w©rld

เป็นยิ่งกว่าโอเอซิสท่ามกลางดินแดนอันแล้งไร้ เมื่อ  มุมหนึ่งแห่งความเวิ้งว้างของทะเลทรายธาร์ (Thar) พื้นที่แห้งแล้งขนาดใหญ่ติดอันดับ ของโลก ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดียและประเทศปากีสถาน เป็นที่ตั้งของโรงเรียนสตรีที่มีดีไซน์สวยเก๋ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก 

desert school
Photo: https://vinaypanjwani.smugmug.com/

โรงเรียนหญิงล้วนแห่งนี้มีชื่อว่า ราชกุมารี รัตนวตี (Rajkumari Ratnavati Girl’s School) ตั้งอยู่ในเมืองจัยซัลมร์ (Jaisalmer) รัฐราชสถาน เปิดสอนเด็กนักเรียนหญิงจำนวน 400 คน อายุระหว่าง 5-16 ปี

desert school
Photo: https://vinaypanjwani.smugmug.com/

หากมองมาจากระยะไกล นักเดินทางที่อาจจะเริ่มตาลายจากการเพ่งสายตาฝ่าเปลวแดดจ้าไร้เงาไม้กำบังมาตลอดทาง คงคิดว่ากำแพงสีทรายเตี้ยๆ ที่ฉลุรูโดยรอบแห่งนี้ คงเป็นกำแพงป้อมปราการสักหลังจากจำนวนหลายพันแห่งที่นิยมสร้างขึ้นทั่วแคว้นแดนภารตะ 

แต่ยิ่งเดินทางเข้าใกล้ กลับพบว่าสถาปัตยกรรมรูปไข่หาใช่ป้อมปราการ แต่เป็นโรงเรียนที่สร้างขึ้นจากหินทรายล้วนๆ จึงมีสีสันกลมกลืนไปกับพื้นที่ แต่กลับโดดเด่นด้วยดีไซน์การออกแบบเรียบแปลกตา ต่างจากสถาปัตยกรรมวิจิตรอลังการตามแบบฉบับภารตะทั่วไป

desert school
Photo: https://vinaypanjwani.smugmug.com/

เหตุผลก็เพราะโรงเรียนราชกุมารี รัตนวตี ออกแบบโดย ไดอานา เคลล็อกก์ (Diana Kellogg) สถาปนิกหญิงแห่งมหานครนิวยอร์ก ที่ตั้งใจออกแบบโรงเรียนแห่งนี้เป็นรูปทรงไข่ อันเป็นสัญลักษณ์ที่เข้าใจได้โดยสากลว่าสื่อถึงความเป็นเพศหญิง 

นอกจากนี้ รูปทรงวงรีของไข่ยังแฝงนัยความแข็งแกร่งไปในตัว

desert school
Photo: https://vinaypanjwani.smugmug.com/

โรงเรียนแห่งนี้มีพื้นที่ 836 ตารางเมตร สร้างขึ้นด้วยหินทรายทำมือ ซึ่งผลิตขึ้นจากภูมิปัญญาของชาวบ้านในท้องถิ่น ประกอบด้วยห้องคอมพิวเตอร์และห้องเรียนจำนวน 10 ห้อง เรียงรายโอบล้อมลานกิจกรรมตรงกลาง โดยในอนาคตจะมีการติดตั้งกันสาด เพื่อกันแดดที่แผดแสงแรงกล้าตลอดทั้งวัน

desert school
Photo: https://vinaypanjwani.smugmug.com/

ด้วยความที่ทำเลของโรงเรียนตั้งอยู่ใจกลางทะเลทรายอันร้อนระอุ การระบายความร้อนภายในตัวอาคารจึงเป็นหัวใจสำคัญ ไดอานาจึงออกแบบให้กำแพงหินโดยรอบมีลักษณะเป็นช่องเป็นรู เพื่อระบายความร้อนและเพิ่มลูกเล่นของแสงและเงาจากพระอาทิตย์ที่เปลี่ยนทิศตลอดวัน

ภายในห้องเรียนแต่ละห้องได้รับการออกแบบให้มีช่องระบายลมตลอดแนวด้านบนของผนัง ทั้งเพื่อให้ลมสามารถพัดเข้ามาได้ และเป็นช่องแสงที่ทำให้เกิดลวดลายของเงาสี่เหลี่ยมทอดเรียงรายเข้ามาในห้องเรียน

desert school
Photo: https://vinaypanjwani.smugmug.com/

แม้จะเป็นโรงเรียนชั้นเดียว แต่ก็มีทางลาดสำหรับขึ้นไปยังระเบียงด้านบน ที่ก่อกำแพงกันตกตลอดแนว โดยฉลุเป็นช่องสี่เหลี่ยมเล็กๆ ในลักษณะคล้ายม่านบังตา ที่ชาวอินเดียเรียกว่า joli มีคุณสมบัติกรองแดด พรางสายตา และเป็นช่องลมไปในตัว

desert school
Photo: https://vinaypanjwani.smugmug.com/

พื้นระเบียงด้านบนปูด้วยกระเบื้องโมเสคสีฟ้าสดใส เฉดเดียวกับนภาไร้เมฆที่ปกคลุมทะเลทรายราวกับหลังคา เหตุผลที่เลือกใช้โมเสคสีฟ้าไม่ใช่เพื่อความสวยงาม แต่เน้นคุณสมบัติในการสะท้อนความร้อน และกักเก็บความเย็นให้กับตัวอาคารทั้งหลังเป็นสำคัญ

desert school
Photo: https://vinaypanjwani.smugmug.com/

เกือบครึ่งวงรีของระเบียงดาดฟ้าเรียงรายด้วยแผงโซลาร์เซลล์ ทำหน้าที่ผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับโรงเรียน และเป็นร่มบังแดดให้เด็กๆ สามารถวิ่งเล่นใต้ร่มเงาได้อย่างสบายใจ ในขณะที่ระบบชลประทานของโรงเรียนพึ่งพาทรัพยากรจากน้ำฝนเป็นหลัก ซึ่งสตูดิโอไดอานา เคลล็อกก์ ได้ออกแบบระบบพลังงานทั้งหมดเอาไว้พร้อมใช้งาน

ไดอานาออกแบบโรงเรียนสตรีแห่งนี้โดยให้ความสำคัญกับพื้นที่และแสงเงา เธอมุ่งหวังให้โครงสร้างรูปไข่ของอาคารสะท้อนจิตวิญญาณและพลังจากธรรมชาติประจำท้องถิ่น ในการเสริมสร้างสติปัญญาและความกล้าแกร่งแก่เด็กหญิง รวมถึงผู้หญิงทุกคนในชุมชนด้วยตัวของมันเอง

desert school
Photo: https://vinaypanjwani.smugmug.com/

โรงเรียนกลางทะเลทรายนี้สร้างขึ้นจากการสนับสนุนโดย จิตตา (CITTA) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ก่อตั้งโดย ไมเคิล ดอบบ์ (Michael Daube) ศิลปินชาวอเมริกัน ที่ทำงานด้านพัฒนาชุมชนที่อยู่ห่างไกลในหลายแห่งทั่วโลกมานานกว่า 30 ปี โดยเน้นไปที่การพัฒนาด้านสุขภาพ การศึกษา และส่งเสริมเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเอง

สำหรับเหตุผลที่ต้องสร้างโรงเรียนหญิงล้วนในทะเลทราย เพราะจากสำรวจพบว่า สถิติของประชากรเพศหญิงที่ไม่รู้หนังสือในชุมชนทะเลทรายธาร์สูงที่สุดในอินเดีย ยังไม่นับถึงการที่เพศหญิงถูกกดขี่จนกลายเป็นจารีตยากจะแก้ไขในอินเดียมาอย่างยาวนาน การสร้างโรงเรียนหญิงล้วนที่นี่จึงเป็นความหวังในการปลูกฝังค่านิยมใหม่ๆ ให้แก่เด็กหญิงที่กำลังเติบโตขึ้นเป็น ‘ผู้หญิง’ ของอินเดีย ให้เป็นสตรีที่มีการศึกษา และหาเลี้ยงตัวเองได้อย่างสมศักดิ์ศรีในอนาคต

desert school
Photo: https://vinaypanjwani.smugmug.com/

ดังนั้น โรงเรียนราชกุมารี รัตนวตี ที่เดิมวางแผนไว้ว่าจะเปิดทำการสอนในเดือนกรกฎาคมปีนี้ จึงเป็นเฟสแรกของโปรเจคท์ The Gyaan Center Jaisalmer โดยในอนาคตจะมีการก่อสร้างส่วนต่อขยายอีก 2 เฟสตามมา ได้แก่ พื้นที่สำหรับจัดแสดงนิทรรศการ พิพิธภัณฑ์ และห้องสมุด กับอาคารทรงไข่อีกหนึ่งหลังที่จะเป็นสหกรณ์สตรีสำหรับเปิดอบรมทักษะการทอและปักผ้า ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ประจำชุมชนกลางทะเลทรายแห่งนี้ เพื่อสนับสนุนการศึกษาแก่เด็กหญิงและเสริมสร้างอาชีพแก่ผู้หญิงให้สามารถพึ่งพาตนเองได้แบบครบวงจร ซึ่งจะเปิดให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเยี่ยมชมต่อไปในอนาคต

อ้างอิง