pe©ple

‘เยล’- สุริยา แสงแก้วฝั้น ปรากฏตัวในโทรทัศน์เป็นครั้งแรกในรายการคนค้นฅน ตอน ‘สามเกลอ’ คนเล็กหัวใจใหญ่ ที่ออกอากาศทางช่องโมเดิร์นไนน์ทีวี เมื่อ พ.ศ. 2554  

ตอนนั้นเขากำลังจะเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ ของคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นั่นเป็นปีแรกๆ ที่บางคณะของมหาวิทยาลัยเปิดโอกาสให้ผู้พิการเข้าเรียน 

หลังจบปริญญาตรี เยลเรียนต่อปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง จากคณะสังคมศาสตร์ และได้ร่วมงานกับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรเพื่อผู้พิการในเวลาต่อมา 

เยลป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้อเกร็งตั้งแต่กำเนิด สิ่งที่ต้องเผชิญทำให้เขาเริ่มตั้งคำถามถึงความไม่เท่าเทียมในสังคม ชีวิตวัยเด็กทำให้เขามองเห็นว่าการเมืองเกี่ยวข้องกับชีวิตตนอย่างเลี่ยงไม่ได้ นั่นทำให้เยลสนใจเรื่องการเมือง การปกครอง นั่นทำให้เขาได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในแกนนำที่ขึ้นปราศรัยบนเวที เชียงใหม่จะไม่ทน เมื่อวันที่ สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา 

เยลบอกเสมอว่าเขาไม่ได้ต้องการเรียกร้องสิทธิให้ผู้พิการเพียงกลุ่มเดียว แต่กำลังเรียกร้องประชาธิปไตยที่ปลายทางจะมีความเท่าเทียมของมนุษย์ทุกคนรออยู่ เขาเชื่อมาเสมอว่าถ้าการเมืองดีคนทุกกลุ่มจะเท่าเทียม เขาไม่ต้องการได้รับมากกว่า แต่อยากให้ทุกคนได้รับอย่างเท่าเทียม 

คุณเลือกเรียนนิติศาสตร์เพราะสนใจรัฐศาสตร์มาก่อน ทำไมถึงสนใจในด้านนี้ 

มันคาบเกี่ยวกับปัญหาที่เราเจอ เราถูกบุลลี่ในวัยเด็ก ถูกล้อว่าเป็นเด็กพิการบ้าง เด็กปัญญาอ่อนบ้าง ถูกกีดกันไม่ให้เข้าโรงเรียนบ้าง เราถูกมองว่ามีฐานะยากจน ถูกตีตราจากสังคมว่าครอบครัวนี้มีลูกพิการ ทั้งหมดมันพูดถึงความเป็นธรรมทางสังคม เมื่อครอบครัวของเราถูกฏิบัติอีกแบบหนึ่ง เรารู้สึกว่ามันไม่เท่าเทียม ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าทั้งหมดเป็นเรื่องของการเมือง เป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคทางสังคม ตอนนั้นสงสัยแค่ว่าทำไม แบบนี้มันถูกแล้วเหรอ ยังไม่รู้ว่าความยุติธรรม อยุติธรรมคืออะไร พอเราตั้งคำถามว่าทำไมเราถูกปฏิบัติไม่เหมือนคนอื่น หน้าที่ของเราคือแสวงหาคำตอบ เลยอยากเรียนรัฐศาสตร์หรือนิติศาสตร์เพื่อแสวงหาคำตอบที่เราตั้งไว้ 

สิ่งที่คุณได้เรียนตอบคำถามที่คุณเคยสงสัยอย่างไรบ้าง 

ระบบของนิติศาสตร์บ้านเรายังไม่ค่อยตอบโจทย์เท่าไหร่ ส่วนตัวมองว่าวิชานิติศาสตร์ในบ้านเรายังยึดตามบทบัญญัติที่เขียนเอาไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเป็นหลัก แต่ไม่ได้ยึดตามเจตนารมณ์ของการบังคับกฎหมาย เช่น เราใช้เจตนารมณ์เพื่อความเท่าเทียม เพื่อความเสมอภาคหรือเปล่า กฎหมายต้องยืดหยุ่น เรียกรวมๆ ว่านิติบัญญัติทางกฎหมาย 

ถึงจะไม่ตอบโจทย์แต่สิ่งที่ได้รับในการศึกษาวิชาด้านกฎหมายคือการเข้าใจระบบ เข้าใจวิธีคิด และสิ่งที่ได้มากกว่าการเข้าใจก็คือเรากล้าวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความเข้าใจเหล่านั้น นั่นคือสิ่งที่ได้รับ

 

อะไรที่ทำให้คุณมองเห็นว่าการเมืองส่งผลกับชีวิตคุณ และหันมาเคลื่อนไหวมากขึ้น 

ครอบครัวเรายากจน เราถูกตราหน้าว่าเป็นคนพิการ เราเจอการเหยียดหยามเรื่องสถานะและชนชั้นมาตั้งแต่เด็กๆ เราโดนความอยุติธรรมมาหมดแล้ว เพียงแต่ตอนนั้นเราไม่รู้ว่าสิ่งที่เราเจอคือความอยุติธรรม พอเราแสวงหาคำตอบมาเรื่อยๆ เราพบว่าเราเจอความอยุติธรรมมาตั้งแต่เด็กๆ จึงเริ่มสนใจประเด็นเหล่านี้มาตั้งแต่ตอนนั้น พอเข้าใจสิ่งที่เรียกว่าความอยุติธรรมมันก็เชื่อมโยงกับประเด็นทางการเมือง เราจึงมองหาว่าระบบการปกครองแบบไหนที่จะเอื้อให้ความยุติธรรม ระบบการปกครองแบบไหนที่ไม่เอื้อและเป็นอุปสรรคต่อความยุติธรรมบ้าง 

เราเป็นคนชนบท เป็นลูกชาวบ้านหลานชาวนา เป็นคนหนึ่งที่มีสิทธิ์ในการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรเข้าไปจัดการกับปัญหาปากท้อง ปัญหาชุมชน พอเกิดรัฐประหาร พ.ศ. 2549 เรามองว่ามันไม่ถูกต้องเลยออกมาเคลื่อนไหวตั้งแต่นั้นเรื่อยมา จนถึง พ.ศ.2557 เราก็เจอเหตุการณ์ซ้ำๆ 

คุณคิดว่าการเมืองจะดีได้ต้องอาศัยสิ่งใดบ้าง 

ต้องอาศัยหลักปรัชญาประชาธิปไตย ความเท่าเทียม และความเสมอภาค ความยุติธรรมจะเกิดขึ้นและดำรงอยู่ไม่ได้เลย ถ้าพลเมืองคนใดคนหนึ่งไม่มีสิทธิ์เรียกร้อง ไม่มีสิทธิ์เข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ประชาธิปไตยมันมากกว่าการไปเข้าคิวแล้วหย่อนบัตรเลือกตั้ง ประชาธิปไตยต้องให้ความยุติธรรมกับทุกคน ทำให้มนุษย์ทุกคนมีความเท่าเทียม มีความเสมอภาค สามารถกำหนดชะตาชีวิตของตัวเองได้ แต่ทุกวันนี้มันไม่ใช่ เราจะเห็นได้ว่าหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายยังพิกลพิการเพราะบ้านเรายังไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ 

คุณหวังจะเห็นอะไรในสังคมที่มีการเมืองดี 

ถ้าการเมืองดีหมายถึงระบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยดี ระบบความยุติธรรมดี สิทธิของทุกกลุ่มตามมาไม่ว่าจะเป็นผู้พิการ แรงงานข้ามชาติ ชนเผ่าพื้นเมือง กลุ่มคนหลากหลายทางเพศ กลุ่มต่างๆ ที่เป็นสับเซ็ตของสังคมจะสามารถกำหนดชะตาชีวิตของตัวเองได้บนพื้นฐานของความเท่าเทียม แต่ทุกวันนี้ ถ้าเราเดินไปบอกรัฐว่าเราต้องการอะไร เราอาจถูกจับเข้าคุก ถูกดำเนินคดี เพราะเราเห็นต่างจากผู้มีอำนาจซึ่งเป็นคณะบุคคลที่ไม่ได้มาจากประชาชน 

ประเด็นไหนเกี่ยวกับการเมืองที่คุณอยากพูดถึงมากที่สุด 

พูดเสมอว่าถ้าระบบการเมืองดี สิทธิของกลุ่มสับเซ็ตย่อยๆ จะตามมา เราจะพูดเรื่องระบบการปกครองเป็นหลัก เราไม่เห็นด้วยกับเผด็จการอำนาจนิยม ระบบอุปถัมภ์ สถาบัน และองค์กรใดๆ ที่พยายามอยู่เหนือกฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่สำคัญคือเราต่อต้านสถาบันหรือองค์กรทั้งหมดที่วางตัวอยู่เหนือประชาชน 

 

คนทุกคนในประเทศมีสิทธิ์มีเสียงที่จะกำหนดอนาคตของตัวเองได้ เพราะนั่นคือหลักการพื้นฐานส่วนหนึ่งของหลักประชาธิปไตย

 

ถ้าการเมืองดี ภาระหน้าที่จะไม่ตกอยู่กับประชาชนเลย ประเทศที่มีระบบประชาธิปไตยที่แข็งแรง จะไม่มีคำว่า ‘หน้าที่’ ของประชาชน เพราะหน้าที่เป็นคอมมอนเซนส์ เป็นสามัญสำนึกของประชาชนเท่านั้น แต่เราทุกคนจะมีสิทธิ์ที่จะดำเนินชีวิตตัวเอง สิทธิ์ที่จะแต่งตัว สิทธิ์ที่จะแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์ของตัวเอง สิทธิ์ที่จะใช้ชีวิตแบบไหนก็ได้บนสังคมที่เอื้ออำนวยให้กับทุกอย่าง ผู้มีอำนาจย่อมมีหน้าที่รับรองสิทธิ์เหล่านั้นโดยไม่มีข้อโต้แย้ง แต่ทุกวันนี้มันกลับกัน เพราะประชาชนมีหน้าที่ ต้องยอมรับสถาพแวดล้อม ต้องแต่งยูนิฟอร์ม ต้องสังกัดชนชั้น แต่สิทธิไปอยู่กับผู้มีอำนาจ 

ถ้าการเมืองดี คุณอยากใช้ชีวิตแบบไหน 

อยากจะใช้ชีวิตอย่างสามัญชนคนทั่วไปในสังคม มีสิทธิ์มีเสียงที่จะเรียกร้อง ไม่คิดว่าตัวเองเป็นพลเมืองชั้นสอง ชั้นสาม ทุกวันนี้ บางครั้ง บางอารมณ์ บางความรู้สึกก็ยังคิดว่าตัวเรายังเป็นพลเมืองชั้นสองของสังคมด้วยเหตุปัจจัยหลายๆ อย่าง 

ส่วนความฝันของสังคมอยากเห็นสังคมมีความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น คนทุกคนในประเทศมีสิทธิ์มีเสียงที่จะกำหนดอนาคตของตัวเองได้ เพราะนั่นคือหลักการพื้นฐานส่วนหนึ่งของหลักประชาธิปไตย และผลที่ได้รับก็คือความเป็นธรรมสำหรับทุกๆ คนในสังคม 

ปัจจุบันทำอะไรอยู่ ตอนนี้เริ่มเป็นไปอย่างที่คิดหรือยัง 

ตอนนี้ทำงานกับองค์กรระหว่างประเทศ เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำเรื่อง Disability culture หรือ วัฒนธรรมว่าด้วยความพิการ พูดถึงวิธีปฏิบัติต่อคนพิการในรูปแบบเวทนานิยม เวลาเห็นคนพิการ คนมักสงสาร ตัดสินว่าเขาทำอะไรไม่ได้โดยที่ไม่เคยศึกษารายละเอียดในตัวเขามาก่อน แม้กระทั่งการเห็นคนพิการแล้วนึกถึงอาชีพขายล็อตเตอรี หรือขอทาน ทั้งๆ ที่เราไม่เคยเห็นว่าเขาทำอาชีพอะไร 

 

คุณไม่ต้องให้มากกว่าคนอื่น แต่คุณให้เท่ากับคนอื่นได้ไหม

 

Disability culture พยายามเสนอมุมมองว่าคนพิการทำอะไรได้หลายอย่าง เราผนวกเรื่องนี้เข้าไปในรายวิชาเข้าสู่วัฒนธรรมการศึกษา เราเคยไปร่วมคลาสเรียนวิชาถ่ายภาพของนักศึกษา เราให้โจทย์ว่าถ่ายภาพคนพิการออกมาอย่างไรให้ดูดีที่สุด ให้เห็นถึงมิติหรือเสรีภาพในการแสดงตัวตนของคนพิการอย่างมีคุณค่ามากที่สุด ไม่เอาภาพถ่ายที่น่ารันทดเหมือนวงเวียนชีวิต 

อยากให้คนปฏิบัติกับคนพิการอย่างไร 

พูดเสมอว่าขอได้ไหม คนในสังคมอย่าทำอะไรให้ผมมากกว่าคนอื่น คุณไม่ต้องให้มากกว่าคนอื่น แต่คุณให้เท่ากับคนอื่นได้ไหม ทุกวันนี้คนพิการไม่ได้เท่ากับคนอื่น ที่ผ่านมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน รูปแบบทางการเมืองบอกว่าคนพิการต้องได้มากกว่าคนอื่น กลุ่มนั้น กลุ่มนี้ต้องได้มากกว่าคนอื่น มันย้อนแย้งกับหลักความเสมอภาค ถ้าเราได้มากกว่าคนอื่น ความเท่าเทียมอยู่ตรงไหน เราไม่ต้องการอภิสิทธิ์ หน้าที่ของรัฐไม่ใช่การสร้างอภิสิทธิ์ให้เรา ขอแค่ทำให้เท่ากับคนในสังคมก็พอ