w©rld

สายสัมพันธ์สำคัญแรกของชีวิต คือ ความสัมพันธ์ระหว่างแม่และลูก

ไม่ใช่เพียงแค่มนุษย์ แต่สัตว์โลกหลายชนิด ต่างมีสัญชาตญาณความเป็นแม่อยู่เต็มเปี่ยมเช่นเดียวกัน

becommon ชวนส่องสัตว์ผ่านภาพถ่ายที่ถ่ายทอดความสัมพันธ์ระหว่างแม่และลูกได้อย่างน่ารักน่าอบอุ่น

ซึ่งทั้งหมดนี้ คือ เหตุผลของธรรมชาติที่บอกให้รู้ว่า แม่สำคัญแค่ไหนสำหรับลูก

ฮิปโป โอ้โห ตัวมันใหญ่

Photo: Guillaume Souvant / AFP

แม่ฮิปโปเฝ้ามองลูกตัวน้อยวัยไม่ถึง 3 เดือน ซึ่งกำลังฝึกลอยตัวและหัดว่ายน้ำเองอย่างไม่คลาดสายตา ภายในสวนสัตว์ประจำเมืองแซงต์-แอญ็อง (Saint-Aignan) ประเทศฝรั่งเศส

ทั้งๆ ที่เป็นสัตว์บก แต่นิสัยตามธรรมชาติของฮิปโปกลับชอบแช่ตัวอยู่ในน้ำแทบจะตลอดเวลา และมักโผล่เฉพาะส่วนหัวขึ้นมาเหนือน้ำเพื่อหายใจ 

คนสมัยโบราณเห็นว่า หัวของมันมีลักษณะคล้ายกับหัวของม้า จึงตั้งชื่อเรียกด้วยรากศัพท์ภาษากรีกว่า Hippopotamus หมายถึง ม้าแม่น้ำ

ฮิปโปอาจดูเป็นสัตว์รักความสงบ อุ้ยอ้าย และเชื่องช้า แต่ถ้าหากมันอยู่ในฐานะผู้ล่า หรือถูกคุกคามจากสัตว์อื่น เช่น จระเข้ สิงโต โดยสัญชาตญาณของฮิปโปจะปกป้องตัวเองและลูก ด้วยการอ้าปากกว้างจนเห็นเขี้ยวคู่หน้า ซึ่งยาวกว่าเขี้ยวของราชาไดโนเสาร์นักล่าอย่างไทแรนโนซอรัส (Tyrannosaurus) ถึง 2 เท่า ก่อนจะกัดเข้าไปที่ลำตัวของฝ่ายตรงข้าม

ความแรงของการกัดเพียงครั้งเดียว สามารถปลิดชีวิตของเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายลงได้ในทันที

ฟลามิงโก้ นั้นโก้จริงๆ

Photo: Joaquin Sarmiento / AFP

นกฟลามิงโก้อายุเพียง 1 สัปดาห์หัดยืนด้วยขาของตัวเอง โดยมีแม่ฟลามิงโก้คอยดูแลอยู่ไม่ห่าง ภายในสวนสัตว์ของจังหวัดอันติโอเกีย (Antioquia) ประเทศโคลอมเบีย

ลักษณะเด่นของนกฟลามิงโก้ คือ สีขน และการยืนขาเดียว (ทั้งๆ ที่เป็นนกที่บินได้เร็ว)

นกฟลามิงโก้ตามถิ่นที่อยู่ในธรรมชาติจะกินกุ้งและสาหร่ายเป็นอาหาร ทำให้มีขนสีชมพูอมแดงเข้มสวยงาม ส่วนนกที่เลี้ยงไว้ในสวนสัตว์ จะได้กินแครอตแทน เพื่อชดเชยสารอาหารในธรรมชาติ ทำให้มีขนสีชมพูซีดและอ่อนกว่ามาก

ส่วนการยืนขาเดียวของนกฟลามิงโก้เป็นกลไกทางธรรมชาติเพื่อความอยู่รอด เพราะช่วยอำพรางตัวสำหรับล่าเหยื่อในแหล่งน้ำ ชะลอความเสียหายของผิวหนังบริเวณขาที่สัมผัสกับน้ำเป็นเวลานานๆ และช่วยรักษาความอบอุ่นให้ร่างกาย

นกฟลามิงโก้มักจะส่งเสียงร้องตลอดเวลา เพราะมันไม่มีประสาทรับกลิ่น แม้กระทั่งลูกนกที่เพิ่งฟักออกจากไข่ก็สามารถส่งเสียงร้องได้ทันที แม่ฟลามิงโก้จึงจดจำลูกของตัวเองได้จากเสียงร้อง 

โคอาลาไม่ใช่หมีสักหน่อย

Photo: Guillaume Souvant / AFP

ลูกโคอาลากำลังขี่บนหลังของแม่ ทั้งคู่อยู่ในสวนสัตว์ประจำเมืองแซงต์-แอญ็อง (Saint-Aignan) ประเทศฝรั่งเศส

โคอาลาเป็นสัตว์ท้องถิ่นของทวีปออสเตรเลีย จึงเป็นหนึ่งในสัตว์สัญลักษณ์ของประเทศออสเตรเลียไปโดยปริยาย

คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าโคอาลาเป็นหมี แต่โคอาลาเป็นสัตว์จำพวกโอพอสซัม (Opossum) หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่มีกระเป๋าหน้าท้องให้ลูกอ่อนอาศัยอยู่

องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wide Fund for Nature) คาดการณ์ว่า ในธรรมชาติมีโคอาลาไม่ถึง 80,000 ตัว และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะปัญหาไฟป่า

ลิงวอกอยู่ไม่นิ่ง ชอบวิ่งกระโดดไปมา

Photo: Sajjad Hussain / AFP

ลูกลิงวอกเกาะหลังแม่ลิงแน่น ขณะที่แม่ของมันรีบกระโจนหนีขึ้นบนหลังคารถยนต์ หลังจากขโมยกล้วยหอมมาจากชาวบ้านในกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย

ลิงจรจัดกลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาพื้นที่ของประเทศอินเดีย แม้ว่าจะไม่มีข้อมูลที่แน่ชัด แต่จากการคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญ เฉพาะในเขตเมืองหลวงอย่างกรุงนิวเดลี มีจำนวนลิงจรจัดไม่ต่ำกว่า 500,000 ตัว ที่ร่วมใช้ชีวิตในพื้นที่อยู่อาศัยของมนุษย์

ชาวฮินดูยังเชื่อด้วยว่า ลิงเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องให้ความเคารพนับถือ โดยไม่สนใจว่าลิงจรจัดเหล่านี้มักจะสร้างความรำคาญและความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านอยู่เสมอ เมื่อคนไม่กล้าทำร้าย ลิงจึงได้รับความคุ้มครองไปโดยปริยาย

ที่ผ่านมาทางการของประเทศอินเดียใช้วิธีออกประกาศเตือนให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ลิง โดยเฉพาะลิงแม่ลูกอ่อน เพื่อป้องกันอันตรายจากลิงจรจัด รวมถึงว่าจ้างเจ้าหน้าที่ไล่ลิงตามสถานที่สำคัญๆ แต่ยังไม่เคยออกมาตรการควบคุม หรือจัดการปัญหาลิงจรจัดขั้นเด็ดขาด

เห็นหมีขั้วโลกนั่นไหม

Photo: Patrik Stollarz / AFP

แม่หมีขั้วโลกกำลังให้นมลูกแฝดเพศเมีย ทั้งคู่มีชื่อเรียกว่า เอลซ่า กับ แอนนา ซึ่งเป็นชื่อที่เจ้าหน้าที่สวนสัตว์ในเมืองเบรเมอร์เฮเวน (Bremerhaven) ประเทศเยอรมนี ตั้งให้ตามชื่อเจ้าหญิง 2 พี่น้องขวัญใจเด็กๆ จากภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องดัง

หมีขาวหรือหมีขั้วโลกเป็นสัตว์นักล่าที่มีขนาดตัวใหญ่ที่สุดในขั้วโลกเหนือ เมื่อโตเต็มวัย ลำตัวของมันมีขนาดใหญ่เป็น 2 เท่าของสิงโต

แต่ในปัจจุบัน หมีขั้วโลกกำลังตกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากภาวะโลกร้อนทำให้แผ่นน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกเหนือละลายลงอย่างต่อเนื่อง

หากไม่มีแผ่นน้ำแข็ง เท่ากับว่าพื้นที่ออกล่าและหาอาหารของหมีก็ลดน้อยลงไปด้วย ความขาดแคลนอาหารกดดันให้หมีขั้วโลกต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อความอยู่รอด

บางตัวบุกรุกเข้าไปในเขตเมืองเพื่อคุ้ยหาเศษอาหารเหลือทิ้งในกองขยะ บางตัวหันมาล่าหมีตัวอื่นด้วยกันเอง บางตัวขาดสารอาหารจนหิวโซและผอมตายในที่สุด

นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ไว้ว่า หากไม่สามารถแก้ไขหรือหยุดยั้งการละลายของน้ำแข็งได้ หมีขั้วโลกจะสูญพันธุ์อย่างสมบูรณ์ ภายในปี 2100 หรืออีก 80 ปีข้างหน้า

ม้าลายจุดลูกม้าลายทาง

Photo: Yasuyoshi Chiba / AFP

ลูกม้าลายเดินตามติดแม่ม้าลายไม่ห่าง เพราะยังไม่คุ้นชินกับทุ่งโล่งกว้างในเขตอนุรักษ์แห่งชาติมาไซมารา (Maasai Mara National Reserve) ประเทศเคนยา

ชาวแอฟริกาพื้นเมืองเชื่อว่า ม้าลายเป็นสัตว์ที่มีลำตัวสีดำและมีแถบสีขาวพาดผ่าน ซึ่งบังเอิญตรงกับผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ เพราะสีขาวเกิดจากกลไกการทำงานของเซลล์ประสาทผลิตเม็ดสี ซึ่งเรียงรายตามแนวกระดูกสันหลัง

โดยทั่วไป ม้าลายแรกเกิดจะมีผิวสีดำทั้งตัว จากนั้นแถบสีขาวจึงค่อยๆ พัฒนาขึ้นตามช่วงวัย ยกเว้นลูกม้าลายตัวนี้ มันเกิดมาพร้อมกับความผิดปกติทางพันธุกรรม ทำให้ผิวหนังเลือกผลิตแต่เม็ดสีดำ ลายบนตัวจึงออกมาเป็นจุดสีขาวอย่างที่เห็น

แม้จะดูสวยงามและแปลกตาเมื่อเปรียบเทียบกับลายทาง แต่ความแตกต่างนี้อาจเป็นภัยต่อตัวลูกม้าลาย เพราะสัตว์นักล่าจะมองเห็นตัวมันได้ง่ายกว่าม้าลายตัวอื่นๆ รวมถึงม้าลายที่เกิดมาพร้อมความผิดปกติ ส่วนใหญ่มักมีชีวิตอยู่ได้ไม่นานนัก

หมีแพนด้าเขาว่าน่ารัก

Photo: Tobias Schwarz / AFP

แม่หมีแพนด้ากำลังเล่นอยู่กับลูกของมันด้วยความเพลิดเพลินภายในสวนสัตว์ของกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี

หมีแพนด้าเป็นสัตว์ประจำถิ่นของประเทศจีน เนื่องจากพบได้เฉพาะในเขตมณฑลเสฉวนเท่านั้น จักรพรรดิจีนสมัยโบราณจึงนิยมใช้หมีแพนด้าเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ทางการทูต โดยส่งมอบหมีแพนด้า 1 คู่เป็นของขวัญให้กับประเทศต่างๆ ที่จีนต้องการสานสัมพันธ์หรือแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม

เดิมทีเป็นการยกให้อย่างถาวร หมายความว่า ประเทศที่ได้รับหมีแพนด้าคู่นั้นไปสามารถถือสิทธิ์เป็นเจ้าของสัตว์เพียงผู้เดียว แต่ระยะหลังจำนวนหมีแพนด้าในประเทศจีนเริ่มลดลง ทางการของจีนจึงเปลี่ยนเป็นการให้ยืมแทน ซึ่งกำหนดระยะเวลาไว้ที่ 10 ปี

ทางการจีนยังเพิ่มเงื่อนไขพิเศษว่า หากมีลูกหมีแพนด้าเกิดขึ้นมาระหว่างยืม ให้ประเทศนั้นๆ เลี้ยงดูต่อไปได้จนกว่าจะถึงวัยหย่านม หลังจากนั้นให้ส่งลูกหมีแพนด้าคืนภายใน 4 ปี เพราะการทางจีนเคยประกาศไว้อย่างชัดเจนว่า ประเทศจีนเป็นเจ้าของหมีแพนด้าทุกตัวบนโลกนี้ 

ดูวาฬบรูด้าที่อ่าวไทย

Photo: Lillian Suwanrumpha / AFP

แม่และลูกวาฬบรูด้าบริเวณอ่าวไทยใกล้ชายฝั่งของจังหวัดสมุทรสาคร กำลังไล่งับฝูงปลากะตักกินเป็นอาหาร เมื่อนกนางนวลเห็นปลาจำนวนหนึ่งหลุดรอดออกจากปากแล้วตกกระทบกับผิวน้ำ มันจะบินโฉบลงมารอบๆ วาฬ เพื่อร่วมกินปลาเหล่านั้นด้วย

วาฬบรูด้าเป็นวาฬชนิดที่ไม่มีฟัน แต่จะมีเพียงซี่กรองเล็กๆ ขนาดสั้น (Baleen Plates) สำหรับใช้กรองอาหารเข้าปากเท่านั้น

ระหว่างเดือนตุลาคมถึงธันวาคมของทุกปี เป็นช่วงที่วาฬบรูด้าจะว่ายน้ำเข้ามาหากินบริเวณอ่าวไทย นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จึงนิยมลองเรือชมวาฬบรูด้าในช่วงเวลานี้

ถึงแม้ว่าจะมีลำตัวขนาดใหญ่มหึมา แต่วาฬบรูด้าเป็นสัตว์รักสงบและเป็นมิตร เสมือนพี่ใหญ่ใจดีแห่งท้องทะเล

ยีราฟคอยาวขายืด

Photo: Lou Benoist / AFP

เมื่อลูกยีราฟอยู่เคียงข้างกับแม่ยีราฟแบบนี้แล้ว ตัวของมันก็ดูเล็กลงไปถนัดตา ทั้งคู่กำลังเดินออกมาจากโรงนอนของสวนสัตว์ในชองเปร์ปูว์ (Champrepus) ประเทศฝรั่งเศส

คนส่วนใหญ่มองยีราฟเป็นสัตว์เก้งก้าง เพราะมีขายาวและลำคอชูสูง แต่ลักษณะเด่นเหล่านี้เองที่ช่วยให้ยีราฟสามารถดำรงเผ่าพันธุ์มาได้จนถึงทุกวันนี้

นักวิทยาศาสตร์ในอดีตต่างสนใจความยาวของคอยีราฟมากเป็นพิเศษ 

ชอง ลามาร์ค (Jean Lamarck) นักวิวัฒนาการชาวฝรั่งเศส ได้ศึกษายีราฟจากหลักฐานซากดึกดำบรรพ์ เขาพบว่ายีราฟเป็นสัตว์คอสั้นมาก่อน แต่สาเหตุที่ทำให้คอของมันเหยียดยาวออก เพราะจำเป็นต้องเขย่งตัวยืดคอเพื่อกินใบไม้ที่อยู่บนต้นไม้สูงๆ

เช่นเดียวกับข้อค้นพบของชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ ผู้เสนอทฤษฎีวิวัฒนาการจากการคัดสรรโดยธรรมชาติ (Theory of Evolution by Natural Selection) เขาอธิบายว่า คอยาวทำให้ยีราฟกินอาหารและอยู่รอดได้ ธรรมชาติจึงคัดเลือกให้ยีราฟเป็นสัตว์ที่มีคอยาว

ลิงกอริลลาผู้ไม่ชอบเปิดเผยตัวให้ใครเห็น

Photo: Guillaume Souvant / AFP

ลูกลิงกอริลลานอนหลับปุ๋ยอยู่ในอ้อมอกของแม่บนกองฟางนุ่มๆ ภายในสวนสัตว์ประจำเมืองแซงต์-แอญ็อง (Saint-Aignan) ประเทศฝรั่งเศส

ลิงกอริลลา คือ เอป (Ape) หรือลิงไม่มีหางที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ทำให้ในอดีต ลิงกอริลลาเคยถูกเข้าใจผิดว่าเป็นอสูรกายน่าเกรงขามในนิทานปรัมปรา

จนกระทั่ง แอนดริว แบทเทล (Andrew Battel) นักเดินเรือชาวอังกฤษได้ออกสำรวจพื้นที่ในแถบทวีปแอฟริกาตะวันตกเฉียงใต้ เขาพบว่าแท้จริงแล้ว กอริลลาคือสัตว์ขนาดใหญ่ที่ไม่ชอบเปิดเผยตัวให้เห็น มักจะอาศัยอยู่ตามภูเขา และมีนิสัยดุร้าย

รู้หรือไม่ว่า ในกรุงเทพฯ ก็มีลิงกอริลลาอาศัยอยู่ด้วย ภายใต้การดูแลของสวนสัตว์พาต้า ลิงกอริลลาเพศเมียตัวนี้มีชื่อว่า บัวน้อย เริ่มเข้ามาอยู่ตั้งแต่ปี 2535 ด้วยวัยเพียง 3 ปี จนถึงวันนี้ถือเป็นลิงกอริลลาตัวเดียวที่ยังมีชีวิตอยู่ในประเทศไทย

อ้างอิง