จากจุดเริ่มต้นในฐานะวัฒนธรรมนอกกระแสที่อยู่คู่โลกมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 60 ปัจจุบัน กราฟฟิตี้ (Graffiti) ก้าวมามีบทบาทใหม่ในยุคโรคระบาดครองเมือง โดยมีสถานะไม่ต่างจากกระบอกเสียงประจำกระทรวงสาธารณสุขในหลายประเทศทั่วโลก
และเป็นจดหมายแทนความในใจของบรรดาศิลปินแห่งท้องถนน
ภาพเขียนล้อเลียนจิตรกรรมเอกของโลก คนดัง และตัวการ์ตูนที่ต่างสวมหน้ากากอนามัยกันถ้วนหน้า ซึ่งปรากฏอยู่บนกำแพงและผนังอาคารทั้งในอังกฤษ สก็อตแลนด์ อินเดีย บราซิล อิหร่าน ไปจนถึงปาเลสไตน์ คือส่วนหนึ่งของการร่วมแสดงออกทางสังคมของบรรดาศิลปินกราฟฟิตี้ ที่ยืนหยัดทำในสิ่งที่ตนรักให้เข้ากับบริบทแห่งยุคสมัย
นอกเหนือไปจากการสร้างสรรค์งานศิลปะบนผืนกำแพง เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเคร่งครัดแล้ว ภาพวาดส่วนใหญ่มีเนื้อหาให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ที่ต่างก็ทุ่มเททำงานอย่างหนัก ไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนของโลกก็ตาม
และบางภาพก็สะท้อนมุมมองที่ศิลปินมีต่อนโยบายของผู้นำในชาติของตน ที่ราวกับตลกร้าย เมื่อการเพิกเฉยต่อหายนะของโรคระบาดในครั้งนี้ พลอยทำให้พวกเขากลายเป็นผู้ติดเชื้อเสียเอง
เมืองกลาสโกว์ ประเทศสก็อตแลนด์
กราฟฟิตี้เป็นศิลปะที่ปรากฏดาษดื่นบนกำแพงและผนังอาคารทั่วเมืองกลาสโกว์ ดังนั้น ในยามที่ต้องตกอยู่ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดแบบนี้ ศิลปินในเมืองกลาสโกว์ย่อมเกิดแรงบันดาลใจท่วมท้นในการวาดภาพที่สะท้อนถึงเหตุบ้านการเมืองในปัจจุบัน คอนเซ็ปต์ที่ศิลปินในหลายประเทศทั่วโลกเลือกใช้ คือ การให้ตัวละครในภาพเขียนชิ้นเอกของโลกสวมหน้ากากอนามัย โดยหญิงสาวกับต่างหูมุก (Girl with a Pearl Earring) ของโยฮันเนิส เฟอร์เมร์ (Johannes Vermeer) เป็นหนึ่งในภาพที่ได้รับการเขียนขึ้นใหม่ในรูปแบบของกราฟฟิตี้ในหลายประเทศทั่วโลก
เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย
หญิงสาวคนหนึ่งกำลังเดินผ่านภาพวาดบนผนังในเมืองมุมไบ ที่ได้แรงบันดาลใจจาก Creation of Adam ผลงานภาพวาดชิ้นอมตะของไมเคิลแองเจโล ที่ถูกนำมาเล่าใหม่เป็นภาพการยื่นเจลแอลกอฮอล์และหน้ากากอนามัยให้แก่กัน เพื่อส่งเสริมมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด
กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล
หนึ่งในฉากอมตะจากภาพยนตร์เรื่อง Pulp Fiction อย่างภาพของมือปืนคู่หู ‘จูลส์กับวินเซนต์’ ถูกนำมาเล่าใหม่ในรูปแบบของกราฟฟิตี้ในหลายประเทศทั่วโลกระหว่างการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่นเดียวกับภาพนี้บนกำแพงแห่งหนึ่งในกรุงเทลอาวีฟ ที่ทั้งคู่กำลังเล็งเทอร์โมมิเตอร์วัดไข้ไปยังผู้คนที่เดินผ่านไปมา
กรุงเม็กซิโกซิตี้ ประเทศเม็กซิโก
ฟรีดา คาห์โล คือศิลปินหญิงผู้ยิ่งใหญ่ในใจชาวเม็กซิกัน ฮูลิโด อะเฟรา (Julio Aferra) ศิลปินชาวเม็กซิกันจึงวาดภาพขนาดยักษ์ของเธอบนกำแพงอาคาร โดยไม่ลืมให้ฟรีดาสวมหน้ากากอนามัย เพื่อเชิญชวนให้ชาวเมืองร่วมปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโดยทั่วกัน
กรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน
ถังขยะสีเหลืองทรงสี่เหลี่ยมถูกเติมหน้าตาให้คล้ายตัวการ์ตูนฟองน้ำสีเหลืองในเรื่อง สปอนจ์บ็อบ สแควร์แพนต์ (SpongeBob SquarePants) สวมหน้ากากอนามัย เป็นอีกหนึ่งไอเดียชวนยิ้มท่ามกลางความเครียดในช่วงเวลาของการล็อกดาวน์
กาซาซิตี้ ปาเลสไตน์
คนไข้หญิงชาวปาเลสไตน์ผู้ป่วยเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์กำลังนั่งอย่างหมดอาลัยตายอยากอยู่หน้าภาพกราฟฟิตี้ ที่สื่อถึงการต่อสู้ของบุคลากรทางการแพทย์ในการทำทุกวิถีทางเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสอันตราย ซึ่งทั้งความขัดแย้งทางการเมืองและการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ทำให้เธอหมดหวังในการเดินทางเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในเขตเวสต์แบงค์ ที่มีความพร้อมมากกว่าระบบสาธารณสุขในกาซาซิตี้
กรุงโคลอมโบ ประเทศศรีลังกา
ชายชาวศรีลังกากำลังเดินผ่านภาพวาดบนกำแพง ที่สะท้อนให้เห็นถึงสภาวะของการล็อกดาวน์ที่ไม่ต่างอะไรกับกรงขังมนุษย์ ที่มีอิสระภาพอยู่แค่ในโลกโซเชียล
เมืองอิดลิบ ประเทศซีเรีย
ลปินชาวซีเรียบันทึกภาพเมื่อครั้งโดนัลด์ ทรัมพ์ ติดเชื้อโควิด-19 เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2020 โดยสื่อผ่านภาพทรัมพ์กำลังงัดข้อกับไวรัสอย่างหน้าดำคร่ำเคร่งบนกำแพงในตึกที่แทบจะกลายเป็นซากปรักหักพัง แต่ก็ไม่อาจขังหัวใจของคนรักศิลปะอย่างพวกเขา
กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
หัวใจสีแดงและชมพูจำนวนกว่า 150,000 ดวง บนกำแพงผืนนี้ไม่ใช่ภาพกราฟฟิตี้ของศิลปินคนไหน แต่เป็นหัวใจที่ถูกวาดขึ้นโดยอาสาสมัคร เพื่อเป็นการรำลึกถึงผู้ที่จากไปด้วยโรคโควิด 19 บน National Covid Memorial Wall บริเวณกำแพงริมน้ำทางฝั่งใต้ของแม่น้ำเทมส์ในกรุงลอนดอน
กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา
ภาพวาดสีสันสดใส ลายเส้นเข้าใจง่าย วาดโดยองค์กรเพื่อสังคมแห่งหนึ่งในเคนยา เพื่อกระตุ้นให้ชาวเมืองหมั่นล้างมือ และสวมหน้ากากอนามัยในชีวิตประจำวัน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
เมืองโอวีฟ ประเทศยูเครน
บุคลากรทางการแพทย์ทั่วโลกต่างก็ต้องเหน็ดเหนื่อย อ่อนล้า และทนร้อนอยู่ในชุด PPE ด้วยกันทั้งนั้น เช่นเดียวกับบุคลากรประจำห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาลที่เมืองโอวีฟคนนี้ ที่อาจจะฮึดสู้ขึ้นมาได้อีกครั้ง เมื่อเห็นคำขอบคุณและกำลังใจจากชาวยูเครนที่มอบแด่พวกเขาผ่านภาพกราฟฟิตี้ขนาดยักษ์บนผนังอาคาร
เมืองเซาเปาโล ประเทศบราซิล
“คุณเลือกที่จะอยู่ข้างไหน?” คือความหมายของคำถามที่กำกับภาพกราฟฟิตี้เสียดสีพฤติกรรมของประธานาธิบดีชาอีร์ โบลโซนาโร แห่งบราซิล เมื่อเขาเลือกที่จะเพิกเฉยต่อความร้ายแรงของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และเรียกร้องให้ผู้ว่าการในระดับภูมิภาคผ่อนคลายการปิดเมือง รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการสวมหน้ากากอนามัย ราวกับเขาเลือกที่จะอยู่ข้างเดียวกับเชื้อไวรัส แล้วปล่อยให้บุคลากรทางการแพทย์ทำงานหนักอยู่ฝ่ายเดียว ซึ่งท้ายที่สุดประธานาธิบดีชาอีร์ก็ติดเชื้อไวรัสโคโรนา ในเดือนกรกฎาคม ปี 2020
เมืองโคนาครี สาธารณรัฐกินี
ภาพกราฟฟิตี้ขนาดใหญ่ลายเส้นและสีสันสดใสถูกวาดขึ้นตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของโรคโควิด 19 ในระยะแรก ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2020 เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนชาวแอฟริกาสวมใส่หน้ากากอนามัยในชีวิตประจำวัน
เมืองเตกูซิกัลปา สาธารณรัฐฮอนดูรัส
กราฟฟิตี้รณรงค์ให้สวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือด้วยสบู่ หรือทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์สักกี่ร้อยภาพ ก็ไม่สำคัญเท่าการลงมือทำอย่างจริงจังด้วยการรักษาความสะอาดอย่างเคร่งครัด เช่นเดียวกับหญิงในภาพนี้ที่สวมหน้ากากอนามัยพลางทำความสะอาดพื้นหน้าโรงพยาบาลประจำมหาวิทยาลัยในเมืองแตกูซิกัลปา