w©rld

หนาวนี้ที่มหานครนิวยอร์ก ช่างแตกต่างจากปีก่อนๆ เพราะทั้งเมืองไม่ได้ขาวโพลนด้วยหิมะอย่างที่ควรจะเป็น

บรรดา ‘นิวยอร์กเกอร์’ หรือผู้คนที่อาศัยและใช้ชีวิตอยู่บนเกาะแมนฮัตตัน โดยเฉพาะบริเวณรอบๆ เซ็นทรัลพาร์ก (Central Park) ซึ่งเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ใจกลางมหานครนิวยอร์ก ต่างก็สงสัยเหมือนกันว่า หิมะหายไปไหน ทำไมยังไม่ตกสักที?

ภาพเปรียบเทียบภายในสวนสาธารณะเซ็นทรัลพาร์ก
(บน) 7 มกราคม 2022 (ล่าง) 13 มกราคม 2023
Photos: Ed Jones, Angela Weiss / AFP

เพราะหิมะแรกของฤดูหนาวปลายปี 2021 ได้ตกลงมาในวันที่ 23 ธันวาคม ก่อนคืนคริสต์มาสอีฟเพียงหนึ่งวัน ส่วนปลายปีที่ผ่านมา ถึงแม้อากาศจะเย็นจัดจนอุณหภูมิติดลบ ส่งผลให้พื้นที่อื่นๆ ในสหรัฐอเมริกามีหิมะตกตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว แต่บนเกาะแมนฮัตตันแห่งนี้ กลับไม่มีวี่แววว่าหิมะแรกจะตกลงมาในเร็ววัน

ข้อมูลจากสำนักงานบริการสภาพอากาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (National Weather Service) ระบุว่า เหตุการณ์ทำนองนี้เคยเกิดขึ้นครั้งหนึ่งในปี 1973 เพราะกว่าหิมะแรกจะตก ก็ล่วงเลยเข้าสู่วันที่ 29 มกราคม

ภาพเปรียบเทียบบริเวณย่านบรุคลิน (Brooklyn)
(บน) 14 มีนาคม 2017 (ล่าง) 25 มกราคม 2023
Photos: Angela Weiss / AFP

หากดูข้อมูลหิมะแรก ที่สำนักงานเริ่มเก็บบันทึกไว้ตั้งแต่ปี 1869 จนถึงปัจจุบัน รวม 153 ปีติดต่อกัน ครั้งที่หิมะแรกตกเร็วที่สุดเป็นประวัติการณ์ เกิดขึ้นวันที่ 15 ตุลาคม 1876 ส่วนค่าเฉลี่ยของวันที่หิมะแรกตก คือ วันที่ 7 ธันวาคม

แต่แล้วการรอคอยเนิ่นนานก็ได้สิ้นสุดลง เมื่อหิมะแรกของฤดูหนาวครั้งนี้ ซึ่งควรจะตกตั้งแต่ปลายปี 2022 กลับเพิ่งมาตกช่วงเช้ามืดของวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2023 สร้างสถิติใหม่เป็นวันที่หิมะแรกตกล่าช้าที่สุดในรอบ 50 ปี

ภาพเปรียบเทียบบริเวณไทม์สแควร์ (Times Square)
(บน) 29 มกราคม 2022 (ล่าง) 26 มกราคม 2023
Photos: Ed Jones / AFP

จริงๆ แล้ว เครื่องมือตรวจจับหิมะของสำนักงาน ซึ่งติดตั้งไว้ในเซ็นทรัลพาร์ก ได้ส่งสัญญาณเตือนว่า เริ่มมีหิมะตกลงมาตั้งแต่กลางเดือนมกราคมบ้างแล้ว แต่ยังเบาบางมาก วัดความหนาได้เพียง 0.1 นิ้ว ถือเป็นปริมาณที่น้อยเกินกว่าจะเรียกว่า ‘หิมะแรก’ ได้ ประกอบกับบริเวณแหล่งน้ำธรรมชาติก็ยังไม่เริ่มเกาะตัวเป็นน้ำแข็ง จึงไม่นับว่าเป็นช่วงเวลาที่หิมะแรกตก

ภาพเปรียบเทียบบริเวณทางเลียบแม่น้ำอีสต์ (East River)
(บน) 2 กุมภาพันธ์ 2021 (ล่าง) 25 มกราคม 2023
Photos: Angela Weiss / AFP

เนลสัน วาซ (Nelson Vaz) นักอุตุนิยมวิทยาประจำกสำนักงานบริการสภาพอากาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา และ แอนดรูว์ เจ. ครูซกีวิคซ์ (Andrew J. Kruczkiewicz) นักวิจัยด้านบรรยากาศและอุตุนิยมวิทยา ประจำมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เห็นตรงกันว่า หิมะแรกในมหานครนิวยอร์ก ควรจะเริ่มตกเดือนธันวาคม แล้วตกหนักที่สุดในเดือนกุมภาพันธ์ ก่อนจะหยุดตกในเดือนมีนาคม

ภาพเปรียบเทียบวิวชั้น 100 ของตึกดิ เอดจ์ (The Edge) ในโครงการฮัดสัน ยาร์ด (Hudson Yards)
(บน) 29 มกราคม 2022 (ล่าง) 16 มกราคม 2023
Photos: Timothy A. Clary, Ed Jones / AFP

แต่ปรากฏการณ์ลานีญา (La Niña) ทำให้สภาพอากาศแปรปรวน ความหนาวเย็นที่ควรปกคลุมทั่วนิวยอร์ก กลับกระจุกตัวอยู่แค่ทางตอนเหนือและตะวันตกเท่านั้น เหตุนี้เองจึงเกิดพายุหิมะรุนแรงในเมืองบัฟฟาโล ต่างจากมหานครนิวยอร์กที่มีฝนตกแทนจนทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น ต้องใช้ระยะเวลาอีกหลายวันกว่าอุณหภูมิจะลดต่ำลง 

ภาพเปรียบเทียบบนสะพานบรุคลิน (Brooklyn Bridge)
(บน) 7 กุมภาพันธ์ 2022 (ล่าง) 25 มกราคม 2023
Photos: Angela Weiss / AFP

แม้ว่าหิมะแรกของฤดูหนาวนี้มาเยือนชาวนิวยอร์กช้ากว่ากำหนด แต่ก็ยังดีกว่าไม่ตกลงมาเลย เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นจริง สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่า ไม่ใช่ความน่าผิดหวังที่ผู้คนไม่ได้เห็นหิมะ แต่คือความผิดปกติของสภาพอากาศ ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนที่เราทุกคนต้องเผชิญหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

 

อ้างอิง