w©rld

หลังซีรี่ส์จบ แอพลิเคชั่นอย่าง Netflix จะมีซีรี่ส์แนะนำขึ้นมาให้เราดูต่อ พร้อมข้อความกำกับว่า ‘คุณอาจชอบ’

แต่ซีรี่ส์เรื่องนั้นอาจไม่สนุกและถูกจริตเท่าเรื่องเก่า ถึงแม้ปัญญาประดิษฐ์จะฉลาดเป็นกรดก็ตาม แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นประเมินได้อย่างละเอียดว่า คนดูจะหัวเราะกับมุกตลกแบบไหน หรือชอบการแสดงแบบใด

การแนะนำสินค้าให้ตรงใจลูกค้า หรือ personalized marketing คือหัวใจหลักของการตลาดในยุคของ digital transformation ซึ่งมีมูลค่ามหาศาล

นี่เป็นหนึ่งในหลากหลายตัวอย่าง ที่เทคโนโลยี ‘ควอนตัม’ ทำให้ดีขึ้นได้

common_qt2
(Photo : Lionel BONAVENTURE / AFP)

เทคโนโลยีควอนตัม คืออะไร

ควอนตัม คือ แขนงหนึ่งของวิชาฟิสิกส์ที่ศึกษาปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในระดับอะตอม

โลกของอะตอมนั้นต่างจากโลกที่เรารู้จักอย่างสิ้นเชิง เพราะนักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า ในเวลาเดียวกันอะตอมหนึ่งตัวอยู่ได้หลายตำแหน่ง และสามารถสื่อสารถึงกันและกันได้โดยไม่ต้องส่งสัญญาณ และผ่านตัวกลางใดๆ

เมื่อนำควอนตัมมาประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ คุณสมบัติดังกล่าวจึงเข้ามาย่นระยะเวลา เพิ่มประสิทธิภาพให้คอมพิวเตอร์ และสร้างความแม่นยำในการคำนวณโจทย์ยากๆ ที่ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ฉลาดล้ำที่สุดในโลกวันนี้ก็ทำไม่ได้

ต้องบอกว่าโลกเราวันนี้กำลังเดินมาสู่ยุคที่คอมพิวเตอร์อาจไม่ใช่พระเจ้าอีกต่อไป เพราะแม้ปัญญาประดิษฐ์จะฉลาดแค่ไหน แต่ฮาร์ดแวร์ของคอมพิวเตอร์ปัจจุบัน (ที่พัฒนาภายใต้กฎของฟิสิกส์แบบเก่า) กำลังจะเดินไปสุดทาง

ควอนตัมเทคโนโลยีจึงเป็นเหมือนประตูที่เปิดไปพบกับโลกใบใหม่ ที่กำลังจะเข้ามาเขย่าให้ชีวิตของเราเปลี่ยนไปตลอดกาล

คำถามคือ เทคโนโลยีควอนตัมจะเขย่าชีวิตมนุษย์อย่างไร

common ขอยกตัวอย่างง่ายๆ ให้เห็นภาพ

(สำหรับใครที่ไม่มีพื้นความรู้เรื่อง ‘ควอนตัมเทคโนโลยี’ แนะนำให้อ่านเพิ่มเติมในบทความ รู้จัก ‘ควอนตัมคอมพิวเตอร์’ (ฉบับชาวบ้าน) ก่อนโลกจะกลายเป็นนิยาย Sci-Fi : https://becommon.co/world/quantum-computer/)

ระบบความปลอดภัยจะไม่ปลอดภัยอีกต่อไป

ธนาคารเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ต้องปรับตัวให้ทัน ก่อนที่ควอนตัมเทคโนโลยีจะมาเยือน เนื่องจากควอนตัมเทคโนโลยีสามารถแฮกระบบความปลอดภัยทางออนไลน์ได้เพียงไม่กี่วินาที ทำให้ธนาคารบางแห่ง ในบางประเทศเริ่มปรับตัว และใช้เทคโนโลยีนี้เข้ามาดูแลระบบการเงิน เพราะฮาร์ดแวร์ของคอมพิวเตอร์ธรรมดานั้นจะไม่สามารถพัฒนาให้รัดกุมกว่านี้ได้อีกแล้ว

common_qt2
(Photo : Sameer Al-doumy / AFP)

ความรุดหน้าของสินค้าเคมีภัณฑ์

หลังจากที่ Google และ IBM ประกาศว่าพัฒนาควอนตัมคอมพิวเตอร์ได้สำเร็จ ผลงานอีกชิ้นที่คาดว่าเราอาจได้เห็นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า อาจมาในรูปแบบของการประยุกต์ให้เข้ากับอุตสาหกรรมต่างๆ มากขึ้น เช่น Quantum Chemistry หรือ การออกแบบปฏิกิริยาเคมีสำหรับทำปุ๋ย

รูปถ่ายของโปรเซสเซอร์ Sycamore (Photo : https://ai.googleblog.com)

การคิดค้นสูตรปุ๋ยจะมีกระบวนการที่เรียกว่า Nitrogen fixation หรือการ ‘ตรึงไนโตรเจน’ ซึ่งขั้นตอนนี้ยังคงใช้เวลาและพลังงานมหาศาล แม้ว่านักวิทยาศาสตร์จะคิดค้นหาหนทางใหม่ๆ มาร่วมร้อยปีแล้วก็ตาม แต่เนื่องจากทุกวันนี้คอมพิวเตอร์ไม่เร็วพอที่จะจำลองปฏิกิริยาระหว่างโมเลกุลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้การคิดค้นสูตรปุ๋ยยังต้องลองผิดลองถูกอยู่เสมอ

หากนักวิทยาศาสตร์พัฒนาเครื่องมือที่ใช้เทคโนโลยีควอนตัมเข้ามาช่วยได้สำเร็จ นอกจากจะย่นระยะเวลาทดสอบสารเคมีที่ยาวนานเป็นปีได้แล้ว ยังช่วยคิดค้นสูตรปุ๋ยและเคมีภัณฑ์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นได้มากอีกด้วย

ความหวังใหม่ของการประหยัดพลังงาน

ควอนตัมเทคโนโลยีถือเป็นการค้นพบที่ยั่งยืน เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ใช้พลังงานน้อยลง

ยกตัวอย่างคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันจะใช้พลังงานและปล่อยความร้อนออกมาจำนวนมาก แต่ควอนตัม คอมพิวเตอร์นั้นทำงานในอุณหภูมิเย็นจัดเข้าใกล้ 0 องศาเซลเซียส โดยพลังงานทั้งหมดที่ใช้จะหมดไปกับการรักษาอุณหภูมิให้เย็นในช่วงแรกเท่านั้น แทบจะไม่มีความร้อนเกิดขึ้นระหว่างการคำนวน

ยิ่งไปกว่านั้นควอนตัมคอมพิวเตอร์ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้พัฒนาระบบประหยัดพลังงาน เช่น การทำ electrical grid หรือระบบจัดสรรไฟฟ้าไปยังแต่ละบ้านที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

common_qt2
(Photo : LIU JIN / AFP)

แม้ว่าปัจจุบันเราจะมีระบบแจกจ่ายไฟไปตามบ้าน แต่บ้างบ้านอาจมีโซลาร์เซลล์ หรือกังหันลมที่ผลิตพลังงานได้เอง การจัดสรรพลังงานก็จะซับซ้อนมากขึ้น เพราะต้องคำนวณให้ดีว่า ภูมิอากาศแบบนี้จะเก็บไฟได้เท่าใด จะต้องจ่ายไฟไปที่ไหน ควอนตัมเทคโนโลยีจึงเป็นเครื่องมือที่จะช่วยจัดสรรการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่ามากขึ้น

common_qt2
(Photo : Manan VATSYAYANA / AFP)

การแย่งชิงพื้นที่ของระบบปฏิบัติการใหม่

สิ่งที่ทั่วโลกกำลังตื่นตัวในตอนนี้คือการแย่งชิงพื้นที่ในตลาด เพื่อก้าวเข้ามาเป็นที่หนึ่งด้านระบบปฏิบัติการควอนตัมคอมพิวเตอร์

เดิมทีเรามีระบบ Windows, Linux, MacOS ทั้งสามอย่างนี้ว่ากันตามจริงแล้วก็ไม่ต่างกันมาก ขึ้นอยู่ที่ว่าใครชอบและคุ้นเคยกับระบบไหนมากกว่ากัน เมื่อควอนตัมคอมพิวเตอร์เกิดขึ้น เหล่าสตาร์ทอัพและบริษัทยักษ์ใหญ่ก็เร่งสร้างระบบของตัวเองขึ้นมา และพยายามดึงให้คนมาใช้ระบบของตัวเองให้มากที่สุด

common_qt2
(Photo : FRED DUFOUR / AFP)

ไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นที่หมายแรกๆ ที่ต่างประเทศต้องการเข้ามาตีตลาด เพราะมีการใช้งานอินเตอร์เน็ตเติบโตอย่างก้าวกระโดด

คำถามคือ ประเทศของเราพร้อมสำหรับ ‘ควอนตัมเทคโนโลยี’ หรือยัง?

“เราต้องทำให้คนที่มีความรู้แบบดั้งเดิม คิดในรูปแบบใหม่ได้ เราต้องทำให้คนเข้าใจควอนตัมเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น” ทิว – ดร. จิรวัฒน์ ตั้งปณิธานนท์ นักวิจัยควอนตัมคอมพิวเตอร์ จากศูนย์เทคโนโลยีควอนตัม มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) และผู้ร่วมก่อตั้ง Quantum Technologies Foundation (Thailand) พูดถึงสิ่งที่ประเทศไทยควรทำ

จิรวัฒน์ ตั้งปณิธานนท์
จิรวัฒน์ ตั้งปณิธานนท์

เมื่อได้ฟังสิ่งนี้จากปากของนักฟิสิกส์ที่คลุกคลีในวงการ ทำให้เห็นว่าสิ่งที่เราต้องเตรียมตัวไปพร้อมกับการพัฒนาฮาร์ดแวร์รูปแบบใหม่ คือความเข้าใจเรื่องของควอนตัม และตามทันระบบใหม่ๆ ที่ไม่เหมือนเดิม

“แม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่สามารถสร้างฮาร์ดแวร์ได้สำเร็จเหมือนบริษัทใหญ่ของโลก แต่เราจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านนี้เพื่อคอยรับมือกับควอนตัม

“มีเทคโนโลยีที่ชื่อว่า Quantum Cryptography คือการเข้ารหัสลับโดยใช้ควอนตัม ถ้าเราจ้างต่างชาติมาทำโดยที่เราไม่รู้จักมันเลย จะเป็นความเสี่ยง เราต้องการคนที่มีความรู้ เพื่อเป็นสมองของประเทศ แม้เราจะทำฮาร์ดแวร์แข่งกับเขาไม่ได้” ทิวเสริม

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันก็เริ่มมีสัญญาณที่ดีเกิดขึ้นในประเทศไทย เมื่อภาครัฐและองค์กรต่างๆ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านควอนตัมเริ่มรวมกลุ่มกัน เพื่อเริ่มโครงการที่จะนำเทคโนโลยีนี้มาประยุกต์ใช้

สิ่งที่จะได้เห็นในปี 2020 อาจยังไม่ใช่ฮาร์ดแวร์จากเทคโนโลยีควอนตัมที่สมบูรณ์แบบ หรือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แต่น่าจะเป็นไอเดียใหม่ๆ ที่น่าจับตามอง และจะเขย่าโลกของเราในอนาคตอันใกล้