นี่คือหนึ่งในประเทศที่ผู้คนท้องถิ่นยังคงวิถีชีวิตใกล้ชิดกับธรรมชาติ
หากหลักฐานที่ใช้ยืนยันความเจริญของบ้านเมืองคือตึกสูงระฟ้าและสิ่งปลูกสร้างตระการตา ประเทศเล็กๆ อย่าง ‘เลโซโท’ (Lesotho) ที่ถูกห้อมล้อมด้วยขุนเขาและแผ่นดินของประเทศแอฟริกาใต้ไม่ต่างกับที่ตาบอดแห่งนี้ นอกจากไม่มีทางออกสู่ทะเลและไม่มีอะไรเข้าเค้าความเจริญที่ว่า ยังเป็นประเทศด้อยพัฒนาที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องดิ้นรนต่อสู้กับความยากจน
แม้ในสายตาของนักท่องเที่ยว จะมองเห็นเลโซโทเป็นเพียงจุดหมายปลายทางที่พวกเขาเดินทางมาชั่วครั้งชั่วคราว เพราะต้องมนตร์ความสงบเนิบช้าและลักษณะภูมิประเทศที่ราบสูง
เช่นเดียวกับภาพของน้ำตกมาเลทซันเยน (Maletsunyane Falls) แลนด์มาร์กสำคัญของประเทศเลโซโทที่โดดเด่นด้วยสายน้ำไหลผ่ากลางหุบผาชันในระดับความสูง 192 เมตร หรือเทียบเท่าตึกสูง 50 ชั้น ซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากความเป็นป่าคอนกรีตที่พวกเขาอาศัยอยู่
เบื้องล่างคือลำธาร เป็นทั้งต้นน้ำให้คนท้องที่ใช้อุปโภคบริโภค และช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้บริเวณโดยรอบมีพืชขึ้นพอเห็นเป็นพื้นที่สีเขียวเข้มแม้แทบจะกลืนไปกับความทะมึนของดินแข็งและหินภูเขา
แต่ใครจะล่วงรู้ว่า ทิวทัศน์ที่คนจำนวนไม่น้อยชื่นชมว่ามีเสน่ห์และน่าหลงใหล แท้จริงแล้วกลับเป็นเพียงพรมผืนสวยที่ปกคลุมปัญหาภัยแล้งและความมั่นคงทางอาหารเอาไว้ เพราะหลายชีวิตที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินนี้ต่างต้องเผชิญหน้ากับบททดสอบจากธรรมชาติและความแร้นแค้นทุกฤดูกาล
เมื่อภาพสวยที่คนส่วนใหญ่เห็นไม่อาจสะท้อนความเป็นจริงทั้งหมดได้ มาร์โก ลองการี (Marco Longari) ช่างภาพสารคดีชาวอิตาเลียน ผู้พำนักอยู่ในประเทศแอฟริกาใต้ จึงตั้งใจลงพื้นที่เข้าไปสัมผัสวิถีชีวิตของชาวเลโซโทที่อาศัยอยู่ในหุบเขา เพื่อบันทึกภาพตรงหน้าใน ‘มุมต่าง’ ซึ่งน้อยคนนักจะมีโอกาสได้เห็น
เลโซโทเป็นเพียงประเทศส่วนน้อยในโลกที่ตั้งอยู่บนความสูง 1,800 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ทำให้พื้นที่เกือบทั้งหมดของประเทศเป็นภูเขาจากบรรพกาลก่อนมนุษย์คนแรกจะถือกำเนิดขึ้นมาด้วยซ้ำ
ไม่ว่าจะยืนอยู่ตรงไหนก็มองเห็นท้องฟ้าโดยไม่มีสิ่งใดบดบัง ราวกับว่าเป็นดินแดนที่ลอยอยู่ท่ามกลางมวลเมฆ เลโซโทจึงได้รับการขนานนามให้เป็น ‘Kingdom of the Sky’ หรือ อาณาจักรแห่งท้องฟ้า
บนเทือกเขามาลูติ (Maluti Mountains) ความยาวกว่า 100 กิโลเมตร มีพื้นที่ราบของหุบเขาเซมอนคอง (Semonkong) เป็นชื่อภาษาถิ่น หมายถึง ดินแดนแห่งหมอกควัน นี่คือแหล่งอาหารของลูกม้า ลูกลา ลูกวัว และลูกแกะที่ชาวบ้านเลี้ยงเอาไว้ เพื่อรอจนกว่าพวกมันจะโตถึงวัยที่นำไปขายต่อหรือใช้งานช่วยทุ่นแรงได้
แม้จะไม่ค่อยมีไม้ใหญ่ยืนต้นให้เห็น แต่ก็ยังพอดีไม้พุ่มและต้นหญ้าอยู่กระจัดกระจายทั่ว ชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงมักจะต้อนฝูงสัตว์มาที่นี่ แล้วปล่อยให้พวกมันเดินเล็มใบหญ้าและต้นไม้เตี้ยเรี่ยดินอย่างอิสระ
ส่วนเส้นทางหลักที่คนนิยมใช้สัญจร เพื่อความสะดวกรวดเร็ว ทางการจะลาดยางเฉพาะถนนที่เชื่อมต่อไปยังกรุงมาเซรู (Maseru) เมืองหลวงของประเทศเลโซโทเท่านั้น แม้คนท้องถิ่นจะนิยมใช้ม้าและลาเป็นพาหนะมากกว่ารถยนต์ก็ตาม
ถัดมาเป็นพื้นที่ตั้งรกรากของผู้คนจำนวนหนึ่ง ซึ่งอยู่รวมกันเป็นชุมชนเล็กๆ ที่มีบ้านพัก โรงเตี๊ยม และสถานที่ทำงาน
ด้วยทรัพยากรที่จำกัดทำให้ทางเลือกมีไม่มากนัก งานที่สร้างรายได้ให้คนละแวกนี้ยึดถือเป็นอาชีพเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตัวเองและคนในครอบครัว คือตัดขนแกะขาย เพราะขนแกะเป็นสินค้าส่งออกที่ประเทศแอฟริกาใต้ต้องการต่อเนื่อง
คนที่ทำงานในโรงตัดขนแกะจะแบ่งแยกหน้าที่กันชัดเจน ผู้ชายเป็นคนตัดขน ส่วนผู้หญิงเป็นคนคัดแยกขนแกะตามคุณภาพที่แต่ละแหล่งรับซื้อกำหนดไว้
หากมีเวลาว่างสุดสัปดาห์ หรือช่วงพักระหว่างทำงาน ผู้ชายบางส่วนจะมารวมตัวกันที่โรงเตี้ยม เพื่อดื่มเหล้า สูบบุหรี่ สังสรรค์ และพูดคุยเรื่องสัพเพเหระ
ที่พักของคนท้องถิ่นมีทั้งเป็นบ้านก่ออิฐถือปูนและบ้านที่สร้างด้วยดินเหนียว รูปแบบการก่อสร้างดูแปลกตาเช่นนี้เรียกว่า โคเม (Kome) มีมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 ปัจจุบันได้รับการยกย่องให้เป็นแหล่งมรดกวัฒนธรรมประจำชาติ
สาเหตุที่ต้องสร้างบ้านดินเหนียวหลบใต้แนวหิน นอกจากป้องกันไม่ให้ฝนที่ตกลงมาชะล้างความหนาแน่นของดิน จะได้ไม่ชื้นและอ่อนนุ่มจนถล่มลงมาแล้ว ยังใช้หลบเลี่ยงสายตาของศัตรูจากสงครามระหว่างชนเผ่า และการไล่ล่าของชนเผ่ากินคน
ภายในบ้านดินเหนียวของมูเคตา ไมเนีย (Moeketsi Maieane) อายุ 45 ปี มีข้าวของที่จำเป็นและเครื่องใช้ไฟฟ้าเหมือนกับบ้านปกติ
ความยากจนข้นแค้นบังคับให้วิถีชีวิตของผู้คนที่นี่ต้องอยู่อย่างเรียบง่ายและธรรมดาที่สุด ชาวบ้านส่วนใหญ่ปลูกพืชผักไว้ทำอาหารกินเองอย่าง ผักโขม ข้าวโพด ข้าวฟ่าง และมันฝรั่ง
สกาย พาโค (Sky Phakoa) สาววัย 23 ปี กำลังเดินเท้ากลับที่พัก หลังเก็บเกี่ยวพืชผักที่เธอเพาะปลูกเองเสร็จ เพื่อเตรียมทำอาหารเย็นให้คนที่บ้าน
หากแก๊สหมด ถือเป็นความรับผิดชอบของ มาเตโคอา ลิเบอ (Mathekoa Libe) หนุ่มวัย 18 ปี ที่ต้องขี่ลาคู่ใจไปเติมแก๊สหุงต้มในเมืองหลวง ซึ่งไกลจากบ้านของเขาประมาณ 24 กิโลเมตร นั่นหมายความว่า ลิเบอต้องขี่ลาไปกลับราว 48 กิโลเมตร เพื่อเติมแก๊สเพียงถังเดียว
ทาโบ แมทิว (Thabo Mathie) หนุ่มวัย 27 ปี กับหมาที่เขาเลี้ยงไว้ (ตัวซ้าย) หมาคือสัตว์เลี้ยงเพียงชนิดเดียวของคนท้องถิ่น ถึงอย่างนั้นก็มีหมาจำนวนหนึ่งถูกเจ้าของทิ้งให้กลายเป็นหมาจรจัด
เครื่องแต่งกายของคนชนบทยังคงความเป็นพื้นเมืองเอาไว้ สังเกตได้จากหมวกฟาง ผ้าโพกหัวพิมพ์ลาย และผ้าผืนใหญ่ที่ใช้คลุมตัว มีทั้งผ้าผืนเรียบสีเดียว และผ้าที่ทอเป็นลายประจำถิ่น อาจใส่รวมกับเสื้อผ้าตามสมัยนิยมด้วย อย่างเสื้อกีฬา เสื้อคอปก กางเกงขายาว กางเกงยีนส์ ขึ้นอยู่กับกาลเทศะ
แดเนียล มาธาลา (Daniel Mathala) คุณพ่อวัย 75 ปี แต่งตัวด้วยเสื้อที่ตัดเย็บจากผ้าพื้นเมือง เพราะต้องไปร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีแต่งงาน
เดวิด โมเลฟี (David Molefe) สาววัย 22 ปี คลุมผ้าทอลายในแบบที่เธอชอบ
หลังจากดูภาพถ่ายของลองการีครบถ้วนแล้ว หากยังจินตนาการไม่ออกถึงความต่าง อยากให้ลองค้นหาภาพถ่ายของประเทศเลโซโทในเว็บไซต์ท่องเที่ยวอื่นๆ มาเปรียบเทียบ แล้วจะยิ่งเห็นชัดเจนว่า ‘มุมต่าง’ ที่ลองการีเลือกนำเสนอนั้น แตกต่างจากภาพถ่ายทั่วไปขนาดไหน