ซากปลาวาฬที่เกยตื้นอยู่บนชายหาดทางภาคใต้ของไทยเมื่อกลางปี 2018 ถูกยกให้เป็นข่าวสลดทางสิ่งแวดล้อมที่ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก
แต่ที่ชอกช้ำไปกว่านั้นคือฆาตกรไม่ได้ลอยนวลไปไหน แต่คือเศษซาก “ขยะพลาสติก” ที่อัดแน่นอยู่ในท้องของมัน!
การตายของปลาวาฬและสัตว์ทะเลน้อยใหญ่เหล่านี้ เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกที่มีอาณาเขตติดทะเล โดยสาเหตุส่วนหนึ่งมาจาก ‘วิกฤตขยะพลาสติก’ โดยเฉพาะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง
ไม่ว่าถุงพลาสติก หลอดพลาสติก ขวดน้ำ ฯลฯ ซึ่งมีปริมาณการใช้รวมกันแล้วกว่า 300 ล้านตัน
และขยะพวกนี้ไม่เคยหายไปไหน แต่ถูกยักย้ายไปสู่มหาสมุทร
แม้ว่า 112 ประเทศทั่วโลกจะตระหนักในปัญหาที่เกิดขึ้น และขานรับที่จะกวาดล้างพลาสติก แต่กลับมีประเทศที่ตั้งใจแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมไม่ถึง 30%
ส่วนใหญ่เป็นประเทศในทวีปยุโรป ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ที่น่าสนใจคือในจำนวนนั้นกลับมีประเทศในกลุ่มทวีปแอฟริกา ที่ส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนา ในระดับเดียวหรือน้อยกว่าเรา
คำถามคือทำไมประเทศที่กำลังพัฒนาเหล่านั้น ถึงจริงจังในการกำราบขยะพลาสติกไม่ต่างจากประเทศที่พัฒนาแล้ว
พวกเขาคิดอะไรกันนะ?
ทวีปแอฟริกา
หลายประเทศทั่วโลกอาจจะเพิ่งตื่นตัวกับปัญหาขยะพลาสติก แต่รู้หรือไม่บางประเทศในแอฟริกา เดินหน้าจัดการกับปัญหานี้มาตั้งแต่สิบกว่าปีที่แล้ว และล่าสุดเมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา 15 ประเทศในทวีปนี้ (หรือเกือบๆ 30%) ล้วนมีนโยบายจัดการกับขยะพลาสติก จนกระทั่งมีการขยายผลในหลายประเทศ และอีกไม่นาน เราเชื่อว่าน่าจะได้เห็นทวีปแอฟริกาทั้งทวีป สะอาดจากขยะพลาสติกทำลายโลก
รวันดา
เป็นเวลากว่า 1 ทศวรรษ ที่รวันดาต่อต้านการใช้พลาสติก โดยเริ่มส่งสัญญาณมาตั้งแต่ปี 2006 และมีนโยบายควบคุมอย่างเต็มรูปแบบในปี 2008 ทั้งยังเข้าร่วมแคมเปญ Plastic Oceans และใช้นโยบายภาษีมากำราบคนถือถุงพลาสติกอีกทอดหนึ่ง
เรียกได้ว่ารวันดาคือประเทศแรกในทวีปแอฟริกาที่เดินหน้ามาตรการปลอดถุงพลาสติก และวางแผนว่าจะสานต่อนโยบายนี้อย่างยั่งยืนภายในปี 2020
เคนยา
แม้เคนยาจะเป็นประเทศที่มีวงล้ออุตสาหกรรมหนุนระบบเศรษฐกิจ แต่ก็ยังสามารถเผด็จศึกกับพลาสติกได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยรัฐบาลประกาศเอาจริงกับการงดใช้พลาสติกในระบบอุตสาหกรรม และธุรกิจค้าปลีกทั้งหลาย พร้อมทั้งออกกฎหมายควบคุมการใช้พลาสติกกับประชากรในประเทศตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี 2017 เรียกได้ว่าใช้มาตรการกำราบพลาสติกอย่างเอาจริงเอาจังทีเดียว
ซิมบับเว
เดือนกรกฏาคม ปี 2017 ซิมบับเวประกาศไม่เอาพลาสติกแบบโพลีสไตรีนและกล่องโฟมอย่างเด็ดขาด หากมีการฝ่าฝืน จะปรับตั้งแต่ 30-500 เหรียญสหรัฐฯ โดยหลังจากภาครัฐเฝ้าดูการเปลี่ยนแปลง ก็ขยายผลมาสู่การจัดการกับพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในปี 2018
ตูนิเซีย
ตั้งแต่ภาครัฐประกาศแบนถุงพลาสติกเมื่อปี 2017 ซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งก็ขานรับนโยบายโดยให้ลูกค้าหันมาใช้ถุงผ้า และในเวลาเดียวกันนั้นก็เป็นโอกาสทองให้เกิดเทรนด์หิ้วกระเป๋าสาน Koffa งานแฮนด์เมดที่กลายเป็นเอกลักษณ์ของตูนิเซียไปแล้ว
ล่าสุดมีรายงานว่าปัจจุบันตูนิเซียสามารถลดการใช้ถุงพลาสติกได้ถึง 94% และจะขยับขึ้นเป็น 100% ให้ได้ภายในปี 2020
แคเมอรูน
หนึ่งในประเทศที่ผ่านความพยายามอย่างหนักเพื่อต่อสู้กับปัญหาพลาสติกที่คุกคามสิ่งแวดล้อม โดยมีการประกาศห้ามไม่ให้นำเข้า ผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ไม่เป็นมิตรกับธรรมชาติมาตั้งแต่ปี 2014 แม้จะเกิดการต่อต้านจากประชาชนอยู่บ้าง แต่ในที่สุดก็ได้พลังจากเหล่าคนดังมาช่วยสร้างแรงกระเพื่อมให้ผู้คนเห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อม
จากนั้นสถานการณ์จึงค่อยๆ คลี่คลาย และเปลี่ยนเป็นประเทศต่อต้านขยะพลาสติกได้จริงภายในไม่กี่ปีนับจากนั้น
แทนซาเนีย
ประเทศลำดับที่ 34 ของกลุ่มแอฟริกาที่มีการกำหนดตัวบทกำจัดพลาสติกอย่างจริงจัง โดยรัฐบาลประกาศไม่ให้นำเข้า ผลิต และจำหน่ายพลาสติกที่ทำลายสิ่งแวดล้อม เพื่อปกป้องผืนป่า และคงไว้ซึ่งความสวยงามของแหล่งท่องเที่ยว อันเป็นแม่เหล็กดึงดูดรายได้มหาศาลให้กับประเทศ
กุญแจ 3 ดอกที่ช่วยไขปัญหา ‘ขยะพลาสติก’ ในทวีปแอฟริกา
โดยภาพรวมแล้ว เราพบว่าสิ่งทำให้กลุ่มประเทศเหล่านี้ประสบความสำเร็จด้านการจัดการกับพลาสติก ประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่
1. ความจริงจังในการแก้ไขปัญหาของคณะรัฐบาล – แทบจะทุกประเทศที่อยู่ในตัวอย่างข้างบน ล้วนมีการผลักดันจากภาครัฐให้เกิดร่างกฎหมาย มาตรการทางภาษี และนโยบายสาธารณะต่างๆ
2. ทุกๆ การตื่นตัว ต้องเกิดการลงมือทำ – เมื่อรัฐบาลยื่นคำขาดในรูปของกฎหมายมาควบคุมปัญหา ประชาชนและภาคเอกชนก็ต้องมีจิตสำนึกที่จะลงมือทำตามให้ตลอดรอดฝั่ง
3. รู้จักการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม – เทคโนโลยีและนวัตกรรมสามารถช่วยต่อสู้กับปัญหาวิกฤตการณ์ขยะพลาสติกได้ ขอเพียงแค่หามุมสร้างสรรค์ให้เจอ แล้วต่อยอดจนสำเร็จ
คำถามคือ ถ้าประเทศเหล่านี้ทำได้ ทำไมเราจะทำไม่ได้?
อ้างอิง:
- UN Environment. Blue awakening as Latin America and Caribbean states say no to plastic. http://bit.ly/2ZZgUTn
- Clean Seas. Latin America and the Caribbean bids good-bye to plastic bags. http://bit.ly/31Fcq4F
- Carolina Herrera. Latin American Countries Act to Protect Oceans from Plastics. https://on.nrdc.org/2MgVTjD
- Niall McCarthy. The Countries Banning Plastic Bags. http://bit.ly/2KPeaBo
- Laura Parker. Plastic bag bans are spreading. But are they truly effective?. https://on.natgeo.com/2MegyVL
- The Citizen. Tanzania becomes latest African nation to effect plastic bags ban. http://bit.ly/2Tvurzi
- Kat Armstrong. 14 unexpected countries that have banned single-use plastics. http://bit.ly/2yVSvSv
- Imogen Calderwood. 16 Times Countries and Cities Have Banned Single-Use Plastics. http://bit.ly/31zPmnO
- Earthday. 10 Cities and Countries Confronting Plastic Bag Pollution Head-On. http://bit.ly/2Tvp6YO