w©rld

ผมถ่ายภาพดาวหาง ‘46P/Wirtanen’ ภาพนี้เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม หรือราวสัปดาห์ก่อน

ขณะที่มันอยู่ในกลุ่มดาวแม่น้ำ (Eridanus) ซึ่งอยู่ห่างจากโลกราว 15.15 ล้านกิโลเมตร และห่างจากดวงอาทิตย์ 159 ล้านกิโลเมตร

ดาวหาง 46P/Wirtanen ถ่ายเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2561 (Photo: ตระกูลจิตร จิตตไสยะพันธ์)
ดาวหาง 46P/Wirtanen ถ่ายเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2561 (Photo: ตระกูลจิตร จิตตไสยะพันธ์)

ตอนนี้ดาวหางดวงนี้กำลังเคลื่อนเข้ามาใกล้โลกมากขึ้นทุกวันครับ โดยจะเข้ามาใกล้ที่สุดวันที่ 16 ธันวาคมนี้ที่ระยะห่าง 11.6 ล้านกิโลเมตร หรือราว 30 เท่าจากระยะทางโลกถึงดวงจันทร์

นักดาราศาสตร์คาดว่าการมาครั้งนี้ของ 46P/Wirtanen จะส่องสว่างจนสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า อย่างไรก็ตาม ความสว่างของดาวหางนั้นไม่แน่นอน และขนาดดวงก็จะใหญ่ขึ้นด้วยเมื่อเข้ามาใกล้ ความสว่างต่อหนึ่งหน่วยพื้นที่ก็อาจกระจายและจางกว่าอันดับความสว่างที่คาดไว้ เพราะดาวหางไม่ใช่จุดแสงเหมือนดวงดาว แต่ในขณะนี้สามารถมองเห็นได้แน่นอนด้วยกล้องสองตา ส่วนการมองด้วยตาเปล่าในช่วงสว่างสูงสุดนี้ยังต้องอาศัยการสังเกตจากบริเวณท้องฟ้าที่มืดไม่มีแสงรบกวน

ดาวหาง 46P/Wirtanen ถ่ายเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2561 (Photo: ตระกูลจิตร จิตตไสยะพันธ์)
ดาวหาง 46P/Wirtanen ถ่ายเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2561 (Photo: ตระกูลจิตร จิตตไสยะพันธ์)

ดาวหาง 46P/Wirtanen นั้นถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ.2491 โดยนักดาราศาสตร์ชาวอเมริกันชื่อ Carl Alvar Wirtanen ที่ทำงานอยู่หอดูดาว Lick Observatory

Carl Alvar Wirtanen
Carl Alvar Wirtanen

ส่วนสาเหตุที่ชื่อ 46P/Wirtanen ตัวอักษร P หมายถึง periodic comet หรือดาวหางที่มีวงโคจรกลับมาเป็นประจำ ส่วน 46 หมายถึงดาวหางดวงที่ 46 ที่ระบุได้ชัดเจนว่าเป็นดาวหางที่โคจรกลับมาเป็นประจำ ส่วนดวงที่ 1 คือ ดาวหางแฮลลีย์ (Halley) ที่คุ้นเคยกันดี ส่วน Wirtanen คุณผู้อ่านคงเดากันได้ว่าคือชื่อของผู้ค้นพบที่ผมพูดถึงเมื่อย่อหน้าที่แล้ว

ดาวหางดวงนี้เป็นดาวหางคาบสั้นที่มาเยี่ยมโลกเป็นประจำ โคจรรอบดวงอาทิตย์ครบรอบในเวลา 5.4 ปี ปกติดาวหางดวงนี้ไม่สว่างนัก โดย ครั้งสุดท้ายที่โคจรเข้าใกล้โลกที่สุดคือเมื่อ พ.ศ. 2556 นั้นมีอันดับความสว่างแค่ 14.7 เท่านั้น เรียกว่าแม้ใช้กล้องโทรทรรศน์ของนักดูดาวสมัครเล่นก็ยังยากที่จะเห็น

แต่ในวันที่ 16 ธันวาคมนี้ ดาวหาง 46P/Wirtanen จะเข้ามาใกล้มากกว่าปกติ จึงจะสว่างและดวงใหญ่กว่าเดิม และจะปรากฏอยู่ในกลุ่มดาววัว (Taurus) บริเวณระหว่างส่วนหัวของกลุ่มดาววัวกับกระจุกดาวลูกไก่ ซึ่งในขณะนี้ ภาพถ่ายจากกล้องโทรทรรศน์จะพบว่าโคมาหรือส่วนหัวของดาวหางนั้น มีขนาดปรากฏใหญ่กว่าขนาดความกว้างของดวงจันทร์เต็มดวงเสียอีก เพียงแต่มันจางกว่ามาก ส่วนหางมีเพียงสั้นๆและจางมาก ยากที่จะมองเห็นได้ด้วยตา แม้ภาพถ่ายก็เห็นได้เพียงรางๆ การโคจรเข้าใกล้ในครั้งนี้จะเป็นครั้งที่ดาวหางดวงนี้โคจรเข้ามาใกล้โลกที่สุด อย่างน้อยไปอีก 20 ปี

ด้วยความน่าสนใจนี้ ผมจึงพยายามถ่ายภาพ 46P/Wirtanen ที่ในหอดูดาวส่วนตัวที่ อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี อยู่หลายคืน

ดาวหาง 46P/Wirtanen ถ่ายเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2561 (Photo: ตระกูลจิตร จิตตไสยะพันธ์)
ดาวหาง 46P/Wirtanen ถ่ายเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2561 (Photo: ตระกูลจิตร จิตตไสยะพันธ์)

การอยู่คนเดียวเงียบๆ แล้วนั่งมองดาวหาง 46P/Wirtanen ที่ล่องลอยอยู่ในจักรวาลผ่านกล้องโทรทรรศน์ ทำให้ผมนึกถึงความเชื่อที่ผู้คนมีต่อดาวหาง คนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าดาวหางคือตัวนำโชคร้าย ทั้งที่ในความเป็นจริงมันเป็นเพียงเศษซากที่หลงเหลือจากการสร้างระบบสุริยะ

เศษซากเหล่านี้อยู่ห้อมล้อมในจักรวาล และมีจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะในแถบเมฆออร์ต (Oort Cloud) ที่ระยะ 2,000-20,000 AU (1AU = ระยะทางเฉลี่ยจากโลกถึงดวงอาทิตย์)

เมื่อใดที่มีแรงรบกวน แรงดึงดูด ก็อาจส่งผลให้เศษซากบางส่วนโคจรเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน แล้วกลายเป็นดาวหางให้เราเห็น

ดาวหางบางดวงมาแล้ว ก็ไม่กลับมาอีก ขณะที่บางดวงก็โคจรกลับมาใหม่ เช่นดาวหางแฮลลีย์ (Halley’s Comet) อันโด่งดังที่จะโคจรกลับมาทุกๆ 75-76 ปี หรือดาวหาง Wirtanen ดวงนี้ที่มีรอบโคจรสั้นกว่าเพียง 5.4 ปี

ดาวหางแฮลลีย์ เดือนมีนาคม ปี 1986 (Photo: Michael Sidonio / pbase.com)
ดาวหางแฮลลีย์ เดือนมีนาคม ปี 1986 (Photo: Michael Sidonio / pbase.com)

มองดาวหางแล้วก็พาให้นึกถึงชีวิตนะครับ คนบางคนผ่านเข้ามาในชีวิตเรา แล้วไม่เคยกลับมาอีก บางคนที่เคยพบกันในอดีต ก็กลับมาพบกันใหม่ ช้าบ้าง เร็วบ้าง ตามรอบโคจรที่แตกต่างกัน

แต่ชีวิตคนผิดกับดาวหางก็ตรงที่เราไม่อาจรู้เลยว่าคนๆ นี้ เรา เขา หรือเธอจะได้พบกันอีกทีเมื่อไหร่

เพราะฉะนั้นเมื่อได้พบกันแล้ว ก็ให้ถือว่าเป็นวาสนา รักษาความรู้สึกดีๆ ต่อกันไว้ เพราะการพบกันหนึ่งครั้ง ไม่ว่าคนหรือดาวหาง

คือโชคชะตา และช่วงเวลามหัศจรรย์.

เรียบเรียง: วชิรวิชญ์ กิติชาติพรพัฒน์