“เสียงมีผลกับชีวิตทุกชีวิต เราใช้ชีวิตอยู่ในโลกที่ต้องเห็นภาพและได้ยินเสียง”
คือมุมมองต่อ ‘เสียง’ ที่ อู่-ไตรเทพ วงศ์ไพบูลย์ ซาวด์เอนจิเนียร์และนักออกแบบเสียงมือหนึ่งของเมืองไทย ทิ้งไว้ให้เราได้ฉุกคิด
ทุกชีวิตที่ว่า รวมถึงตัวเขา ผู้มีความผูกพันกับการทำงานด้านเสียงมาตลอดชีวิต
ไม่ว่าจะเป็นการทำงานในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัท กันตนา ซาวด์ สตูดิโอ และกรรมการ ผู้จัดการบริษัท อพอลโล แลป (2001) ที่เชี่ยวชาญด้านการผลิตเสียงในภาพยนตร์และโฆษณาหลายชิ้น
และเป็นหนึ่งสมาชิกวง คิดแนปเปอร์ส (Kidnappers) วงดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ชื่อดังแห่งยุค 90s
รวมทั้งเป็นหนึ่งในทีมสร้างสรรค์เสียงให้หนังดังอย่าง The Grandmaster ของ หว่องกาไว (Wong Kar-Wai) ผู้กำกับแถวหน้า จนคว้ารางวัลจากหลายสถาบันทั่วโลก
นอกจากนี้ เขายังช่วยออกแบบวิชาเดซิเบรลล์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบห้องเรียนสำหรับเด็กตาบอดยุคใหม่
ล่าสุด อู่ได้ทำสิ่งที่น้อยคนจะกล้าลงมือทำ และทำได้ นั่นคือ การสร้างโรงงานผลิตแผ่นเสียงบูทีคแห่งแรกของเมืองไทยชื่อ ResurRec ที่การันตีคุณภาพระดับอินเตอร์
“โลกของผมมีแต่เสียง ทุกอย่างเกี่ยวกับเสียงหมดเลย”
common ชวนอู่คุยถึงเบื้องหลังของความหลงใหลในโลกของเสียงและแผ่นเสียงที่ไม่เคยมีวันไหนผิดเพี้ยน หรือตกร่องไปในคีย์อื่น
1. โลกหมุนรอบเสียง
“ชอบทุกอย่างเลย ไม่ว่าจะเป็น รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสของแผ่นไวนิล ชอบการเดินไปมา เพื่อยกเข็มออกจากเครื่อง ชอบทั้งเสียงเพลง อาร์ตเวิร์กบนหน้าปก”
ทำไมถึงหลงใหลเรื่องเสียง
จริงๆ ผมเริ่มชอบเรื่องเสียงตั้งแต่ตอน ป.6 เพราะได้ฟังแผ่นเสียงเพลงเก่าๆ ของคุณตาและคุณพ่อ พอชอบมากขึ้น ก็เก็บเงินซื้อแผ่นเสียงที่ตัวเองชอบมาฟัง ตื่นเช้ามาก็ฟัง ก่อนนอนก็ฟัง เรียกได้ว่าฟังแผ่นเสียงตลอดเวลา
ติดใจการฟังเพลงจากแผ่นไวนิลตรงไหน
ชอบทุกอย่างเลย ไม่ว่าจะเป็น รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสของแผ่นไวนิล ชอบการเดินไปมาเพื่อยกเข็มออกจากเครื่อง ชอบทั้งเสียงเพลง อาร์ตเวิร์กบนหน้าปก ข้อมูลของคนทำดนตรีที่อยู่ข้างในแผ่น ผมนั่งอ่านหมดเลย อย่างเรื่องกลิ่น ผมก็ดมแผ่นเพื่อเก็บรายละเอียดได้ (หัวเราะ) ถ้าเป็นแผ่นใหม่ที่มาจากโรงงานก็หอมดี แต่ถ้าเป็นแผ่นเก่าจากญี่ปุ่น กลิ่นจะแตกต่างจากแผ่นอื่น กลิ่นหอม ไม่อับชื้น แผ่นเก่าที่เก็บอยู่ในห้องเก็บของ ก็จะเป็นกลิ่นอีกแบบ
คลั่งไคล้?
ตอนนั้นก็ไม่รู้ตัวเหมือนกันว่าคลั่งขนาดนั้น (หัวเราะ) ตอนเด็กๆ ผมหาเงินซื้อแผ่นเสียงด้วยตัวเองจากการขายเทปรวมฮิตให้เพื่อนๆ ด้วย ก๊อปปี้เพลงจากแผ่นเสียงที่เรามีอยู่ ขายม้วนละ 200 บาท บางครั้งยอมอดข้าว แล้วเอาเงินมารวมกันไปซื้อแผ่นเสียงได้หนึ่งแผ่น
หลงใหลแผ่นเสียงขนาดนี้ ทำไมเลือกเป็นคนทำงานเบื้องหลังมากกว่าเบื้องหน้า
เพราะผมเป็นคนไม่ชอบพูด จริงๆ แล้ว ผมเริ่มจากการเป็นดีเจเปิดแผ่นในผับที่พัทยา พ่อแม่ขับรถพาไปทุกวันศุกร์เสาร์ แล้วเจอพี่ดีเจที่ทำงานด้วยกันแนะนำว่า มีอีกอาชีพหนึ่งที่ทำงานกับเสียง แล้วเปิดหนังสือเล่มหนึ่งให้ดู ข้างในเป็นรูปห้องอัดและคนบันทึกเสียง พร้อมเขียนด้านล่างว่า มิกซ์เสียงโดยซาวด์เอนจิเนียร์ เรารู้สึกสนใจ แล้วมุ่งมั่นว่าจะเรียนด้านนี้ที่ชิคาโก้ ซึ่งสมัยนั้นการเรียนเฉพาะด้านนี้มีแค่ 2 ที่ในโลก คือที่อเมริกาและออสเตรเลีย
การเรียนเฉพาะด้านอย่างซาวด์เอนจิเนียร์ต้องเจาะลึกแค่ไหน
เรียนทุกอย่างที่เกี่ยวกับเสียง ซึ่งผมชอบมากๆ ตั้งแต่ศิลปะการบันทึกเสียงในสตูดิโอ เรียนการออกแบบเสียงอะคูสติก ลงลึกในเชิงฟิสิกส์มากขึ้น รวมทั้งเรื่องการออกแบบห้องอัด ออกแบบโรงละคร การสะท้อนของเสียง การสร้างสรรค์เสียงประกอบภาพทั้งในหนังและโฆษณา
ทำไมต้องสร้างเสียงในหนังขึ้นมาใหม่
จริงๆ แล้วทุกเสียงที่เราได้ยินในหนัง ยกเว้นเสียงพูดคุยของตัวละคร เราต้องทำขึ้นมาใหม่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเสียงเดิน เสียงปิดประตูรถ เสียงสตาร์ทรถ เสียงหยิบจับของ เสียงทะเล หรือแม้แต่เสียงบรรยากาศในห้องก็มีความแตกต่างกัน เช่น เสียงในหน้าหนาวกับหน้าร้อนแตกต่างกัน เสียงเดินทางได้เร็วขึ้นในอากาศที่ร้อนขึ้น หรือชื้นขึ้นเสียงสะท้อนจะช้า ดังนั้นถ้าอยากให้คนดูรู้สึกหนาว เราก็ต้องใส่เสียงให้ดีเลย์ประมาณนึง
2. เสียงจากหนังไทยเรื่องดัง ‘โหมโรง’ สู่หนังรางวัล ‘The Grandmaster’
“การทำซาวด์ในหนังไม่ใช่ถมๆ เสียงลงไป การใส่เสียงให้เยอะมันไม่ยาก แต่การใส่เสียงให้น้อยแล้วทำให้คนดูรู้สึกไปด้วย มันยากมากๆ”
การทำเสียงในหนังเรื่องไหนที่คุณคิดว่ายากมากๆ
ผมคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องโหมโรง เพราะเป็นหนังเพลง เราต้องใช้ความละเอียดมากกว่าตอนปกติ โดยเฉพาะตอนสอนตีระนาด ช่วงถ่ายหนัง ทีมงานจะเปิดเพลงแล้วนักแสดงตีระนาดตามไปด้วย แต่เขาอาจจะตีแล้วไม่ซิงก์กับเสียง เราต้องมาทำภาพกับเสียงให้ตรงกันทุกเม็ด ต้องมานั่งดูว่าทำอย่างไรให้เสียงเนียนไปกับภาพมากที่สุดจนคนดูจับไม่ได้ ซึ่งตรงส่วนนี้ใช้เวลาทำนานมากๆ
ตัวอย่างภาพยนตร์เรื่องโหมโรง (clip vdo: Sahamongkolfilm International Co.,Ltd)
คุณได้ไปทำงานเสียงให้ผู้กำกับระดับโลกอย่างหว่องกาไวได้อย่างไร
มีอยู่วันหนึ่ง มีคนโทรมาหาผม บอกว่าเป็นโปรดิวเซอร์ของหว่องกาไว และทางทีมงานอยากร่วมงานด้วย ให้บินไปหาที่ปักกิ่ง ตอนนั้นเรายังไม่มีชื่อเสียง ก็งงๆ เหมือนกัน ไม่แน่ใจว่าโดนหลอกไหม (หัวเราะ) แต่ก็บินไปนะ แล้วได้ทำเสียงให้หนังของหว่องกาไว เรื่องแรกคือ Ashes of Time Redux สมัยนั้นยังเป็นหนังฟิล์มอยู่ เป็นการทำงานที่โหดร้ายมาก (หัวเราะ) แต่เราก็ทุ่มเทเต็มที่ หลังจากนั้นเขาก็จองคิวเราทุกปี อย่างล่าสุด ผมทำเสียงให้หนังเรื่อง The Grandmaster ร่วมกับทีมของเขา จริงๆ แล้วหลายคนอาจจะไม่รู้ว่า คนไทยเราเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงในการทำซาวด์ภาพยนตร์อันดับต้นๆ ของเอเชีย
การทำซาวด์ในหนังแอคชั่นระดับฮอลลีวูดอย่าง The Grandmaster ยากหรือเยอะแค่ไหน
จริงๆ หนังเรื่องนี้ไม่ได้ใส่เสียงเยอะอย่างที่คิดไว้ เรียกว่าน้อยเลย แต่ทุกเสียงถูกเลือกมาเป็นอย่างดี และต้องเลือกใช้เสียงให้ถูกที่ ถูกเวลา ซึ่งมีผลมากๆ กับตัวหนัง การทำซาวด์ในหนังไม่ใช่ถมๆ เสียงลงไป การใส่เสียงให้เยอะไม่ยาก แต่การใส่เสียงให้น้อยแล้วทำให้คนดูรู้สึกไปด้วย ยากมากๆ ซึ่งผู้กำกับและทีมงานของหว่องกาไวก็เลือกสรรกันอย่างดี ทำงานกันนานมากกว่าจะจบโปรเจกต์นี้
ตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง The Grandmaster (clip vdo: Annapurna Pictures)
*หนังเรื่อง The Grandmaster คว้ารางวัลด้านเสียงจากหลายสถาบันทั่วโลก อาทิเช่น Best Sound Design จาก Hong Kong Film Award รางวัล Best Sound Effect จาก 50th Golden Horse Awards รางวัล Motion Picture Sound Editors จาก Golden Reel Award ซึ่งถือว่าเป็นรางวัลออสการ์สำหรับคนทำเสียงระดับโลก
3.เติมเต็มฝันสร้างโรงงานผลิตแผ่นเสียงแบบบูทีคแห่งแรกของเมืองไทย
“ถ้าชีวิตนี้เราได้ทำแผ่นเสียงด้วยตัวเองได้ ก็น่าจะเป็นที่สุดแล้ว”
ได้รางวัลระดับโลกมาแล้ว ยังมีความฝันไหนที่อยากทำอีกไหม
ถ้าชีวิตนี้เราได้ทำแผ่นเสียงด้วยตัวเองได้ ก็น่าจะเป็นที่สุดแล้ว (หัวเราะ) ความฝันนี้อยู่ในหัวของผมมาตลอด พอชีวิตเริ่มลงตัวและมีเวลา ผมไปเรียนทำแผ่นเสียงกับ Mr. Ulrich Sourisseau ผู้เชี่ยวชาญแบบตัวต่อตัวที่ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นมาสเตอร์ด้านการผลิตแผ่นเสียงที่เหลือเพียงไม่กี่คนในโลก เขาสอนการใช้เครื่องเขียนแผ่นเสียงแบบแผ่นต่อแผ่น ไปเรียนอยู่สองอาทิตย์กว่า พร้อมซื้อเครื่องของเขากลับมาด้วย ถือว่าเป็นหนึ่งใน 2 คนของเอเชียที่มีเครื่องทำแผ่นแบบนี้ และตอนนี้ผมเพิ่งสร้างโรงงานทำแผ่นเสียงแบบบูทีคแห่งแรกของเมืองไทย ชื่อ ResurRec-Boutique Vinyl Lab เป็นคำล้อเลียนภาษาอังกฤษที่แปลว่า ฟื้นคืนชีพ
โรงงานทำแผ่นเสียงแบบบูทีคของคุณแตกต่างจากโรงงานอื่นอย่างไร
โรงงานผลิตแผ่นเสียงในโลกนี้มี 2 ประเภท คือ แบบที่ผลิตและปั้มแผ่นครั้งละเยอะๆ หลักหมื่นแผ่นต่อวัน เหมือนโรงงานพลาสติก และไม่มีการเทสต์คุณภาพเสียง ส่วนอีกประเภทคือ โรงงานแบบบูทีค คือ เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ ซึ่งโรงงานของผมเป็นแบบหลัง ผมทำงานด้านเสียงอยู่แล้ว ดังนั้นต้องรักษาชื่อเสียงไว้ด้วย โดยผมเป็นคนควบคุมคุณภาพการผลิตทุกขั้นตอน เรามีห้องอัดเป็นของตัวเอง ซึ่งโรงงานทำแผ่นเสียงในโลกนี้มีน้อยที่มีห้องอัด ดังนั้นจุดเด่นของโรงงานแผ่นเสียงของเราคือ เน้นคุณภาพเสมือนฟังจากแผ่นมาสเตอร์ หรือถ้าไม่เหมือน ต้องเป็นแผ่นที่สามารถดึงคาแรกเตอร์ของเสียงออกมาได้ครบทั้งหมด
นี่คือคุณสมบัติของแผ่นไวนิลที่ดี?
จริงๆ ทุกอย่างต้องประกอบกัน ต้องเริ่มจากการทำเพลงที่ดีก่อน เพลงที่ดีคือ การแต่งที่ดี เรียบเรียงดี นักดนตรีเก่ง บันทึกเสียงดี มีการทำมาสเตอร์ริ่งเสียงเพื่อให้เสียงออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด ทั้งระดับความดัง-เบา โทนเสียง รวมทั้งความลึกของมิติเสียง เพื่อถ่ายทอดอารมณ์ของเพลงให้ถึงคนฟังได้มากที่สุด รวมถึงมีการตั้งค่าทางเทคนิคเพื่อให้การผลิตออกมาดีที่สุดสำหรับฟอร์แมตของแผ่นเสียง
อยากให้เล่าถึงแผ่นเสียงแผ่นแรกๆ ที่ผลิตจากโรงงานของคุณ
ผมขอเล่าถึงโปรเจกต์พิเศษสุดๆ คือ แผ่นไวนิล BE MY WORLD ซึ่งทาง BMW Thailand ไปค้นเจอต้นฉบับเทปรีล (reel tape) ที่เป็นเทปมาสเตอร์บันทึกเสียงเพลงของพี่บอย โกสิยพงษ์ ที่ร้องเพลงและเล่นกีต้าร์แบบสดๆ ช่วงเดินสายโปรโมทเพลงตามสถานีวิทยุเมื่อปี 2538 เรียกได้ว่าเป็นเทปลับก็ว่าได้ มันมีตำหนิอยู่บ้าง เพราะมันเก่ามาก เป็นอาชีพผมที่ต้องนำมาทำให้เพลงน่าฟังมากขึ้น
ได้ฟังเพลงของพี่บอยจากเทปรีลที่ว่า ให้ความรู้สึกอย่างไรบ้าง
เพลงในเทปรีลเป็นเวอร์ชั่นที่มีชีวิตมากๆ เหมือนเราได้ยินเขาร้องในห้องบันทึกเสียงในตอนนั้นด้วยตัวเอง มันให้อารมณ์ความสด รับรู้ได้ถึงชีวิตเขาในช่วงนั้นที่ถูกบันทึกไว้ผ่านเสียงเพลง ทำให้ผมรู้สึกเหมือนกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง เพราะเป็นยุคที่เรายังไม่ประสบความสำเร็จ จะเกิดหรือดับก็ยังไม่รู้ ผมเชื่อว่าพี่บอยก็มีความรู้สึกแบบเดียวกัน
ฟังดูคุณก็คิดถึงยุคอะนาล็อกไม่น้อย
ผมคิดว่ามันเป็นความทรงจำของคนในวงการเพลงยุคก่อน พอออกเพลงใหม่หนึ่งเพลง ต้องมีแผ่นตัดส่งสถานีวิทยุ ต้องมีตารางนัดเพื่อไปทัวร์โปรโมทและให้สัมภาษณ์ นักร้องต้องเอาเพลงไปให้ดีเจฟังก่อน พูดคุยให้เขาเข้าใจเรา ชอบเพลงเรา แล้วดีเจเป็นผู้นำเสนอให้คนฟังทั้งประเทศ ซึ่งสมัยนี้ไม่มีแล้ว คนรุ่นใหม่ใช้วิธีโพสต์ยูทูปเอา ตอนกี่โมงก็ได้ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนทำเพลงกับดีเจหรือคลื่นวิทยุหายไป ตอนนี้นักร้องส่งเพลงตรงถึงคนฟังได้เลย จริงๆ อาจจะตรงเกินไป การนำเสนอ ความเข้าใจในเพลงไม่ชัดเจนเท่าสมัยก่อนที่มีดีเจคอยเล่าว่า พี่บอยแต่งเพลงอะไร แต่งอย่างไร แต่งให้ใคร มันถือเป็นความทรงจำที่ดีอีกแบบหนึ่ง ผมรู้สึกว่าโชคดีที่เกิดทันยุคอะนาล็อกแบบนั้น
FACT BOX :
- อัลบั้มแผ่นเสียง ‘BE MY WORLD’ เป็นอัลบั้มเอ็กซ์คลูซีฟที่จะเปิดให้เจ้าของรถยนต์ BMW สมาชิกโปรแกรม The Ultimate JOY Experience หรือโปรแกรม JOY ได้จองก่อนใครที่ http://bit.ly/2kN7GKt ราคาอัลบั้มละ 2,200 บาท ก่อนจะวางจำหน่ายให้บุคคลทั่วไปผ่านช่องทางการจัดจำหน่ายของแฟตแบล็คเรคคอร์ด ในเดือนตุลาคม นอกจากจะมีเพลงที่หาฟังยากหลายเพลงแล้ว อัลบั้มนี้ยังมีกิมมิคพิเศษอีกหลายอย่าง ตั้งแต่การออกแบบปกไปจนถึงสีของแผ่นเสียง”ผมรู้สึกดีที่มีการทำแผ่นไวนิลแบบนี้ในเมืองไทย ทุกอย่างทำโดยคนไทยทุกขั้นตอน ทั้งวิธีคิด การนำเสนอที่มีกิมมิคหลายอย่าง ดีไซน์หน้าปกก็สวย และถือเป็นแผ่นเสียงแผ่นแรกๆ ที่ถูกผลิตในเมืองไทยในยุคใหม่ด้วย” อู่กล่าวอย่างภูมิใจในฐานะผู้ทำคลอดไวนิลแผ่นนี้ในฐานะผู้ผลิต
- สามารถติดตามความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับอัลบั้มแผ่นเสียง ‘BE MY WORLD’ และโปรแกรม JOY ได้ที่ www.facebook.com/BMWUltimateJOY