อัลบั้มภาพถ่ายสมัยเด็กซ้อนกันเป็นตั้งอยู่ในตู้ ทำให้เห็นว่าพ่อกับแม่ในตอนนั้นก็คงเห่อลูกสาวคนนี้ไม่น้อย
ไม่ว่าเธอจะร้องอ้อแอ้ อาบน้ำ กินข้าว หรือหัดปั่นจักรยานได้เป็นครั้งแรก กล้องฟิล์มตัวเก่งของพ่อก็จะบันทึกช่วงเวลาเหล่านั้นเอาไว้เสมอ
ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุค พ่อแม่ของเด็กๆ ทุกคนย่อมอยากบันทึกภาพลูกๆ เอาไว้เป็นที่ระลึกเหมือนเดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ ‘เทคโนโลยี’
อัลบั้มภาพกลายมาเป็นบัญชีอินสตาแกรม แฟนเพจ หรือบล็อก ที่ทำให้พวกเขาแชร์รูปลูกๆ กันได้อย่างจุใจ
เราไม่เป็นส่วนตัวตั้งแต่อยู่ในท้อง
ไม่ใช่ภาพแรกหลังจากเพิ่งคลอด แต่โลกได้รู้จักทารกน้อยคนหนึ่งตั้งแต่ยังอยู่ในท้อง ผ่านรูปอัลตร้าซาวด์ที่คุณแม่โพสต์อวดความน่ารักน่าชังให้กับเพื่อนๆ ของเธอ
จนกระทั่งอายุ 13 ปี รายงานจาก UK Children’s Commissioner ระบุว่าเด็กๆ แต่ละคน จะมีรูปถ่ายและวิดีโอของตัวเองกระจัดกระจายอยู่ในโซเชียลมีเดีย เฉลี่ยแล้วคนละประมาณ 1,300 รูป สถิตินี้สอดคล้องกับการศึกษาในปี 2010 ซึ่งพบว่าในเด็กในอเมริกาที่อายุ 2 ขวบ กว่า 90% และเด็กๆ กว่า 80% มีตัวตนปรากฏหราอยู่บนโลกออนไลน์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ไม่พียงแค่รูปถ่าย แต่วันเกิด ที่อยู่ สถานที่ และชีวิตประจำวันของพวกเขายังถูกเผยแพร่โดยครอบครัว โดยที่ไม่ทันได้คิดถึงผลที่ตามมาในภายหลัง การละเลยต่อความเป็นส่วนตัวของเด็กๆ อาจเป็นชนวนที่ทำให้พวกเขารู้สึกไม่ปลอดภัยหรือสร้างความอับอายในอนาคตได้
นั่นชวนให้เกิดการตั้งคำถามว่า เด็กๆ ในปัจจุบันไร้ซึ่งความเป็นส่วนตัวตั้งแต่ก่อนลืมตาดูโลก โดยที่พวกเขายังไม่มีโอกาสได้ปริปากเอ่ยยินยอมเลยอย่างนั้นหรือ
สิทธิพ่อแม่ vs สิทธิเด็ก
คนดังต่างพากันอวดรูปถ่ายของลูกๆ ลงโซเชียลมีเดียให้ได้กดถูกใจกันไม่เว้นแต่ละวัน ระหว่างที่พวกเรากำลังเพลิดเพลินกับความซุกซนของเด็กๆ นั้น ก็อาจมีบางคนที่ไม่หวังดีกับเด็กๆ ซ่อนตัวอยู่เบื้องหลังหน้าจอมือถือก็เป็นได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่าง ‘สิทธิของแม่’ ที่จะโพสต์รูปลูกๆ กับ ‘สิทธิของลูกๆ’ ที่จะหวงแหนข้อมูลส่วนตัวของตัวเอง เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายกับตัวพวกเขาได้
Stacey Steinberg จาก Levin College of Law มหาวิทยาลัยฟลอริดา พยายามหาทางสายกลางของความขัดแย้งข้อนี้ จนเธอค้นพบว่า สิทธิ์ของทั้งคู่มีความสำคัญอย่างเท่าเทียมกัน พ่อแม่มีสิทธิ์ในการเผยแพร่รูปของลูก ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ต้องได้รับความยินยอมจากเด็กด้วยทุกครั้ง
ผู้ปกครองจำเป็นต้องสอนให้เด็กรู้จักกับอินเตอร์เน็ต และการรักษาความเป็นส่วนตัว เพื่อพวกเขาจะได้ตระหนักรู้ว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญ
Stacey มองเห็นว่าอินเตอร์เน็ตเป็นประโยชน์สำหรับครอบครัวที่อยู่ห่างไกลกัน เพราะอย่างน้อยๆ รอยยิ้มของเด็กๆ ที่ผ่านมาทักทายบนไทม์ไลน์ก็ช่วยให้สมาชิกในครอบครัวคลายความคิดถึงได้ไม่น้อย ผู้ปกครองไม่จำเป็นต้องเก็บเรื่องราวของลูกไว้เป็นความลับเสียทีเดียว เพียงแต่ทุกครั้งที่ตัดสินใจโพสต์เรื่องราวของเด็กๆ ลงบนโลกออนไลน์ จำเป็นต้องสงวนข้อมูลส่วนตัวสำคัญๆ เอาไว้ และความเข้าใจพื้นฐานเรื่องความปลอดภัยเหล่านี้ก็เป็นเรื่องสำคัญที่เด็กๆ ต้องรับรู้โดยพร้อมเพรียงกันด้วย
เมื่อพ่อแม่สอนให้ลูกๆ เข้าใจเรื่องความเป็นส่วนตัว และปล่อยให้พวกเขาใช้ชีวิตอย่างอิสระ โดยไม่คอยย้ำและห้ามอยู่บ่อยๆ จะช่วยให้เด็กเติบโตได้เป็นอย่างดี เพราะพวกเขาสามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระบนพื้นฐานของความปลอดภัย และก้าวเข้าสู่การเป็นวัยรุ่นและผู้ใหญ่อย่างมั่นคง
ความปลอดภัยจากของเล่น
นอกจากรูปภาพบนโซเชียลมีเดียแล้ว อุปกรณ์ในบ้านอีกมากมายที่ทำให้เด็กไร้ซึ่งความเป็นส่วนตัวอย่างไม่ทันได้รู้ตัว เรากำลังพูดถึง ของเล่น ลำโพงบลูธูท กล้องวงจรปิด และทุกอุปกรณ์ในบ้านที่เชื่อมต่อกับคลาวด์
ตุ๊กตาหมีบางตัวเป็นเหมือนประตูให้แฮ็กเกอร์เข้ามาล้วงข้อมูลของลูกๆ อย่างไม่ได้ตั้งใจ เพราะมีทั้งกล้อง ไมโครโฟน ลำโพง และสามารถเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตได้ เคยมีกรณีที่แฮ็กเกอร์เข้ามาแฮ็กของเล่นอัจฉริยะเหล่านี้ และใช้ข้อมูลของเด็กๆ เป็นสิ่งประกันเพื่อเรียกร้องเงินจากบริษัทผู้ผลิต
พึงระลึกไว้เสมอว่าอุปกรณ์อัจฉริยะในบ้านในบ้านอาจเกิดช่องโหว่ด้านความปลอดภัยได้เสมอ เช่น กล้องวงจรปิด ที่ใช้ติดตามดูลูกๆ แม้ว่าจะเป็นประโยชน์กับพ่อแม่ที่อยากจับตาดูลูกตลอดเวลา แต่นั่นก็เป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้อีกเท่าหนึ่งเช่นกัน
ภาพที่ถูกบันทึกจากกล้องวงจรปิดถือเป็นการถ่ายทอดสดอยู่กลายๆ นั่นคล้ายกับการเปิดประตูให้คนแปลกหน้าเข้ามาเยี่ยมชมบ้านโดยไม่รู้ตัว
ยิ่งไปกว่านั้น การที่เด็กรู้สึกว่าถูกติดตามอยู่ตลอดเวลา ส่งผลกับพัฒนาการของพวกเขา การถูกจับจ้องเป็นการสร้างกรอบบางๆ ล้อมรอบตัวเขาเอาไว้ ทำให้ไม่กล้าเรียนรู้ ไม่กล้าลองผิดลองถูก และไม่มีอิสระอย่างที่ควรจะเป็น
จะเป็นส่วนตัวได้อย่างไร เมื่อยังต้องไป ‘โรงเรียน’
ไม่นานมานี้ ภาพแบบสอบถามจากโรงเรียนแห่งหนึ่งได้กลายเป็นไวรัลอยู่ในหน้าไทม์ไลน์ ทั้งเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ เมื่อในกระดาษแผ่นนั้นให้นักเรียนระบุชื่อบัญชีโซเชียลมีเดียทั้งหมด พร้อมรหัสผ่านอันเป็นข้อมูลที่ไม่ควรจะเปิดเผย นั่นแสดงให้เห็นว่า แม้แต่โรงเรียนยังขาดความเข้าใจเรื่องข้อมูลส่วนตัว แล้วอย่างนี้เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า เด็กๆ จะปลอดภัยเมื่อยังต้องไปโรงเรียน
ข้อมูลของเด็กๆ ที่โรงเรียนเก็บไว้นั้นมีหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลส่วนตัว ลายนิ้วมือ ข้อมูลด้านวิชาการ สถิติการถูกลงโทษ ความประพฤติ ข้อมูลทางการแพทย์ ประวัตการค้นหาข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ แผนที่บ้าน ไอพีแอดเดรส ตารางเรียน ฯลฯ
โรงเรียนเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่เด็กๆ จะเสี่ยงต่อการถูกละเมิดความเป็นส่วนตัว แม้ที่บ้านจะดูแลเรื่องความปลอดภัยเป็นอย่างดี แต่เราไม่อาจมั่นใจได้เลยว่า โรงเรียนจะเก็บข้อมูลของเด็กเป็นอย่างดี
ในปี 2560 แฮ็กเกอร์เจาะระบบความปลอดภัยของโรงเรียนหลายแห่งทั่วอเมริกา นั่นทำให้ข้อมูลการติดต่อ แผนการศึกษา การบ้าน และข้อมูลทางการแพทย์ของนักเรียนกว่าหลายล้านคน ถูกขโมยเพื่อเรียกค่าไถ่จากเด็กและผู้ปกครอง
ป้องกันตัวเองขั้นพื้นฐาน
การปกป้องเด็กๆ จากการถูกละเมิดความเป็นส่วนตัวนั้นเป็นไปได้ยาก ในยุคที่ข้อมูลส่วนตัวของเรากลายเป็นสาธารณะได้อย่าง่ายๆ แต่นั่นก็ยังมีหลายวิธีที่จะช่วยป้องกันได้
- สนับสนุนให้โรงเรียนให้ความสำคัญเรื่องความเป็นส่วนตัวของนักเรียน ที่อเมริกาเริ่มสอนวิชานี้มาตั้งแต่ปี 2014 แต่ดูเหมือนว่าการไหลของข้อมูลที่รวดเร็วขึ้น ทำให้หลักสูตรนี้ต้องพัฒนาตามไปด้วยเช่นกัน
- ก่อนที่โรงเรียนจะให้เด็กๆ ล็อกอินเข้าแอปพลิเคชันต่างๆ ควรได้รับการยินยอมจากผู้ปกครองและตัวนักเรียนก่อนเสมอ
- รู้เท่าทันที่มาที่ไปของข้อมูลส่วนตัวของตัวเอง ว่าถ้าให้กับองค์กรใดๆ ไปแล้ว ข้อมูลเหล่านั้นจะถูกเอาไปทำอะไร เพื่ออะไร และจะมีการปกป้องข้อมูลเหล่านั้นอย่างไร
- ก่อนจะซื้อของเล่นให้เด็กๆ ต้องตรวจสอบก่อนว่ามีระบบเชื่อมต่อออนไลน์ไหม เพื่อให้ปลอดภัยจากการถูกบันทึกภาพและเสียง นอกจากนี้ บริษัทผลิตของเล่นเองก็ควรเขียนเงื่อนไขเรื่องความปลอดภัยที่เด็กๆ สามารถอ่านเข้าใจได้ง่าย
- ส่งเสริมให้มีกฎหมายคุ้มครองเด็กๆ ทางออนไลน์ เพราะกฎหมายเดิมยังมีช่องโหว่อยู่มาก
- ไม่โพสต์รูปภาพหรือวิดีโอที่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับลูกๆ และระมัดระวังผลกระทบระยะยาวของโพสต์นั้นๆ นอกจากนี้ ยังต้องแจ้งกับญาติๆ เพื่อน และพี่เลี้ยงเด็ก ให้ทราบถึงกฎเหล่านี้ด้วย
- พึงระลึกไว้เสมอว่าเรื่องราวบนโซเชียลมีเดียอย่างสตอรี่ไอจี หรือสแนปแชท ดูเหมือนจะเกิดขึ้นชั่วคราว แต่อาจถูกแคปเก็บไว้ได้ง่ายๆ
การโพสต์รูปภาพของเด็กๆ นั้นไม่ใช่เรื่องต้องห้ามเสียทีเดียวสำหรับคนเป็นพ่อเป็นแม่ เพียงแค่ก่อนที่จะโพสต์ต้องพึงระลึกสักนิดว่า รูปภาพเหล่านั้นจะไม่ย้อนกลับมาทำร้ายทั้งลูกๆ และครอบครัวในภายหลัง หากเป็นไปได้ควรถามความยินยอมของลูกๆ ทุกครั้ง
เท่านี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับการเก็บความทรงจำดีๆ ในวันที่อัลบั้มรูปถูกย้ายไปบนโลกออนไลน์
อ้างอิง
- Jessica Baron.Posting About Your Kids Online Could Damage Their Futures.https://www.forbes.com/sites/jessicabaron/2018/12/16/parents-who-post-about-their-kids-online-could-be-damaging-their-futures/#734fe2c627b7
- BBC.New ‘transformational’ code to protect children’s privacy onlinehttps://www.bbc.com/news/uk-51200232