w©rld

“ถ้าเขาเข้ามาหาฉัน ฉันก็พร้อมจะตายในบ้านของฉันนี่แหละ”

คำเตือน : มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรุนแรง

นนทุคูนินา มเบญญานะ (Photo : GUILLEM SARTORIO / AFP)

หลังจากที่เกิดฆาตกรรมต่อเนื่อง 11 ศพในหมู่บ้าน ช่วงเวลาหลังพระอาทิตย์ตกดินก็ชวนหวาดผวา ผู้หญิงไม่กล้าแม้แต่จะนอนคนเดียว หรือต่อให้มีเพื่อนอยู่ข้างๆ ก็ไม่อาจข่มตาให้หลับลงอย่างสบายใจได้เลย เพราะเหยื่อรายต่อไปอาจเป็นใครก็ได้

การเตรียมใจพร้อมรับความตายของ นนทุคูนินา มเบญญานะ (Nontukunina Mbenyana) ชาวบ้านหญิงชราวัย 82 ปี เจ้าของประโยคข้างบนอาจเป็นหนึ่งในไม่กี่ทางที่ช่วยให้เธอคลายความกังวลและผ่านแต่ละค่ำคืนไปได้ เมื่อต้องอาศัยในหมู่บ้านแห่งนี้

เบื้องหลังทุ่งหญ้าแห้งสีอ่อนที่ปลิวพริ้วในฤดูหนาว มีกระท่อมดินเผาแบบรอนดาเวล (Rondavel) ตั้งอยู่เรียงรายกันแบบไม่มีรั้วรอบขอบชิด ที่นี่คือบ้านหมู่บ้านซิงโคลเวนิ (Zingqolweni) ในเมืองอีสเทิร์นเคป หนึ่งใน 3 เมืองของแอฟริกาใต้ที่มีอัตราอาชญากรรมสูงสูดในประเทศ 

หมู่บ้านแห่งนี้ถูกขนานนามว่าเป็น ‘หมู่บ้านแห่งความตาย’ เพราะเพิ่งเกิดเหตุฆาตกรรมต่อเนื่อง 11 ศพ ทำให้ชาวบ้านอกสั่นขวัญแขวน บางคนอพยพหนีไปอยู่ที่อื่น และพวกผู้หญิงหลายๆ คนโดยเฉพาะคนชราต้องมานอนรวมตัวเป็นเพื่อนกันตอนกลางคืน 

(Photo : GUILLEM SARTORIO / AFP)
โนบงกิเล ฟิลา (Photo : GUILLEM SARTORIO / AFP)

ศพแรกคือแม่ของโนบงกิเล ฟิลา (Nobongile Fihla) หญิงวัย 50 ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน เธอเล่าว่าเห็นแม่นอนจมกองเลือดบริเวณถัดจากประตูบ้าน เมื่อเพ่งมองดีๆ แล้วจึงสังเกตเห็นว่าที่คอของแม่เป็นรอยถูกกรีดด้วยของมีคมอย่างโหดเหี้ยม หลังจากนั้นเพียงไม่นานในกระท่อมหลังเดียวกัน น้าสาวของเธอก็ถูกฆาตกรรมเป็นเหยื่อรายต่อมาด้วยวิธีคล้ายคลึงกัน 

เหตุฆาตกรรมทั้งสองครั้งเกิดขึ้นอย่างเงียบเชียบ ไม่มีเสียงทะเลาะเบาะแว้ง ไม่มีข้าวของเสียหาย ไม่มีใครได้ยินเสียงหรือเห็นเบาะแสอะไร แต่รู้อีกทีหญิงชราก็สิ้นลมหายใจในกองเลือดเสียแล้ว

(Photo : GUILLEM SARTORIO / AFP)
จีนิคายา โกกิ (Photo : GUILLEM SARTORIO / AFP)

หลังจากเหตุการณ์นี้ มีชาย 6 คนถูกจับ ตำรวจสันนิษฐานว่าเป็นการฆ่าชิงทรัพย์ แต่จีนิคายา โกกิ (Gcinikaya Koki) วัย 64 ปีซึ่งเป็นตำรวจท้องถิ่นกลับไม่เห็นด้วย เขาเชื่อว่าเหตุการณ์ครั้งนี้คือฆาตกรรมต่อเนื่องและไม่ได้มีแรงจูงใจมาจากการชิงทรัพย์ เนื่องจากทรัพย์สินในบ้านของผู้ตายยังอยู่ครบถ้วน เงินก็ไม่ได้ถูกขโมยไปแม้แต่บาทเดียว สิ่งที่หลงเหลือทิ้งไว้คือเศษผ้าปริศนาเท่านั้น

หลังจากนั้นหน่วยตำรวจพิเศษก็เข้ามาสืบสวนคดีในพื้นที่หลายครั้งจนได้ข้อสันนิษฐานใหม่ คาดว่าเป็นการฆาตกรรมต่อเนื่องโดยฆาตกรต่อเนื่องคนเดียวกันเพราะเหยื่อเป็นผู้สูงอายุทั้งหมด ฆาตกรใช้มีดแทงหรือปาดคอเหยื่อคล้ายกันทุกศพ และจะก่อเหตุเป็นประจำทุกๆ ต้นเดือน และที่สำคัญคือทุกเคสนั้นไม่พบแรงจูงใจของการฆาตรกรรมเลยจึงมั่นใจว่าอาจมาจากความเกลียดชังคนชราส่วนตัว หรือที่ต้องเป็นคนแก่ก็เพราะลงมือได้ง่าย

และเนื่องจากหมู่บ้านแห่งนี้อยู่อย่างสันโดษ ห่างไกลจากหมู่บ้านข้างเคียงอื่นๆ ตำรวจจึงสันนิษฐานว่าฆาตกรอาจไม่ได้อาศัยอยู่ที่ไหนไกล อาจเป็นคนในหมู่บ้านที่รู้ทุกความเคลื่อนไหวของแต่ละบ้านเป็นอย่างดีอยู่แล้วก็เป็นได้

(Photo : GUILLEM SARTORIO / AFP)
ลูกสาวของนนทุคูนินา มเบญญานะ (Photo : GUILLEM SARTORIO / AFP)
(Photo : GUILLEM SARTORIO / AFP)
บ้านทรงรอนดาเวล (Photo : GUILLEM SARTORIO / AFP)

 

ในแอฟริกาใต้เราฆ่ากันตายง่ายๆ แบบนั้นได้เลยหรือ

คำตอบคือ ‘ใช่’

ทุกๆ 20 นาทีจะมีคนถูกฆาตกรรมในแอฟริกาใต้

(Photo : GUILLEM SARTORIO / AFP)
(Photo : GUILLEM SARTORIO / AFP)

คณะกรรมการตำรวจแอฟริกาใต้เผยว่าช่วงสามเดือนสุดท้ายของปี 2021 อัตราการฆาตกรรมของแอฟริกาใต้เพิ่มขึ้น 8.9 เปอร์เซ็นต์ และจำนวนการฆาตกรรมในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเพิ่มขึ้นถึง 562 คดี

นี่เป็นประเทศแห่งอาชญากรรมอันดับต้นๆ ของโลกและมีประวัติศาสตร์ที่สร้างความขัดแย้งขนาดย่อมๆ อันเป็นเชื้อไฟที่ปะทุให้อาชญากรรมเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา สาเหตุที่กฎหมายอ่อนแอจนอาชญากรรมผุดเป็นดอกเห็ดนั้นเกิดขึ้นด้วยหลายปัจจัยผสมปนเปกันยุ่งเหยิงจนไม่อาจสรุปได้ง่ายๆ 

ประวัติศาสตร์ความรุนแรงของแอฟริกาใต้เริ่มมาตั้งแต่ปี 1948 เมื่อเกิดการแบ่งแยกสีผิวขึ้น และความรุนแรงก็ถูกใช้เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจทางการเมืองตั้งแต่ตอนนั้น

ความรุนแรงในประเทศนี้จึงฝังรากลึกและไม่ได้จำกัดอยู่แค่ความแค้นส่วนตัว อาจเป็นเหตุอันเนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เช่น ความขัดแย้งที่ฝังรากลึกระหว่างผู้คนต่างสีผิว การแย่งชิงทางอำนาจ การชุมนุมเพื่อความยุติธรรมเป็นต้น 

(Photo : GUILLEM SARTORIO / AFP)
(Photo : GUILLEM SARTORIO / AFP)

กรมตำรวจแอฟริกาใต้ (SAPS : South African Police Service) เผยว่าสาเหตุการฆาตกรรมที่พบบ่อยที่สุดในแอฟริกาใต้คือความขัดแย้งและทำให้เกิดบันดาลโทสะ ตามมาด้วยการจราจลจากการชุมนุม และได้สรุปว่าการฆาตกรรมในแอฟริกาใต้นั้นแบ่งออกเป็น 3 แบบหลักๆ คือ

แรงจูงใจส่วนบุคคล เป็นความขัดแย้งส่วนบุคคลหรือการฆ่าแบบอาชญากรรมเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านแห่งความตาย เช่น การฆ่าชิงทรัพย์หรือพลั้งมือฆ่าด้วยบันดาลโทสะ 

แอฟริกาใต้ขึ้นชื่อเรื่องความรุนแรงจากกลุ่มคน แม้แต่บนท้องถนนก็อาจเกิดเหตุการณ์แท็กซี่ยกพวกตีกัน หรือความตายที่เกิดจากการชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม ซึ่งแต่ละเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตำรวจตอบโต้กลับด้วยความรุนแรง ซึ่งไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกวิธีนักและทำให้กลายเป็นวงจรความรุนแรงที่ไม่สิ้นสุด

และ โครงสร้างสังคม เช่น ความรุนแรงที่เกิดจากแอลกอฮอล์ ยาเสพติด ปัญหาความสัมพันธ์ การว่างงานซึ่งนำไปสู่ความตายในที่สุด

(Photo : GUILLEM SARTORIO / AFP)

ส่วนหนึ่งที่ยิ่งสนับสนุนให้ความรุนแรงยิ่งแรงขึ้นไปอีกเป็นเพราะกฎหมายนั้นไม่รัดกุมและอ่อนแอ

คนแอฟริกาใต้พกปืนเดินเล่นได้ง่ายดาย มีอาวุธปืนที่ได้รับใบอนุญาตทั้งหมดราว 4.5 ล้านกระบอก รวมถึงปืนพกอีก 2.8 ล้านกระบอก และรัฐบาลก็คาดว่ายังมีปืนเถื่อนอีกราวๆ 5 แสน หรือบางทีอาจสูงถึงล้านกระบอก เมื่อการรักษาความปลอดภัยอ่อนแอจึงทำให้แต่ละปีมักจะมีข่าวขโมยอาวุธราวเป็นหมื่นๆ ชิ้นเพื่อนำไปขายต่อในตลาดมืด

(Photo : GUILLEM SARTORIO / AFP)

ในหมู่บ้านแห่งความตาย เมื่อวันเวลาล่วงเลยไป คดีนั้นก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะคลี่คลาย ตำรวจหายหน้าไปเหลือไว้เพียงความเงียบงัน ทำให้คนร้ายเริ่มเหิมเกริมอีกครั้ง

คดีฆาตกรรมเกิดขึ้นซ้ำๆ ในหมู่บ้านแห่งเดิม แต่คราวนี้เหยื่อไม่ใช่คนชราอีกต่อไปแต่เป็นเด็กหนุ่มวัยรุ่น  7 คน มีอายุตั้งแต่ 22 – 27 ซึ่งเคยถูกระบุว่าเป็นผู้ต้องสงสัย พวกทั้งหมดถูกฆ่า บางคนถึงกับโดนเผาทั้งเป็นในป่าหลังหมู่บ้าน มีชายผู้ต้องสงสัย 12 คนถูกจับไปสอบสวนแต่ท้ายที่สุดก็ถูกปล่อยตัวออกมาเนื่องจากหลักฐานไม่หนักแน่นพอ

หลังจากที่หมู่บ้านเกิดเหตุซ้ำซ้อนจนเริ่มเป็นข่าวและได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘หมู่บ้านแห่งความตาย’ ก็มีสื่อเข้ามาสนใจเรื่องราวเป็นจำนวนมาก รวมถึงตำรวจเองก็เฝ้าระวังเป็นพิเศษกว่าเมื่อก่อน เป็นเรื่องดีที่อาชญากรรมหายไป

แต่ท้ายที่สุดแล้วกฎหมายของแอฟริกาใต้ก็ยังอ่อนแอเกินกว่าจะหาตัวคนทำผิดมาดำเนินคดีได้ เหตุฆาตกรรมที่น้อยลงนั้นไม่ได้ทำให้ชาวบ้านสบายใจเลย กลับยิ่งหวาดผวาเพราะฆาตกรยังคงลอยนวลอย่างปริศนา

(Photo : GUILLEM SARTORIO / AFP)
(Photo : GUILLEM SARTORIO / AFP)

อ้างอิง