w©rld

เมื่อมีความรู้สึกและเจ็บปวดได้ไม่ต่างจากมนุษย์ แล้วสัตว์มีสิทธิและควรได้รับความเป็นธรรมเช่นเดียวกับมนุษย์หรือไม่ ?

เมื่อมีความรู้สึกและเจ็บปวดได้ไม่ต่างจากมนุษย์ แล้วสัตว์มีสิทธิและควรได้รับความเป็นธรรมเช่นเดียวกับมนุษย์หรือไม่ ?

หลังจากที่มีงานวิจัยออกมาว่าสัตว์ตระกูลเปลือกแข็งอย่างล็อบสเตอร์ก็เจ็บปวดเป็นเมื่อโดนน้ำร้อน ทำให้ทั่วโลกต้องเปลี่ยนวิธีปรุงล็อปสเตอร์เสียใหม่ จากเดิมที่เคยโยนลงหม้อเดือดๆ ให้ดิ้นพล่านจนสุก ปัจจุบันต้องน็อคที่หัวให้ตายเสียก่อนที่จะนำมาทำอาหาร เพื่อไม่ให้ล็อบสเตอร์เจ็บปวด

Photo : Peter PARKS / AFP

เรื่องสิทธิของสัตว์ถูกยกมาพูดอย่างกว้างขวางโดยนักปรัชญาสมัยใหม่ ในปี 1975 เมื่อ ปีเตอร์ ซิงเกอร์ (Peter Singer)  และ ทอม เรแกน (Tom Regan) มองว่าสัตว์ควรได้รับสิทธิคุ้มครองเช่นเดียวกับมนุษย์ แม้จะพูดไม่ได้ แต่ยังมีตัวตน ซึ่งตัวตนนั้นควรได้รับการปกป้องในฐานะสิ่งมีชีวิตของโลกเรา ที่ต้องอยู่รอดและหนีจากความเจ็บปวด ชีวิตของสัตว์จึงมีคุณค่าในตัวเอง

ซิงเกอร์เขียนเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ Animal Liberation (1975) ระบุว่าโดยหลักพื้นฐานของความเท่าเทียม แม้เราจะไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม แต่ทุกชีวิตจะต้องได้รับการพิจารณาเรื่องสิทธิอย่างเท่าเทียมกัน แม้ว่าสัตว์จะไม่ได้รับสิทธิ์ให้ลงคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดี แต่สัตว์จะต้องไม่ถูกลืมไว้เบื้องหลังอย่างแน่นอน 

Photo : DEVI RAHMAN / AFP

แนวคิดสอดคล้องกับความเห็นของ เจเรมี เบนธัม (Jeremy Bentham) นักจริยศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่แห่งยุคสมัยเดียวกัน ที่เชื่อว่าสิทธิไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในมนุษย์เท่านั้น แต่ทุกชีวิตควรได้รับสิทธิเหมือนกัน โดยที่เบนธัมใช้ ‘ความทุกข์’ เป็นเกณฑ์ กำหนด เขาเชื่อว่าสัตว์ไม่จำเป็นต้องคิดคำนวนได้เหมือนมนุษย์ เพียงรู้สึกเจ็บปวด มีความทุกข์ รู้สึกกลัว เหงา มีสัญชาติญาณความเป็นแม่ตามธรรมชาติก็เพียงพอที่จะได้รับการปกป้องแล้ว มนุษย์จึงต้องปกป้องสิทธิของสัตว์ไม่ให้ถูกรบกวน ให้ได้ใช้ชีวิตตามธรรมชาติ และได้รับในสิ่งที่ควรได้รับ

หลังจากที่มีแนวคิดปกป้องสิทธิสัตว์ออกมา ก็มีเสียงขัดแย้งจากฝั่งศาสนาคริสต์ ซึ่งนักบุญทอมัส อไควนัส (Thomas Aquinas) โต้แย้งว่าสัตว์แตกต่างจากมนุษย์ตรงที่สัตว์ทำตามสัญชาติญาณ ส่วนมนุษย์คิดอย่างมีเหตุผล

อีกทั้งมุมมองจากพระคัมภีร์ยังเชื่อว่าสัตว์เกิดมาบนโลกเพื่อมีหน้าที่รับใช้มนุษย์ จักรวาลของเรามีชนชั้น ซึ่งสัตว์อยู่ในชนชั้นที่ต่ำกว่ามนุษย์ จึงเกิดมาเป็นผู้รับใช้มนุษย์ และมนุษย์ก็จึงมีสิทธิใช้งานสัตว์ได้อย่างที่ต้องการ 

ถึงอย่างนั้นฝั่งศานาก็ทำให้ความคิดที่ฟังดูใจร้ายนี้อ่อนโยนขึ้นด้วยด้วย คำกล่าวของนักบุญออกัสติน ที่ว่าไว้ว่า “กฎเกณฑ์อันเที่ยงธรรมที่สุดของพระผู้เป็นเจ้า ทั้งชีวิตและการตาย (ของสัตว์) ขึ้นอยู่กับการใช้งานของเรา”

Photo : Bertha WANG / AFP

โดยแนวคิดที่เชื่อว่าสัตว์ไม่สมควรได้รับสิทธินั้น มีเส้นแบ่งมนุษย์กับสัตว์ออกจากกัน เช่น สัตว์ไม่มีความคิด ไม่มีจิตสำนึก เกิดมาเพื่อรับใช้มนุษย์ ไม่มีจิตวิญญาณ ไม่มีคุณธรรม ไม่ได้เป็นสมาชิกของสังคมแห่งคุณธรรม สอดคล้องกับอีกแนวคิดของ เรอเน เดการ์ต (Rene Descarte) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส เผยว่าในทัศนะของเขาสัตว์ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อน ดังนั้นจึงไม่ควรได้รับสิทธิใดๆ มนุษย์จึงไม่ต้องคำนึงถึงสิทธิของสัตว์

แต่แล้วก็มีการโต้แย้งเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อวิทยาศาสตร์เอ่ยปากพูดแทนสัตว์ การวิจัยและศึกษาด้วยเทคโนโลยีทันที่ทันสมัยขึ้นทำให้คนเรารู้จักสัตว์แต่ละชนิดมากขึ้น ทั้งด้านสติปัญญา อารมณ์ พฤติกรรมและสังคม 

เจน กูดออล  (Jane Goodall) ผู้เชี่ยวชาญด้านลิงชิมแปนซีเผยว่าบางครั้งชิมแปนซีก็แสดงความเห็นอกเห็นใจกันออกมาอย่างชัดเจน ส่วนวาฬบรูดาก็เป็นซึมเศร้าและเครียดได้ไม่ต่างจากมนุษย์ ดังนั้นข้อที่ว่าสัตว์อื่นนอกเหนือจากมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่เห็นอกเห็นใจผู้อื่นนั้นเป็นความคิดที่ไม่จริงเสมอไป รวมถึงข้อที่บอกว่าสัตว์ไม่มีความคิดก็ด้วยก็เช่นกัน เมื่อคนเข้าใจพฤติกรรมและความสามารถของสัตว์แล้ว เราก็ไม่อาจใช้เกณฑ์เดิมแบ่งแยกมนุษย์กับสัตว์อีกต่อไปได้อีกต่อไป 

Photo : Lillian SUWANRUMPHA / AFP

แนวคิดเย่อหยิ่งของมนุษย์ที่มองว่าเราคือสิ่งมีชีวิตที่เหนือกว่าสรรพสิ่งตัวไหนนั้นไม่ใช่ความจริงอีกต่อไป เรแกนเสริมว่าซึ่งสัตว์บางชนิดมีสิทธิทางศีลธรรมขั้นพื้นฐาน เพราะพวกเขามีความสามารถด้านความรู้ ความเข้าใจขั้นสูงเหมือนกับที่มนุษย์ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งมีชีวิต หรือ Subjects of a Life

ซึ่งมีคุณลักษณะ เช่น เป็นสิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อนทางชีวภาพ มีสติสัมปชัญญะและรับรู้ได้ว่ามีอยู่จริงๆ สัตว์รู้ว่าอะไรเกิดขึ้นกับพวกเขา รู้ว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร ตัดสินใจได้ ใช้ชีวิตของตัวเองอย่างมีคุณภาพที่สุด ใช้ชีวิตเพื่ออยู่รอด คุณภาพชีวิตและอายุขัยสำคัญกับการมีชีวิตอยู่

กฎหมายที่คุ้มครองสัตว์ แม้จะแตกต่างกันไปหลายประเทศ แต่ยังคงอยู่ในกรอบเดียวกัน คล้ายๆ กัน เช่น ไม่ทดลองกับสัตว์ ห้ามผสมพันธุ์และฆ่าสัตว์เพื่อนำมาเป็นอาหาร เสื้อผ้าหรือยา ไม่ใช้สัตว์ทำงานหนัก ไม่คัดแยกพันธุ์ด้วยเหตุผลอื่นนอกจากประโยชน์ของสัตว์ ไม่ล่าสัตว์ ห้ามมีสวนสัตว์หรือแสดงสัตว์เพื่อความบันเทิง 

Photo : JAVIER TORRES / AFP

ถึงแม้ว่าสัตว์จะได้รับการปกป้องเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่มุมมองของเรื่องของศีลธรรมนั้นยังเป็นสายตามที่มนุษย์มองไปยังสัตว์ กล่าวได้ว่ามนุษย์หยิบยื่นสิทธิให้กับสัตว์ และเข้าไปตัดสินทุกอย่างให้เกิดขึ้นเองในโลกของสัตว์ เดิมทีศีลธรรมเป็นข้อตกลงที่เกิดขึ้นระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง ที่ว่าเราจะไม่ทำในสิ่งล้ำเส้นที่จะทำให้มนุษย์อีกฝ่ายเจ็บปวด แต่ในบรรดาสัตว์ด้วยกันเองไม่มีสิ่งเหล่านี้ สัตว์ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่คำนึงถึงเรื่องศีลธรรในหมู่สัตว์ด้วยกันเอง คนร้ายผิดที่ฆ่าเหยื่อ แต่สิงโตไม่ได้ผิดที่ฆ่าม้าลาย

อย่างไรก็ตามยังคงมีการถกเถียงและประท้วงกันอยู่ทั่วทุกมุมโลกเพื่อยกระดับสิทธิของสัตว์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเรามีหลักฐานและงานวิจัยมากมายว่าสัตว์บางชนิดนั้นมีความรู้สึกและคิดได้คล้ายคลึงกับมนุษย์นั่นหมายความว่าพวกเขาเจ็บปวดเป็น อีกทั้งเพื่อเคารพทุกชีวิตที่ในธรรมชาติที่มีมนุษย์รวมอยู่ในนั้นด้วย อย่างไรก็ตาม สิทธิสัตว์จึงเป็นเรื่องสำคัญและไม่ควรถูกมองข้าม

อ้างอิง