w©rld

หลังโลกได้รู้จักบริการที่พักแนว Airbnb ในปี 2008 ผ่านไปกว่าทศวรรษ ใช่ว่าเซอร์วิสนี้จะไร้คู่แข่ง

ล่าสุด มีสตาร์ทอัพสัญชาติอิตาเลียนชื่อ Fairbnb ที่ให้บริการจองที่พักที่มีคอนเซปต์หมือน Airbnb ทุกกระเบียดนิ้ว 

fairbnb.coop

แต่ Fairbnb ตั้งใจปลุกปั้นเซอร์วิสที่แตกต่าง โดยให้ความสำคัญกับ ‘ผู้คน’ และ ‘ชุมชน’ มากกว่าตัวเงิน ค่าคอมมิชชั่น หรือผลกำไร รวมทั้งเน้นความถูกต้องตามกฏหมายและจริยธรรม 

เพื่อให้สมกับคำว่ากับ ‘Fair’ อย่างยั่งยืนมากที่สุด

fairbnb

นอนสบาย พร้อมกระจายรายได้ให้ชุมชน 

แท้จริงแล้วราคาค่าที่พักใน Fairbnb ไม่แตกต่างจาก Airbnb 

แต่สิ่งที่แตกต่างและถือเป็นหัวใจสำคัญของแพลตฟอร์มนี้คือ การแบ่งเงินค่าคอมมิชชั่น 50 เปอร์เซ็นต์ที่ได้เป็นกองทุนสำหรับท้องถิ่น เพื่อนำไปพัฒนาและช่วยเหลือชุมชน โดยนักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปดู ตรวจสอบ และทำความรู้จักโปรเจกต์เพื่อชุมชนเหล่านี้ได้ด้วย

fairbnb.coop
(photo: Aurore Belot / AFP)

ตัวอย่างเช่นที่อัมสเตอร์ดัม หากเลือกพักผ่อนที่เมืองนี้ Fairbnb จะนำเงินส่วนหนึ่งของคุณไปบริจาคให้ Urbaniahoeve มูลนิธิผู้พัฒนาพื้นที่สาธารณะให้เป็นสเปซสำหรับปลูกพืชผักกินได้ หรือ Bloei en Groei โปรเจกต์ทำสวนชุมชนโดยเหล่าหญิงผู้อพยพ ซึ่งส่วนใหญ่มีฐานะยากจน 

fairbnb.coop
คนในชุมชนที่มาร่วมพัฒนาพื้นที่สาธารณะกับ Urbaniahoeve (photo: www.urbaniahoeve.nl)

หรือถ้าไปเที่ยวบาร์เซโลน่า และเลือกใช้บริการหาที่พักจาก Fairbnb คุณจะมีส่วนช่วย Arrels Fundació องค์กร NGO ที่ช่วยดูแลคนไร้บ้านที่เร่ร่อนอยู่ในบาร์เซโลน่า ทั้งเรื่องอาหารการกิน ยารักษาโลก รวมทั้งหาบ้านให้หากต้องการ

fairbnb.coop
Arrels Fundació องค์กร NGO ที่ช่วยดูแลคนไร้บ้านที่เร่ร่อนอยู่ในบาร์เซโลน่า (photo: www.facebook.com/arrelsfundacio)

จุดเริ่มต้นจากปัญหา สู่เป้าหมายขยายธุรกิจทั่วยุโรป

“ไอเดียของ Fairbnb คือ การทำงานร่วมกับชุมชน ผู้คนในท้องถิ่น เทศบาล เพื่อพัฒนาเมืองจากการท่องเที่ยวไปในตัว”

Sito Veracruz หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Fairbnb ที่เห็นผลกระทบต่อเมืองและชุมชน หลังจากเกิดกระแสนักท่องเที่ยวล้นในกรุงอัมสเตอร์ดัม เมืองหลวงของเนเธอร์แลนด์ ที่แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวมากกว่า 19 ล้านคน ในขณะที่มีคนในท้องถิ่นอาศัยอยู่ในเมืองน้อยกว่า 1 ล้าน ทำให้คนในเมืองถูกรบกวน เพราะถูกนักท่องเที่ยวรุกล้ำพื้นที่ส่วนบุคคล

fairbnb
Sito Veracruz หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Fairbnb (photo: https://twitter.com/sitoveracruz)

ด้วยความที่ Veracruz เป็นหนุ่มนักกฏหมายชาวสเปน ผู้เชี่ยวชาญและหลงใหลด้านการวางผังและออกแบบเมือง เขาและพาร์ทเนอร์จึงตั้งใจผูกมิตรกับรัฐบาล โดยพยายามทำทุกนโยบายให้ถูกต้องตามกฏหมายและโปร่งใสมากที่สุด ผ่านนโยบาย ‘one host, one home’ ที่เปิดรับเฉพาะที่พักที่เป็นบ้านหลังเดียว และมีเจ้าของบ้านคนเดียว   

fairbnb
Sito Veracruz และทีมงาน Fairbnb (photo: www.facebook.com/Fairbnbcoop)

“ผมเรียนด้านการออกแบบผังเมืองมา ดังนั้นผมเข้าใจถึงผลกระทบที่เกิดจากการปล่อยให้มีที่พักให้เช่าสำหรับนักท่องเที่ยวมากเกินไป ผมรู้ดีว่าทางเทศบาลในหลายเมืองอยากจะจำกัดจำนวนที่พักประเภทนี้ เราพยายามกระตุ้นให้ผู้คนในเมืองเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน” 

Fairbnb เริ่มต้นโปรเจกต์นำร่องใน 5 เมืองที่หนาแน่นไปด้วยนักท่องเที่ยว ได้แก่ วาเลนเซีย, บาร์เซโลน่า, อัมสเตอร์ดัม, โบโลญญ่า, เวนิส 

พร้อมมีเป้าหมายขยายธุรกิจไปทั่วยุโรปในปี 2020 นี้.

fairbnb
นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมาชมความงามของเมืองเวนิสอย่างหนาแน่นทุกปี (photo: Miguel Medina / AFP)
fairbnb
นักท่องเที่ยวในเมืองวาเลนเซียที่มาพักผ่อนกันบนชายหาดในหน้าร้อน (photo: DIEGO TUSON / AFP)

อ้างอิง:

  • Fairbnb.Arrels Fundació.http://bit.ly/35ji5zd
  • Fairbnb.Local projects.https://beta.fairbnb.coop/communities/amsterdam
  • Anca Voinea.Can FairBnB become a platform for community-powered tourism?.http://bit.ly/338vd8N
  • Fairbnb.About-us.https://fairbnb.coop/about-us/
  • MÁR MÁSSON MAACK.FairBnB is an ethical alternative to Airbnb, coming in 2019. http://bit.ly/2XvV0GS
  • Harriet Baskas.From Amsterdam to Venice, the impact of too many tourists sparks outrage and action.https://cnb.cx/2OC1foi