w©rld

เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา Google ประกาศว่าสามารถสร้าง ‘ควอนตัมคอมพิวเตอร์’ ได้สำเร็จเป็นเครื่องแรกของโลก ซึ่งสร้างสร้างความฮือฮาให้กับวงการวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก

ความน่าทึ่งของคอมพิวเตอร์เครื่องนี้คือสามารถแก้โจทย์ Schrödinger-Feynman algorithm ที่ใช้ในการทดสอบความเร็วการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ ได้ภายในเวลา 200 วินาที จากเดิมที่ใช้เวลาถึง 10,000 ปี

Sundar Pichai ซีอีโอของ Google และควอนตัมคอมพิวเตอร์ (Photo : www.nytimespost.com)

แม้ภายหลัง IBM จะออกมาโต้แย้งว่าปัญหาข้อนี้ ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ของ IBM สามารถแก้ไขได้เพียง 2.5 วัน และทิ้งท้ายไว้ว่าสิ่งที่ Google กล่าวอ้าง อาจยังไม่ใช่ควอนตัมคอมพิวเตอร์อย่างแท้จริง 

ถึงอย่างไร ข่าวนี้ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดี ที่ชวนให้จับตามองว่า ‘ควอนตัมเทคโนโลยี’ กำลังจะเข้ามาเขย่าอะไรโลกของเราบ้าง 

ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ว่าเร็ว ยังเร็วไม่เท่าควอนตัมคอมพิวเตอร์

‘เทคโนโลยีควอนตัม’ คือการพัฒนาระดับโมเลกุลที่ทำให้ หน่วยประมวลผลของคอมพิวเตอร์ทำงานเร็วขึ้น

ต่างจากคอมพิวเตอร์ปัจจุบันที่ใช้การประมวลผลจากการอ่านค่าเลขฐานสองคือ 0 กับ 1 แต่ควอนตัมคอมพิวเตอร์นั้นจะประมวลผลทั้ง 0 และ 1 ไปพร้อมๆ กัน นอกจากจะย่นระยะเวลาประมวลผลแล้ว คอมพิวเตอร์ยังเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วและฉลาดกว่าเดิม

คิวบิท (qubit)
คิวบิท (qubit) แสดงการประมวลผลของควอนตัมคอมพิวเตอร์
(source: http://visual-science.com)

หากสงสัยว่าความสามารถนี้ของควอนตัมคอมพิวเตอร์จะเปลี่ยนโลกเราอย่างไร ให้ลองจินตนาการถึงยุคกำเนิดอินเตอร์เน็ต ที่เป็นเหมือนประตูพาเราเข้าสู่โลกใบใหม่ และวิถีชีวิตของพวกเราก็เปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล 

(ถึงตรงนี้ถ้าคุณยังงงๆ ว่า ควอนตัมคอมพิวเตอร์คืออะไร ลองแวะไปทำความรู้จักเพิ่มเติมได้ในบทความ : รู้จัก ‘ควอนตัมคอมพิวเตอร์’ (ฉบับชาวบ้าน) ก่อนโลกจะกลายเป็นนิยาย Sci-Fi)

ควอนตัมคอมพิวเตอร์ (Photo : www.engadget.com)

ปัจจุบัน แม้ควอนตัมคอมพิวเตอร์จะยังไม่ได้นำมาประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมต่างๆ แต่หลายประเทศกำลังเร่งพัฒนาและวิจัยเทคโนโลยีนี้อย่างสุดความสามารถ ไม่เพียงเฉพาะยุโรปและอเมริกาเท่านั้น แต่ในเอเชียเองก็มีประเทศที่ลงทุนกับด้านควอนตัมเทคโนโลยีนี้มากมาย เช่น จีน ที่ใช้เงินลงทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีควอนตัมสูงที่สุดในโลก เป็นมูลค่ากว่า 100 ล้านเหรียญฯ 

Runyao Duan จาก Baidu หนึ่งในบริษัทของจีนที่กำลังพัฒนาเทคโนโลยีควอนตัมเล่าถึงการนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้

ประเทศไทยต้องการอะไรจาก ‘เทคโนโลยีควอนตัม’

ปัจจุบันประเทศไทยเราอยู่ในช่วงค้นคว้า วิจัย ทดลองและสร้างเทคโนโลยีควอนตัม โดยมีเป้าหมายคือการนำไปประยุกต์ใช้กับทุกๆ วงการ ไม่ว่าจะเป็นการแพทย์ การเกษตร พลังงาน ธนาคาร ฯลฯ

สิ่งที่ ‘อาจเกิดขึ้น’ หลังจากที่ควอนตัมใช้งานกับอุตสาหกรรมเหล่านี้ได้ คือเราจะก้าวข้ามข้อจำกัดมากมายและสะดวกสบายขึ้น

ในอนาคต AI จะฉลาดเป็นกรด ประมวลผลได้รวดเร็วและแม่นยำ พวกเราอาจได้เห็นระบบไฟจราจรที่คำนวณมาแล้วว่าจะทำให้รถติดน้อยลง หรือ GPS ที่ไม่คลาดเคลื่อนเลยแม้แต่มิลลิเมตรเดียว 

นั่นเป็นเหตุผลที่ไทยและทั่วโลกต้องตื่นตัวและเร่งพัฒนาด้าน ‘เทคโนโลยีควอนตัม’

ประเทศไทยในโลกของ ‘ควอนตัม’ 

น้อยคนที่จะได้เข้าไปเยือนโลกของควอนตัม หากไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์

แต่ในเมื่อเทคโนโลยีนี้กำลังจะเข้ามาเปลี่ยนชีวิตของทุกคน นั่นทำให้แต่ละประเทศต้องไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนาและพาให้ทุกคนเข้าไปท่องโลกอะตอมพร้อมๆ กัน 

ประเทศไทยเรามี แผนพัฒนาด้านเทคโนโลยีควอนตัม ที่มีเป้าหมายจะพัฒนาทั้งด้านเครื่องมือและนักวิจัย อีกไม่ถึง 10 ปีเราอาจเห็นสิ่งประดิษฐ์จากควอนตัมที่จับต้องได้มากขึ้น เช่น นาฬิกาที่มีความแม่นยำสูงระดับอะตอม การแรนดอมเลขที่มีประสิทธิภาพ 

High performance optical clock นาฬิกาที่มีความแม่นยำสูงระดับอะตอม (Photo : www.bigthink.com)

ถึงแม้วันนี้ประเทศไทยมีนักศึกษาและนักวิจัยด้านควอนตัมทั้งหมดราวๆ 50 คน และคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีจำนวนนักวิจัยเพิ่มขึ้นแตะ 100 คน  รวมถึงยังมีการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีควอนตัมที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และห้องปลอดเชื้อระดับสูงพร้อมเครื่องมือครบครันที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตอนประเทศไทย เพื่อใช้สำหรับพัฒนาด้านเทคโนโลยีควอนตัมโดยเฉพาะ

แต่สมมติฐานข้างต้นอาจไม่เป็นเช่นนั้น เพราะถึงแม้แนวโน้มของนักพัฒนาและอุปกรณ์ต่างๆ จะเพียงพอ แต่สิ่งที่จะทำให้เรื่องนี้เป็นฝันกลางวัน คือ ‘ยังไม่รู้ว่าประเทศไทยต้องการอะไรจากเทคโนโลยีควอนตัม’

ว่ากันตามตรง นักเรียนทุนด้านควอนตัมของไทยมีความสามารถไม่แพ้ชาติอื่นๆ เพียงแต่เมื่อเรียนจบและกลับมายังประเทศไทย ยังไม่มีโครงการหรือหน่วยงานที่รองรับการพัฒนาควอนตัมอย่างเพียงพอ จึงทำให้ต้องไปช่วยงานด้านควอนตัมในต่างประเทศ สิ่งนี้จึงย้อนกลับมาส่งผลถึงนักพัฒนารุ่นใหม่ในอนาคต 

(Photo : www.epsrc.ukri.org)

อีกเหตุผลคือ ในบ้านเราเด็กที่มีความสามารถด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์อาจจะเลือกเรียนวิศวะฯ และหมอเป็นส่วนใหญ่ เพราะเป็นอาชีพที่มั่นคงและได้ผลตอบแทนสูง ส่วนในด้านควอนตัมที่ยังอยู่ในขั้นของการพัฒนา แม้จะเป็นเทคโนโลยีที่คาดกันว่าอาจเปลี่ยนโลกทั้งใบได้ แต่ในสายตาของเด็กๆ ที่เพิ่งเรียนจบชั้นมัธยม อาจยังมองไม่เห็นลู่ทางที่จะนำมาต่อยอดเป็นอาชีพได้ 

ดังนั้นหากต้องการผลักดันประเทศไทยสู่โลกของควอนตัม เอกชน รัฐบาล ภาคการศึกษา และสื่อมวลชน คงต้องช่วยกันเพื่อสร้างการรับรู้ในวงกว้างและปูทางให้เห็นว่าเราต้องพัฒนาจุดไหนบ้าง

เช่น Quantum Technology Foundation of Thailand หรือ QTFT ก็เป็นอีกองค์กรที่มีความตั้งใจจะเป็นสื่อกลางในการพานักเรียนทุนไทยไปทำงานร่วมกับเอกชนรายใหญ่ๆ เพื่อให้พวกเขาได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ และกลับมาสอนเหล่านักศึกษาที่กำลังอยู่ในช่วงเรียนรู้ เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงได้ว่า สิ่งที่ประเทศไทยต้องการจากเทคโนโลยีควอนตัมคืออะไร

จิรวัฒน์ ตั้งปณิธานนท์ ผู้ก่อตั้ง Quantum Technology Foundation of Thailand

การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ต้องอาศัยระยะเวลา แม้ว่าวันนี้เทคโนโลยีควอนตัมจะเผยให้เราเห็นแค่การทำงานแบบที่ยังไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์อย่างเต็มรูปแบบ แต่ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับอนาคตที่กำลังจะมาถึง

และในขณะเดียวกันยังมีกลุ่มคนที่เล็กๆ ที่ยังคงทำงานอย่างหนักและไม่หยุดพัฒนาเพื่อพาประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ไปพร้อมกับประเทศอื่นๆ 

ถึงวันนั้นพวกเราคงได้ไปเยือน ‘โลกควอนตัม’ พร้อมๆ กัน

 

หมายเหตุ 

เรียบเรียงจาก

  • งานประชุมเรื่อง ‘Quantum Technology’ ที่ RISE Innovative Week วันที่ 25 กันยายน 2562
  • Facebook Live เรื่อง ‘Quantum Supremacy”….เขย่าโลก! Google ที่อาจนำไปสู่ยุคใหม่ของเทคโนโลยี!’ โดย สุทธิชัย หยุ่น

อ้างอิง 

คมชัดลึก.อว.ทุ่ม 100 ล้าน ยกเครื่องงานวิจัยควอนตัมไทย.https://www.komchadluek.net/news/edu-health/387161