w©rld

ท่ามกลางความท้าทายจากความเปลี่ยนแปลง ธุรกิจเกินร้อยปีจะไปต่ออย่างไรในวันพรุ่งนี้

“เราต้องไม่มีอะไรที่เป็น 112 ปีอยู่ในความคิดทั้งสิ้น”

คือประเด็นชวนฉุกคิดที่ พี่โต้-สุหฤท สยามวาลา หนึ่งในผู้บริหารและทายาทรุ่นที่ 4 บริษัท ดี เอช เอ สยามวาลา จำกัด เจ้าของเครื่องเขียนตราช้าง ที่อยู่มานานถึง 112 ปี ตอบในงาน ทายาทรุ่นสอง Good Family Business Conference ที่จัดโดย The Cloud

โต้ สุหฤท สยามวาลา เครื่องเขียน กรรมการผู้จัดการ ทายาทรุ่นสอง The Cloud DHA Siamwalla
(Photo: The Cloud)

สุหฤท เล่าว่าเขาเกิดความคิดนี้เมื่อ 7 ปีที่แล้วที่เข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการ ซึ่งเป็นปีที่น้ำท่วมใหญ่ และเจอเหตุการณ์น้ำท่วมโรงงาน

“เฮ้ย มันเป็นอย่างนั้นได้ด้วยเหรอ ยุคไหนแล้ววะ”

เหตุการณ์ไม่คาดฝัน ทำให้สุหฤทบอกกับตัวเองว่า “เราต้องเป็น Now and Future” หรือปัจจุบันและวันหน้า

เพราะไม่ว่าธุรกิจจะอยู่มานานแค่ไหน คนทุกรุ่นต่างต้องเจอความท้าทายในยุคสมัยของตัวเอง มรดก 112 ปีที่ผ่านมา สำหรับเขาถือเป็น Brand Asset แต่ไม่ใช่สิ่งที่ต้องหลงใหลได้ปลื้ม เพราะวันนี้เทคโนโลยีกำลังทำให้สิ่งต่างๆ เข้ามาแทนที่เครื่องเขียน

ดังนั้น ในอนาคตข้างหน้า มุมมองการบริหารธุรกิจต้องพร้อมที่จะโต้คลื่นกับความเปลี่ยนแปลง

คำถามคือ แล้ววันนี้พี่โต้ ‘โต้’ อย่างไร?

โต้ สุหฤท สยามวาลา เครื่องเขียน กรรมการผู้จัดการ ทายาทรุ่นสอง The Cloud DHA Siamwalla
(Photo: The Cloud)

1. ยกเครื่องวิธีการทำงาน

จากรุ่นแรก (คุณปู่ทวด) ที่เริ่มทำธุรกิจจากการซื้อมาขายไป โดยนำสินค้าจากยุโรปมาขาย สู่การทำธุรกิจเครื่องเขียนในรุ่นที่สาม (คุณพ่อ) ด้วยการผลิตแฟ้มตราช้าง ฯลฯ จนกลายเป็นธุรกิจหลักและสร้างความเติบโตให้กับ บริษัท ดี เอช เอ สยามวาลา จำกัด

โต้ สุหฤท สยามวาลา เครื่องเขียน กรรมการผู้จัดการ ทายาทรุ่นสอง The Cloud DHA Siamwalla
แฟ้มสันกว้างตราช้าง

“เผอิญเราไปอยู่ในช่วงที่เครื่องเขียนมีนวัตกรรมสูงมาก เพิ่งกำเนิดปากกาลูกลื่นขึ้น จากนั้นเราก็มีน้ำยาลบคำผิด เรามีอักษรลอก มีอะไรเยอะแยะมากมาย เพราะฉะนั้นเราก็เอ็นจอยตรงนั้นมา”

หลายคนอาจไม่รู้ว่า คำว่า ‘ปากกาลูกลื่น’ ในภาษาไทยมีต้นกำเนิดมาจาก บริษัท ดี เอช เอ สยามวาลา จำกัด เพื่อสื่อสารกับคนไทยยุคนั้น ทว่าในยุคนี้ วันที่ความเปลี่ยนแปลงเดินมาเคาะประตูได้ทุกเวลา สุหฤทบอกว่า แม้สินค้าจะยังคงผลิตอยู่เช่นเดิม “แต่ไม่มีวิธีการทำงานแบบเดิมเหลืออยู่เลย”

ดี เอช เอ สยามวาลา ในยุคแรกที่ดำเนินธุรกิจซื้อของจากยุโรปมาขาย (Photo: dhas.com)

“ผมเลิกมีองค์กรที่ fix วางแผน 5 ปี ไม่ต้องคุย ตอนนี้วางแผนเป็นรายปี คร่าวๆ แล้วก็ปรับแก้ทุกๆ 6 เดือน เพราะโลกมันปรับตลอด”

นอกจากนี้ องค์กรก็พร้อมจะให้โอกาสสร้างแผนกใหม่ๆ ที่สอดรับกับรูปแบบการทำงานของตลาดในที่ต่างๆ โดยไม่ยึดติดว่า จะต้องเป็นอย่างนี้ ทำอย่างนี้เท่านั้น

เพราะโลกวันนี้เปลี่ยนแปลงตลอด การรู้จักยืดหยุ่นจึงเป็นสิ่งสำคัญ

2. ฟัง ฟัง แล้วก็…ฟัง

“ผมเนี่ยเป็นคนที่พูดเยอะ การปรับครั้งแรกคือต้องรู้จักหุบปาก แล้วฟัง…”

สุหฤทบอกว่า พอเริ่มฟัง เขาก็พบว่าตัวเองตกใจกับไอเดียใหม่ๆ เยอะมาก โดยยกตัวอย่างสินค้า U-Box แฟ้มเก็บเอกสารที่ต้องการขายเข้าบ้านเป็นหลัก (เนื่องจากปัจจุบันสำนักงานซื้อแฟ้มน้อยลง) ซึ่งเกิดจากการรับฟังไอเดียจากคนรุ่นใหม่

U-Box โต้ สุหฤท สยามวาลา เครื่องเขียน กรรมการผู้จัดการ ทายาทรุ่นสอง The Cloud DHA Siamwalla

U-Box โต้ สุหฤท สยามวาลา เครื่องเขียน กรรมการผู้จัดการ ทายาทรุ่นสอง The Cloud DHA Siamwalla
แฟ้มกล่องเอนกประสงค์ U-Box

“U-Box เฮ้ย อะไรวะ ชื่อนี้ก็ไม่เคยคิด แต่รู้ว่าต้องทำอย่างนี้ สีที่มันออกมา ผมไม่มีทางคิดเลย มันพาสเทล สวยมาก ถ้ายังอยู่กับผมนะ มันคงจะเป็นเขียวตัดเหลือง คือผมเป็นคนบ้าสีอ่ะ ซึ่งมันโบราณมาก”

พอฟังเยอะขึ้น เห็นไอเดียมากขึ้น สุหฤทก็ได้พบวิธีการทำงานใหม่ นั่นคือ การขโมยไอเดีย

“ฟังเยอะๆ แล้วกลับกลายเป็นขโมยไอเดีย ขโมยความเป็นคนรุ่นใหม่ ขโมยไลฟ์สไตล์ของเขามา แล้วเราก็เอาประสบการณ์ของเราใส่เข้าไป”

สุหฤทบอกว่า สินค้าของสยามวาลาที่จะเป็นต่อไปหลังจากนี้ จะเกิดจากวิธีคิดดังกล่าว

“โฆษณาก็เปลี่ยน ลีลาในการตลาดก็เปลี่ยน มัวแต่ภูมิใจในเรื่องอดีต แล้วไม่ขโมยความเดิร์นของพวกเด็ก เราจะเสียเวลา”

โต้ สุหฤท สยามวาลา เครื่องเขียน กรรมการผู้จัดการ ทายาทรุ่นสอง The Cloud DHA Siamwalla
(Photo: The Cloud)

4. เปิดโอกาสให้สิ่งใหม่โดยใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มี

วันนี้จากธุรกิจเครื่องเขียน อยู่ดีๆ บริษัท ดี เอช เอ สยามวาลา จำกัด ก็เข้าไปเกี่ยวข้องกับหลายธุรกิจที่แม้ตัวสุหฤทเองก็คิดไม่ถึง

“ไอ้แฟ้มที่ผมเคยผลิตไว้เก็บเอกสาร วันนี้มันเข้าไปสู่ธุรกิจรถยนต์ ถ้าเป็นแต่ก่อนนี้ไม่ต้องคุยนะ เครื่องเขียนก็เครื่องเขียน เครื่องเขียนดิ เดี๋ยวนี้… เดี๋ยวๆ ไอ้ชิ้นนี้ (พีพีชีท – แผ่นพลาสติกที่ผ่านกระบวนการรีด คุณสมบัติเด่นคือ ผิวเรียบ เหนียว กันน้ำ ไม่แตกหัก) ของแฟ้มตราช้าง มันไปได้กับอุตสาหกรรมรถยนต์ กลายเป็น raw material สำหรับเอาไปทำเป็นส่วนหนึ่งของรถยนต์”

โต้ สุหฤท สยามวาลา เครื่องเขียน กรรมการผู้จัดการ ทายาทรุ่นสอง The Cloud DHA Siamwalla พลาสติก
เทคโนโลยีขั้นสูงอย่าง Co-extrusion ที่สามารถผลิตพลาสติกที่มีคุณภาพสูง (Photo: dhas.com)

หรือ

“บริษัทเรามีแผนกโลจิสติกส์ ตอนนี้ก็เริ่มทำธุรกิจโลจิสติกส์ แทนที่จะส่งเครื่องเขียนให้กับร้านค้าทำเครื่องเขียนอย่างเดียว เดี๋ยวเราก็ทำให้อิเกีย และที่นู่นที่นี่”

หรือ

“วันนี้เรามีแอพพลิเคชั่นที่น่าสนใจมากๆ ที่เราเรียกว่า Happily ที่เราเริ่มขายให้ไทยพาณิชย์ และอีกหลายๆ บริษัท มันเป็นแอพพลิเคชั่นที่เช็คคุณภาพว่าคุณมีความสุขในการทำงานวันนี้ไหม ซึ่งมันก็เกิดจากการให้โอกาสกับคนรุ่นใหม่ ขึ้นมาเขียน เพราะคนรุ่นใหม่เรามีประสบการณ์ในการเขียนซอฟต์แวร์”

โต้ สุหฤท สยามวาลา เครื่องเขียน กรรมการผู้จัดการ ทายาทรุ่นสอง The Cloud DHA Siamwalla
(Photo: The Cloud)

ซึ่งสุหฤทบอกว่า ทั้งหมดเริ่มต้นจากการเปิด 2 ส่วน คือ

1. เปิดดูทรัพย์สินภายในที่เป็นทั้ง Hardware (สิ่งของ อุปกรณ์ เครื่องจักรต่างๆ) และ Software (มนุษย์)

2. เปิดโอกาส

“อันนี้สำคัญมาก ผมเปิดโอกาส ใครก็ได้ในบริษัทมาเป็นสตาร์ทอัพในองค์กร ใครก็ได้นะ (ย้ำ) ที่ยูมีโปรเจค ยูเสนอได้เลย ก็มีคนหนึ่งที่ทำงานมาสักพัก เสนอว่า เรามีแผ่นพีพีชีท เรามีไอ้นั่นไอ้นี่ …แล้วตอนนี้เราก็เริ่มฟอร์มภาชนะใส่อาหาร

“มันไหลเพราะว่าการฟังจริงๆ นะ” สุหฤทย้ำ

โต้ สุหฤท สยามวาลา เครื่องเขียน กรรมการผู้จัดการ ทายาทรุ่นสอง The Cloud DHA Siamwalla
(Photo: The Cloud)

ในช่วงท้ายของการสนทนา สุหฤทได้พูดถึงสองสิ่งที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับการ ‘ไปต่อ’ และ ‘รักษา’ ธุรกิจเดิมเอาไว้ของคนที่ทำธุรกิจและมีทายาทที่จะเข้ามาสานต่อ

“ถ้าคุณเป็นพ่อ แล้วกำลังมีลูก ฟังเถอะครับ… เพราะโลกของธุรกิจข้างหน้า ไม่มีอะไรที่เป็น principle แบบเดิมเลย marketing concept เปลี่ยน channel เปลี่ยน วิธีสื่อสารเปลี่ยน

“สมัยผม แรกๆ ที่ทำงาน กับวันนี้มันแทบไม่มีอะไรเหมือนกันเลย ฉะนั้น ผมขอเชิญชวนคุณพ่อทุกๆ คน เปิดให้ลูก ถ้าเค้าผิด เราด่า แต่อย่าปิด แล้วด่า ผมคิดว่าเปิด แล้วทุกอย่างจะได้การเรียนรู้จริงๆ ครับ แต่ถ้าคุณปิดตั้งแต่แรก ยากมาก แล้วไอ้เด็กคนนั้นมันก็ไม่อยู่ มันก็ไปทำอาชีพอื่นที่เป็นมือปืนรับจ้าง เพราะช้อยส์เดี๋ยวนี้มันเยอะมาก ฟังเถอะครับ

“ถ้าเป็นไอเดียที่น่าลอง เราลองได้ มันเป็นไอเดียที่แปลก เราสามารถใช้ประสบการณ์เราบอกได้ แต่ไม่มีอะไรดีเท่าการปล่อยให้ทำในสเกลความผิดที่เล็กๆ ก่อน แต่ห้ามทุกอย่าง ไม่เปิดทุกอย่าง เรากำลังถีบเขาออกไป ซึ่งไม่คิดว่าจะสามารถทำได้ในยุคนี้”

ส่วนเรื่องที่สอง คือแม้จะมุ่งไปข้างหน้าแค่ไหน พยายามหาโอกาสใหม่ๆ อย่างไรก็ตาม สำคัญคือห้ามละทิ้งของเดิม ซึ่งเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของธุรกิจที่สร้างมา

“ห้ามลืมว่า สิ่งที่เป็นเลือดเนื้อของเรา ที่เลี้ยงเราอยู่ทุกวันนี้ มันคือปากกาว่ะ ดินสอว่ะ แฟ้มตราช้างว่ะ ที่ทำให้เราออกไปทำเรื่องพวกนี้ได้ เพราะฉะนั้นอย่ามองว่ามันโบราณ อย่ามองว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่ควรรักษาไว้ นั่นคือทุกสิ่งทุกอย่าง”

ฟังถึงตรงนี้ ถึงแม้สุหฤท ทายาทรุ่นที่สี่ของธุรกิจอายุ 112 ปี จะบอกในตอนต้นว่า แนวคิดการบริหารธุรกิจในยุคนี้คือ “จงเป็นปัจจุบันและวันหน้า” แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องไม่ลืมมรดกและรากฐาน เพื่อรักษาสิ่งที่มีและไปต่อในอนาคตโดยไม่ทิ้งที่มา

นั่นทำให้นึกถึงคำพูดที่สุหฤทเคยพูดถึงวิสัยทัศน์ของสยามวาลาว่า

“เราจะเป็นวัยรุ่นที่แก่ที่สุดในโลก”

โต้ สุหฤท สยามวาลา เครื่องเขียน กรรมการผู้จัดการ ทายาทรุ่นสอง The Cloud DHA Siamwalla
ภาพ สุหฤท สยามวาลา ในเว็บไซต์ ดี เอช เอ สยามวาลา (Photo: dhas.com)

*หมายเหตุ: เรียบเรียงจากเสวนา อยู่เป็นร้อยๆ ปี นำสนทนาโดย ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ ในงานทายาทรุ่นสอง Good Family Business Conference โดย The Cloud