w©rld

8,300,000,000 ตัน

คือ ตัวเลขของจำนวนขยะพลาสติกที่ประชากรโลกร่วมกันก่อ

วันนี้ปัญหาการใช้พลาสติก จึงไม่ใช่เรื่องเล็กอีกต่อไป

ไบโอพลาสติก หรือ พลาสติกย่อยสลายได้ เป็นทางออกหนึ่ง ที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ปัญหาขยะจากพลาสติก โดยใช้วัสดุทดแทนจากธรรมชาติในการผลิต

มันสำปะหลัง ข้าวโพด อ้อย คือวัตถุดิบยอดนิยมที่นำมาเป็นตัวตั้งต้นในการทำไบโอพลาสติก

แต่ถ้าท้องถิ่นที่เราอยู่ไม่มีวัตถุดิบเหล่านี้ล่ะ จะทำอย่างไร?

(Photo : AFP)

Scott Munguía นักศึกษาวิชาเคมีชาวเม็กซิโก เล็งเห็นว่าเม็กซิโกเป็นประเทศที่มีการปลูก บริโภค และส่งออกอะโวคาโดมากที่สุดในโลก

50% ของการบริโภคอะโวคาโดทั่วโลก มาจากเม็กซิโก

ทำให้ในแต่ละวัน ขยะเหลือทิ้งจากอะโวคาโดมีมากมาย โดยเฉพาะเมล็ด ซึ่งสุดท้ายก็จบลงที่การนำไปฝังกลบนอกเมือง

Munguía เฝ้ามองวงจรของเมล็ดอะโวคาโดมาตั้งแต่ปี 2012 แล้วตั้งสมมติฐานว่า

ถ้าข้าวโพดทำไบโอพลาสติกได้ อะโวคาโดก็น่าจะทำได้ เพราะมันมีโมเลกุลเหมือนกัน

ไบโอพลาสติก จากเมล็ดอะโวคาโด (Photo : www.nowscience.co.uk)

หลังจากตั้งสมมติฐาน Munguía ได้ลองผิดลองถูกกับเมล็ดอะโวคาโดอยู่ปีครึ่ง กว่าจะได้วิธีที่ดีที่สุด ในการสกัดเมล็ดอะโวคาโดมาเป็นตัวตั้งต้นในการผลิตไบโอพลาสติก

ปี 2013 หลังจากค้นพบวิธีการ Munguía เริ่มต้นตั้งบริษัท Biofase เพื่อผลิตและขายเม็ดไบโอพลาสติก

ปี 2016 เขาถึงเริ่มผลิตสินค้าจากเม็ดไบโอพลาสติกของตัวเอง โดยเริ่มจากอุปกรณ์ยอดฮิตนั่นคือ ช้อน ส้อม และมีด และขยายสู่การผลิตหลอดในเดือนนี้เอง (กุมภาพันธ์ 2019)

ช้อน ส้อม มีด หลอด จากเมล็ดอะโวคาโด
ช้อน ส้อม มีด หลอด จากเมล็ดอะโวคาโด (Photo : www.boredpanda.com)

Biofase ใช้เมล็ดอะโวคาโดวันละ 15,000 ตัน ด้วยกำลังการผลิตที่มากขนาดนี้ จึงไม่เพียงช่วยลดขยะในเม็กซิโก แต่ยังมีการนำเข้าเศษอะโวคาโดจากบริษัทผลิตอาหารในสหรัฐอเมริกาอีกด้วย

ข้อดีของไบโอพลาสติกจากอะโวคาโด คือย่อยสลายได้ตามธรรมชาติแบบ 100%

หากยังไม่ใช้ สามารถเก็บไว้ได้ 1 ปี จากนั้นมันจะทำลายตัวเองโดยไม่เหลือเศษพลาสติกไว้กวนใจ

และหากใช้แล้ว สามารถทิ้งลงดินได้เลย ขยะเหล่านี้จะย่อยสลายภายใน 240 วัน หรือ 8 เดือน

ในขณะที่พลาสติกทั่วไป ใช้เวลาย่อยสลายประมาณ 500 ปี  

(Photo : www.boredpanda.com)
(Photo : mexiconewsdaily.com)

สิ่งที่ Scott Munguía และ Biofase ทำ ได้รับการชื่นชมอย่างมาก เพราะไม่ใช่แค่การผลิตสิ่งทดแทนพลาสติก แต่ยังเป็นการช่วยลดขยะ ที่ต้องฝังกลบในเม็กซิโกมานานหลายปี

ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย

เมื่อ 3 ปีที่แล้ว กรมวิชาการเกษตรก็ได้ค้นพบวิธีการสังเคราะห์ไบโอพลาสติกจากวัตถุดิบที่มีมากในท้องถิ่นอย่างเปลือกทุเรียน ซึ่งสามารถย่อยสลายในดินได้ภายใน 24 ชั่วโมง

เปลือกทุเรียน เมื่อนำมาหั่นเป็นชิ้นๆ ตากแดดให้แห้ง ก็สามารถนำมาสังเคราะห์เซลลูโลส เพื่อใช้ตั้งต้นทำพลาสติกชีวภาพ หรือไบโอพลาสติกได้เช่นกัน (Photo : http://ewt.prd.go.th)
เปลือกทุเรียน เมื่อนำมาหั่นเป็นชิ้นๆ ตากแดดให้แห้ง ก็สามารถนำมาสังเคราะห์เซลลูโลส เพื่อใช้ตั้งต้นทำพลาสติกชีวภาพ หรือไบโอพลาสติกได้เช่นกัน (Photo : http://ewt.prd.go.th)
ซอง CMC จากเปลือกทุเรียน ที่หากได้รับการพัฒนาต่อ จะสามารถเป็นบรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพได้ (Photo : www.prachachat.net)
ซอง CMC จากเปลือกทุเรียน ที่หากได้รับการพัฒนาต่อ จะสามารถเป็นบรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพได้ (Photo : www.prachachat.net)

จากการวิจัยพบว่า เปลือกทุเรียนมีศักยภาพในการพัฒนาไปเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารแห้งได้

แต่ผ่านมาจนถึงปีนี้ เรายังไม่พบบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากขยะเปลือกทุเรียน

หาก Scott Munguía ใช้เวลา 6 ปี คิดค้นและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ไบโอพลาสติกจากเมล็ดอะโวคาโด

ก็ยังไม่สายเกินไปหากวันหนึ่งจะมีผู้สนับสนุน และเอาจริงเอาจังกับเปลือกทุเรียน จนทำให้เรามีผลิตภัณฑ์ไบโอพลาสติกจากเปลือกทุเรียนบ้าง

หากเกิดขึ้นจริง คงจะเป็นเรื่องดีไม่น้อย เพราะแต่ละปี ทั้งไทยและประเทศเพื่อนบ้านมีการบริโภคทุเรียนกันเป็นจำนวนมาก  

และถึงแม้ทุกวันนี้ ทั่วโลกจะมีการผลิตพลาสติกย่อยสลายได้กันมากขึ้น แต่ก็ยังถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนการใช้พลาสติกโดยรวม

อย่างไรก็ดี จากคาดการณ์ของ Energy and Gold Ltd. บอกว่าในปี 2030 ทั่วโลกจะมีการใช้ไบโอพลาสติกย่อยสลายได้เพิ่มขึ้นถึง 60%

การผลิตไบโอพลาสติกจากเปลือกทุเรียนจึงไม่เป็นเพียงแค่การลดขยะหรือพลาสติก แต่อาจจะเป็นโอกาสทางธุรกิจในอนาคตก็ได้

 

อ้างอิง:

  • Rugile. Mexican Company Finds A Genius Way To Use Avocado Seeds To Create Biodegradable Single-Use Cutlery. http://bit.ly/2UGhPF2
  • Mexigo News Daily. An alternative to plastic straws: this product is made from avocado pits. http://bit.ly/2DdCXeG
  • Now Science. Mexican company converts avocado pits into completely biodegradable plastic. http://bit.ly/2MQcGHX
  • TCDC. เมื่อพลาสติกหายไปได้ ‘Biodegradable Plastic’ ทางเลือกใหม่แห่งความยั่งยืน. http://bit.ly/2DdDdKG
  • Springnews. พลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้ภายใน 24 ชม. จาก “เปลือกทุเรียน”. https://www.youtube.com/watch?v=OcvV1MUsnIY