w©rld

“How dare you”

“คุณกล้าดียังไง”

คือวลีจาก ‘เกรตา ธันเบิร์ก’ เด็กหญิงนักกิจกรรมชาวสวีเดนที่ออกมาเคลื่อนไหวให้ผู้คนตระหนักถึงภาวะโลกร้อน หลังจากที่เธอกล่าวแบบจับใจความสั้นๆ ได้ว่า ผู้ใหญ่ที่เพิกเฉยต่อวิกฤติครั้งนี้กำลังพรากวัยเยาว์ของเด็กๆ ผู้เป็นอนาคตของโลกไป บนเวทีการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสภาพภูมิอากาศ ณ มหานครนิวยอร์ก 

หลังจากวันนั้น เราต่างก็หันกลับมามองวิกฤติของโลกมากขึ้น ในประเทศไทยเองมีทั้งการเดินประท้วง จัดเสวนา ห้างร้านต่างก็ตื่นตัว มีนโยบายเลิกใช้ถุงพลาสติกอย่างจริงจัง  

ทว่าเมื่อต้นปี 2020 ที่ผ่านมา เชื้อไวรัสโคโรนาเริ่มระบาด ดูเหมือนว่ามนุษย์โลกต่างต้องเอาตัวรอดจากไวรัสกันก่อน จนทำให้การเคลื่อนไหวเพื่อลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หยุดชะงักไป ซ้ำร้ายเรายังใช้พลาสติกมากขึ้น เพราะไวรัสสอนเราว่า ‘ความสะอาดต้องมาก่อน’ เสมอ

ไม่เพียงแต่หน้ากากอนามัยที่ถูกทิ้งเกลื่อนกลาด แต่ขยะจากโรงพยาบาลก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย 

เด็กชายคนหนึ่ง นั่งอยู่เบื้องหลังพลาสติกที่ใช้ป้องกันการแพร่เชื้อในช่วงโควิด-19 ในแคมป์ผู้อพยพชั่วคราว (DANIEL MUNOZ / AFP)

เมื่อ ‘การรักษา’ กำลังทำให้ผู้คน ‘เจ็บป่วย’

“ความสะอาดของคนไข้ต้องมาก่อนเสมอ”

เป็นความคิดที่ทำให้หลายๆ โรงพยาบาลเลือกใช้เครื่องมือแพทย์แบบใช้แล้วทิ้ง (single-use) เพื่อความสะอาดของผู้ป่วย จนทำให้เกิดขยะมากเกินความจำเป็น 

บางอย่างจำเป็นต้องใช้แล้วทิ้งอย่างเลี่ยงไม่ได้ เช่น สำลีเช็ดแผล คงไม่มีหมอคนไหนจะใช้สำลีเช็ดแผลซ้ำกันหลายๆ ครั้ง แต่ก็ยังมีอีกหลายอย่างที่เกินความจำเป็น เพราะอุปกรณ์บางชิ้นสามารถนำไปผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อและนำกลับมาใช้ได้อีกหลายครั้ง 

ถุงมือยางใช้แล้วถูกทิ้งอยู่บนถนนเส้นหนึ่งในมหานครนิวยอร์ก (Photo : Johannes EISELE / AFP)

เมื่อใช้แล้วทิ้งจนขยะล้นถัง ‘โรงพยาบาล’ จึงกลายเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก ทั้งจากกระบวนการรักษา การผลิตอุปกรณ์การแพทย์ และการกำจัดขยะ นั่นจึงทำให้ ‘การรักษา’ เป็นพิษร้ายที่ทำให้ผู้คนเจ็บป่วยมากกว่าเดิม

โลกป่วย เราก็ป่วย

“ฟอสซิลที่เผาไหม้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ และคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปมากกว่าสี่ล้านคน ซึ่งมากกว่าการเสียชีวิตจากวัณโรค มาลาเรีย และโรคเอดส์รวมกันเสียอีก” 

แกรี่ โคเฮน ประธานและผู้ร่วมก่อตั้ง Health Care Without Harm กล่าว

พลาสติกใช้แล้วทิ้งทำให้เกิดขยะจำนวนมาก ที่กำจัดได้อย่างยากลำบาก อีกทั้งยังส่งผลให้เกิดก๊าซเรือนกระจกอันเป็นตัวการหลักที่ทำลายชั้นบรรยากาศ 

ของใช้จากพลาสติก ไม่ว่าจะเป็นกะละมัง เก้าอี้ ไม้กวาด ขันน้ำ ราคาล้วนแล้วถูกแสนถูก ผลิตง่าย ต้นทุนต่ำ ใช้ง่าย พังง่าย แต่ถึงอย่างไรพอพังก็ทิ้งแล้วซื้อใหม่ได้ไม่ลำบาก ดูเหมือนจะรวดเร็ว ราคาเป็นมิตร และตอบสนองกับวิถีชีวิตเสียเหลือเกิน แต่หากมองถึงความยั่งยืนแล้ว สินค้าเหล่านี้ถือเป็นตัวการหลักที่ทำให้โลกร้อน และมีราคาที่โลกต้องจ่ายสูงลิ่วในรูปของชั้นบรรยากาศอันมีค่าที่ค่อยๆ ร่อยหรอไป จากคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นจากขั้นตอนการผลิตและย่อยสลายขยะเหล่านี้

ขยะติดเชื้อจากบ้านพักคนชรา St Basil’s Home เมลเบิร์น, ออสเตรเลีย ถูกนำมาทิ้ง (Photo : William WEST / AFP)

ต้นทุนการผลิตที่ไม่สูงนักอาจทำให้หลายโรงพยาบาลเลือกใช้พลาสติกแบบ single-use เพราะราคาถูก ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง มั่นใจได้ว่าสะอาดแน่นอนเพราะแกะกล่องใหม่ทุกชิ้น แต่ในระยะยาว ความสะดวกสบายเหล่านี้มีราคาที่ต้องจ่ายมหาศาล 

ศัลยแพทย์ระบบประสาทในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งของประเทศแคนาดา ลดค่าใช้จ่ายลงได้ประมาณ 570,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยลดการใช้วัสดุที่ใช้แล้วทิ้งลง 30%

เลือกใช้วัสดุที่ใช้ได้นาน สามารถนำไปฆ่าเชื้อแล้วนำกลับมาใช้ใหม่นั้นประหยัดเงินมากกว่า เพราะไม่ต้องซื้อบ่อย ถือเป็นการลงทุนครั้งเดียวที่คุ้มค่า ทั้งยังช่วยลดก๊าซจากกระบวนการการผลิตและย่อยสลายอีกด้วย

ถุงมือพลาสติกถูกโยนทิ้งอยู่บนถนนแห่งหนึ่งในฝรั่งเศส (Photo : Damien MEYER / AFP)

นอกจากนี้ กระบวนการรักษาบางอย่างก็ทำให้เกิดการมลพิษได้ เช่น การรมยาสลบก่อนผ่าตัด ยาสลบเหล่านี้จัดว่าเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีพลังทำลายล้างสูงกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 2,000 เท่า

ในการให้ยาแต่ละครั้ง ร่างกายผู้ป่วยเราจะรับเข้าไปได้เพียง 5% เท่านั้น ที่เหลือจะค่อยๆ ถูกปล่อยออกมาขณะผ่าตัด ออกสู่สิ่งแวดล้อมอย่างเลี่ยงไม่ได้

ประเด็นเรื่องการรักษาอย่างยั่งยืนจึงถูกนำมาถกกันอยู่บ่อยครั้งในวงการแพทย์ เพราะนั่นไม่ใช่ความรับผิดชอบของแพทย์คนใดคนหนึ่ง แต่หมายถึงการสร้างระบบการรักษาอย่างยั่งยืนในทุกส่วนของโรงพยาบาล 

 

ที่ไหนกำลังตื่นตัวกับเรื่องนี้บ้าง ?

โรงพยาบาลทั่วโลกกำลังตื่นตัว และสรรหาวิธีเพื่อลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างยั่งยืน เช่นในอเมริกา 

Boston Medical Center หันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์จากโซลาร์ฟาร์ม ซึ่งนอกจากจะลดการใช้พลังงานจากฟอสซิลแล้ว ยังประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้ถึง 25 ล้านเหรียญสหรัฐ

University of California เลือกกำจัดเศษอาหาร ซึ่งเป็นขยะอินทรีย์ด้วยการนำมาหมักหรือบริจาคอาหารที่เหลือกินต่อไป เพราะขั้นตอนการกำจัดนั้นสร้างมลพิษมากโข เป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ก็เพื่อช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการกำจัดเศษอาหารลง 25% ภายในปี 2030

The Cleveland Clinic รัฐโอไฮโอ ทุ่มทุนสร้างอาคารประหยัดพลังงาน ซึ่งช่วยให้ใช้พลังงานลดลงถึง 19% ประหยัดเงินไปแล้ว 50 ล้านดอลลาร์

ขยะติดเชื้อจากบ้านพักคนชรา St Basil’s Home เมลเบิร์น, ออสเตรเลีย ถูกนำมาทิ้ง (Photo : William WEST / AFP)

หากอยาก ‘สุขภาพดี’ โลกก็ต้อง ‘สุขภาพดี’ 

การลดก๊าซเรือนกระจกจากโรงพยาบาลไม่ว่าจะจากขยะ การรักษา การผลิตอุปกรณ์ต่างๆ ถือเป็นวิธีรักษามนุษย์เราอย่างยั่งยืน

นอกจากโรคภัยไข้เจ็บที่เป็นผลพวงจากมลพิษอันเลวร้ายและอุณหภูมิที่พุ่งสูงขึ้นทุกวันแล้ว การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ยังช่วยให้เราเซฟค่าใช้จ่าย เพื่อเก็บเงินก้อนนั้นไปดูแลสุขภาพของตัวเองได้ด้วย

หลังจากนี้พจนานุกรมของ ‘การรักษา’ คงเปลี่ยนไป เพราะจำเป็นต้องรวมคำว่า ‘โลก’ เข้าไปด้วย หากรักษาคน ต้องรักษาโลกไปพร้อมๆ กันด้วย

 

อ้างอิง

  • Hope Ngo.How do you fix healthcare’s medical waste problem?.https://www.bbc.com/future/article/20200813-the-hidden-harm-of-medical-plastic-waste-and-pollution