w©rld

ในอนาคตอันใกล้ เมื่อทุกอย่างเปลี่ยนไป หากกรุงเทพฯ ยังเหมือนเดิม ผู้คนอาจย้ายหนีจากเมืองหลวงแห่งนี้

“โลเคชั่นไม่สำคัญแล้ว …เพราะทุกคนสื่อสารกันผ่านจอ ผ่านอินเทอร์เน็ต ขาย bit หรือ byte แทนที่จะขายโมเลกุล”

ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ พูดในงานประชุมวิชาการ* ที่จัดโดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โดยชี้ว่าเมืองในอนาคตต้องเป็นเมืองที่มอบคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ใช่เมืองที่เต็มไปด้วยมลพิษ การจราจรที่ติดขัด และวิถีชีวิตที่ไม่มีความสุข

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กรุงเทพ

“หัวใจของเมืองที่จะอยู่ได้ในอนาคต ไม่ได้อยู่ได้ด้วยเงินทุน หรืออยู่ได้ด้วยตึก แต่มันอยู่ด้วยคนเก่งคนมีคุณภาพ …ถ้าเราเป็นเมืองที่ไม่มีสุขภาวะคนเก่งหนีหมด สุดท้ายเราก็อยู่ในอนาคตไม่ได้”

ในการบรรยาย ดร.ชัชชาติ ไม่ได้พูดตรงๆ ว่า กรุงเทพฯ วันนี้เป็นเมืองที่พร้อมสำหรับอนาคตหรือยัง? แต่ประเด็นที่ ดร.ชัชชาติ พูดถึงในภาพรวมบอกกับเราว่า

กรุงเทพฯ วันนี้ยังไม่ใช่เมืองแห่งอนาคต

งานเปลี่ยน ชีวิตเปลี่ยน เมืองเปลี่ยน

“อนาคตเราแข่งขันกันด้วยเรื่องอะไร?” ดร.ชัชชาติ ตั้งโจทย์ก่อนตอบ “ก็ต้องบอกว่าเราแข่งกันด้วย talent หรือคนเก่ง คนที่มีคุณภาพ หัวใจของอนาคต เมืองต้องดึงดูดคนเก่งมาให้ได้”

ดังนั้นคีย์เวิร์ดสำคัญคือการสร้างเมืองให้เป็น Healthy Bangkok ที่สอดรับกับวิถีชีวิตในโลกสมัยใหม่ ที่รองรับการทำงานและการใช้ชีวิตที่กำลังถูกย้ายไปโลกออนไลน์

“แต่ก่อนงานอยู่บนโลเคชั่น แต่งานปัจจุบันอยู่บนระบบคลาวน์และอินเทอร์เน็ต”

สิ่งนี้ทำให้เกิดอะไร? ดร.ชัชชาติยกตัวอย่างบริษัทด้านไอทีแห่งหนึ่งที่ย้ายสำนักงานจากกรุงเทพฯ ไปอยู่เชียงใหม่ โดยขนพนักงานกว่า 130 คนไปอยู่ที่นั่น แม้จะไม่ได้อยู่ท่ามกลางแสงสีและความทันสมัยของเมืองใหญ่ แต่พนักงานต่างก็ยินดีไป เพื่อแลกกับคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ค่าครองชีพที่ลดลง และบ้านพักคนละหลัง

“นี่คือตัวเลือกในอนาคตว่า ไม่จำเป็นต้องอยู่กรุงเทพฯ แล้ว ถ้าคนมีทางเลือก เพราะต่อไปเราไม่ได้ขายโมเลกุล หรือของเป็นชิ้นๆ แต่เราขายสิ่งที่เป็น bit byte เยอะขึ้น”

เมื่อสิ่งต่างๆ ถูกเปลี่ยนให้อยู่ในรูปดิจิทัล บริบทของเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ จึงต้องปรับเมืองให้เปลี่ยนตาม

“ทุกวันนี้อยู่เชียงใหม่ อยู่ต่างประเทศ หรืออยู่กรุงเทพ ทำงานได้หมด แต่ถ้าเลือกได้ คนเลือกไปอยู่ที่มีสุขภาวะที่ดีกว่า”

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กรุงเทพ

‘โซนนิ่ง’ งานอยู่ในเมือง คนอยู่นอกเมือง

ทุกคนรู้ว่ากรุงเทพฯ ไม่ใช่ ‘เมืองดีดีที่ชีวิตลงตัว’ เหมือนข้อความที่ปรากฏตามป้ายโฆษณา แถมยังมีปัญหายุบยับเต็มไปหมด แต่ถ้าจะเริ่มพูดถึงปัญหาเมืองหลวงแห่งนี้ให้เห็นภาพชัด ดร.ชัชชาติ เริ่มต้นที่ ‘โซนนิ่ง’ หรือการจัดพื้นที่ใช้สอยในเมือง

“อันนี้คือที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ นะครับ สีน้ำเงินคือทาวน์เฮาส์และบ้านเดี่ยว สีแดงคือคอนโดมิเนียม” สไลด์แผ่นใหญ่ฉายภาพกรุงเทพฯ จากมุมสูง

“เห็นไหมว่าการทำโซนนิ่ง ตึกสูงมารวมอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ พวกเราถูกผลักออกไปนอกวงแหวน ราคาไม่ไหวแล้วครับในวงแหวน เพราะฉะนั้น คนส่วนใหญ่ถูกผลักออกไปนอกเมือง ยิ่งคนจนยิ่งออกห่างไปอยู่ปลายสายรถไฟฟ้า คนจนถูกตัดออกนอกเมือง คนมีตังค์มีกำลังซื้ออยู่ในคอนโด

“ถ้าเราดูออฟฟิศในกรุงเทพฯ ปัจจุบัน มีประมาณ 8 ล้านกว่าๆ ตารางเมตร ส่วนใหญ่เกาะแนวรถไฟฟ้าสีน้ำเงินเป็นหลัก และอีกไม่กี่ปีนะครับ พื้นที่ออฟฟิศจะเพิ่มอีก 1 ล้านตารางเมตรแถวพระรามสี่ (เช่น โครงการวัน แบงค็อก, ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค — ผู้เขียน)

“เพราะฉะนั้น งานอยู่ในเมือง คนอยู่นอกเมือง ผมว่านี่คือปัญหา”

‘กฎหมายผังเมือง’ ต้องเปลี่ยน

เมืองจะเป็นอย่างไร ‘กฎหมาย’ คือปัจจัยหนึ่งที่เป็นตัวกำหนด “ผมว่าเรื่องผังเมือง กฎหมายควบคุมอาคารเป็นอะไรที่ต้องพูด”

ดร.ชัชชาติ ชี้ว่ากฎหมายเปรียบเสมือน What ที่อธิบายว่า เราสามารถทำอะไรได้และไม่ได้ แต่พอระยะเวลาผ่านไป สิ่งที่เขียนไว้ในกฎหมายอาจไม่ตอบโจทย์

แต่ก็ไม่มีใครฉุกคิดหรือแก้ไข เพราะคนไม่ค่อยถาม Why ว่าทำไมข้อกฎหมายดังกล่าวถึงเกิดขึ้น

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กรุงเทพ

“ยกตัวอย่างกฎหมายที่จอดรถ บอกให้คอนโดในเขต กทม. ห้องที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 60 ตารางเมตร ต้องมีที่จอดรถ 1 คันต่อ 1 ห้องชุด แต่นี่เป็นกฎหมายตั้งแต่ยังไม่มีรถไฟฟ้า ไม่มีอูเบอร์ ทุกคนยังเดินทางด้วยรถ”

เมื่อกฎหมายเอื้อการมีรถ กรุงเทพฯ จึงเต็มไปด้วยรถยนต์ ยิ่งบวกกับการสร้างถนน ซึ่งหลายคนเชื่อว่า จะช่วยแก้ปัญหารถติด

แต่ ดร.ชัชชาติ บอกว่า “ไม่จริง”

เพราะการสร้างถนน ในแง่หนึ่งคือการเพิ่มซัพพลาย ยิ่งมีมากเท่าไหร่ ดีมานด์จะเพิ่มขึ้นเท่านั้น “มันจะทำให้เราใช้รถมากขึ้น”

เพื่อให้เห็นภาพชัด ดร.ชัชชาติ ยกตัวอย่างถนนจากวงแหวนรอบนอกที่เต็มไปด้วยหมู่บ้านหลายสิบโครงการ ซึ่งตัดเข้ามาในเมืองบริเวณหัวหมากตรงรามคำแหงว่า

“เหมือนเทน้ำลงไปในท่อเล็กๆ รถไหลเข้ามาในกรุงเทพฯ” แน่นอน รถติดไม่ขยับ คนบ้านไกลที่ขับรถเข้าเมืองมาทำงานทุกเช้า ซึ้งกับข้อเท็จจริงนี้ โดยไม่ต้องมีคำอธิบายใดๆ เพิ่มเติม

“เราคิดว่าเราสร้างถนนแล้วรถจะหายติด ไม่จริง สร้างถนนรถยิ่งติดมากขึ้น เพราะมันสร้าง demand ให้เพิ่มขึ้น”

ทำไมกรุงเทพฯ แก้ปัญหารถติดไม่ได้?

กรุงเทพฯ มีขนส่งสาธารณะทั้งทางบกและทางน้ำ ซึ่งมีศักยภาพในการแก้ปัญหารถติดได้ ถ้าทำอย่างถูกจุด แต่ปัญหาใหญ่ คือ การบริหารจัดการเชิงนโยบาย

“ผมอยู่กับกระทรวงคมนาคมมาเลยรู้ว่า …ทำไมกรุงเทพฯ จัดการเรื่องรถติดไม่ได้”  ดร.ชัชชาติ เปิดสไลด์ที่แสดงจำนวนหน่วยงานที่ดูแลเรื่องรถและการเดินทางในกรุงเทพฯ (จริงๆ มีทั้งหมด 37 หน่วยงาน)

“พอมาประชุมโต๊ะยาว นั่งไม่พอ เราไม่มีศูนย์เบ็ดเสร็จที่จะช่วยจัดการ” พอต่างหน่วยต่างทำ การแก้ปัญหาจึงไม่เป็นไปในภาพรวม

“อย่างสถานีรถไฟฟ้า ถ้าเราไปดูรถไฟฟ้าบีทีเอสกับเอ็มอาร์ที (ใต้ดิน) สถานีเดียวกันควรจะชื่อเดียวกันถูกไหม”

แต่ความจริงที่เห็นคือ สถานีที่ต่อเชื่อมถึงกันกลับเป็นคนละชื่อ เช่น จตุจักร-หมอชิต สุขุมวิท-อโศก สีลม-ศาลาแดง

“นี่คือความไม่ประสานงานของหน่วยงานรัฐ”

7 ไอเดีย สร้างกรุงเทพฯ ให้เป็น ‘เมืองชีวิตดีดีที่ลงตัว’

หากวันนี้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ไม่ได้มอบคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนที่อยู่อาศัย คำถามคือเราจะเปลี่ยนมหานครแห่งนี้ให้เป็น ‘กรุงเทพฯ ชีวิตดีดีที่ลงตัว’ ได้อย่างไร

ดร.ชัชชาติ บอกว่า เขามีไอเดีย…

“ถ้าเป็นไปได้ นโยบายพวกนี้น่าจะช่วยให้เรามี Healthy Bangkok ได้”

ดร.ชัชชาติ เริ่มต้นที่ เมืองเดินได้ โดยยกตัวอย่างงานวิจัยที่พูดถึงการปฏิสัมพันธ์ของผู้คนกับสภาพการจราจรบนถนน ว่ายิ่งถนนมีการจราจรหนาแน่นมากเท่าไหร่ คนจะยิ่งปฏิสัมพันธ์น้อยลงเท่านั้น

ดังนั้น เมืองที่มีคุณภาพควรเป็นเมืองที่สามารถเดินไป เพราะการเดินจะช่วยให้ผู้คนได้ปฏิสัมพันธ์ ซึ่งจะนำมาสู่การติดต่อสื่อสาร ซื้อขาย สร้างงาน สร้างธุรกิจ รวมถึงสร้างสุขภาพจิตที่ดีที่เกิดจากการพบปะสนทนา

แต่เมืองจะเดินได้จริง ต้องทำฟุตบาทและทางสัญจรให้เป็นมิตรต่อคนทุกระดับ และมีร่มเงาป้องกันแดด ด้วยการสร้างทางแบบ Walk Way ที่มีหลังคา หรือปลูกต้นไม้สองข้างทาง

“ผมว่าต้นไม้สำคัญ อย่างที่ถนนในซอยสุขุมวิท 26 …เป็นถนนที่สวยมากๆ แล้วผมไปเดินในซอยก็สบาย เพราะมันร่มเย็น แถมต้นไม้ยังแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นมลพิษอีกด้วย”

สุขุมวิท 26 ถนน ซอย ต้นไม้
ถนนในซอยสุขุมวิท 26 (Photo: estopolis.com)

ต่อมา เมืองแบ่งปัน ดร.ชัชชาติ มองว่ามีที่ดินจำนวนมากในกรุงเทพฯ ที่ไม่ได้ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน เช่น ที่ดินใต้ทางด่วน และที่ดินในหน่วยงานราชการต่างๆ อย่างในสนามเป้าที่มีที่ดินเป็นร้อยไร่ ถ้าทลายรั้วให้คนได้เข้าไปใช้ คุณภาพชีวิตคนก็จะดีขึ้น

โดยยกตัวอย่าง สนามบินสุวรรณภูมิ ที่เปิดให้คนภายนอกได้เข้าไปปั่นจักรยาน และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ให้คนทั่วไปได้เข้าไปชื่นชมธรรมชาติและพื้นที่สีเขียว

จุฬา พื้นที่สีเขียว
พื้นที่สีเขียวในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Photo: chula.ac.th)

จากเมืองมาสู่หน่วยย่อย ด้วยการสร้าง งานใกล้บ้าน บ้านใกล้งาน และ เรียนใกล้บ้าน ทั้งหมดจะเกิดได้ต้องย้ายความเป็นเมืองไปอยู่ที่เขตนอกเมืองมากขึ้น เช่น

“รัฐให้สิ่งจูงใจในการสร้างออฟฟิศออกไปแถวมีนบุรี ปากเกร็ด หรือที่อื่นได้ไหม …เพราะเทรนด์ในอนาคตต้องกระจายเมืองออกไป แล้วก็สร้างคอมมูนิตี้ เพื่อให้คนไม่ต้องเข้าไปในเมืองมากขึ้น”

เมื่อสถานที่เหล่านี้อยู่ใกล้บ้าน คนก็สามารถเดินไปได้ แล้วเมื่อได้ขยับร่างกาย สุขภาพที่ดีก็จะตามมา แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องไม่ลืมคนอยู่ไกลที่จำเป็นเดินทางเข้ามาทำงานในเมือง ตรงนี้ ดร.ชัชชาติ เล่าถึงประสบการณ์ตอนทำงานเป็นผู้บริหารว่า

“ผมเป็นคนไปทำงานเช้า ถึงออฟฟิศหกโมงครึ่ง แต่มีคนที่มารออยู่แล้ว ใครรู้ไหม แม่บ้านครับ ผมถามแม่บ้านว่าอยู่ไหน อยู่รังสิต คลองสี่ เพราะอยู่กรุงเทพฯ ไม่ได้ มันแพง เพราะฉะนั้น แม่บ้านต้องออกจากบ้านตีห้า ถึงบ้านสามทุ่ม แทบไม่มีเวลาอยู่กับครอบครัว

“ผมถามว่าเฮลตี้ไหมแบบนี้”

รถติด ถนนเพชรบุรี
สภาพการจราจรถนนเพชรบุรีในช่วงหัวค่ำ (Photo: Roberto Schmidt / AFP)

ฉลาดพอเหมาะ พอพูดถึงเรื่องนี้ ดร.ชัชชาติ ก็เปิดสไลด์ป้ายจราจรอัจฉริยะ “คือไม่ต้องฉลาดมากนะครับ ผมว่าเรากำลังเห่อสมาร์ทซิตี้ ผมว่าอย่าไปเห่อเทคโนโลยี มันต้องมีทั้งสามกรณี คือต้องมีเทคโนโลยี ธุรกิจ และคนต้องการใช้ด้วย เราจะเห็นสมาร์ทเยอะแยะเลยครับ แต่ไม่ตอบโจทย์ เช่น แท็กซี่อัจฉริยะ แต่มันช่วยยังไง” นี่คือคำถามที่ ดร.ชัชชาติ ทิ้งไว้

สุดท้าย ลดการใช้รถ คำตอบของประเด็นนี้ ดร.ชัชชาติ มองว่า “รถสาธารณะสำคัญที่สุด” แต่รถไฟฟ้ายังไม่ใช่คำตอบสุดท้าย

“รถไฟฟ้าไม่ตอบโจทย์นะครับ ตอบได้ระดับหนึ่ง แต่ผมเชื่อว่าหัวใจคือรถเมล์ เพราะปัจจุบันคนใช้เยอะที่สุดเมื่อเทียบกับบีทีเอสและเอ็มอาร์ที รถเมล์เปรียบเสมือนเส้นเลือดฝอย เข้าถึงทุกพื้นที่ ฉะนั้นรถเมล์ต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น เพราะตอนนี้รถเมล์มีใช้เยอะ แต่สภาพทรุดโทรม และต้องกระจายไปทุกหย่อมหญ้า”

(Photo: Roberto SCHMIDT / AFP)

เมื่อลดการใช้รถ เงื่อนไขหนึ่งต้องลดการสร้างถนน และเพิ่มปริมาณรถสาธารณะให้มีคุณภาพและทั่วถึง ส่วนจะทำอย่างไร ดร.ชัชชาติบอกมีกรณีศึกษาจำนวนมากเป็นตัวอย่าง แต่สิ่งสำคัญที่ยังขาดคือ “เรากล้าเริ่มไหม?”

ถึงตรงนี้ ดร.ชัชชาติ เปลี่ยนสไลด์เพื่อยกตัวอย่างปัญหาเล็กๆ ชวนให้คิด

“ที่จอดรถพารากอน เรากล้าเลิกไหม อยู่ใจกลางรถไฟฟ้าเลยครับ ผมไปคุยกับตำรวจจราจรแถวนั้น ถามว่าอะไรคือสาเหตุรถติดแถวปทุมวัน ตำรวจบอก “ห้าง” เพราะคนเข้าที่จอดรถ แล้วติดจนออกมาข้างนอก ส่วนคนจะออกก็ออกไม่ได้ รถติด ทั้งที่อยู่ตรงกลางของบีทีเอส

“เราเลิกที่จอดรถได้ไหม เพราะไปสร้างดีมานด์ ไม่ต้องมี แล้วให้คนมาใช้รถไฟฟ้าแทน”

คำถามวนกลับมาอีกครั้ง เรากล้าเริ่มไหม?

กรุงเทพฯ จะดีได้ อยู่ที่ ‘เรา’ ทุกคน

ไอเดียการเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองแห่งอนาคต ที่ ดร.ชัชชาติ พูดถึงตลอดการบรรยาย คงเป็นสิ่งที่ทุกคนอยากให้เกิดขึ้นจริง

แต่กรุงเทพฯ จะเป็นแบบที่ฝันได้ ไม่ใช่หน้าที่ใครคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องเกิดจากคนทุกฝ่ายร่วมมือกัน

“ภาครัฐเข้ามา วิชาการต้องช่วย ธุรกิจสำคัญที่สุด เพราะธุรกิจได้ผลประโยชน์ แล้วก็ประชาชน สี่ส่วนนี้ต้องประสานเป็นเนื้อเดียวกัน ในการช่วยผลักดันกรุงเทพให้เป็น Healthy Bangkok”

ถามว่าประชาชนจะทำยังไง ดร.ชัชชาติ ไม่พูดแต่เปิดสไลด์ใหม่

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กรุงเทพ

“ผมชอบประโยคนี้”

“you’re not stuck in the traffic you’re the traffic”

“อย่าไปก่นด่าว่ารถติด เพราะถ้าคุณขับรถมา คุณก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา เพราะฉะนั้น เราต้องพยายามใช้รถสาธารณะให้มากขึ้น”

ก่อนจะกล่าวปิดท้ายในการบรรยายว่า หัวใจของกรุงเทพฯ แห่งอนาคต คือทุกฝ่ายต้องก้าวไปด้วยกัน และที่สำคัญ

“โซลูชั่น (การแก้ปัญหา) ต้องเรียลลิสติก ไม่ใช่โซลูชั่นขึ้นหิ้ง”

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กรุงเทพ

*หมายเหตุ: เรียบเรียงจาก งานประชุมวิชาการระดับชาติ 10th Built Environment Research Associated Conference: BERAC 2019 ณ ห้องประชุมออดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2562