นส่วนมากก็มีการยกระดับหลักศาสนาขึ้นมาเป็นกฎหมาย อาทิ กฎหมายชารีอะห์ (Sharia) ซึ่งถามว่าเขายกหลักปฏิบัติขึ้นมาได้ทั้งองคาพยพของชารีอะห์หรือไม่ คำตอบก็คือไม่มีทางที่ประเทศใดจะสามารถยกระดับกฎหมายจากศาสนาขึ้นมาได้ 100% เพราะว่าบริบทของสังคมเปลี่ยนไปจากเดิม
ทั้งนี้เมื่อมีประเทศที่สามารถยกหลักศาสนาขึ้นมาเป็นกฎหมายได้ คนที่อยู่ในกลุ่มความเชื่อศาสนาอิสลามซึ่งเป็นคนภายนอกประเทศอื่นๆ ก็อาจจะต้องการให้กฎหมายในประเทศของตนเปลี่ยนตาม แต่ในขณะเดียวกัน เราไม่เคยไปถามคนที่อยู่ข้างในประเทศที่เขาประกาศใช้กฎหมายชารีอะห์จริงๆ ว่าเขามีความเห็นอย่างไรต่อการประกาศใช้กฎหมายในรูปแบบนี้
นี่เป็นบริบทของของแต่ละประเทศโดยที่ตัวแปรสำคัญก็คือชนชั้นนำหรือผู้ปกครอง ถ้าเราสังเกตก็จะพบว่ากลุ่มประเทศที่บังคับใช้กฎหมายที่ยึดหลักศาสนา ผู้ปกครองประเทศจะมีการใช้อำนาจค่อนข้างสูง ตัวอย่างเช่น ประเทศที่ประกาศใช้กฎหมายชารีอะห์มักจะมีความเชื่อมโยงโดยตรงต่อการเมือง หรือต่อผู้ที่ถืออำนาจซึ่งก็คือผู้ปกครองรัฐ ในขณะที่กลุ่มประเทศที่มีการเลือกตั้งหรือเป็นประชาธิปไตย เราก็มักไม่พบประเด็นเหล่านี่ ฉะนั้นระบอบการปกครองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องพิจารณาด้วย
คิดอย่างไรกับคำว่า ‘ศาสนาต้องไม่ยุ่งเรื่องการเมือง’
ไม่มีทางเป็นไปได้
ไม่มีทางที่ศาสนาจะไม่ยุ่งกับการเมือง โดยเฉพาะในสังคมไทยเรายิ่งไม่มีทางแยกศาสนาออกจากการเมือง ไม่ว่าจะเป็นรัฐพิธี ราชพิธี หรือพิธีต่างๆ ล้วนถูกทำให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาและการเมือง แม้กระทั่งระบบการปกครองในวงการศาสนาเองก็เป็นการเมืองทั้งนั้น นี่คือ การจัดระบบด้วยชนชั้น (hierarchy) ในกรรมการมหาเถรสมาคมก็มีสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ ฯลฯ พระสังฆาธิการผู้ปกครองก็มีลำดับชั้นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัด ฯลฯ ซึ่งการจัดระบบชนชั้นเหล่านี้ไม่ได้มีในหลักการของศาสนาพุทธ
เช่นเดียวกัน ตามจริงแล้วศาสนาอิสลามก็มีแค่อีหม่านและผู้นำในชุมชน แต่สิ่งที่มีขึ้นมาภายหลังคือ การจัดให้มีจุฬาราชมนตรีเป็นประธานกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทย มีคณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทยจนถึงคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด ดังนั้นจึงไม่มีทางที่เราจะตัดการเมืองออกจากศาสนาได้
สิ่งสำคัญคือเราจะทำอย่างไรให้ประชาชนรู้ขอบเขตของศาสนาและความเชื่อ และจำกัดเรื่องศาสนาให้เป็นเรื่องปัจเจกบุคคล นี่เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องทำให้ประชาชนรู้จักการใช้ขอบเขตและรู้จักพื้นที่ในการอยู่ร่วมกัน เพราะเมื่อไหร่ที่คนไม่รู้ว่าหน้าที่หรือความเชื่อของตนมีขอบเขตขนาดไหน ไม่รู้ว่าระเบียบหรือกฎหมายมีขอบเขตขนาดไหน ก็จะพยายามยกระดับความเชื่อของตัวเองขึ้นมาเป็นบรรทัดฐานของสังคม และใครที่ไม่ได้ทำตามบรรทัดฐานนั้นก็จะถูกขับออกไปและกลายเป็นคนที่ทำผิด อย่างไรก็ตามในปัจจุบันเรากลับเห็นนักการเมืองหลายคนที่ใช้เวทีศาสนาเป็นเครื่องมือ หรือนักการศาสนาเองก็อิงแอบอยู่กับนักการเมือง นี่คือผลจากการเอาการเมืองเข้าไปรุกล้ำพื้นที่ของศาสนา
ถ้าแยกศาสนาออกจากการเมืองไม่ได้ เราควรขีดเส้นแบ่งระหว่างทั้งสองสิ่งอย่างไร
เราก็ต้องให้ความรู้ประชาชนเรื่องขอบเขตของความเชื่อและสิทธิในการอยู่ร่วมกัน ประชาชนต้องตระหนักและรู้ว่าความเชื่อของตนใช้ได้กับกลุ่มหรือชุมชนของตนเท่านั้น ถ้าคุณอยู่ในสังคมก็ต้องรู้ว่า ไม่ว่าคนที่อยู่นอกกลุ่มความเชื่อจะทำอะไรที่ผิดไปจากหลักศาสนาของคุณ ตราบเท่าที่การปฏิบัตินั้นไม่ผิดกฎหมาย นั่นก็เป็นสิทธิของเขาในฐานะประชาชนคนหนึ่ง
เช่น การเป็น LGBTQ+ ไม่ถูกต้องตามหลักการศาสนาอิสลาม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในชุมชนความเชื่อนั้นก็มีกลุ่มผู้หลากหลายทางเพศอยู่ หน้าที่ของคนในชุมชนมีเพียงแค่สอนให้คนในกลุ่มรู้ว่าสิ่งนี้ผิดหลักศาสนาอย่างไร แต่ไม่สามารถยกระดับความเชื่อของตนให้คนทั้งสังคมเชื่อตามหรือห้ามทำในสิ่งที่ขัดกับหลักการศาสนาอิสลาม
อีกตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ เหล้าเป็นสิ่งถูกกฎหมายและมีขายอยู่ทั่วไปในสังคม แต่ผิดหลักศาสนา หน้าที่ของเราไม่ใช่การทำให้กฎหมายถูกตามหลักความเชื่อ คนในชุมชนเองก็ไม่สามารถไปบอกคนอื่นว่าอย่าทำ เราทุกคนต้องให้ความเคารพคนนอกกลุ่มความเชื่อในฐานะที่เขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ในฐานะเพื่อนร่วมชาติ และในฐานะประชาชนในประเทศเดียวกัน แม้วิถีของเขาจะอยู่คนละความเชื่อกับเราก็ตาม
ปัญหาจะเกิดขึ้นหากผู้นับถือศาสนาพยายามปกป้องความเชื่อของตนแล้วยกขึ้นมาเป็นกฎหมาย ซึ่งแท้จริงกฎหมายควรโอบรับคนทุกศาสนา
คิดอย่างไรกับคำกล่าวที่ว่า ‘เมืองไทยเป็นเมืองพุทธ’
ก็เป็นเช่นนั้น เหมือนที่เวลานึกถึงอินโดนีเซียเราก็รู้ว่าเป็นประเทศมุสลิม โดยส่วนตัวมองว่าเราจะให้ความหมายกับคำว่า ‘พุทธ’ อย่างไร ผมเองก็ไม่ใช่คนที่นับถือศาสนาพุทธ และผมก็มองว่าไม่ผิดที่เราจะเข้าใจว่าเมืองไทยเป็นเมืองพุทธ เพียงแต่เราต้องมีความเคารพต่อคนที่นับถือศาสนาอื่นๆ ด้วย
ถ้าประชาชนในประเทศโอเคกับคำเรียกดังกล่าวก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าไม่โอเคก็ต้องมาคุยกัน ซึ่งปัญหาของสังคมไทยคือเรามีอคติแอบแฝงอยู่ในวิถีความเชื่อมาอย่างยาวนาน ผมคิดว่าสิ่งที่ควรจะทำในปัจจุบันคือการสร้างความเข้าใจในเรื่องขอบเขตของความเชื่อ แล้วก็ขีดเส้นแบ่งพื้นที่ของความเชื่อกับพื้นที่ของการอยู่ร่วมกันให้ชัดเจน ถ้าทำตรงนี้ได้ปัญหาเหล่านี้มันก็จะหายไปเยอะมาก
ในยุคที่สังคมขับเคลื่อนด้วยสื่อออนไลน์ พื้นที่ของศาสนาควรมีขอบเขตอย่างไร
มี 2 คำที่ผมมักจะใช้ คือคำว่า Place (สถานที่) และ Space (พื้นที่)
Place คือ สถานที่ ในขณะที่ Space คือ พื้นที่ซึ่งเป็นนามธรรม ตัวอย่างเช่น มีศิลปินคนหนึ่งเปลี่ยนจากศาสนาพุทธมานับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งในความเป็นจริงเขาเป็นคนหนึ่งคน สถานที่ของเขาคือคนคนหนึ่ง แต่พื้นที่ของเขาได้ส่งผลกระทบต่อคนที่อยู่ในกลุ่มความเชื่อที่เขาเลิกนับถือ
ผู้ที่นับถือศาสนาพุทธจะไม่ได้รู้สึกแค่ว่าตนสูญเสียบุคคลร่วมความเชื่อไปคนหนึ่ง แต่เขาจะรู้สึกว่าตนเสียพื้นที่ของศิลปินคนนี้ให้กับศาสนาอิสลาม ในขณะที่ผู้นับถือศาสนาอิสลามก็จะรู้สึกภูมิใจที่มีผู้มานับถือความเชื่อเดียวกับตนเพิ่มขึ้น พื้นที่ของเขาก็กว้างขึ้นเพราะศิลปินคนนี้สามารถเผยแผ่ศาสนาของเขาได้
เรามักจะเผยแผ่ศาสนาด้วยการบอกว่าศาสนาของตนดีกว่าของคนอื่นอย่างไร เหมือนการโฆษณา คือแทนที่จะขายว่า ‘โทรศัพท์ยี่ห้อ A มีอะไรดี’ เรากลับไปใช้วิธีการว่า ‘B ไม่ดีอย่างไร’ซึ่งแท้จริงแล้วเราสามารถสอนสิ่งที่ดีให้คนอื่นได้โดยที่ไม่ต้องเปรียบ
เพราะฉะนั้นเราต้องกลับไปยังจุดเริ่มต้น ที่ตัวผู้นับถือศาสนาหรือนักบวชในศาสนา ผู้คนเหล่านี้ต้องคำนึงถึงการเผยแผ่ศาสนาที่สร้างสรรค์ โดยเฉพาะในสังคมปัจจุบันที่สื่อมวลชนและโซเชียลมีเดียเปิดกว้างมาก ทำให้คำพูดที่ควรจะอยู่ในกลุ่มความเชื่อถูกเผยแพร่ไปในสังคม นักวิชาการศาสนาอิสลามพูดเรื่องอิสลามผ่าน Facebook Live พระเทศน์เรื่องศาสนาพุทธผ่าน Facebook Live ถ้าเกิดมีการยกความเชื่อที่ไม่ใช่ของตนมาเปรียบเทียบเมื่อไหร่ เมื่อนั้นเกิดปัญหาทันที ซึ่งในปัจจุบันเราไม่มีอะไรที่มาควบคุม ไม่มีเกณฑ์มาตรฐาน ไม่มีบรรทัดฐานของสังคมที่จะมาจำกัดเรื่องเหล่านี้เลย
‘ไม่เชื่ออย่าลบหลู่’ วาทะนี้ซ่อนเร้นอะไรไว้
หากย้อนดูในประวัติศาสตร์จะพบว่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราแทบไม่เจอนักปรัชญาแบบ อริสโตเติล (Aristotle) และ โสเครติส (Socrates) เลย ซึ่งเป็นเพราะคำว่า ‘ไม่เชื่ออย่าลบหลู่’ นี่แหละ
สิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับปรัชญาก็คือ เทววิทยา (Theology) โดยนักปรัชญาจะเข้าไปท้าทายความเชื่อของเทววิทยาจนทำให้เกิดความไม่มั่นคงขึ้น นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเทววิทยาจึงพยายามขจัดปรัชญาออกไป ในทางกลับกันถ้าคนในกลุ่มความเชื่อสามารถตอบคำถามที่ปรัชญาท้าทายได้ ก็จะเป็นการยกระดับความเชื่อ จากการเชื่อตามกันมาก็เปลี่ยนเป็นการใช้เหตุผลอธิบาย ความเชื่อนั้นก็จะเข้มแข็งมากขึ้น
แต่หากความเชื่อซึ่งเป็นการเชื่อตามกันมาไม่สามารถตอบคำถามปรัชญาได้ คนในกลุ่มอาจจะหลุดออกจากกลุ่มไปทันที เพราะว่าความเชื่อนั้นไม่ได้ถูกพิสูจน์แต่ถูกบังคับให้เชื่อ ดังนั้น คำกล่าวที่ว่า ‘ไม่เชื่ออย่าลบหลู่’ จึงเป็นกรอบของกลุ่มคนที่ต้องการจะจำกัดความคิดของประชาชนไม่ให้ไปท้าทายกับอำนาจของผู้ปกครอง และถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง
เราจึงไม่เคยเห็นนักปรัชญาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ท้าทายความเชื่อเดิมและสร้างความเปลี่ยนแปลง นี่เป็นเพดานที่ขวางกันความรู้ด้านปรัชญา เพราะเมื่อเริ่มมีการตั้งคำถาม ก็จะเกิดปัญหาตามมาทันที เพราะคำถามนั้นได้ไปทำลายความเชื่อดั้งเดิมไปแล้ว
‘ศาสนา’ หรือ ‘ศรัทธา’ ขึ้นมาแทนที่ปรัชญาได้อย่างไร
ในยุคแรกเริ่ม เราใช้เทพเจ้าในการปกครอง และหากความเชื่อในเทพเจ้าถูกท้าทายโดยนักปรัชญา อำนาจที่ได้มาจากการอ้างความเชื่อเหล่านั้นก็จะหมดไป อาทิ การปกครองที่อ้างสมมติเทพ อำนาจจะถูกส่งต่อกันมาพร้อมกับความเชื่อ ดังนั้นผู้ปกครองจึงไม่ต้องการให้อำนาจของตนถูกท้าทาย ปรัชญาก็ถูกลดบทบาทลง เพราะปรัชญาจะทำให้สิ่งที่เขาปลูกฝังมาถูกตั้งคำถาม ซึ่งหากคำตอบไม่เป็นไปตามที่ถ่ายทอดต่อๆ กันมา ความสั่นคลอนก็จะเกิดแก่ผู้มีอำนาจ ดังนั้นกลุ่มประเทศที่ใช้หลักความเชื่อในการปกครองก็จะค่อนข้างอ่อนไหวกับองค์ความรู้เรื่องปรัชญาที่จะมาท้าทายรากเหง้าของความเชื่อนั้น
ในฐานะประชาชนของสังคมคุณจะต้องเคารพคนอื่นที่เห็นต่าง เขามีสิทธิที่จะเชื่อ ทุกสิ่งต้องตั้งอยู่บนฐานความพอดี เราเป็นผู้ศรัทธาที่ดีพร้อมกับเป็นประชาชนที่ดีได้
เหตุใด ‘ศรัทธา’ และ ‘ปัญญา’ จึงต้องมาคู่กัน
ถ้าเราสอนให้คนรู้จักคิดเขาก็จะเชื่ออย่างมีปัญญา ต่อให้ความเชื่อนั้นพิสูจน์ไม่ได้ เขาก็จะรู้ว่าต้องหาคำตอบให้กับตัวเองอย่างไร
หากเราโตมากับกลุ่มความเชื่อใดความเชื่อหนึ่ง ก็ยิ่งเป็นการยากที่ความเชื่อนั้นจะถูกทำลาย นี่คือความท้าทายที่เราจะต้องสอนให้คนตั้งคำถาม และเมื่อเราได้คำตอบ เราก็อาจจะหลุดจากความเชื่อนั้นไปได้ หรืออาจพบเหตุผลที่ทำให้เรามีศรัทธามากขึ้นก็ได้เช่นกัน
และที่สำคัญคือคุณจะเชื่ออย่างไรก็ได้ แต่เมื่อคุณอยู่ในฐานะประชาชนของสังคมคุณจะต้องเคารพคนอื่นที่เห็นต่าง เพราะเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ตราบเท่าที่ความเชื่อของคนที่เห็นต่างกับคุณไม่ไปลิดรอน หรือไม่ไปส่งผลกระทบต่อความเชื่อของคนอื่น เขาก็จะมีสิทธิที่จะเชื่อ ทุกสิ่งต้องตั้งอยู่บนฐานความพอดี เราเป็นผู้ศรัทธาที่ดีพร้อมกับเป็นประชาชนที่ดีได้
การศึกษาการเมืองศาสนาจะช่วยขจัดความขัดแย้งในสังคมได้อย่างไร
เพียงแค่คุณรู้ว่าศาสนาเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล และสังคมเป็นเรื่องของการอยู่ร่วมกันในสังคมเท่านี้ก็ลดความขัดแย้งได้เยอะแล้ว
ในปัจจุบันนี้เราขาดความเข้าใจในการนับถือศาสนาและบริบทการอยู่ร่วมกันของสังคม แม้เราจะอยู่ในโลกใบเดียวกัน แต่พื้นที่ที่เราอยู่ในแต่ละส่วนไม่เหมือนกัน การที่เราเห็นดวงจันทร์ไม่เหมือนกับที่คนอื่นเห็น ไม่ได้หมายความว่าคนอื่นมองไม่เห็นดวงจันทร์ หรือดวงจันทร์นั้นเป็นดวงจันทร์ดวงอื่น
เพราะฉะนั้นหากเรารู้ขอบเขตของความเชื่อ รู้ถึงสิทธิในการอยู่ร่วมกัน และทำให้สองอย่างนี้เดินไปพร้อมกันได้ก็จะไม่เกิดปัญหา แต่ทั้งนี้มันต้องมาจากความร่วมมือของทุกฝ่ายไม่ใช่แค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะต่อให้ในระดับการบริหารประเทศ ศาสนากับการเมืองจะมีความเชื่อมโยงกันในบริบทใดก็ตาม แต่ว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือบริบทของประชาชนที่จะต้องเข้าใจในเรื่องนี้ด้วย
แม้การเข้าไปแก้ระบบรากเหง้าจะเป็นเรื่องยาก แต่เรื่องง่ายที่เราสามารถทำได้คือการให้ความรู้และทำให้เห็นว่าการอยู่ร่วมกันในกลุ่มความเชื่อและสังคมควรเป็นอย่างไร
คิดเห็นอย่างไรกับการสร้างรัฐสภาที่ยกพระสยามเทวาธิราชเหนือรัฐธรรมนูญ
เป็นส่วนหนึ่งของวิธีการคิดของสังคมเรา ตัวอย่างเช่น ถ้าพูดถึงแลนด์มาร์ก (Landmark) ของประเทศมาเลเซียเราก็จะนึกถึงตึกแฝดซึ่งมีความเป็นสมัยใหม่ เขาก็ไม่ได้มีปัญหา ในขณะเดียวกันสิงคโปร์ซึ่งเป็นประเทศล้ำสมัยมากก็มีเมอร์ไลออนซึ่งเป็นสัตว์ในตำนาน เขาก็ไม่มีปัญหาอะไรเช่นกัน แต่ถ้าพูดถึงบริบทสังคมไทยเรากลับแยกเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ ผมเชื่อว่า 100% ของผู้บริหารประเทศต้องทำให้แลนด์มาร์คให้มีความเป็นไทยสอดแทรกอยู่ คือทำอะไรก็ได้ให้เกี่ยวข้องกับวัด แม้กระทั่งการสร้างตึกที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศเราก็ยังใช้แนวคิดเหล่านี้ และถามว่าแนวคิดเช่นนี้จะส่งผลอะไรไหม คำตอบคือส่งผลต่อคนส่วนใหญ่ในประเทศแน่นอน
ถ้าคุณยกพระสยามเทวาธิราชไปไว้ข้างบนได้ คนในประเทศซึ่งมีความเชื่อหลากหลายก็จะตั้งคำถามว่า มุสลิมขอยกโดมสุเหร่าขึ้นไปไว้ได้ไหม คริสต์ขอยกไม้กางเขนขึ้นไปด้วยได้ไหม ผู้นับถือศาสนาอื่นๆ ขอยกสัญลักษณ์ทางศาสนาของตนขึ้นไปด้วยได้ไหม ถ้าเราอ้างตามสิทธิกันจริงๆ คำขอเหล่านี้ก็ต้องทำได้ และจะทำให้เกิดความขัดแย้ง
ความเข้าใจในระดับประชาชนจึงสำคัญมาก เพราะต่อให้รัฐจะสร้างตึกสร้างเป็นหลังคาวัด ถ้าคนรู้ว่าอันนี้คือตึกก็ไม่มีปัญหา ตึกเป็นแค่สัญลักษณ์แล้วจบ ดังนั้นเราต้องสร้างบรรทัดฐานของสังคมกันใหม่ผ่านการให้ความรู้ และแยกแยะความเชื่อของตัวเองออกจากการอยู่ร่วมกันในสังคม เมื่อไหร่ก็ตามที่คนตระหนักถึงสิทธิต่อให้ตึกรัฐสภาสร้างเลียนแบบวัดก็ไม่มีใครว่า เพราะเขาก็จะมองเป็นเรื่องธรรมดา และอาจเป็นเรื่องตลกด้วยซ้ำไป
เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาจะต้องมาจากล่างขึ้นบน เพราะเราแก้ปัญหาจากบนลงล่าง ไม่ได้ ผมไม่สามารถเดินไปบอกให้รัฐบาลสร้างตึกใหม่ได้แน่ๆ (หัวเราะ)
แน่นอนว่าหลักการของบนลงล่างกับล่างขึ้นบนมีความแตกต่างกัน ถ้าแก้จากบนลงล่าง ข้อดีคือสามารถแก้ไขได้เร็วผ่านการอ้างอำนาจของผู้นำ แต่ถ้าแก้จากล่างขึ้นบนปัญหาคือจะเปลี่ยนแปลงได้ช้าทว่ายั่งยืน เพราะอย่าลืมว่าการอ้างอำนาจสั่งการ ถ้าวันหนึ่งผู้มีอำนาจหายไป นโยบายเปลี่ยนไป ทุกอย่างก็จบ
ในเมื่อบริบทของสังคมไทยเราไม่สามารถที่จะตัดการเมืองออกจากศาสนาได้ แต่เมื่อไรก็ตามที่คนมีความรู้ในเรื่องสิทธิของความเชื่อและของการอยู่ร่วมกัน สังคมเราก็น่าอยู่มากขึ้น ถึงแม้ว่าชนชั้นนำจะใช้ศาสนามาเป็นเครื่องมือทางการเมืองมากเพียงใด ถ้าประชาชนมีความเข้าใจเขาก็จะแยกแยะได้ สุดท้ายผู้นำประเทศก็ต้องเปลี่ยนวิธีในการบริหาร เพราะเขาจะตระหนักได้ว่าวิธีการเก่าๆ ไม่เป็นที่ยอมรับ
ทุกวันนี้เราเห็นปรากฏการณ์หลายอย่างในสังคมไทยที่มุ่งไปในทางที่ดีขึ้น แล้วก็มีความหวังมากขึ้น รู้จักสิทธิหน้าที่ของตัวเองมากขึ้น ผมเชื่อว่าเราจะเปลี่ยนแปลงได้ โดยเริ่มจากสิ่งเล็กๆ คือการมาเปิดวิชาการเมืองศาสนาเพื่อให้นักศึกษาสามารถที่จะแยกแยะและเข้าใจบริบทของสิทธิความเชื่อ และสามารถรู้ว่าตนควรดำเนินบทบาทอย่างไรในสังคม
อะไรเป็นแรงบันดาลใจจนเลือกมาสอนวิชาการเมืองศาสนา และคาดหวังอะไรจากการสอนวิชานี้
ผมเห็นคนทะเลาะกันเยอะ อันที่จริงความขัดแย้งในชุมชนต่างศาสนาไม่น่ากลัวเท่าความขัดแย้งของคนในชุมชนศาสนาเดียวกันนะ นี่เป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าความขัดแย้งต่างศาสนาด้วยซ้ำไป ความขัดแย้งต่างๆ เหล่านี้กำลังกลายเป็นเป็นปัญหาในอนาคต ตอนที่ผมได้เรียนเรื่องชนกลุ่มน้อยศึกษา (Minority study) ผมก็เห็นว่าปัญหาของชนกลุ่มน้อยคือเราไม่สามารถกำหนดอะไรได้ แต่ถ้าชนกลุ่มใหญ่มีความเข้าใจในสิทธิของการอยู่ร่วมกัน ชนกลุ่มน้อยก็สามารถที่จะคงชุมชนความเชื่อของตนเอาไว้ได้ การถกเถียงที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นคนในกลุ่มความเชื่อที่ด้อยค่ากันเอง หรือการที่กลุ่มนอกความเชื่อสองกลุ่มมาทะเลาะกัน สิ่งเหล่านี้ล้วนไม่มีประโยชน์
การออกมาพูดในเรื่องเหล่านี้ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะถูกมองว่าเป็นคนแปลกแยก และไม่ปกป้องกลุ่มความเชื่อของตนเอง ซึ่งจริงๆ เราก็ปกป้องเพียงแต่ปกป้องในอีกมิติหนึ่ง หน้าที่ของผมคือการสอนหนังสือเพื่อที่จะไม่ให้เกิดการด้อยค่าความเชื่อต่างๆ นี่คือสิทธิและเป็นสิ่งที่ผมทำได้ในพื้นที่ของผม
ผมมีความหวังว่า เมื่อแสดงให้นักศึกษาเห็นปัญหา แล้วเขารู้ว่าปัญหานี้มีอยู่ นักศึกษาก็อาจจะมีมุมมองที่แตกต่างไปจากเดิม สามารถเห็นถึงรากเหง้าของปัญหา และสามารถช่วยกันทำให้สังคมดีขึ้น แน่นอนว่าผมซึ่งเป็นคนชนชั้นกลางเพียงคนเดียวเปลี่ยนประเทศไม่ได้หรอก แต่ถ้าทุกคนสามารถรู้ถึงสิทธิและรู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ สังคมก็จะน่าอยู่ขึ้นโดยปริยาย
ผมไม่ได้มีความหวังใหญ่โตว่านักศึกษาที่เรียนกับผมจะไปเป็นนายกแล้วเปลี่ยนแปลงประเทศ ผมแค่อยากถ่ายทอดสิ่งที่ตัวเองรู้หรือตกผลึกมาจากสังคมในระดับหนึ่งให้กับนักศึกษา เพื่อที่พวกเขาจะได้นำสิ่งเหล่านี้ไปต่อยอดและทำให้สังคมดีขึ้น