w©rld

กระสุนก็คือกระสุน ไม่สำคัญว่าทำขึ้นจากวัสดุใด หากจุดประสงค์ของผู้ใช้คือต้องการทำร้ายร่างกายให้บาดเจ็บไปจนถึงขั้นเข่นฆ่าปลิดชีวิต กระสุนย่อมคงสถานะ ‘อาวุธอันตราย’ ไม่เปลี่ยนแปลง

บทความนี้มีภาพบาดแผล เลือด และความรุนแรงจากกระสุนยาง
ซึ่งอาจสร้างความไม่สบายใจระหว่างอ่านได้

ถึงแม้ว่ากระสุนบางประเภทจะถูกผลิตขึ้นมาจาก ‘ยาง’ เพื่อสร้างเงื่อนไขใหม่ให้การรับรู้เกี่ยวกับความรุนแรงของอาวุธว่า ปลอดภัยมากกว่าถ้าเปรียบเทียบกับกระสุนโลหะ เพราะมีอานุภาพแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยใช้ประโยชน์จากภาพจำทั่วไปของคนส่วนใหญ่เมื่อนึกถึง ‘ยาง’ (rubber) นั่นคือความรู้สึกอ่อนนุ่มและยืดหยุ่น ไม่ใช่ความแข็ง แต่ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการลวงทางจิตวิทยาเท่านั้น ซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริงทางวิทยาศาสตร์การแพทย์

‘กระสุนยาง’ (rubber bullets) จึงเป็นหนึ่งในหลักฐานเชิงประจักษ์ในแง่ที่ว่า มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่เลือดเย็น เพราะเลือกสร้างความชอบธรรมให้กับการทำร้ายและปราบปรามมนุษย์ด้วยกันเอง ผ่านกลวิธีต่างๆ เพื่อลดทอนความรุนแรงและความน่ากลัวของอาวุธอันตราย ให้กลายเป็นสิ่งจำเป็นที่นำมาใช้ได้ในยามฉุกเฉิน

ปลอกและหัวกระสุนยางที่ตกอยู่ในสถานที่สลายการชุมนุม
Photo: STR / AFP

ดังนั้น เหตุผลที่ใช้อธิบายเป็นคำตอบให้คำถามว่า ทำไมผู้มีอำนาจจึงเลือกใช้กระสุนยางเป็นอาวุธปราบจลาจลและสลายการชุมนุม จึงคาบเกี่ยวกับหลักการหลายประเด็น ซึ่งทั้งหมดเป็นข้อตกลงทางสังคมและศีลธรรมที่คอยกำกับให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข

ก่อนอื่นจำเป็นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ‘ชีวิตของมนุษย์’ ย่อมได้รับความคุ้มครองเชิงกฎหมาย เพราะสังคมยอมรับว่าชีวิตคือสิ่งสำคัญที่สุด การทำลายชีวิตให้ได้รับผลกระทบไม่ว่าจะในระดับใดก็ตาม โดยเฉพาะการฆ่าหรือบังคับให้ชีวิตของผู้อื่นจบลงจึงนับเป็นการละเมิดข้อตกลงอย่างร้ายแรงที่สุด เป็นความผิดที่ไม่อาจอ่อนข้อหรือยอมความกันได้

ประกอบกับแต่ละคนจะถูกนับรวมเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มสังคม และได้รับสถานะพลเมืองของรัฐ ซึ่งรัฐคือตัวแทนของพลเมืองที่ตกลงให้ทำหน้าที่บริหารระบบต่างๆ ในสังคม (ประเทศ) ตามวาระ เพื่อดูแลความเป็นอยู่ขั้นพื้นฐานให้พลเมืองดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างเป็นปกติ รัฐจึงไม่มีสิทธิ์ละเมิด ก้าวล่วง หรือคุกคามพลเมืองได้ตามอำเภอใจ ยกเว้นพลเมืองทำความผิดหรือสร้างปัญหาทำให้สังคมเกิดความวุ่นวาย รัฐจึงจะบังคับใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือลงโทษคนคนนั้นอย่างยุติธรรมที่สุด

แต่การใช้กระสุนยางที่มาจากปลายกระบอกปืนของรัฐกลับมีที่มาและเงื่อนไขต่างออกไป สืบเนื่องจากการทำร้ายร่างกายเป็นสิ่งต้องห้ามแต่แรก และการใช้อาวุธทางสงครามเพื่อสร้างความเจ็บปวดจึงเป็นความรุนแรงที่สังคมไม่ยอมรับว่าเป็นเรื่องถูกต้องหรือควรสนับสนุน รัฐหรือกองทัพจึงคิดหาวิธีเลี่ยงบาลีโดยสร้างอาวุธใหม่เลียนแบบอาวุธก่อนหน้า โดยดัดแปลงวัสดุและสร้างหลักเกณฑ์หรือแนวทางใช้งาน เพื่อพยายามโน้มน้าวให้สังคมเข้าใจว่า ก่อให้เกิดอันตรายน้อยกว่า เพราะไม่ได้ต้องการทำให้บาดเจ็บจนถึงแก่ความตาย (ซึ่งย้ำอีกครั้งว่าไม่ตรงกับความเป็นจริง)

ลักษณะของกระสุนยางที่ทางการของประเทศฝรั่งเศสเลือกใช้
Photo: Geoffroy Van der Hasselt / AFP
กระสุนยางแบบกลมที่ผลิตในประเทศฝรั่งเศส
Photo: Jean-Philippe Ksiazek / AFP
กระสุนยางแบบกลมพร้อมใช้งาน
Photo: Thomas Wirth / AFP

ความชอบธรรมของการใช้กระสุนยาง (baton round) ครั้งแรกของโลกจึงเกิดจากการคิดค้นและพัฒนาโดยกระทรวงกลาโหมของสหราชอาณาจักรในปี 1970 เพื่อปราบปรามกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบจากเหตุการณ์ The Troubles ในไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งเป็นความขัดแย้งทางการเมืองจากความเชื่อต่างนิกายทางศาสนาคริสต์ระหว่างสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์เหนือ

เจ้าหน้าที่ตำรวจชาวอังกฤษเตรียมชิงกระสุนยางในผู้ชุมนุมในเหตุการณ์ The Troubles
Photo: DARDE / AFP
เจ้าหน้าที่ตำรวจชาวอังกฤษถือปืนสำหรับใช้ยิงกระสุนยางในเหตุการณ์ The Troubles
Photo: AFP

เหตุการณ์นี้กลายเป็นต้นแบบให้รัฐหรือกองทัพในประเทศอื่นๆ เลือกใช้กระสุนยางด้วยเหตุผลทำนองเดียวกัน คือเป็นหนึ่งในอาวุธควบคุมฝูงชนเพื่อหยุดยั่งพฤติกรรมที่ทางการเห็นว่าเสี่ยงต่อการเกิดจลาจลบานปลาย

เจ้าหน้าที่ตำรวจอิสราเอลกำลังเล็งเป้าไปยังกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อเตรียมยิงกระสุนยางใส่
Photo: Ahmad Gharabli / AFP

แม้จะเรียกว่ากระสุนยาง แต่วัสดุจริงๆ ที่ใช้ทำกระสุนกลับมีโลหะเป็นส่วนประกอบหลักไม่ต่ำกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและรักษาวิถีกระสุนให้พุ่งตรงไปยังเป้าหมายอย่างแม่นยำที่สุด กระสุนยางจึงทำให้เกิดอาการบาดเจ็บทั้งแบบการกระทบกระแทก (blunt trauma) ผิวหนังเป็นรอยฟกช้ำ และแบบเป็นแผลฉกรรจ์เพราะทะลุเข้าไปในร่างกาย (penetrating)

บาดแผลจากกระสุนยางบริเวณลำตัว
Photo: Ali Greef / AFP
บาดแผลจากกระสุนยางบริเวณกระดูกสันหลัง
Photo: Pablo Burgos / AFP

ผลการศึกษาทางการแพทย์เกี่ยวกับผลกระทบของร่างกายจากกระสุนยาง โดยมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบิร์กลีย์ สหรัฐอเมริกา พบว่าถึงแม้จะยิงจากระยะไกลแต่กระสุนยางก่อให้เกิดความพิการถาวร เช่น ตาบอด กระดูกหัก และเป็นสาเหตุให้ตายได้มากกว่าที่คาดคิด จำนวนคนที่ถูกยิง 3 ใน 4 คน มีอาการบาดเจ็บสาหัส จึงไม่ควรนำมาใช้ในควบคุมฝูงชน แต่ควรใช้ในกรณียับยั้งพฤติกรรมอันตรายของคนคนเดียวที่มีเป้าหมายชัดเจนเท่านั้น

บาดแผลจากกระสุนยางบริเวณต้นขาเหนือหัวเขา
Photo: Sumy Sadurni / AFP

ส่วนคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHR) ได้ประกาศแนวทางปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่ที่จำเป็นต้องใช้กระสุนยาง รวมถึงอาวุธวิถีโค้งอื่นๆ ที่มีแรงกระแทก (Kinetic Impact Projectiles) เช่น กระสุนพลาสติก และกระสุนถุงถั่วว่า จะใช้กระสุนยางได้ก็ต่อเมื่ออยู่ในสภาวการณ์ที่จำเป็นจริงๆ เพราะไม่มีทางเลือกอื่น โดยห้ามยิงเข้าลำตัวช่วงบนขึ้นไปเด็ดขาด โดยเฉพาะบริเวณศีรษะ อนุญาตให้ยิงได้เฉพาะลำตัวส่วนล่างลงไปหรือช่วงขาเท่านั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าความเสี่ยงจากอาการบาดเจ็บจะลดน้อยลง

นักข่าวชาวอเมริกัน ได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะจากระสุนยางของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในเหตุการณ์ประท้วงครั้งใหญ่กรณีจอร์จ ฟลอยด์
Photo: Chandan Khanna / AFP
บาดแผลจากกระสุนยางบริเวณอก
Photo: Anna Zieminski / AFP

เหตุผลสำคัญที่กระสุนยางยังคงเป็นหนึ่งในอาวุธปราบจลาจลและสลายการชุมนุม จึงอยู่ที่ผู้มีอำนาจทั้งรัฐและกองทัพ ซึ่งเป็นฝ่ายที่ถือครองกระสุนยางไว้ เพราะต้องการรักษาวิธีควบคุมฝูงชนที่เข้าใจว่าใช้ได้ เป็นการสร้างความชอบธรรมเพื่อทำร้ายพลเมืองโดยไม่ใช้อาวุธที่สร้างความเสียหายให้แก่ร่างกายและชีวิตในระดับที่รุนแรงมากกว่า ซึ่งทั้งหมดเป็นการอ้างเหตุผลเพื่อรักษาอำนาจของรัฐและกองทัพ โดยไม่ได้อิงกับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์การแพทย์และคำนึงถึงสิทธิคุ้มครองชีวิตพลเมืองให้ปลอดภัย

เจ้าหน้าที่ตำรวจไทย ยิงกระสุนยางเพื่อสลายการชุมนุมในคืนวันที่ 20 มีนาคม 2564
Photo: Mladen Antonov / AFP

เพราะถ้าหากมนุษย์มีความเห็นอกเห็นใจและเคารพในความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน ไม่ใช่แค่การใช้กระสุนยาง แต่ความรุนแรงในสังคมทั่วโลกคงไม่เกิดขึ้นอย่างทุกวันนี้

 

อ้างอิง