w©rld

รู้สึก ‘ปวดคอ’ อยู่หรือเปล่า?

ถ้าใช่… ไม่แน่ คุณอาจกำลังเป็นโรค ‘text neck’ เพราะเล่นสมาร์ทโฟนมากเกินไป

ปัจจุบัน โรคนี้ถือเป็นปัญหาแห่งยุคสมัยที่กำลังเกิดขึ้นและลุกลามไปทั่วโลก

text neck
(Photo: mdmfisioterapia.it)

คนที่มีสมาร์ทโฟนทุกคน ล้วนอยู่ในกลุ่มเสี่ยง และบางคนก็กำลังเผชิญโรคนี้อยู่

โรคนี้น่ากลัวแค่ไหน?

จากนวัตกรรมสุดล้ำสู่อาการ ‘ปวดคอ’ ของมนุษยชาติ

หลังจาก สตีฟ จ็อบส์ เปิดตัวไอโฟนรุ่นแรกในปี 2007 โลกก็เปลี่ยนไปตลอดกาล หนึ่งในนั้นคืออาการปวดคอครั้งใหญ่ของมนุษย์

text neck
(Photo: brendanbinger.com)

รายงานเกี่ยวกับดิจิทัลทั่วโลก เดือนมกราคม ปี 2019 โดย Hootsuite แพลตฟอร์มเกี่ยวกับการจัดการด้านโซเชียลมีเดีย ระบุว่า

ประชากรโลก ประมาณ 7.6 พันล้านคน

5.1 พันล้านคน (67%) ใช้โทรศัพท์มือถือ

4.3 พันล้านคน (57%) ใช้อินเทอร์เน็ต

และ 3.4 พันล้านคน (45%) ใช้โซเชียลมีเดียอย่างสม่ำเสมอ

text neck
(Photo: wearesocial.com)

หากประเมินว่าคนที่มีพฤติกรรมใช้สมาร์ทโฟน อินเทอร์เน็ต และโซเชียลมีเดียอย่างสม่ำเสมอ คือกลุ่มเสี่ยงอาการ text neck เพราะก้มหน้าพิมพ์ข้อความแชทและใช้โทรศัพท์มากจนเกินพอดี

จะพบว่ามีกลุ่มเสี่ยงมากถึง 3.4 พันล้านคน (หรือค่อนโลก!)

แต่เมื่อมองมาที่ ‘ประเทศไทย’ โดยเทียบกันที่อัตราส่วน จะพบว่ามีจำนวนมากกว่า!

คนไทย ประมาณ 69 ล้านคน

ใช้โทรศัพท์มือถือ 92 ล้านหมายเลข (133% – คิดจากซิมที่มีผู้ลงทะเบียน) 

57 ล้านคน (82%) ใช้อินเทอร์เน็ต

และ 51 ล้านคน (74%) ใช้โซเชียลมีเดียอย่างสม่ำเสมอ

text neck
(Photo: twfdigital.com)

ตัวเลขข้างต้นอาจถกเถียงกันได้ว่าจริงเท็จแค่ไหน

แต่เราทุกคนรู้อยู่แก่ใจว่า ผู้ใช้สมาร์ทโฟนกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในทุกๆ วัน

ยิ่งก้มหน้า ยิ่งเสี่ยง text neck

มนุษย์เป็นสัตว์ที่กระดูกสันหลังตั้งตรง และมองตรงไปข้างหน้าโดยสรีระตามธรรมชาติ

แต่สมาร์ทโฟนกำลังทำให้มนุษย์ต้องก้มหน้า และการก้มหน้าแบบ ‘ไหล่ห่อคอตก’ ก็นำมาซึ่งปัญหาและโรค text neck ที่กำลังบั่นทอนสุขภาพ รวมถึงสรีระของเราให้ผิดเพี้ยนมากขึ้นทุกวัน

ทำไมถึงเป็นแบบนั้น?

text neck

ปกติศีรษะของมนุษย์จะมีน้ำหนักประมาณ 4-5 กิโลกรัม แต่การก้มหน้าทำให้ตำแหน่งของศีรษะเคลื่อนไปข้างหน้า

ยิ่งก้มมากเท่าไหร่ คอยิ่งต้องรับน้ำหนักมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งน้ำหนักที่รับก็มากกว่าปกติหลายเท่าตัว

เช่น…

  • ก้มหน้าเล็กน้อย ในมุม 30 องศา จะทำให้คอรับน้ำหนักเพิ่มขึ้นจาก 4-5 กิโลกรัมเป็น 18 กิโลกรัม
  • ก้มหน้าขณะพิมพ์ข้อความในสมาร์ทโฟนที่ปกติจะอยู่ในมุม 45 องศา จะทำให้คอรับน้ำหนัก 22 กิโลกรัม (มากกว่าน้ำหนักปกติถึง 5 เท่า!!)
  • ก้มหน้ามากๆ จน ‘หน้างอคอหัก’ ในมุม 60 องศา คอก็ต้องรับน้ำหนักมากถึง 27 กิโลกรัม (เทียบได้กับน้ำหนักตัวของเด็กอายุ 8 ขวบ!!!)

คอที่รับน้ำหนักมากกว่าปกตินั้นจะส่งผลต่อกระดูกสันหลัง รวมถึงกล้ามเนื้อและเส้นประสาทที่ต้องรับแรงกดมหาศาล จนอาจนำไปสู่โรคกระดูกทับเส้นประสาทที่รักษาได้โดยการกายภาพบำบัดหรือเข้ารับการผ่าตัด

สถาบันเทคโนโลยีการผ่าตัดนานาชาติ (Surgical Technology International) ระบุว่า กระดูกสันหลังของผู้ใช้สมาร์ทโฟนต้องรับแรงกดจากการก้มหน้าเล่นโทรศัพท์มากถึง 1,000 – 1,400 ชั่วโมงต่อปี

นอกจากปัญหาด้านสุขภาพ การเล่นสมาร์ทโฟนยังส่งผลต่อปัญหาด้านพฤติกรรมอีกด้วย

เลื่อนลอย ไร้สติ ไม่ไยโลกรอบตัว

เงยหน้าจากโทรศัพท์ ออกจากโลกของตัวเองบ้างเถอะ!

เชื่อว่าต้องมีสักครั้งที่คนใกล้ตัวเคยพูดประโยคนี้หรือแสดงกิริยาบางอย่างทำนองนี้กับคุณ แต่รู้หรือไม่ว่า นอกจากสมาร์ทโฟนจะทำให้คุณหลงใหลในโลกเสมือนที่อยู่ในหน้าจอแล้ว ตัวสมาร์ทโฟนเองก็มีผลในเชิงพฤติกรรม ที่ทำให้โลกของคุณแคบลงจริงๆ

ผลการศึกษาระบุว่า การพิมพ์ข้อความบนสมาร์ทโฟนขณะกำลังเดิน จะลดมุมมองในการมองเห็นจากปกติ 130 องศา เหลือ 60 องศา

text neck

หากยิ่งโฟกัสกับหน้าจอมากเท่าไหร่ องศาในการมองเห็นจะยิ่งลดลง เหลือแค่ 1-10 องศาเท่านั้น

เมื่อความสนใจทั้งหมดพุ่งตรงไปที่หน้าจอ นอกจากไม่เห็นความเคลื่อนไหวรอบตัวแล้ว บางทีก็ทำให้เรากลายเป็นคนไร้สติได้เหมือนกัน

ไม่ว่าเดินไม่เป็นทิศเป็นทาง วิถีการเดินเลื่อนลอยเชื่องช้า จนกระทั่งหลงลืมว่า…

ตอนนี้เรากำลังอยู่ที่ไหน จะไปไหน และทำอะไร

ทำไมเราถึงติดสมาร์ทโฟนงอมแงม

“กลุ่มโรคภาวะติดยา” (dependence syndrome) คือนิยามที่องค์การอนามัยโลกหรือ WHO มีต่อพฤติกรรมการติดสมาร์ทโฟน

text neck
(Photo: art.com)

อาจฟังดูรุนแรง แต่ถ้าพิจารณาจากลักษณะอาการแล้ว การติดสมาร์ทโฟนนั้นไม่ต่างจากอาการเสพติด เพราะเวลาที่เราเล่นสมาร์ทโฟน โพสท์เฟซบุ๊คแล้วมีคนกดไลค์ หรือถ่ายรูปลงอินสตาแกรมแล้วมีคนกดให้หัวใจ

สิ่งเหล่านี้ได้สร้างความสุขและความพึงพอใจ ซึ่งส่งผลให้ร่างกายหลั่ง ‘สารแห่งความสุข’ หรือโดปามีน ไม่ต่างกับคนที่ได้รับความสุขจากการติดยา ติดแอลกอฮอล์ ติดบุหรี่ หรือกระทั่งติดการพนัน

text neck leslie perlow
ดร.เลสลีย์ เปอร์โรว์

ดร.เลสลีย์ เปอร์โรว์ (Leslie Perlow) ผู้เชี่ยวชาญด้านภาวะผู้นำ โรงเรียนธุรกิจมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด (Harvard Business School) เผยผลการศึกษากลุ่มตัวอย่าง 1,600 คนที่แสดงให้เห็นว่า เราเสพติดสมาร์ทโฟนกันมากแค่ไหน…

70% เช็คสมาร์ทโฟนในชั่วโมงแรกหลังตื่นนอน

56% เช็คสมาร์ทโฟนหนึ่งชั่วโมงก่อนเข้านอน

48% เช็คสมาร์ทโฟนตลอดทั้งสัปดาห์ รวมถึงในคืนวันศุกร์และเสาร์

51% เช็คสมาร์ทโฟนอย่างสม่ำเสมอในวันหยุด

41% ระบุว่า จะรู้สึก “กังวลมาก”  ถ้าโทรศัพท์หาย และในรอบสัปดาห์นั้นไม่ได้เครื่องใหม่มาใช้

text neck
(Photo: piknow.net)

ความกังวลที่เกิดขึ้นเวลาที่ไม่มีสมาร์ทโฟนไม่ใช่เรื่องตลก เพราะถึงขั้น YouGov หน่วยงานวิจัยทางการตลาดขนาดใหญ่ของสหราชอาณาจักรบัญญัติให้เป็นชื่อโรค Nomophobia ที่มาจากคำว่า ‘no mobile phone phobia’ ในปี 2010 หลังสำรวจพบว่า ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ 53% จาก 2,163 คนในสหราชอาณาจักร จะเกิดอาการวิตกกังวลและเครียดเมื่อพบว่าโทรศัพท์หาย แบตเตอรี่หมด หรืออยู่ในสถานที่ที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์

แล้วคุณล่ะ คิดว่าตัวเองเข้าข่าย Nomophobia หรือเปล่า?

‘สติ’ ท่องไว้ เลี่ยง text neck และอาการเสพติดสมาร์ทโฟน

ระหว่างการติดบุหรี่กับสมาร์ทโฟน บางทีการลด-ละ-เลิกบุหรี่อาจง่ายกว่า เพราะเราสามารถหย่าขาดจากบุหรี่ได้ ถ้าใจแข็งพอ

ผิดกับสมาร์ทโฟนที่วิถีชีวิตทุกวันนี้ไม่ว่าในมิติไหน เราจำเป็นต้องพึ่งพานวัตกรรมที่ลุงสตีฟ จ็อบส์ ทิ้งไว้ให้เป็นมรดก

ดังนั้น การ ‘เลิก’ จึงไม่ใช้ทางออก แต่การ ‘ใช้อย่างพอดี’ ต่างหากคือสิ่งที่ควรทำ

คำตอบของปัญหานี้มีคำเดียวสั้นๆ คือคำว่า “สติ”

text neck
(Photo: @daphne.cheung | picdeer.com)

ถ้ารู้ว่ากำลังใช้เวลาอย่างเพลิดเพลินกับหน้าจอมากเกินไป คงต้องบอกว่าไม่มีใครเตือนเราได้ดีเท่ากับเราเตือนตัวเราเอง

ส่วนคนที่คิดว่าใจยังไม่แข็งและต้องการตัวช่วย common ขอแนะนำแอพ Forward Head Posture (FHP) แอพที่จะช่วยตรวจสอบสรีระบริเวณคอของคุณว่าอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องหรือไม่ พร้อมทั้งให้คำแนะนำและวิธีกายบริหารเพื่อสุขภาพที่ดี

text neck
แอพ Forward Head Posture (FHP)

ความเจ๋งของแอพนี้คือ จะทำให้คุณ ‘ตระหนัก’ ถึงปัญหา เมื่อภาพถ่ายครึ่งตัวในมุมหันข้างของคุณฟ้องว่า สรีระคอกับไหล่ตอนนี้ อยู่ในแนวองศาที่ไหล่ห่อคอตก

พร้อมกับบอก ‘วิธีแก้ไข’ เพื่อให้คุณกลับคืนสู่สรีระที่ถูกต้อง เพื่อการใช้สมาร์ทโฟนที่ดีในวันต่อๆ ไป

text neck
(Photo: bambootelegraph.files.wordpress.com)

ตอนนี้คุณเริ่มรู้สึกปวดตึงๆ ที่คออยู่หรือเปล่า?

ถ้าใช่ ลองละสายตาจากหน้าจอ เก็บสมาร์ทโฟนใส่กระเป๋า และเตือนตัวเองให้ใช้สมาร์ทโฟนอย่างพอดี

เพราะมีความเป็นไปได้ว่าตอนนี้…

คุณกำลังอ่านบทความนี้ผ่านสมาร์ทโฟน.

 

Fact Box:

ดาวน์โหลดแอพ Forward Head Posture (FHP)

iOS: https://apple.co/2TJJyry

Android: https://bit.ly/2EUM3h9

 

อ้างอิง: