w©rld

การเข้ามาของปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ (Artificial Intelligence) ทำให้เกิดปรากฏการณ์ ‘disrupt’ ในหลายวงการ ‘หมอ’ เป็นหนึ่งอาชีพที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน

แต่เป็นการถูกดิสรับที่ส่งผลเชิงบวกมากกว่าผลเสีย เนื่องจากเข้ามาช่วยลดภาระงานด้านข้อมูล เอกสาร และธุรการ รวมไปถึงคุณภาพในการวินิจฉัยโรค

“ศาสตร์ด้าน Health Informatic ถือว่าเป็นเรื่องใหม่มาก แม้แต่ในสหรัฐอเมริกา เป็นการผสมผสานระหว่างศาสตร์การแพทย์ ไอที การจัดการ และอื่นๆ เพื่อนำไปพัฒนาหรือแก้ปัญหาด้านสาธารณสุข รวมทั้งปรับปรุงการจัดการข้อมูลในทางการแพทย์ ซึ่งเป็นวงการที่มีข้อมูลเยอะมาก”

ไผ่-ศุภฤกษ์ ถวิลลาภ คุณหมอผู้หลงใหลเรื่องไอที ดีกรีนักศึกษาแพทย์ปริญญาเอก สาขา Health Informatic มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปส์กิน* (John Hopkins University) แชร์มุมมองในฐานะแพทย์รุ่นใหม่

“เมืองไทยมีคุณหมอเก่งหลายคน ถ้าใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน วงการแพทย์ไทยจะพัฒนาไปได้อีกไกล”

ถ้าคุณอยากรู้ว่า ในอนาคตหมอจะทำงานร่วมกับเทคโนโลยีต่างๆ และ AI ได้อย่างไร ต้องอ่านบทสัมภาษณ์นี้

้health informatics AI

การศึกษาด้าน Health Informatic จะเข้ามามีบทบาทในวงการแพทย์อย่างไร

ก่อนอื่นขอขยายความว่า ‘Heath Informatics’ หมายถึงการใช้ข้อมูล ข่าวสาร และองค์ความรู้ ในการปรับปรุงการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งสาเหตุที่มีศาสตร์นี้เกิดขึ้นเพราะวงการแพทย์เป็นวงการที่มีข้อมูลเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นประวัติผู้ป่วย ข้อมูลการตรวจร่างกาย การตรวจพิเศษต่างๆ ซึ่งถ้าหากข้อมูลไม่มีคุณภาพหรือผิดพลาด จะทำให้การรักษาหรือวินิจฉัยมีปัญหาทันที เช่น คุณแพ้ยาตัวหนึ่งแล้วลืมบอกแพทย์ แล้วถ้าแพทย์บังเอิญสั่งยาตัวนี้ คุณก็อาจได้รับอันตรายถึงชีวิตได้ เป็นต้น

health informatic AI
(photo: https://pixabay.com)

แต่การแก้ปัญหาเหล่านี้ ในหลายครั้งไม่สามารถจัดการได้จากระบบข้อมูลเพียงอย่างเดียว Health Informatic จึงเป็นศาสตร์ที่พยายามใช้เครื่องมือต่างๆ เข้ามาช่วย ไม่จำกัดเพียงไอทีอย่างเดียวเท่านั้น ยังมีศาสตร์อื่นๆ เช่น การจัดการหรือวิศวกรรม เข้ามาผสมผสานด้วย เช่น การจัดการปัญหาผู้ป่วยรอคิว การเอ็กซ์เรย์ที่ใช้เวลานาน ซึ่งสามารถใช้หลักการวิศวกรรมโรงงาน (Industrial Engineering) เข้ามาช่วยลดปัญหาได้ เป็นต้น เราจะมีเครื่องมือในการจัดการปัญหาเยอะมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะภาระงานและปัญหาสาธารณสุขใหญ่มาก การมีการผสมผสานองค์ความรู้จากหลายสาขาเข้าด้วยกัน

ทำไมคุณถึงเลือกเรียนต่อในสาขา Health Informatic

หลังผมเรียนจบคณะแพทยศาสตร์ มหาลัยสงขลานครินทร์ หมอคนอื่นๆ เขาไปเรียนต่อเฉพาะทางกัน เช่น เป็นหมอเด็กหรือหมอผ่าตัด แต่ส่วนตัวผมชอบพวกเทคโนโลยี เขียนโปรแกรม ชอบอ่านข่าว หรือหนังสือพวกไอที ผมจึงมองหาวิชาเรียนเกี่ยวกับด้านนี้ที่จะนำมาใช้ประโยชน์ร่วมกับการแพทย์ได้ และเจอการเรียนสาขา Health Informatic ที่มหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ ผมสนใจและขอทุนไปเรียนต่อปริญญาโทและเอก ซึ่งถือว่าเป็นสาขาที่ใหม่มากๆ แม้แต่สำหรับสหรัฐฯ เอง โดยเฉพาะสาขาที่ผมเรียน ซึ่งเน้นด้านการแก้ปัญหาสาธารณสุขในภาพใหญ่ ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยเปิดสอนในระดับปริญญาเอกแค่เพียงสองแห่งเท่านั้นในสหรัฐอเมริกา ผมคิดว่าจะสามารถนำความรู้ความสามารถตรงนี้ มาช่วยแก้ปัญหาระบบสาธารณสุขในประเทศไทยได้

้health informatics AI

การพัฒนาการแพทย์ด้วยศาสตร์ไอที เช่น การเขียนโปรแกรมข้อมูลหรือแม้กระทั่งใช้ AI ทำอย่างไร ตั้งต้นจากจุดไหน

จริงๆ แล้วมี 2 กรณี แบบแรกคือคุณหมอที่มีความรู้ด้านไอที หลายท่านเขียนแอปฯ ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาการทำงานของตัวเอง อาจจะเขียนด้วยโปรแกรมแบบง่ายๆ แต่แก้ปัญหาได้จริง ก็จะเป็นที่นิยมมาก เช่น แอปฯ คำนวนการกินยาละลายลิ่มเลือด คนที่เป็นโรคหัวใจจะรู้ดีว่าการคำนวณยานี้มีความซับซ้อน ถ้าคิดผิดพลาดอาจทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งคุณหมอคนหนึ่งเขียนแอปฯ ขึ้นช่วยคำนวนแบบง่ายๆ ไม่มีอะไรซับซ้อน แต่มันแก้ปัญหาได้ อีกแบบหนึ่งคือ หมออาจจะไปชวนคนทำงานจากสาขาอื่น เช่น วิทยาการคอมพิวเตอร์ วิศวกร มาช่วยกันพัฒนา เพื่อจัดการแก้ปัญหาด้านการแพทย์ที่เจอ ทั้งสองกรณีมีสิ่งที่เน้นเหมือนกัน คือเริ่มต้นจาก “ปัญหา” และเราต้องการใช้เทคโนโลยีหรือองค์ความรู้ให้เหมาะสมกับ “การแก้ปัญหา” ตรงนี้เป็นจุดสำคัญ เพราะไม่เช่นนั้น เราจะจบด้วยระบบที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ มีความซับซ้อนเกินไป หรืออาจทำให้ปัญหาแย่กว่าเดิมครับ

เราต้องการใช้เทคโนโลยีหรือองค์ความรู้ให้เหมาะสมกับ “การแก้ปัญหา” ตรงนี้เป็นจุดสำคัญ เพราะไม่เช่นนั้น เราจะจบด้วยระบบที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้

ปัญหาด้านสาธารณสุขไทยที่คุณหมอมองเห็นชัดที่สุดตอนนี้คืออะไร

โรงพยาบาลรัฐมีงานที่ต้องรับผิดชอบเยอะมาก ทำให้บุคลากรต้องทำงานหนัก จึงมีข้อผิดพลาดสูงตามไปด้วย งบประมาณของประเทศเราไม่ได้มีมากพอจะสร้างโรงพยาบาลใหม่หรือหาบุคลากรใหม่หลายตำแหน่ง กลายเป็นการฟ้องร้องกันอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยก็เสียไป ซึ่งเป็นปัญหาที่แก้ไขยากและท้าทายมาก และปัญหานี้เป็นกันทั่วโลกครับ จะดีกว่าไหมถ้าเราหาคนหรือผู้เชี่ยวชาญจากสาขาอื่นเข้าไปช่วยแก้ปัญหา หรือใช้เทคโนโลยีเข้าไปช่วยแบ่งเบาภาระงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ และเราจะเริ่มเห็นแนวทางนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ในหลายๆประเทศ

้health informatics AI

แต่ก็มีข้อกังวลว่า การเข้ามาของ AI หรือเทคโนโลยีจะทำให้ค่ารักษาในโรงพยาบาลแพงขึ้น?

แพงขึ้นหรือลดลงเป็นได้ทั้งสองอย่าง เทคโนโลยีสามารถทำให้เกิดการค้นพบการรักษาใหม่ๆ เช่น ตอนนี้มีการใช้ AI ในการค้นหาตัวยาใหม่ๆ ในการรักษาโรค และปัจจัยเสี่ยงในระดับพันธุกรรม เพื่อป้องกันปัญหาตั้งแต่เนิ่นๆ หรือแม้กระทั่งการรักษาที่ออกแบบมาเฉพาะรายบุคคล (Precision Medicine) แต่แน่นอนว่าการรักษาหรือการวินิจฉัยใหม่ๆ มักมีราคาแพง ในขณะเดียวกัน เทคโนโลยีก็สามารถทำให้การผลิตยาหรือเครื่องมือแพทย์ต่างๆ ง่ายขึ้น ราคาถูกลง เรามียาที่มีคุณภาพมากขึ้น หรือนำตัว AI มาช่วยให้แพทย์สามารถตรวจผู้ป่วยได้ดีขึ้น ผลข้างเคียงน้อยลง ได้รับการรักษาได้ดีขึ้น ทำให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาโดยรวมถูกลง นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการใช้เทคโนโลยีที่สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ในโรงพยาบาล เช่น คลังยา เวชภัณฑ์ บุคลากร และระบบการแพทย์ทางไกล ดังนั้นในภาพรวม ผมเชื่อว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาทำให้ค่ารักษาพยาบาลถูกลง เพราะระบบมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อีกนานไหมกว่าที่ศาสตร์ด้าน Health Informatic จะเข้ามาในวงการแพทย์ในเมืองไทย

การใช้ศาสตร์ด้านนี้ไม่จำเป็นต้องเรียนจบเฉพาะด้านแบบผม หลายคนเริ่มจากการพยายามแก้ปัญหา และค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองผ่านสื่อการสอนบนอินเทอร์เน็ต และทำงานร่วมกับคนจากหลายสาขาวิชา ตอนนี้เราเริ่มเห็นโครงการต่างๆ ในโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชนแล้ว น้องๆ แพทย์รุ่นใหม่หลายคนให้ความสนใจในด้านนี้ และบางคนเริ่มทำโครงการในโรงพยาบาลของตนเองกันแล้ว นอกจากนี้ ทางภาครัฐเริ่มให้การสนับสนุนมากขึ้น และมีการร่วมมือกับสตาร์ทอัพ ด้านสุขภาพ ในส่วนของข้อกฏหมายและระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรค ตอนนี้ทางภาครัฐก็กำลังพยายามจัดการอยู่ ซึ่งต้องใช้เวลา แต่ถือว่ามีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องและแพร่หลายมากขึ้น

คนไข้ในบ้านเราจะได้ประโยชน์อะไรจากวงการแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีหรือ AI

คนไข้ได้ประโยชน์มากขึ้นแน่นอนครับ เพราะมีการนำมาใช้ในการปรับปรุงคุณภาพการให้บริการ ตัวอย่างเช่น ระบบการจัดคิวของผู้ป่วย อย่างแอปพลิเคชันนัดคิวหมอแบบออนไลน์ เราไม่ต้องไปยืนรอคิวที่โรงพยาบาลทั้งวัน ถึงเวลาแล้วค่อยไป หรือมาจองคิวแล้ว เราออกไปพักผ่อน และกลับมาอีกทีตอนใกล้คิวเรียก ระบบนี้เริ่มมีการใช้ในหลายโรงพยาบาล แม้แต่โรงพยาบาลรัฐเอง เช่น ระบบฮุกกะ (Hygge) ของโรงพยาบาลราชบุรีเป็นต้น

health informatic AI
ระบบคิว ‘ฮุกกะ’ ที่พัฒนาโดยโปรแกรมเมอร์จากโรงพยาบาลราชบุรี มีจุดประสงค์ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้การบริการมีประสิทธิภาพและสะดวกรวดเร็วมากขึ้น และตอบโจทย์การเป็น Smart Hospital (phot: https://www.facebook.com/hyggemedicalservice)

อีกรูปแบบหนึ่งคือ แอปฯ รักษาแบบออนไลน์ เป็นการแพทย์ทางไกล หรือ โทรเวช (Telemedicine) คือ ผู้ป่วยสามารถพบแพทย์ผ่านแอปฯ เพื่อสอบถามปรึกษาอาการเบื้องต้นได้ทันที ไม่ต้องใช้เวลาและค่าใช้จ่ายไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ซึ่งแอปฯ เหล่านี้ช่วยลดความอึดอัดในโรงพยาบาลได้มาก เพราะผู้ป่วยจำนวนมากที่มาโรงพยาบาล ไม่ได้เจ็บป่วยรุนแรง และเมื่อจำนวนผู้ป่วยลดน้อยลง ทำให้แพทย์มีเวลาให้ผู้ป่วยที่ป่วยหนักมากขึ้น ตัวแพทย์เองก็มีเวลาพักผ่อนมากขึ้น เพราะหมอก็เป็นมนุษย์ หากทำงานหนักประสิทธิภาพย่อมลดลงแน่นอน แอปฯ เหล่านี้ยังช่วยให้ผู้ป่วยที่ไม่อยากไปโรงพยาบาลให้เข้าถึงการรักษามากขึ้นอีกด้วย เช่น จิตเวช นอกจากนี้ ระบบการแพทย์ทางไกล ยังสามารถช่วยให้แพทย์ที่ประจำอยู่โรงพยาบาลชุมชนไกลๆ สามารถปรึกษาอาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในโรงเรียนแพทย์ได้ ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ดีขึ้นแม้ไม่ได้อยู่ในตัวเมืองหรือโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ตัวผู้ป่วยเองก็ไม่จำเป็นต้องเดินทางไกลเข้าเมืองโดยไม่จำเป็น

ผู้ป่วยจำนวนมากที่มาโรงพยาบาล ไม่ได้เจ็บป่วยรุนแรง และเมื่อจำนวนผู้ป่วยลดน้อยลง ทำให้แพทย์มีเวลาให้ผู้ป่วยที่ป่วยหนักมากขึ้น ตัวแพทย์เองก็มีเวลาพักผ่อนมากขึ้น เพราะหมอก็เป็นมนุษย์ หากทำงานหนักประสิทธิภาพย่อมลดลงแน่นอน

้health informatics AI

สิ่งที่น่ากังวลคืออะไร หากมีการนำ AI เข้ามาใช้ในวงการแพทย์ไทย

สิ่งที่น่ากังวลเกี่ยว กับ AI ไม่ว่าจะในประเทศไทยหรือต่างประเทศ คือ AI ได้รับการคาดหวังจากผู้ใช้เกินจริงอย่างมาก เพราะคิดว่ามีความแม่นยำกว่าแพทย์ และสามารถทดแทนแพทย์ที่เป็นมนุษย์ได้  แต่ AI มีข้อจำกัดและผิดพลาดได้ อีกประเด็นคือ AI เป็นสิ่งที่ถูกสร้างด้วยข้อมูล แล้วข้อมูลที่ถูกสร้างมาจากไหนล่ะ ก็มาจากฝรั่งทั้งนั้น การนำเอาองค์ความรู้จากต่างประเทศมาใช้ในเมืองไทยต้องระวังมากๆ เราต้องดูบริบทด้วย เพราะอาจมีบางโรคแตกต่างกัน เช่น โรคผิวหนัง คนไทยมีผิวเหลือง ถ้าข้อมูลถูกสร้างจากข้อมูลของคนผิวขาว ความแม่นยำจะผิดเพี้ยน จริงๆ แล้ว แค่ใช้ข้อมูลข้ามโรงพยาบาล ความแม่นยำก็ลดลงมากแล้ว

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ใช้งานต้องตระหนักว่า เราใช้ AI สำหรับการ ‘คัดกรอง’ เราต้องรู้ว่า AI ทำอะไรได้ดีและอะไรทำได้ไม่ดี เพื่อใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เราจะไม่เชื่อ AI ทันที ทุกเรื่องเราจะตรวจสอบก่อน แม้แต่ในประเทศสหรัฐฯ เอง แพทย์ต้องตัดสินใจขั้นสุดท้ายอีกครั้งหนึ่ง

เป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ใช้งานต้องตระหนักว่า เราใช้ AI สำหรับการ ‘คัดกรอง’ เราต้องรู้ว่า AI ทำอะไรได้ดีและอะไรทำได้ไม่ดี เพื่อใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ารที่เทคโนโลยีเข้ามาในวงการแพทย์มากขึ้นแบบนี้ อาชีพหมอจะถูก ‘disrupt’ ไหม

ผมมองว่าในตอนนี้เรายังไม่ถึงขั้นที่เรียกว่าถูกดิสรัป เพราะหลักๆ แล้วมีการนำเทคโนโลยี มาใช้ปรับปรุงการจัดการบางส่วน แต่กระบวนการทำงานในภาพรวมยังคงคล้ายของเดิม ปัจจุบัน ถ้าเราไปคลีนิคหรือโรงพยาบาล เราต้องเจอหมอ แต่ในอนาคตอาจไปเจอเครื่องตรวจอัตโนมัติ ไม่เจอคนเลย คนไข้แค่บอกอาการ จากนั้น AI ก็จะให้บริการตั้งแต่ถ่ายรูป กรอกประวัติ สั่งยา หรือการผ่าตัดโดยระบบอัตโนมัติทั้งหมด แม้แต่ผู้ดูแลผู้ป่วยก็ใช้หุ่นยนต์เป็นเสียส่วนใหญ่ ผู้ป่วยฉุกเฉินก็มีการใช้โดรนรถพยาบาลออกไปรับ ไม่มีแพทย์ที่เป็นมนุษย์เลย ผู้ป่วยไม่ต้องนอนโรงพยาบาล แต่จะมีหุ่นยนต์เอาเครื่องมือแพทย์ที่จำเป็นไปไว้ที่บ้าน แล้วนอนพักรักษาตัวในบ้านตนเอง ส่วนแพทย์จะเปลี่ยนบทบาทไปเป็นคนพัฒนาหรือเขียนคำสั่งควบคุมระบบอัตโนมัติพวกนี้แทน ซึ่งผมคิดว่าเทคโนโลยีเหล่านี้เป็นตัวอย่างที่ดีของการถูกดิสรัป เพราะเราจะเห็นว่าหน้าที่บทบาทของแพทย์ และระบบการทำงานเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ตอนนี้เทคโนโลยีทำได้ในบางส่วนเท่านั้น เนื่องจากระบบมีความซับซ้อนมาก ต้องใช้เวลาในการพัฒนา แต่ถ้าถามว่าจะมีการเกิดดิสรัปในอนาคตไหม ผมคิดว่าต้องเกิดแน่นอนครับ

้health informatics AI

ทีนี้แพทย์ควรเตรียมทักษะอะไรเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

หลักๆ แล้ว ควรมีทักษะ ‘การสื่อสาร’ และการทำงานเป็นทีม เพราะในอดีต เราอาจจะเป็นอาชีพหมอเป็น one man show ทำงานทุกอย่างคนเดียว แต่ตอนนี้เปลี่ยนไปแล้ว ในต่างประเทศ เราจะเห็นไม่เห็นหมอเดินคนเดียว แต่จะมีเภสัชกร พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ เดินตามกันเป็นพรวนเลย ต้องทำงานเป็นทีม ต่างคนต่างช่วยเสริมกันจะทำให้การรักษาออกมาดียิ่งขึ้น

ดังนั้น การสื่อสารในการทำงานร่วมกับคนอื่นจึงสำคัญมาก นอกจากนี้ หมอควรต้องมี ‘มุมมองที่เปิดกว้าง’ พร้อม ‘เปิดรับ’ และ ‘เรียนรู้’ สิ่งใหม่ๆ ด้วย เพราะนอกจากความรู้ทางการแพทย์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาแล้ว ศาสตร์ต่างสาขายังเริ่มเข้ามามากขึ้นในอนาคต.

หมอควรต้องมี ‘มุมมองที่เปิดกว้าง’ พร้อม ‘เปิดรับ’ และ ‘เรียนรู้’ สิ่งใหม่ๆ ด้วย เพราะนอกจากความรู้ทางการแพทย์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาแล้ว ศาสตร์ต่างสาขายังเริ่มเข้ามามากขึ้นในอนาคต

้health informatics AI

อ่านบทความอื่นๆ ในซีรีส์ common TOMORROW

 

อ้างอิง:

  • wikipedia.มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์. https://bit.ly/2DQVsXM 

————————————————————————————

 

FACTBOX

  • มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ (Johns Hopkins University) เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนในสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1876 มีชื่อเสียงในด้านการแพทย์ สาธารณสุข และ การพยาบาล