ได้เวลาเริ่มนับถอยหลัง 500 วันสู่โอลิมปิกเกมส์ 2020!
หนึ่งในหัวใจสำคัญในงานโอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมปีหน้า คือ ‘พิกโตแกรม’ (pictrogram) ซึ่งเป็นภาพที่ใช้สื่อสารแทนตัวหนังสือ คล้ายรูปวาดในถ้ำสมัยในยุคโบราณ
แท้จริงแล้ว ‘พิกโตแกรม’ ถือกำเนิดขึ้นในโลกตั้งแต่สมัยก่อน แต่ถูกนำมาใช้ในวงการกีฬาครั้งแรกในงานโอลิมปิก ปี 1964 ที่ญี่ปุ่น ซึ่งสร้างสรรค์ขึ้นมาโดยทีมเจ้าภาพ
นับตั้งแต่วันนั้น จนถึงปี 2020 ที่ดินแดนอาทิตย์อุทัยมีโอกาสได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกอีกครั้ง
การออกแบบ ‘พิกโตแกรม’ สำหรับงานครั้งนี้จึงไม่ธรรมดา
เพราะถือเป็นการพัฒนาและสืบทอดมรดกทางปัญญาการออกแบบของบรรพบุรุษ ผู้บุกเบิก คิดค้นและส่งต่อกันมานานกว่าครึ่งศตวรรษ
คลิป VDO บอกเล่าการเริ่มต้นและที่มาที่ไปของพิกโตแกรมในงานโอลิมปิก ปี 1964 ที่ญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์งานดีไซน์ในวงการกีฬา
จากเส้นสายตรงไปตรงมาปี 1964 สู่ความมีชีวิตชีวาปี 2020
ย้อนกลับไปในงานโอลิมปิก ปี 1964 พิกโตแกรมของญี่ปุ่นมี 20 ภาพกีฬา และ 39 ภาพที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาสำหรับบอกข้อมูลทั่วไป ทั้งหมดมีดีไซน์ที่เน้นความหนาทึบขอ คาแรคเตอร์ เส้นสายที่แข็งและตรงไปตรงมา
แต่สำหรับงานโอลิมปิกปี 2020 ดีไซน์ของพิกโตแกรมมีความโมเดิร์นเข้ากับยุคสมัยมากขึ้น โดยเน้นความมีมิติ เติมความมีชีวิตชีวา และเพิ่มรายละเอียดการเคลื่อนไหวของร่างกาย โดยออกแบบขึ้นมาใหม่ทั้งหมด 50 ประเภทกีฬา รวมทั้งเบสบอล ซอฟต์บอล คาราเต้ สเก็ตบอร์ด กระดานโต้คลื่น และปีนเขา ซึ่งเป็นกีฬาใหม่ในปีนี้ที่ถูกบรรจุเข้ามา เพื่อเอาใจคนรุ่นใหม่ให้เข้าร่วมโอลิมปิก ปี 2020 กันมากขึ้น
‘พิกโตแกรม’ ทางออกของปัญหาภาษาที่แตกต่าง
จุดเริ่มต้นของการใช้ ‘พิกโตแกรม’ ในงานโอลิมปิก ปี 1964 ที่ญี่ปุ่น ไม่ใช่เพราะความอยากเท่ เก๋ หรือความสวยงามแต่อย่างใด หากแต่เกิดขึ้นจาก ‘ปัญหา’ ทางภาษาที่แตกต่างกัน
ในยุคนั้นคนญี่ปุ่นไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ ในขณะเดียวกันคนต่างชาติจากทั่วโลกที่เดินทางมาแข่งขันหรือร่วมเชียร์กีฬาในงาน ก็ไม่สามารถพูดภาษาญี่ปุ่นได้เช่นกัน ทางทีมดีไซเนอร์ของเจ้าภาพจึงสร้างสรรค์ ‘พิกโตแกรม’ ขึ้นมา โดยมีจุดประสงค์เพื่อ ‘สร้างการสื่อสารที่ผู้คนจากนานาชาติเข้าใจตรงกัน’
งานออกแบบพิกโตแกรมในสมัยโบราณไม่สวยงามอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ซึ่งทางทีมดีไซเนอร์ญี่ปุ่นในงานโอลิมปิก ปี 1964 เป็นผู้นำมาปรับให้มีดีไซน์มินิมอล ลดทอนขนาด เน้นความเรียบง่ายแต่ลงตัว และเหลือไว้เพียงเส้นสายที่จำเป็น รวมทั้งจัดระเบียบการวางองค์ประกอบต่างๆ อย่างมีระบบ เพื่อช่วยให้ผู้คนต่างชาติ ต่างภาษา เข้าใจการสื่อสารได้ตรงกันมากที่สุด
การสร้างสรรค์พิกโตแกรมในครั้งนั้น จึงถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของวงการออกแบบและกราฟิกของโลก
การเดินทางของพิกโตแกรมในโลกโอลิมปิก
หลังจากการถือกำเนิด ‘พิกโตแกรม’ ในโลกโอลิมปิก ดีไซเนอร์ประจำงานเริ่มให้ความสำคัญและใส่ใจกับการออกแบบพิกโตแกรมมากเป็นพิเศษ และมีการเปลี่ยนแปลงไปตามทีมออกแบบแต่ละปี
โอลิมปิก ปี 1968 ที่เม็กซิโก Lance Wyman หัวหน้าทีมกราฟิก ดีไซน์พิกโตแกรมแบบใหม่ที่โฟกัสไปที่ภาพอุปกรณ์กีฬาหรืออวัยวะบางส่วนของนักกีฬา
ในขณะที่ Josep M. Trias ปรับเปลี่ยนรูปทรงพิกโตแกรม โดยแบ่งร่างกายออกเป็น 3 ส่วน ในโอลิมปิ ปี 1992 ที่บาร์เซโลน่า
ในโอลิมปิก ปี 1972 ที่มิวนิค ผู้ออกแบบพิกโตแกรมคือ Otl Aicher กราฟิกดีไซเนอร์ชาวเยอรมัน ผู้ได้ชื่อว่าสร้างสรรค์พิกโตแกรมสำหรับกีฬาได้ละเอียดและปราณีตมากที่สุดในประวัติศาสตร์
แต่โอลิมปิกฤดูหนาวปี 1994 ที่ Lillehammer ประเทศนอร์เวย์ เป็นปีที่พิกโตแกรมมีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด เพราะมีการออกแบบให้พิกโตแกรมเป็นมากกว่าไอคอนธรรมดา โดยเน้นการ ‘เล่าเรื่อง’ ลงไปเป็นครั้งแรก และได้แรงบันดาลใจการดีไซน์มาจากภาพวาดในถ้ำอันเก่าแก่สี่พันปีของนอร์เวย์
ถือเป็นครั้งแรกที่มีการนำมรดกทางท้องถิ่นมาผสมผสานงานกราฟิกอย่างพิกโตแกรม.
อ้างอิง:
- Olympic.The Olympic Pictograms a Long and Fascinating Story.https://bit.ly/2T190o2
- Japantimes.Japan marks 500 days until the 2020 Tokyo Olympics with events and official sport pictograms.https://bit.ly/2VV8dHd
- Olympic-museum.Pictograms.https://bit.ly/2u6Anmx
- Wikipedia.Olympic sports.https://en.wikipedia.org/wiki/Olympic_sports