w©rld

โรคระบาดเป็นฝันร้ายของวงการเพลง

นอกจากผู้ชมจะหมดโอกาสได้ดูคอนเสิร์ตแบบชิดติดขอบเวทีแล้ว นักดนตรีก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วงด้วยเช่นกัน เพราะเดิมทีรายได้ส่วนใหญ่ของศิลปินมักจะมาจากการแสดงสดเป็นหลัก

เมื่อโควิด-19 ระบาดและทำให้เงินจากบัตรคอนเสิร์ตหายไป ถ้าไม่แสดงผ่านออนไลน์ ศิลปินบางคนก็เลือกพักทำงานเพลงไปชั่วคราวเพราะช่องทางหลักในการโปรโมตหดหาย วงการเพลงทำท่าจะซบเซาลงเรื่อยๆ เมื่อไร้เวทีคอนเสิร์ตอย่างที่เคยเป็นมา แล้วเราจะทำอย่างไรต่อไป?

ดูเหมือนว่าเราจะไม่มีวันกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้อีกแล้ว แต่มีโจทย์ใหม่ที่ต้องแก้คือ ‘เราจะทำให้หน้าเวทีคอนเสิร์ตให้ปลอดจากโรคระบาดได้อย่างไร’

เพราะต้องการพิสูจน์ว่าสิ่งนี้เป็นจริงได้ อังกฤษ สเปนและจีน จึงทดลองจัดคอนเสิร์ตแบบปกติใหม่ (New Normal) ที่ออกแบบระบบ ระเบียบเอาไว้เป็นอย่างดี

นอกจากจะสร้างความมั่นใจให้คนกล้าออกมาสนุกหน้าเวทีแล้ว นี่จะเป็นหนทางใหม่ที่ทำให้วงการเพลงกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

ลิเวอร์พูล

สหราชอาณาจักร

หลังจากที่เมืองเงียบเหงา ไร้เสียงดนตรีจากเวทีคอนเสิร์ตมาตั้งแต่ปีที่แล้ว 2 พฤษภาคมที่ผ่านมา Festival Republic ผู้จัดดนตรีก็ได้จับมือกับรัฐบาลอังกฤษจัดเทศกาลดนตรีครั้งยิ่งใหญ่ที่สวนเซฟตัน (Sefton Park) เมืองลิเวอร์พูลทางตะวันตกเฉียงเหนือของอังกฤษ งานนี้มีผู้ชมกว่า 5,000 ชีวิตที่ตีตั๋วเข้ามาดูวงโปรดอย่าง Blossoms, The Lathums และ Zuzu

(Photo : Paul ELLIS / AFP)
(Photo : Paul ELLIS / AFP)
(Photo : Paul ELLIS / AFP)

บนโปสเตอร์โปรโมตมีข้อความเด่นหรา ระบุว่า ‘ไม่ต้องเว้นระยะห่าง ไม่ต้องใส่แมสก์’ แต่มีข้อแม้ว่าต้องมีผลตรวจว่าไม่ติดโควิดมายืนยันก่อนเข้างานและหลังจากการแสดงจบแล้วต้องไปตรวจหาเชื้ออีกครั้ง เพื่อใช้เป็นผลยืนยันว่าการจัดคอนเสิร์ตแบบนี้ปลอดภัยจริงๆ เทศกาลดนตรีครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งในงานวิจัยเพื่อหาวิธีทำให้กลับมาจัดคอนเสิร์ตได้อย่างปกติอีกครั้ง

(Photo : Paul ELLIS / AFP)
(Photo : Paul ELLIS / AFP)

งานเริ่มตอนสี่โมงเย็นและสิ้นสุดก่อนสี่ทุ่มเพื่อให้ทันเวลาเคอร์ฟิว เวทีตั้งอยู่ในเต็นท์ใหญ่ๆ ที่ออกแบบระบบระบายอากาศเป็นพิเศษสำหรับยุคโควิด-19 ระหว่างนั้นได้มีการสังเกตพฤติกรรมของผู้ชมตลอดเวลาเพื่อมาใช้พัฒนารูปแบบคอนเสิร์ตให้เหมาะสมในครั้งต่อไป หากผลการทดลองออกมาเป็นที่น่าพอใจ แม้จะไม่สามารถกลับไปจัดคอนเสิร์ตอย่างยิ่งใหญ่ที่จุคนได้เยอะเท่าแต่ก่อน และรัฐบาลก็หวังว่าจะสามารถกลับมาจัดคอนเสิร์ตบนความปกติใหม่ได้ในเร็ววัน

(Photo : Paul ELLIS / AFP)
(Photo : Paul ELLIS / AFP)
(Photo : Paul ELLIS / AFP)

บาร์เซโลนา

ประเทศสเปน

ฮอลล์จัดคอนเสิร์ตในเมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปนถูกเนรมิตให้เป็นโรงพยาบาลสนามขนาดย่อมๆ ในช่วงเช้า ผู้ชมจำนวน 5,000 คน ทยอยกันเข้ามาตรวจหาเชื้อโควิด-19 กันที่นี่ก่อนคอนเสิร์ตจะเริ่มแสดงในตอนเย็น ถ้าผลตรวจเป็นลบซึ่งหมายความว่าไม่มีเชื้อโควิด ก็จะเข้าไปดูการแสดงได้ โดยมีข้อแม้เพียงอย่างเดียว คือต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดงาน

(Photo : LLUIS GENE / AFP)
(Photo : LLUIS GENE / AFP)

โรคระบาดเป็นฝันร้ายของนักดนตรี สหพันธ์ดนตรีของสเปนสำรวจพบว่าหลังจากที่เกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ในปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมดนตรีในยุโรปก็สูญเสียรายได้ไปถึง 76 เปอร์เซ็นต์ และดูเหมือนว่าจะไม่มีทางกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้เลย รัฐบาลจึงพยายามหาวิธีที่จะทำให้กลับมาจัดคอนเสิร์ตได้อีกครั้งท่ามกลางโรคระบาดที่จะยังคงอยู่กับเราไปอีกเรื่อยๆ นั่นจึงเป็นที่มาของคอนเสิร์ตใหญ่ฉบับทดลอง หากคอนเสิร์ตครั้งนี้พิสูจน์แล้วว่าปลอดภัย เราอาจได้กลับไปกระโดดที่หน้าเวทีกันอีกครั้งในเร็วๆ วันนี้

(Photo : LLUIS GENE / AFP)
(Photo : LLUIS GENE / AFP)

คอนเสิร์ตครั้งนี้เป็นการรวมตัวครั้งใหญ่ที่สุดในยุโรปนับตั้งแต่โควิด-19 เริ่มระบาด Love of Lesbian วงร็อกอินดี้ที่กำลังโด่งดังในสเปนเป็นวงเดียวที่จะทำการแสดงบนเวทีนี้ เขาเลื่อนวันปล่อยอัลบั้มออกไปนานกว่า 8 เดือน และไม่ได้แสดงสดมาสักพักใหญ่ๆ เมื่อได้กลับมาจับกีตาร์ ร้องเพลงต่อหน้าผู้ชมเต็มฮอลล์ พวกเขาเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของชาวดนตรีอีกครั้ง

(Photo : LLUIS GENE / AFP)
(Photo : LLUIS GENE / AFP)
(Photo : LLUIS GENE / AFP)

อู่ฮั่น

มณฑลหูเป่ย์ สาธารณรัฐประชาชนจีน

ผู้ชมในมณฑลหูเป่ย์กว่า 11,000 คน มารวมตัวกันที่ Strawberry Music Festival หนึ่งในเทศกาลดนตรีที่ยิ่งใหญ่ของประเทศจีน หลังจากที่ทั้งอู่ฮั่นเป็นจุดแรกที่ไวรัสโควิด-19 ระบาด ทั้งเมืองก็ถูกแช่แข็ง ไร้ซึ่งเสียงอึกทึกครึกโครมจากเวทีคอนเสิร์ตไปโดยปริยาย

(Photo : STR / AFP)
(Photo : STR / AFP)

1 พฤษภาคม ที่ผ่านมาเทศกาลดนตรีครั้งยิ่งใหญ่ถูกจัดขึ้นอีกครั้ง แม้จะมีคนมารวมตัวกันเป็นหมื่นๆ แต่ก็ถือว่าน้อยลงกว่าครั้งก่อนๆ ที่เคยจัดมา เพราะครั้งนี้มีการจำกัดพื้นที่อย่างเคร่งครัด กั้นรั้วเป็นส่วนๆ เพื่อไม่ให้ผู้ชมแออัดเท่าแต่ก่อน งานนี้ไม่ได้มีคุมเข้มเรื่องหน้ากากอนามัย จึงทำให้เห็นว่ามีผู้ชมใส่หน้ากากกันบ้างประปราย เนื่องจากสถานการณ์ในประเทศกำลังดีขึ้นเรื่อยๆ นั่นอาจเป็นหลักฐานที่ทำให้เราเห็นว่าประชาชนชาวจีนค่อยๆ เริ่มสบายใจกับการใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ

(Photo : STR / AFP)
(Photo : STR / AFP)

ประเทศจีนฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่องวันละประมาณ 11.6 ล้านโดส และมีผู้ได้รับวัคซีนไปแล้วราวๆ 256 ล้านคน รายงานผู้ติดเชื้อล่าสุดเมื่อ 30 เมษายน มีเพิ่มขึ้นเพียง 16 ราย ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมด อีกทั้งยังมีแนวโน้มว่าจะลดลงเรื่อยๆ เมื่อผู้คนคลายกังวลจากโรคระบาด ทำให้สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในประเทศจีนเริ่มกลับมาคลาคล่ำด้วยผู้คนอีกครั้ง

(Photo : STR / AFP)
(Photo : STR / AFP)

อ้างอิง