w©rld

ปัญญาประดิษฐ์หรือ ‘เอไอ’ (Artificial Intelligence) ยกระดับความสามารถตัวเองมากขึ้นทุกวัน

จากที่ก่อนหน้านั้นในแวดวงต่างๆ ใช้เอไอในระดับการทดลองหรืองานคอนเซ็ปต์ ในระยะหลังเริ่มมีการใช้เอไอในการทำ ‘งานจริง’ มากขึ้น

อย่างเก้าอี้ที่คุณเห็นอยู่นี้ก็เป็นหนึ่งในผลงานสร้างสรรค์ของเอไอ

“นี่คือเก้าอี้ตัวแรกของโลกที่เกิดจากการสร้างสรรค์ร่วมกันระหว่างมนุษย์และเอไอ ซึ่งจะผลิตออกขายจริง”

ฟิลิปเป่ สตรัค

Autodesk บริษัทซอฟต์แวร์ด้านการออกแบบจับมือกับ ฟิลิปเป่ สตรัค (Philippe Starck) ดีไซเนอร์เฟอร์นิเจอร์แถวหน้าชาวฝรั่งเศสและ Kartell (http://www.kartell.com) แบรนด์เฟอร์นิเจอร์อิตาลี พูดถึงเก้าอี้ตัวนี้ในงาน Salone del Mobile Milano 2019 ซึ่งเป็นงานจัดแสดงเฟอร์นิเจอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

งาน Salone del Mobile Milano 2019

“เราถามเอไอว่า นายรู้วิธีที่จะสร้างเก้าอี้ที่เราสามารถพักร่างของเราโดยใช้วัสดุน้อยที่สุดไหม?” ฟิลิปเป่และทีมผู้สร้างสรรค์ตั้งโจทย์กับเอไอหรือโปรแกรมการออกแบบที่พัฒนาโดย Autodesk

จากนั้นเอไอก็จะขึ้นรูปเก้าอี้ที่มัน ‘ออกแบบ’ ขึ้นมา

ในสายตาของดีไซเนอร์ ฟิลิปเป่รู้สึกว่าเก้าอี้ฝีมือเอไอนั้นมีรูปลักษณ์เกินคาดเดา

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เก้าอี้ที่เอไอคิด (ไม่ว่าประหลาดแค่ไหน) ล้วนถูกคำนวณบนข้อจำกัดในการผลิตที่ต้องอาศัย ‘การฉีดขึ้นรูปพลาสติก’ ว่าสามารถทำได้จริง

ฟิลิปเป่ตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุที่เอไอสร้างดีไซน์อันประหลาดตาได้นั้นมาจาก “มันไม่มีความทรงจำ วัฒนธรรม หรือสิ่งร้อยรัดใดที่จะมีอิทธิพลต่อการออกแบบ มันเพียงแค่ตอบรับด้วยปัญญาที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นเท่านั้น”

จากเก้าอี้แบบแรกที่ดีไซน์ยังไม่ลงตัว ฟิลิปเป่ค่อยๆ บอกความต้องการของเขากับเอไอ เพื่อให้มันค่อยๆ เรียนรู้และปรับเปลี่ยนดีไซน์ไปตามความต้องการ

จนกระทั่งได้ดีไซน์สุดท้ายที่เขาและทีมงานต่างรู้สึกพอใจ

Autodesk บริษัทที่พัฒนาโปรแกรมออกแบบด้วยเอไอ (ตอนนี้ยังเป็นโปรแกรมต้นแบบ) มองว่า การทำงานร่วมกับเอไอ จะช่วยให้มนุษย์ก้าวสู่พรมแดนใหม่ของการออกแบบ

“ผมออกแบบเก้าอี้มามากมาย แต่ในช่วงหลายปีมานี้ ผมตระหนักว่าเก้าอี้เหล่านั้นมาจากสมองก้อนเดิม สมองที่เป็นของสัตว์สายพันธุ์เดียวกัน ดังนั้นจึงมีความฉลาดและตรรกะเดียวกัน”

ฟิลิปเป่บอกว่า ดีเอ็นเอของมนุษย์ไม่อนุญาตให้เราแตกต่างกันมากนัก “ผมหวังว่าเอไอจะมาช่วยให้เราออกจากกรอบความคิดสร้างสรรค์แบบเดิมๆ”

การมาถึงของเก้าอี้ตัวนี้ นอกจากจะเป็นหลักไมล์ชี้ให้เห็นว่า เอไอกำลังพัฒนามากขึ้นทุกวันแล้ว ยังชวนให้มนุษย์อย่างเราตั้งคำถามว่า

พื้นที่การทำงานของมนุษย์ในอนาคตอันใกล้จะเป็นอย่างไร?.

อ้างอิง: