w©rld

คุณเป็นคนหนึ่งหรือเปล่าที่กำลังสนุกกับการเล่นสเก็ตบอร์ด เซิร์ฟสเก็ต อินไลน์สเก็ต ฯลฯ อย่างเมามัน 

แล้วคุณเคยคิดไหมว่าในอนาคตอันใกล้ เมื่อมีกิจกรรมใหม่มาแทนที่ คุณจะจัดการกับบอร์ดชิ้นโปรดอย่างไร จะแขวนบนผนังไว้ประดับบ้าน? เก็บไว้ใต้เตียง? ขายต่อ? แล้วจะขายใคร ขายอย่างไรให้เกิดมูลค่าสูงสุด 

ที่แน่ๆ คำถามนี้จะไม่เกิดขึ้นกับลูกค้า Prime Member ที่ซื้อสินค้ากับ Amazon เพราะเขามีผู้ช่วยชั้นดีในการคำนวณราคาและประกาศขายสินค้าทุกชิ้นที่ซื้อกับ Amazon ให้เสร็จสรรพ

Amazon After
Photo: https://www.amronexperimental.com/AmazonAfter.html

ฟีเจอร์นี้มีชื่อว่า Amazon After สร้างสรรค์ไอเดียโดย สก็อต แอมรอน (Scott Amron) วิศวกรนักออกแบบผลิตภัณฑ์ชาวอเมริกัน ที่ขยันคิดค้นประดิษฐ์สารพัดสิ่งอำนวยความสะดวกใหม่ๆ ให้หลายบริษัทต่างซื้อคอนเซ็ปท์ไปใช้งาน 

ก็อตร่างไอเดีย Amazon After ไว้ในหัวตั้งแต่ปี 2019 และใช้เวลาช่วงล็อคดาวน์ตลอดปี 2020 ในการพัฒนาโปรแกรมจนเป็นรูปเป็นร่าง สามารถแสดงให้เห็นฟังก์ชั่นการทำงานอย่างสมบูรณ์แบบในปีนี้ 

ข้อจำกัดของ Amazon After คือ เปิดให้เฉพาะลูกค้า Prime Member ของ Amazon ใช้งานได้เท่านั้น โดยระบบจะบันทึกรายการสินค้าทุกชิ้นที่ลูกค้าซื้อจาก Amazon แล้วทำการประเมินมูลค่าสินค้าให้อย่างต่อเนื่องว่า ของแต่ละชิ้นควรขายต่อหรือให้เช่าราคาเท่าไรในช่วงเวลาไหน หรือถ้าประสงค์จะบริจาค หน่วยงานใดที่เหมาะสม และถ้าจะนำสินค้าไปรีไซเคิล Amazon After พร้อมเป็นตัวกลางในการนำข้าวของที่หมดอายุการใช้งานแล้ว ไปผ่านกระบวนการแปรรูปให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป

Amazon After
Photo: https://www.amronexperimental.com/AmazonAfter.html

สำหรับลูกค้าที่ใช้งานระบบผู้ช่วยเสมือน (Virtual Assistant) ของ Amazon อย่าง Alexa ก็จะยิ่งใช้งาน Amazon After ได้สะดวกยิ่งขึ้น เพราะคุณสามารถไหว้วาน ลิษา’ ได้ทุกเมื่อ เช่น ถ้าจะขายโทรทัศน์เครื่องนี้ในตอนนี้ จะขายได้ราคากี่บาท หรือ อลิษา ช่วยหาวิธีกำจัดหนังสืบ็อกซ์เซ็ท Chronicles of Narnia ให้หน่อย” เท่านี้อลิษาก็รีบควานหาคำตอบที่เหมาะสมมาให้ทันที

Amazon After
Photo: https://www.amronexperimental.com/AmazonAfter.html

ว่าแต่อลิษารู้ได้อย่างไรว่า เมื่อไรควรขายของในราคาเท่าไร หรือควรนำของที่ไม่ใช้งานแล้วไปส่งต่อให้แก่ใคร 

กระบวนการทำงานของ Amazon After นั้นเริ่มตั้งแต่วินาทีที่คุณคลิกสั่งซื้อสินค้าจาก Amazon โดยระบบจะทำการบันทึกวันที่ซื้อสินค้า และเริ่มต้นเก็บข้อมูลการใช้งานอย่างต่อเนื่องจากการทำงานร่วมกับระบบ IoT หรือ Internet of Things ทำให้สามารถรู้ได้สินค้าแต่ละชิ้นถูกใช้งานไปกี่มากน้อย โดยถ้าในแต่ละเดือนคุณแทบไม่ได้แตะต้องสินค้าชิ้นนั้นๆ เลย อลิษาก็จะประเมินผลการใช้งาน แล้วบอกคุณแบบซื่อๆ เองว่า เอาไปขายต่อดีกว่าไหม

Amazon After
Photo: https://www.amronexperimental.com/AmazonAfter.html

Amazon After จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้ทุกการซื้อสินค้าจาก Amazon และช่วยขยายวงจรชีวิตให้ทุกการขายสินค้าของ Amazon โดยคำนึงถึงลูกค้าตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงขั้นตอนสุดท้าย สก็อตต์กล่าวถึงบริการในอุดมคติที่เขาคิดมาเผื่อให้กับอีคอมเมิร์ซเจ้าดังของโลก 

นอกจากจะดีต่อตัวผู้ขาย ยังดีต่อคนที่กำลังมองหาสินค้าใน Amazon ในรูปแบบของทางเลือกในการต่อรองที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเมื่อสินค้าชิ้นที่เล็งไว้ถูกขายจนเกลี้ยงตลาด ซึ่งตามปกติจะขึ้นข้อความว่า Currently Unavailable ที่บั่นทอนจิตใจของคนกำลังอยากช้อปไม่น้อย

Amazon After
Photo: https://www.amronexperimental.com/AmazonAfter.html

หน้าที่ของ Amazon After คือการเข้ามาอุดช่องโหว่ตรงนี้ ด้วยการเพิ่มปุ่มให้คลิก ใจความว่า Make an offer to everyone who purchased this item โดยเมื่อคลิกเข้าไปจะมีรายการให้เลือกกรอกว่า อยากซื้อสินค้าชิ้นนี้ต่อในราคาเท่าไร หรือประสงค์ที่จะขอเช่า ขอยืม ก็ได้ทั้งนั้น 

เพียงเท่านี้ ความต้องการของผู้ซื้อหรือผู้เช่ากจะถูกส่งไปยังเจ้าของสินค้าทุกคน รอการตอบรับว่าใครอยากขายต่อตามราคาที่ตั้งไว้ หรืออยากจะให้เช่าสินค้าในทำนองสมบัติผลัดกันชม ก็ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด

Amazon After
Photo: https://www.amronexperimental.com/AmazonAfter.html

ทั้งนี้ สิ่งที่ลูกค้า Prime Member ของ Amazon พึงกระทำ ก็คือ ซื่อสัตย์ในการระบุถึงสภาพการใช้งานที่แท้จริงของสินค้า เช่น ไม่เคยใช้, ไม่ค่อยได้ใช้งาน, ใช้งานบ่อย, ใช้งานหนักมาก, สินค้ามีตำหนิ ไปจนถึงสินค้าชำรุด เพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ผู้ซื้อ 

นอกจากนี้ Amazon After ยังได้ปลดล็อคความสามารถพิเศษอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ฟังก์ชั่นในการบริจาคสิ่งของ ค้นหาอะไหล่ หรือนำสินค้าไปรีไซเคิลอย่างมีประสิทธิภาพ  

และจากเดิมที่ Amazon ไม่ได้มีระบบบริการหลังการขายสำหรับสินค้าที่มีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะเจาะจง ที่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการซ่อมแซม เช่น อุปกรณ์ตรวจจับควัน นอกจากการให้ลูกค้าดาวโหลดคู่มือการใช้งานเอาเอง แต่หลังจากนี้ Amazon After จะดำเนินการจัดหาช่างผู้ชำนาญการพิเศษสำหรับซ่อมแซมสินค้าชิ้นดังกล่าวให้อย่างถูกวิธี

Amazon After
Photo: https://www.amronexperimental.com/AmazonAfter.html

แม้ตอนนี้ Amazon จะยังไม่ได้ซื้อไอเดียของสก็อตไปพัฒนาระบบ แต่แนวคิดที่ดีต่อใจผู้บริโภค และเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมไปในตัวแบบนี้ ควรอย่างยิ่งที่บริษัทอีคอมเมิร์ซเจ้าอื่นๆ จะนำไปพัฒนาต่อ 

เพราะถ้าคนทั้งโลกแบ่งกันใช้ของแต่ละชิ้นให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามโมเดลนี้ ข้าวของที่ยังไม่ทันเก่าแต่กลับถูกโละทิ้งก่อนเวลาอันควรก็จะถูกส่งต่อไปยังเจ้าของใหม่ที่ต้องการใช้งาน อันเป็นหนึ่งในวิธีที่จะช่วยลดขยะจากการบริโภคลงได้อย่างเห็นผล 

 

อ้างอิง 

  • Sarang Sheth.”Amazon After” Helps You Sell, Donate, Recycle, or Rent Out Your Past Amazon Purchases. https://bit.ly/3byvMQM 
  • Sarang Sheth.This Simple Idea Hopes to Turn Amazon Into The World’s Biggest Sustainable Second-Hand Store. https://bit.ly/3etjzP2 
  • Yoni Heisler.This Concept Could Revolutionize The Way You Shop At Amazon. https://bit.ly/3rATNfu