w©rld

วันพรุ่งนี้ของ ‘…’ จะเป็นอย่างไร?

คำถามนี้ทำให้ผมนึกถึงถ้อยความอมตวาจาในหนังสือปัญญาจารย์* (Ecclesiastes 1:4-11) ที่บอกว่า “ไม่มีอะไรใหม่ใต้ดวงตะวันนี้” เพราะทุกสิ่งในโลกล้วนเคยเกิดขึ้นมาแล้ว เพียงแต่เป็นการเกิดซ้ำในช่วงเวลาที่ต่างกัน

โดยมีสิ่งสมมติมายาของมนุษยชาติที่เรียกว่าอำนาจและเงินตรา คอยผลักดันให้ผู้คนมุ่งแสวงหา สิ่งที่เรียกว่า ‘ความก้าวหน้า’ (ที่ไม่มีอะไรใหม่)

จากสาธารณรัฐโรมันจนถึงสหรัฐอเมริกา จากยุคจ้านกั๋วจนถึงวิกฤตการเมืองไทย ผู้คนมากหน้าหลายตา ตั้งแต่เศรษฐีรวยล้นฟ้า คนมีอำนาจวาสนา จนถึงคนธรรมดาที่มีความทะเยอทะยาน ต่างพากันเดินเข้าสู่ถนนการเมืองด้วยเหตุผลต่างๆ นานา

ประวัติศาสตร์หลายหน้าได้บันทึกกรณีศึกษาเกี่ยวกับคนมั่งมีจำนวนไม่น้อยที่กระโจนเข้าสู่วังวนอำนาจ เพียงเพราะเงินที่มีไม่เพียงพอที่จะตอบสนอง ‘ปณิธาน’ ของพวกเขา

เช่น หลวื่อปู้เว่ย พ่อค้าผู้มั่งคั่งชาวแคว้นเว่ยในสมัยจ้านกั๋ว ทำการค้าในแคว้นหานจนมี ‘เงินทองกองเป็นพันลิ่ม’ (家累千金) เพราะ ‘ซื้อถูกขายแพง’ (販賤賣貴) เนื่องจากเขาเป็นนักลงทุนที่ตาแหลม แยกก้อนหยกออกจากก้อนหินได้

หลวื่อปู้เว่ยจึงใช้ทักษะ “ซื้อถูกขายแพง” แสวงหาอำนาจ เมื่อเขาได้รู้จักกับ อี้เหริน คุณชายแคว้นฉินที่ถูกส่งมาเป็นตัวประกันที่แคว้นจ้าว บุคคลสูงศักดิ์ที่กำลังไร้ค่าด้อยราคา แต่หลวื่อปู้เว่ยมองออกว่าของถูกชิ้นนี้มีค่า เขาจึงนำหยกที่สรรหามาเป็นบันไดไต่เต้า เปลี่ยนสถานะจากพ่อค้าขึ้นมาเป็น “นายกฯ” แคว้นฉิน ด้วยมิใช่เพราะภักดี คิดพัฒนาบ้านเมือง แต่เพราะไม่รู้จักพอ อยากจะกุมอำนาจบงการราชสำนัก ก่อนสุดท้ายจะคว้าน้ำเหลว เพราะความโลภบังตาปัญญาพร่าเลือน

แต่การผันตัวจากพ่อค้ามาเป็นนายกฯ โดยมีวาระแอบแฝง ก็ยังไม่เลวร้ายเท่า ‘ธนาธิปไตย’ (Plutocracy) หรือคนที่ใช้สถานะพ่อค้าซุกซ่อนเจตนาทางการเมืองเอาไว้ โดยใช้พลังทุนขับเคลื่อนการเมืองด้วยกลอุบายต่างๆ เพราะเชื่อว่าเงินบันดาลทุกสิ่งได้ โดยเฉพาะการซื้อผู้มีอำนาจทางการเมือง

Theodore Roosevelt ธีโอดอร์ รูสเวลต์
ธีโอดอร์ รูสเวลต์

ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ในขณะที่การเมืองสหรัฐจมดิ่งอยู่ภายใต้อิทธิพลของคนกลุ่มนี้ ประธานาธิบดี ธีโอดอร์ รูสเวลต์ ได้ผ่านกฎหมายต่อต้านการผูกขาด เพื่อสลายอิทธิพลของภาคธุรกิจที่ผูกขาดอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นต้นธารของธรรมเนียมตรวจสอบภาคธุรกิจโดยฝ่ายการเมือง และลงโทษภาคธุรกิจที่หวังจะ ‘กินรวบ’ แต่ฝ่ายเดียว เนื่องจากรูสเวลต์เล็งเห็นว่าอิทธิพลของเงินตรานั้นเลวร้ายพอๆ กับอิทธิพลของเผด็จการ เหมือนที่ครั้งหนึ่ง รูสเวลต์ เคยกล่าวไว้ว่า “เผด็จการที่หยาบช้าที่สุด คือเผด็จการที่อยู่ในคราบของความมั่งคั่ง และปกครองโดยคนมั่งมี”

แต่ความพยายามของ รูสเวลต์ ก็กลายเป็นสิ่งที่ไร้ผล เพราะนักการเมืองอเมริกันยังคงหลงในมายาอำนาจและเงินตรา จนยอมปิดตาก้มหน้าให้คนมั่งมีกลุ่มหนึ่งจูงจมูกผ่านการล็อบบี้ และหล่อเลี้ยงด้วยเงินสนับสนุนทางการเมือง

ถามว่าการล็อบบี้และให้เงินสนับสนุนฯ เป็นการคอร์รัปชั่นหรือไม่?

คำตอบก็คือ “ไม่” เพราะมันเป็นการจ่ายเงิน ‘ซื้อนโยบาย’ อย่างถูกกฎหมาย แถมยังลดภาษีได้อีก

ถามว่าคนชั้นกลางจะทำบ้างได้หรือไม่?

คำตอบคือ “ได้” แต่เงินไม่กี่ร้อยเหรียญจะดังเท่าเสียงของคนมั่งมีที่มีเงินมากกว่าร้อยหมื่นเท่า?

คำถามนี้ถูกตอบอย่างชัดเจนในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินปี 2008 ที่คนชนชั้นแรงงานถูกลอยแพ แต่คนใส่สูทผูกไทที่เป็นตัวการวิกฤตกลับล้มบนฟูก แถมยังได้เงินโบนัสเป็นรางวัล

the financial crisis วิกฤตทางการเงินปี 2008
วิกฤตทางการเงินปี 2008 ทำให้หุ้นในตลาดหุ้นนิวยอร์กร่วงดิ่ง (Photo: Emmanuel Dunand / AFP)

ในความคิดของผู้เขียน เผด็จการซ่อนรูปจึงน่ากลัวกว่าเผด็จการที่โจ่งแจ้ง เพราะหาตัวจับยากกว่า แต่ก็ใช่ว่าเผด็จการที่ถือปืนจะเลวทรามน้อยกว่า

หากมองประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีรัฐบาลทหารมากกว่าพลเรือน แต่รัฐบาลทหารที่ถือว่า ‘มือถึง’ นับหัวได้ และถึงแม้จะมือถึงแค่ไหนก็ไร้ความชอบธรรม และมีอย่างน้อยสองครั้งที่จบด้วยการลุกฮือครั้งใหญ่ของประชาชน เหตุเพราะโกงกิน กดขี่ ไร้สัจจะ อันเนื่องจากลืมพันธะต่อชาติ เอ่ยบ้านอ้างเมืองตักตวงผลประโยชน์ คล้อยตามพวกพ้องและพี่น้องร่วมเหล่าจนลืมหน้าที่ตน

6 ตุลาคม พ.ศ.2519
6 ตุลาคม พ.ศ.2519 (Photo: AFP)
Black May 2535 พฤษภาทมิฬ พ.ศ.2535
พฤษภาทมิฬ พ.ศ.2535 (Photo: Baylor 83 / flickr)

เช่นเดียวกับนักการเมืองที่มีพันธะกับผู้เลือกตั้ง แต่ก็มักคล้อยตามธนาธิปไตย ด้วยเห็นเงินตราเป็นใหญ่ กว่าการใช้อำนาจปกครองอย่างเป็นธรรม

ฉะนั้นมนุษย์ผู้หวงแหนเสรีภาพจึงควรไม่ไว้ใจใคร ไม่ว่าผู้นั้นจะรวยล้นฟ้าหรืออ้างว่าจะทำเพื่อชาติมากแค่ไหน มหาชนจะต้องอาศัยความกังขาไม่มีที่สิ้นสุด เพื่อจะธำรงรักษาการปกครองที่ถูกต้อง ดีงาม และโปร่งใสให้คงอยู่

จากที่ผู้เขียนเล่ามาจะเห็นได้ว่า ปัญหาเรื่อง ‘…’ ไม่ได้อยู่ที่ชอบหรือไม่ชอบเผด็จการ แต่อยู่ที่เรามักจะคิดว่า วิวัฒนาการทางการเมืองควรเป็นไปแบบลำดับขั้น หรือเป็นแบบเส้นตรงไม่มีหวนกลับ

เพราะในความเป็นจริง การเมืองมีวัฏจักรไม่ต่างกับเศรษฐกิจ (Business cycle) คือมีช่วงรุ่งเรืองและตกต่ำของเสรีนิยม ช่วงโหยหาและเอือมระอาอนุรักษ์นิยม จนกระทั่งช่วงที่อยากผลักไสและกอดจูบเผด็จการ

ความหมุนเวียนเปลี่ยนผันนี้เกิดขึ้นจากการปรับตัวไปตามสถานการณ์

Greek Democracy กรีก ประชาธิปไตย
นครรัฐเอเธนส์ สมัยกรีกโบราณ ประชาชนจะมีอำนาจปกครองโดยตรง ผ่านสภาประชาชนซึ่งมีหน้าที่ในการออกกฎหมาย และควบคุมการทำงานของฝ่ายบริหาร (Photo: ancientgreeksbypeta.weebly.com)

เหมือนเช่นประชาธิปไตยในนครรัฐกรีก ที่หลายคนในวันนี้มองว่านี่คือปลายทาง ก็คงจะมั่นคงสถาพรเรื่อยมา เพียงแต่เมื่อบ้านเมืองแปรผัน เกิดความขัดแย้งทางชนชั้น ก็ได้นำนครรัฐที่เป็นต้นทางของประชาธิปไตยไปสู่การเลือกตั้งผู้นำเผด็จการ หรือ Tyrant ให้ขึ้นมากุมอำนาจเบ็ดเสร็จ

เหมือนเช่นพวกโรมันเดิมที่เคยปกครองแบบราชาธิปไตย แต่รังเกียจการสืบทอดอำนาจโดยสายเลือด เพราะสุ่มเสี่ยงที่จะได้คนเลวมาปกครอง จึงสถาปนาระบอบสาธารณรัฐขึ้น แม้จะมีประชาธิปไตยในระดับหนึ่ง แต่เมื่อสถานการณ์คับขัน ประชาธิปไตยใช้การไม่ได้ จะมีการเลือกผู้แทนขึ้นมากุมอำนาจเบ็ดเสร็จเรียกว่า Dictator (รากศัพท์ในภาษาละติน ‘dictare’ แปลว่า ออกปากสั่ง) เพื่อแก้ไขวิกฤต แต่เมื่อสิ้นวิกฤตแล้ว อำนาจทั้งหมดต้องกลับคืนกลับสู่สภา

Julius Ceasar จูเลียส ซีซาร์
ภาพ ‘จูเลียส ซีซาร์’ วาดเมื่อปี 1875 โดยศิลปินชาวฝรั่งเศส Adolphe Yvon (Photo: Wikimedia Commons)

แต่โรมันก็เช่นเดียวกับกรีกโบราณ เมื่อเกิดความแตกแยกบานปลาย สาธารณรัฐก็อ่อนแอลง ความนิยม Dictator เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิด ‘ไอดอล’ ทางการเมืองที่คนพร้อมจะยอมมอบอำนาจให้นานๆ เช่น ซุลลา จนกระทั่งนำไปสู่ Dictator ถาวร อย่างกรณีของ จูเลียส ซีซาร์ ที่กลายเป็น Dictator Perpetuo หรือ “เผด็จการตลอดกาล”

ครั้นโรมเกิดความขัดแย้งอีกรอบจนนำไปสู่การลอบสังหารซีซาร์ หลังเกิดสงครามกลางเมือง หลานของซีซาร์คือ เอากุสตุส แก้แค้นแทนญาติผู้ใหญ่สำเร็จ และกุมอำนาจไว้ได้เบ็ตเสร็จ  แต่เขากลับปรารถนาตำแหน่งที่ยิ่งกว่า Dictator คือการครองอำนาจเป็น Imperator หรือจักรพรรดิ นับแต่นั้นสาธารณรัฐโรมจึงถึงกาลอวสาน และเริ่มต้นยุคราชาธิปไตย (อีกครั้ง)

Caesar Augustus เอากุสตุส
ภาพ Maecenas Presenting the Liberal Arts to Emperor Augustus วาดเมื่อปี 1743 โดยศิลปินชาวเวนิสชื่อ Giovanni Battista Tiepolo (Photo: Wikimedia Commons)

จะเห็นได้ว่าวัฏฏะของรูปแบบการปกครองมีมาแต่ยุคโบราณ การพูดถึงระบบการปกครองใดระบอบหนึ่งในฐานะปลายทางประวัติศาสตร์ จึงเป็นอะไรที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์

เมื่อเกือบ 20 ปีก่อน ฟรานซิส ฟุกุยามะ (Francis Fukuyama) นักปรัชญาการเมืองชาวอเมริกันพยายามประกาศชัยชนะของประวัติศาสตร์แบบเส้นตรงผ่านหนังสือ The End of History and the Last Man ในช่วงที่แนวคิดสังคมนิยม-คอมมิวนิสต์กำลังล่มสลาย จุดจบประวัติศาสตร์ของฟุกุยามะก็คือจุดจบของอุดมการณ์ทางการเมืองแบบเผด็จการ และปลายทางของมนุษยชาติ คือ ประชาธิปไตยเสรีนิยมแบบตะวันตก

Francis Fukuyama ฟรานซิส ฟุกุยามะ
ฟรานซิส ฟุกุยามะ

ทฤษฎี The End of History ได้รับการตอกย้ำด้วยการเกิดขึ้นของสหภาพยุโรปในฐานะองคพายพเสรีนิยมขนาดใหญ่ ตามด้วยการโค่นล้มเผด็จการในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มจากการล้มรัฐบาลสายทหารในไทย (พฤษภาคม พ.ศ.2535) และการขับไล่ซูฮาร์โต (พฤษภาคม พ.ศ.2541) ไปจนถึงการบีบให้จีนและเวียดนามสมาทานระบบตลาดในที่สุด

China Capitalism
(Photo: greenleft.org.au)

วิกฤตการเงินในเอเชียยังทำให้ระบบการเงินของ ‘ลูกหม้ออเมริกัน’ ที่เปิดอ้าซ่าอยู่แล้ว ยิ่งเปิดถ่างขึ้นไปอีกด้วยการบีบบังคับของ IMF และมหาอำนาจโลกเสรีที่ตอนนี้กลายเป็น ‘เผด็จการเดี่ยว’ (Hegemon) ที่ใช้อิทธิพลบีบชาติอื่นให้เปิดตลาดเสรีผ่าน WTO และการทำข้อตกลง FTA ในนามของ ‘ตลาดเสรี’

มาถึงตอนนี้ชาวโลกเริ่มเอียนคำว่า “เสรี” พอสมควร แต่ก็ไม่มีทางเลือกอะไรที่ดีกว่านี้ เพราะหลงเชื่อไปแล้วว่ามันคือปลายทาง

แต่แล้ววิกฤตการเงินปี 2008 ก็ทำให้ชนชั้นกลางที่ชอบเสรีนิยมหนักหนาเริ่มโอดครวญ เพราะรัฐบาลใช้นโยบายอุ้มภาคธุรกิจด้วยเงินภาษีประชาชน อ้างว่าบรรษัทคือกลไกที่ขับเคลื่อนตลาดเสรี จึงต้องพิทักษ์เอาไว้ แต่ความจริงคือบรรษัทกับรัฐบาลอุ้มชูกันละกัน

ผู้อพยพ immigrant ปารีส
เหล่าผู้อพยพระหว่างรอโยกย้ายจากค่ายอพยพชั่วคราวในกรุงปารีส เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2016 (Photo: Christophe Archambault / AFP)

ส่วนอาหรับสปริงที่โลกเสรีโห่ร้องยินดี กลายเป็นชนวนความวุ่นวายในตะวันออกกลาง คลื่นผู้อพยพมหาศาลที่ทะลักเข้ายุโรปในชั่วข้ามปี ทำให้เสาหลักของเสรีนิยมสั่นคลอน ผู้คนที่เคยมั่นใจกับเสรีนิยมเริ่มหันหลัง และหลังจากนั้นกระแสชาตินิยมและเหยียดเชื้อชาติก็ผงาดขึ้นมา สหรัฐอเมริกาที่เคยฝันหวานในยุคโอมาบาเรื่องสังคมไร้สีผิว ถูกทำลายในพริบตาเมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี จากนั้นกระแสเหยียดเชื้อชาติก็หนักหน่วงอย่างไม่เคยมีมาก่อน ถึงขนาดเกิดกระแสสิทธิคนผิวสีขนานใหญ่ (Black Lives Matter) ซึ่งไม่เคยมีแบบนี้มาตั้งแต่ยุคของ ดร. มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ จนดูเหมือนสหรัฐอเมริกากำลังถอยกลับไปสู่ทศวรรษ 60s

Black Live Matter
ผู้หญิงคนหนึ่งถือธงระหว่างการประท้วงเพื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหวของ Black live matter หรือ “ชีวิตคนผิวดำก็มีความสำคัญ” ในมหานครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2016 หลังจากที่ก่อนหน้านี้เกิดเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจผิวขาวสังหารชายผิวดำที่ไม่มีอาวุธ (Photo: Kena Betancur / AFP)

ใครจะไปเชื่อว่าในยุค The End of History ความคิดล้าหลังจะหวนกลับมาได้อีก? แต่วันนี้มันเกิดขึ้นแล้ว และมันไม่ล้าหลัง

และมันจะเกิดเวียนวนอยู่อย่างนี้เรื่อยไป เช่นเดียวกับการเกิดขึ้นของ ‘…’ ที่เหมือนหนังเรื่องเก่าที่ถูกรีเมคซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ตราบใดที่ใจมนุษย์ยังรู้สึก “กลัว”.

ลูกโป่งนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลุงตู่
ลูกโป่งของกลุ่มผู้สนับสนุนประชาธิปไตยในวาระรัฐบาล คสช. บริหารประเทศครบ 4 ปี เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2561 (Photo: Jewel SAMAD / AFP)

• อ่านบทความอื่นๆ ในซีรีส์ common TOMORROW

FACT BOX

  • หนังสือปัญญาจารย์ หรือ Ecclesiastes คือหนังสือในคัมภีร์ ภาคพันธสัญญาเดิม เป็นลำดับที่ 4 ในหมวดบทเพลง ผู้เขียนกล่าวถึงตนเพียงว่าเป็นบุตรของกษัตริย์ดาวิดแห่งชนชาติอิสราเอล เนื้อหากล่าวถึงชีวประวัติและประสบการณ์ในชีวิตที่วางใจในพระเจ้า ประกอบด้วย คำอุปมา คำพังเพย และคติพจน์ แต่ละประโยคสะท้อนให้เห็นถึงความหมายของชีวิตและวิธีดำเนินชีวิตอย่างดีที่สุด
Friedrich Nietzsche ฟรีดริช นีทเชอ
ฟรีดริช นีทเชอ (Photo: Wikimedia Commons)
  • ทฤษฎีหวนกลับนิรันดร์ ฟรีดริช นีทเชอ (Friedrich Nietzsche) นักปรัชญาชาวเยอรมันที่ได้รับอิทธิพลจากปรัชญาตะวันออก ได้อุดช่องโหว่วิธีคิดแบบคริสเตียนที่มองประวัติศาสตร์แบบเส้นตรงที่ขัดกับประโยค “ไม่มีอะไรใหม่ใต้ดวงตะวันนี้” ในหนังสือปัญญาจารย์ด้วยปรัชญาวัฏฏะของตะวันออก จนกลายเป็นทฤษฎีหวนกลับนิรันดร์ (Eternal return) ที่เชื่อว่า กาละ เทศะ และกิริยาต่างๆ เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่มีที่สิ้นสุด ทุกสรรพสิ่งเป็นเพียงการหมุนเวียนของเหตุการณ์เดิมๆ ดังใน Thus Spoke Zarathustra มีคำกล่าวว่า ‘All truth is crooked, time itself is a circle.’ คือ อย่าไปเชื่อว่ามันจริงแท้ เพราะมันบิดเบี้ยว ด้วยเวลามันหมุนเวียนมาหลอนเรา แม้ผู้เขียนจะไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของนีทเชอ แต่เห็นคล้อยตามภาษิตโบราณว่าไม่มีอะไรใหม่ใต้ดวงตะวันนี้  และมนุษย์จึงอยู่ในวังวนของการทดลองและทำพลาดครั้งแล้วครั้งเล่า ทางออกของมนุษย์จากวังวนนี้มีแต่การปลดเปลื้องตัวเองทางจิตวิญญาณ ซึ่งมักถูกนักประจักษ์นิยมมองว่าเป็นลัทธิเอาตัวรอดหนีความจริง (แต่ ‘ความจริง’ คืออะไร?) ในทางพุทธศาสนาจึงแบ่งความจริงออกเป็น 2 ระดับ เรียกว่า “ทวิสัตยะ” คือ ความจริงสมมติและความจริงปรมัตถ์ หากยังข้องอยู่กับโลก เราต้องทำชีวิตสมมติให้ดีที่สุด พร้อมกับแสวงหาการหลุดพ้นจากวัฏฏะนิรันดร์ของการทดลองและทำผิดพลาดในทางโลกไปในเวลาเดียวกัน