ในแต่ละปี นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกได้มีการค้นพบสัตว์และพืชสายพันธุ์ใหม่ รวมถึงสายพันธุ์หายากอยู่เรื่อยๆ ว่าแต่การค้นพบเหล่านี้บอกอะไรกับเราบ้าง และทำไมเราถึงต้องใส่ใจการค้นพบกบ แมงมุม ผีเสื้อ กล้วยไม้ ไปจนถึงวาฬสายพันธุ์ใหม่
คงต้องยกเอาหลายๆ ประโยคที่ Conservation International องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมที่ไม่แสวงหาผลกำไรเคยกล่าวเอาไว้ในปี 2563 เมื่อครั้งที่ได้ประกาศการค้นพบสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่ 20 ชนิดในเขตเทือกเขาแอนดีสของประเทศโบลิเวีย ไว้ว่า
“การสำรวจและค้นพบในครั้งนี้จะเป็นอีกหนึ่งกรณีสำคัญที่ส่งเสริมและสนับสนุนการปกป้องอนุรักษ์พื้นที่ป่า รวมถึงเป็นการเผยแพร่ข้อมูลที่จะมีส่วนช่วยวางแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายในภูมิภาคที่พื้นที่ป่าไม้ไม่ได้เป็นเพียงถิ่นที่อยู่อาศัยสำหรับสัตว์ป่าและพันธุ์พืชเท่านั้น แต่ยังเป็นหัวใจของคนพื้นเมืองที่ต้องดำรงชีวิตด้วยการพึ่งพาอาศัยป่าด้วยเช่นกัน”
ไม่เฉพาะคนพื้นเมืองเท่านั้น แต่คนที่อาศัยในเมืองหลวงเองก็เช่นกันที่แม้จะอยู่ห่างไกลผืนป่า ทว่า ‘เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว’ การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตแม้เพียงสปีชีส์เดียวย่อมส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ราวกับคลื่นใต้น้ำที่รอวันระเบิดโดยที่มนุษย์อาจไม่รู้ตัว
becommon เลยอยากชวนมาทำความรู้จักสัตว์สายพันธุ์ใหม่และสายพันธุ์หายากผ่านบรรดาสิ่งมีชีวิตที่ได้รับเกียรติให้ใช้ชื่อเรียกขานตามบุคคลสำคัญของหลายๆ ประเทศ
เพราะเมื่อได้รู้จักชื่อเสียงเรียงนามกันแล้ว อาจจะสนิทกันมากขึ้น และทำร้ายกันน้อยลง
1.
กบเกรต้า ธันเบิร์ก
Pristimantis gretathunbergae
ลึกเข้าไปในเทือกเขา Chucanti ซึ่งเป็นป่าฝนเขตร้อนในประเทศปานามา ที่มีระดับความสูงกว่า 1,000 เมตร จึงมีสภาพภูมิประเทศที่แยกตัวอออกจากพื้นที่อื่น กลายเป็นดินแดนเฉพาะกิจที่เหมาะจะเป็นบ้านของสัตว์เฉพาะถิ่นที่ไม่ปรากฏโฉม ณ ที่อื่นใดบนโลกใบนี้ เหมือนอย่างกบขนาดจิ๋วสายพันธุ์ใหม่ที่เพิ่งได้รับการค้นพบเมื่อเร็วๆ นี้
การเดินทางจนค้นพบกบจิ๋วสายพันธุ์ใหม่เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2012 โดยทีมนักชีววิทยานานาชาติ นำโดย ดร.เอเบล บาติสตา (Dr Abel Batista) และ ดร. คอนราด เมเบิร์ต (Dr. Conrad Mebert) ที่ชวนกันควบม้าไต่ขึ้นไปบนป่าฝนสูงชันเพื่อค้นหาสัตว์สายพันธุ์ใหม่ จนพบเข้ากับกบไม่ทราบสปีชีส์ซ่อนตัวอยู่บนใบของต้นสับปะรดสียามค่ำคืน
เจ้ากบจิ๋วแห่งปานามามีขนาดเพียง 3-4 เซนติเมตร แต่หัวโต แตกต่างจากกบเขตร้อนสายพันธุ์อื่นๆ ในอเมริกากลาง แถมดวงตาก็ยังกลมโตสีดำขลับ โดดเด่นด้วยขอบปากบนที่ราวกับถูกขีดเขียนด้วยเส้นสีเหลืองตลอดแนว ทั้งยังมีหงอนแหลมเล็กๆ รูปกรวยโผล่อยู่เหนือเปลือกตาด้านบน
พฤติกรรมของกบตาโตสายพันธุ์นี้มักใช้เวลาส่วนใหญ่เกาะอยู่บนใบของต้นสับปะรดสี แล้วทำทุกกิจกรรมตั้งแต่หลับ ผสมพันธุ์ ไปจนถึงการวางไข่
ผ่านเวลามาจนถึงปี 2018 หลังจากทีมนักวิทยาศาสตร์สามารถนำดีเอ็นเอของกบสปีชีส์ดังกล่าวมายืนยันได้ว่านี่คือ กบสายพันธุ์ใหม่ของโลก ผู้สนับสนุนการวิจัยอย่างองค์กร Rainforest Trust ก็ได้จัดงานประมูลขึ้น โดยผู้ที่ชนะการประมูลจะได้รับสิทธิ์ในการตั้งชื่อกบสายพันธุ์ใหม่นี้
ในที่สุด กบจิ๋วสายพันธุ์ใหม่ของโลกก็มีชื่อว่า Pristimantis gretathunbergae โดยผู้ชนะการประมูลเลือกชื่อนี้ตามชื่อของนักรณรงค์เพื่อสภาพภูมิอากาศโลกอย่าง เกรตา ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) เพื่อเป็นเกียรติให้กับทุกความพยายามของเธอในการต่อสู้เพื่อสภาพภูมิอากาศ
“Rainforest Trust ขอตั้งชื่อกบปานามาสายพันธุ์ใหม่ตามชื่อของเกรตา ธันเบิร์ก เพราะเธอเป็นผู้ย้ำเตือนพวกเราถึงอนาคตของทุกสปีชีส์บนโลกใบนี้ว่าขึ้นอยู่กับการกระทำของมนุษย์ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นสิ่งเดียวเท่านั้นที่จะเปลี่ยนแปลงสภาวะวิกฤติของภูมิอากาศโลกได้” ดร. เจมส์ ดัทช์ (Dr. James Deutsch) CEO แห่งองค์กร Rainforest Trust กล่าว
แม้จะได้รับการตั้งชื่อในฐานะสัตว์สายพันธุ์ใหม่ แต่กบเกรตาก็ได้รับการขึ้นบัญชีสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ตามเกณฑ์ของ IUCN Red List เป็นที่เรียบร้อย ด้วยสภาวะของภูมิภาค Cerro Chucantí ในปานามาที่ปัจจุบันมีอัตราการตัดไม้ทำลายป่าและทำฟาร์มปศุสัตว์สูง ทำให้พื้นที่ป่าหายไปมากกว่า 30% ภายในระยะเวลาเพียงทศวรรษเดียว
2.
ผีเสื้อเดวิด แอทเทนเบอเรอห์
Euptychia attenboroughi
ผีเสื้อหายากในป่าเขตร้อนของโคลอมเบียและบราซิล มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Euptychia attenboroughi โดยตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแด่ เซอร์เดวิด แอทเทนเบอเรอห์ (Sir David Attenborough) นักธรรมชาติวิทยาชื่อดังผู้หลงใหลในผีเสื้อเป็นพิเศษ และผีเสื้อชนิดนี้ก็ไม่ใช่สัตว์เพียงชนิดเดียวที่ได้รับการตั้งชื่อตามเซอร์เดวิด ยังมีสัตว์โลกอีกมากมายที่ใช้ชื่อแอทเทนเบอเรอห์
3.
จักจั่นเขาเลดี้กาก้า
Kaikaia Gaga
จักจั่นเขาเจ้าของสีแดงฉูดฉาดแสนจะเป็นเอกลักษณ์ทั้งตัว ดูๆ ไปก็ไม่ต่างอะไรกับบุคลิกที่เด่นเกินเด่นของนักร้องสาวอย่าง เลดี้กาก้า ที่ไม่ว่าจะปรากฏกายในชุดไหนก็สะกดทุกสายตาให้หันมอง ซึ่งเป็นเหตุผลเดียวกับที่จักจั่นเขาสายพันธุ์นี้ได้รับการตั้งชื่อว่า Kaikaia Gaga โดย เบรนแดน มอร์ริส (ฺBrendan Morris) นักศึกษาในมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา ระบุว่า “ถ้าจะมีแมลงตัวไหนได้ชื่อว่า Lady Gaga แมลงตัวนั้นก็คือ จักจั่นเขา เพราะมันมีเขาสุดแปลกในสไตล์เดียวกับแฟชั่นหลุดโลกของเลดี้กาก้า”
จักจั่นกาก้าชอบดูดน้ำหวานจากพืชและส่งเสียงร้องสื่อสารกันเองด้วยการสั่นลำต้นของพืชให้เกิดเสียง แม้จะไม่ถึงขั้นเป็นเพลงก็ตาม
4.
ด้วงเวเดอร์
Agathidium vaderi
ด้วยความที่มีส่วนหัวเหมือนสวมหมวกกันน็อกที่ดันไปคล้ายกับตัวละครอมตะอย่าง ซิธ ลอร์ด หรือดาร์ทเวเดอร์ ในภาพยนตร์ชุด Star Wars นักวิทยาศาสตร์ 2 ราย ได้แก่ เคลลี มิลเลอร์ (Kelly B Miller) และเควนติน วีลเลอร์ (Quentin D Wheeler) จึงตั้งชื่อให้ด้วงสายพันธุ์นี้ว่า Agathidium vaderi ตามลักษณะเด่นที่เห็นภาพชัดเจนทันทีที่เอ่ยนาม
5.
แมลงวันบียอนเซ่
Scaptia beyonceae
ไม่น่าเชื่อว่า แค่การมีขนสีเหลืองเด่นสะดุดตาตรงบั้นท้ายจะทำให้แมลงวันสปีชีส์นี้ (ที่จริงๆ แล้วคือ ตัวเหลือบ) ได้รับการตั้งชื่อว่า Scaptia beyonceae โดยนักวิทยาศาสตร์ที่ชื่อ ไบรอัน เลสสาร์ด (Bryan Lessard) ให้เหตุผลว่า “ขนอุยสีเหลืองทองตรงช่วงก้นของเจ้าแมลงวัน ทำให้ผมนึกถึงชุดสีเหลืองที่บียอนเซ่เคยใส่ เลยตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ควีนบี”
Scaptia beyonceae ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกในปี 1981 ทางตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย แต่ยังไม่ได้รับคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์อย่างเป็นทางการ จนเวลาผ่านไปนาน 30 ปี เจ้าเหลือบท้องเหลืองจึงจะได้รับการตั้งชื่อตามบียอนเซเมื่อปี 2011 นี้เอง โดยหนึ่งในเหตุผลสมทบก็คือ เพราะปี 1981 ที่ค้นพบเหลือบบั้นท้ายดินระเบิดตัวนี้เป็นปีเกิดของควีนบีนั่นเอง
6.
จิ้งหรีดจาซินดา
Hemiandrus jacinda
เหตุผลที่จิ้งหรีดยักษ์สีแดงสายพันธุ์นี้ได้รับการตั้งชื่อว่า Hemiandrus jacinda ตามชื่อของจาซินดา อาร์เดิร์น (Jacinda Ardern) ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของประเทศนิวซีแลนด์ ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำอันดับหนึ่งที่โลกรัก ก็เพราะสีแดงของตัวมันนั่นเองที่ไปพ้องกับสีประจำพรรคเลเบอร์ที่จาซินดาสังกัดอยู่ และจิ้งหรีดสายพันธุ์นี้ถือเป็นแมลงลำดับที่ 4 ที่ใช้ชื่อของน่ายกรัฐมนตรีหญิงคนนี้เป็นชื่อวิทยาศาสตร์
7.
ผีเสื้อกลางคืนโดนัลด์ ทรัมป์
Neopalpa donaldtrumpi
ผีเสื้อกลางคืนตัวนี้คงไม่มีทางรู้ตัวว่าส่วนหัวของมันนั้นเหมือนกับทรงผมของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างโดนัลด์ ทรัมป์ ราวกับแกะ ถึงขนาดที่นักวิทยาศาสตร์ผู้ค้นพบอย่าง ดร.วาซริค นาซารี (Dr. Vazrick Nazari) ต้องตั้งชื่อให้ว่า Neopalpa donaldtrumpi เขาเจอมันขณะกำลังพิจารณาคอลเล็กชั่นผีเสื้อกลางคืนในพิพิธภัณฑ์กีฏวิทยา มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
8.
กบเจ้าฟ้าชายชาร์ลส
Hyloscirtus princecharlesi
เมื่อเจ้าชายกบไม่ได้มีอยู่ในนิทาน แต่มีตัวตนจริงๆ อย่างกบต้นไม้ (หรืออาจเทียบได้กับเขียดตะปาดในบ้านเรา) ใกล้สูญพันธุ์สปีชีส์นี้ ที่ได้รับการตั้งชื่อว่า Hyloscirtus princecharlesi ตามพระนาม “เจ้าฟ้าชายชาร์ลส” ในฐานะทรงเป็นองค์อุปถัมภ์งานกุศลด้านการพิทักษ์ป่าฝนอันเป็นบ้านของกบเหล่านี้
กบต้นไม้ปรินซ์ชาร์ลส ถูกค้นพบครั้งแรกโดย ดร.หลุยส์ เอ โคโลมา (Dr. Luis A. Coloma) เมื่อปี 2008 ระหว่างเก็บตัวอย่างให้พิพิธภัณฑ์ ต่อมาได้มีการออกสำรวจ ณ อุทยานแห่งชาติโคตาคาชิ–คายาพาส (Cotacachi-Cayapas National Park) ในเอกวาดอร์ จึงพบว่ามีกบชนิดนี้อยู่จำนวนจำกัด หลังจากพื้นที่ป่าถูกถางออกไปเพื่อการเกษตร จึงได้มีการเพาะเลี้ยงลูกกบขึ้นภายใต้โครงการอนุรักษ์สัตว์เลื้อยคลายแอมฟิเบียนอาร์ค (Amphibian Ark project) เพื่อเป้าหมายในการขยายพันธุ์และเพิ่มประชากรในธรรมชาติต่อไป
9.
บึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสิน
Taksinus bambus
เมืองไทยเองก็ไม่น้อยหน้า โดยเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 ได้มีการตีพิมพ์ผลการวิจัยอย่างเป็นทางการถึงการค้นพบบึ้ง หรือ ทารันทูล่า (Tarantula) สกุลใหม่ของไทยและของโลกที่จังหวัดตาก โดยได้ชื่อว่า บึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสิน หรือ Taksinus bambus เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติแด่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และยังเป็นการค้นพบในพื้นที่จังหวัดตากอีกด้วย
บึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสิน ถูกพบโดยยูทูบเบอร์นักเดินป่าชื่อดังอย่าง โจโฉ – ทรงธรรม สิปปวัฒน์ ขณะออกทริปในป่าที่แม่ท้อ อำภอเมืองตาก จังหวัดตาก และพบบึ้งชนิดนี้อาศัยในปล้องไผ่ จากนั้นจึงได้รับความร่วมมือจาก อ.ดร. นรินทร์ ชมภูพวง และชวลิต ส่งแสงโชติ ผู้เชี่ยวชาญด้านแมงมุมในการร่วมกันทำการศึกษา จนได้ข้อสรุปที่นำไปสู่การค้นพบบึ้งสกุลใหม่ของบึ้งเอเชีย Ornithoctoninae ในรอบ 104 ปี และเป็นบึ้งสกุลแรกที่เป็นผลงานคนไทย 100%
อ.ดร. นรินทร์ เผยว่าปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ป่าครอบคลุมพื้นที่ 31.64% ของประเทศ และยังมีสัตว์ป่าอีกหลายชนิดที่ไม่ได้รับการบันทึกในประเทศไทย การค้นพบและการศึกษาเกี่ยวกับบึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสินในครั้งนี้จึงเป็นการช่วยปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิต โดยการสร้างความตระหนักรู้ถึงพวกเขา รวมถึงการจัดการและการปกป้องผืนป่าอย่างเหมาะสมต่อไป
อ้างอิง
- Anuja Vartak. Panama’s Newly Discovered Rainfrog Named After Climate Activist Greta Thunberg. https://bit.ly/33KZPn1
- Katie Hunt. A new species of tarantula discovered by Thai YouTube star. https://cnn.it/3H26bNh
- BBC.New species of frog named after Greta Thunberg. https://bbc.in/348JAQC