w©rld

เมื่อปริมาณขยะจากการบริโภคล้นโลก

การแก้ปัญหาจากจุดใดจุดหนึ่งอาจไม่ใช่คำตอบ ผู้ผลิตแบรนด์ยักษ์ระดับโลกจึงร่วมมือกันทำโปรเจกต์ที่ชื่อ ‘Loop’ เพื่อลดปริมาณขยะ โดยใช้ทุกวิถีทาง ไม่ใช่แค่รีไซเคิลหรือรีฟีล แต่คือการรีดีไซน์ห่วงโซ่การบริโภคใหม่ทั้งระบบ

loop project recycle container
บริการส่งสินค้าของโปรเจกต์ Loop ที่มาในรูปแบบถุงผ้า ซึ่งสามารถนำไปใช้ซ้ำได้อีกหลายครั้ง เพื่อลดขยะประเภทกล่องกระดาษส่งของแบบทั่วไป (photo: https://www.aircargonews.net)

‘Loop’ คืออะไร?

‘Loop’ คือเซอร์วิสโซลูชั่นที่เกิดจากความร่วมมือของบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก นำทีมโดย Procter & Gamble หรือ P&G, Unilever, Nestlé, PepsiCo, Danone ซึ่งเป็นเจ้าของสินค้าที่ทุกคนคุ้นตา อย่างแชมพูแพนทีน สบู่โดฟ แปรงสีฟันออรัลบี ไอศกรีมไฮเกนดาส โดยพัฒนาบรรจุภัณฑ์ดีไซน์ใหม่ร่วมกับ
TerraCycle* บริษัทเอกชนสัญชาติอเมริกัน ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจรีไซเคิล 

สินค้าที่อยู่ในโปรเจกต์ Loop จะถูกนำไปใส่ใน ‘บรรจุภัณฑ์’ ที่สามารถเก็บคืน ทำความสะอาด เติมผลิตภัณฑ์เข้าไปใหม่ และนำกลับมาใช้อีกครั้ง

นอกจากนี้ Loop ยังให้บริการเก็บผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วถึงที่บ้านของผู้บริโภค เพื่อนำกลับมารีไซเคิลหรือใช้ซ้ำในอนาคตได้อีกด้วย

https://loopstore.com จึงกลายเป็นเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซที่มีโซลูชั่นใช้ผลิตภัณฑ์หมุนเวียนเป็นรายแรกของโลก โดยนักวิทยาศาสตร์ วิศวกรของบริษัท P&G และโปรเจกต์ Loop ได้ร่วมมือกันพัฒนาเทคโนโลยีทำความสะอาดผลิตภัณฑ์ที่สามารถทำให้นำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างปลอดภัยอีกครั้ง และเป็นบรรจุภัณฑ์ระดับฟู้ดเกรดที่สามารถบรรจุอาหารและของใช้ได้อย่างไร้กังวล ไม่มีสารตกต้าง

loop project recycle container
(photo: https://www.greenbiz.com)

นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับบริษัทอื่นๆ ออกแบบบรรจุภัณฑ์แบบรีฟิลใหม่ให้มีความทนทาน หรูหรา ดีไซน์แบบลิมิเต็ดเอดิชั่น และมาพร้อมคุณสมบัติที่สามารถนำไปใช้งานใหม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น

loop project recycle container
(photo: https://greenisthenewblack.com)

Pantene ออกแบบขวดแชมพูและครีมนวดแบบใหม่ที่ทำจากอะลูมิเนียมน้ำหนักเบา หยิบใช้ได้สะดวกและมีความทนทาน

loop project recycle container
(photo: http://www.newspressnow.com)

Tide แบรนด์ผลิตภัณฑ์ซักผ้าอันดับหนึ่งของสหรัฐอเมริกา นำเสนอขวดที่ทำจากสแตนเลสที่มีความทนทาน สามารถเปิดใช้ได้ง่าย

loop project recycle container
(photo: ttps://www.goodnet.org)

Häagen Dazs แบรนด์ไอศกรีมชื่อดัง มาในรูปแบบกระปุกสแตนเลสที่พร้อมให้รีฟิลได้หลายครั้ง เก็บความเย็นได้ดี และเปิดปิดง่ายๆ ด้วยฝาหมุน

loop project recycle container
(photo: https://www.phillyvoice.com)

Crest ผลิตภัณฑ์น้ำยาบ้วนปาก มาในรูปแบบขวดแก้วแบบรีฟิล แต่มีน้ำหนักเบา

loop project recycle container
(photo: https://www.beautypackaging.com)

Axe, Degree, และ Dove โรลออนระงับกลิ่นกายที่เปลี่ยนดีไซน์มาในบรรจุภัณฑ์สแตนเลส สามารถรีฟีลได้อย่างน้อย 100 ครั้ง อายุการใช้งานประมาณ 8 ปี ซึ่งการรีฟีล 1 ครั้ง จะช่วยลดการใช้บรรจุภัณฑ์แบบปกติที่จะกลายเป็นขยะได้ประมาณ 100 ชิ้น 

ช้อปช่วยโลกกับ Loop

Loop จะเปิดตัวให้คนรักโลกได้ช้อปสินค้ากันตั้งแต่กลางปี 2019 นี้ โดยเริ่มต้นที่กรุงนิวยอร์กและปารีส ผ่านเว็บไซต์ https://loopstore.com ซึ่งตอนนี้มีบริษัทจากทั่วโลกมากกว่า 20 แบรนด์ เข้าร่วมโปรเจกต์นี้

โดย Loop ได้แบ่งวิธีช้อปช่วยโลกเป็น 5 ขั้นตอน เพื่อให้ผู้คนรู้ว่า พวกเขาจะช่วยโลกใบนี้ได้อย่างไร

  • ช้อปปิ้ง: เริ่มต้นช้อปสินค้าที่เป็นพันธมิตรผ่านทางเว็บไซต์ของ Loop ซึ่งลูกค้าจะได้เลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากแบรนด์ชั้นนำที่บรรจุอยู่ในแพ็กเกจที่ออกแบบใหม่สำหรับ Loop โดยเฉพาะ
  • รับสินค้า: ผู้บริโภคจะได้รับสินค้าที่สั่งจากเว็บไซต์ โดยทาง ยูพีเอส (UPS) บริษัทขนส่งสินค้าและไปรษณีย์เอกชนที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกาและมีสาขาอยู่ทั่วโลก เป็นผู้จัดส่งให้ถึงหน้าบ้าน มาในรูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่ทนทาน และถูกบรรจุอยู่ในถุงผ้าที่ออกแบบเป็นพิเศษ แลดูคล้ายกล่องขนาดใหญ่ เพื่อช่วยลดการใช้วัสดุสำหรับจัดส่ง
  • ใช้ผลิตภัณฑ์: ผู้บริโภคไม่ต้องกังวลเรื่องคุณภาพของผลิตภัณฑ์ในกล่องหรือขวดใหม่ เพราะบรรจุภัณฑ์จาก Loop ถูกผลิตด้วยวัสดุที่เป็นฟู้ดเกรด ไม่มีสารตกค้างและไม่เป็นอันตราย
  • คืนบรรจุภัณฑ์: เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์หมดแล้ว และไม่ต้องการเติมใหม่ ไม่จำเป็นต้องนำผลิตภัณฑ์ไปทำความสะอาดหรือทิ้งด้วยตัวเอง ผู้บริโภคสามารถนำบรรจุภัณฑ์เปล่าใส่ถุงที่ได้รับจาก Loop แล้วเรียกให้ Loop มาเก็บขวดหรือกล่องจากที่บ้านได้เลย
  • รีฟิล-รีไซเคิล: สำหรับคนที่สนใจรีฟิลสินค้า เช่น แชมพูหรือสบู่อาบน้ำ ทาง Loop จะทำการเติมผลิตภัณฑ์ประเภทรีฟิลให้ทันที และส่งคืนให้พร้อมถุงผ้าเหมือนเดิม
5 ขั้นตอนช้อปช่วยโลกกับ Loop แบบง่ายๆ (photo: https://www.goodnet.org)

น่าชื่นใจแทนสังคมโลกที่บริษัทยักษ์ใหญ่ต่างหันมาให้ความสนใจประเด็นปัญหาขยะล้นโลกมากขึ้น โดยประกาศให้การสนับสนุนโปรเจกต์ Loop อย่างเป็นทางการในงาน World Economic Forum 2019 ที่เมืองดาโวส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา (อ่านบทความ ‘โลกวันนี้กำลังเกิดอะไร?” ชวนส่องประเด็นโลกผ่าน 5 ประโยคสำคัญในการประชุม DAVOS 2019)

Fact Box

  • TerraCycle บริษัทบริหารจัดการขยะด้วยเทคโนโลยีทันสมัย รวมทั้งเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการออกแบบรีไซเคิลผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกในรูปแบบต่าง ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2545 โดย Tom Szaky หนุ่มฮังกาเรียนผู้รักการรีไซเคิลขยะ บริษัทฯ ทำงานร่วมกับแบรนด์สินคค้า ผู้ผลิต และร้านค้าปลีก ในมากกว่า 20 ประเทศทั่วโลก ปัจจุบัน TerraCycle สร้างรายได้สูงถึง 20 ล้านเหรียญสหรัฐ
loop project recycle container
Tom Szaky ผู้ก่อตั้งบริษัท TerraCycle (photo: www.wikipedia.com)

อ้างอิง:

  • Danielle Wiener-Bronner, CNN Business, How to Solve the World’s Plastics Problem: Bring Back the Milkman. https://cnn.it/2S9inWe
  • Loopstore.About Loop. https://loopstore.com
  • Loopindustries. About Us. https://www.loopindustries.com
  • Wikipedia.Tom Szaky.https://en.wikipedia.org/wiki/Tom_Szaky