การจรดนิ้วบนแป้นคีย์บอร์ดกลายเป็นกิจวัตรของผู้คนสมัยนี้ไปแล้ว นับตั้งแต่สมาร์ทโฟนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน
หรือแม้แต่การใช้งานบนคอมพิวเตอร์หรือแล็ปท็อปที่กลายเป็นงานง่ายๆ ของผู้คนในยุคนี้
ต่างจากเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว ที่การพิมพ์เป็นเรื่องเฉพาะกิจที่ยุ่งยาก และก่อนจะมาถึงมือประชาชนทั่วไป กิจการงานพิมพ์ถือเป็นเรื่องต้องห้ามที่กระทำได้เฉพาะแวดวงทหารเท่านั้น
และแม้เครื่องพิมพ์ดีดจะกลายเป็นเครื่องทุ่นแรง ที่ช่วยให้การบันทึกข้อความดูเป็นระเบียบเรียบร้อย และเป็นทางการขึ้นกว่าการใช้ลายมือเขียน คนที่จะเข้าถึงเครื่องพิมพ์ดีดจริงๆ ก็มีเฉพาะนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ หรือการใช้งานในสำนักงานเท่านั้น
การได้ยินเสียงพิมพ์ดีดดังต๊อกแต๊กเหมือนข้าวตอกแตก เสียงดังกริ๊งเมื่อพิมพ์จบบรรทัด และเสียงการบรรจงใส่กระดาษเข้าเครื่องและรูดออกมา จึงเป็นเหมือนแดนสนธยาของผู้คนในยุคปัจจุบัน
คนส่วนใหญ่แทบไม่เคยเห็นเครื่องพิมพ์ดีดของจริงด้วยตาตัวเองเลยสักครั้ง
becommon จึงขอพาคุณไปเที่ยวทั่วโลก ผ่านเครื่องพิมพ์ดีดรุ่นโบราณมากหน้าหลายตา ที่ทุกเครื่องใช้งานได้จริง และได้รับการพกพาให้ไปทัวร์ใน 72 ประเทศทั่วโลกมาแล้ว
ก่อนเครื่องพิมพ์ดีดจะออกเดินทาง
Steve Parry คือชายชาวอังกฤษผู้เป็นเจ้าของเครื่องพิมพ์ดีดโบราณเกือบ 30 เครื่อง โดยทั้งหมดล้วนเป็นเครื่องพิมพ์ดีดที่ผลิตขึ้นในระหว่างยุค 1920-1960 ที่ถือเป็นยุครุ่งเรืองของเครื่องพิมพ์ดีด ก่อนจะถูกคอมพิวเตอร์ยึดพื้นที่ไปในที่สุด
จุดเริ่มต้นในการสะสมเครื่องพิมพ์ดีดของสตีฟ เกิดขึ้นที่ความสูง 35,000 ฟุตเหนือพื้นดิน บนสายการบินคาเธย์แปซิฟิค ไฟลท์ฮ่องกง – ซานฟรานซิสโก เมื่อสตีฟเลือกดูภาพยนตร์สารคดีเรื่อง California Typewriter เพื่อฆ่าเวลาหลายชั่วโมงที่ต้องจับเจ่าบนเครื่องบิน
เรื่องจริงของเหล่าผู้คนในหลากหลายอาชีพที่ยังคงใช้พิมพ์ดีดในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นคนดังอย่างทอม แฮงส์ หรือจอห์น เมเยอร์ สร้างแรงบันดาลใจอย่างแรงกล้าให้สตีฟออกตามหาพิมพ์ดีดเครื่องแรกในชีวิตมาครอง
Love at First Type
เขาพบรักกับพิมพ์ดีด Hermes 3000 รุ่นปี 1968 ที่วางขายอยู่ในกรุงนิวยอร์ค ในตอนที่เขากำลังฆ่าเวลา (อีกแล้ว) ระหว่างการเดินทางไปเมือง Pau ประเทศฝรั่งเศส เขาหลงใหลในพิมพ์ดีดขนาดแคร่ 13 นิ้วสีเขียวมิ้นต์ที่ยังใช้งานได้ดีเครื่องนี้ทันที
สําหรับผู้ที่เกิดในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง หรือประกอบอาชีพที่ต้องใช้พิมพ์ดีด จะทราบดีว่า “แอร์เมส” ไม่ใช่ชื่อกระเป๋า แต่เป็นแบรนด์เครื่องพิมพ์ดีดที่โด่งดังและมีประวัติยาวนาน ผลิตโดย E. Paillard& Company ของสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเคยทำนาฬิกาและกล่องดนตรีมาตั้งแต่เมื่อ 200 ปีที่แล้ว และหันมาผลิตเครื่องพิมพ์ดีดช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 จนครองสถานะผู้ผลิตรายใหญ่ในยุโรป
จากการได้ลองใช้งานจริง สตีฟเทคะแนนให้ Hermes 3000 เป็นเครื่องพิมพ์ดีดที่เหมาะสำหรับนักเขียนเป็นอย่างยิ่ง (แม้เขาจะออกตัวว่าตนไม่ใช่นักเขียนมืออาชีพก็ตาม) ตัวเครื่องผลิตโดย Paillard บริษัทผลิตเครื่องพิมพ์ดีดชั้นนำที่ใส่ทุกนวัตกรรมที่จำเป็นในเครื่องพิมพ์ดีดยุคนั้นไว้ใน Hermes 3000 แบบครบครัน ทำให้นอกจากจะดีไซน์สวยไม่สร่างแล้ว สัมผัสของการลงน้ำหนักนิ้วบนแป้นพิมพ์แต่ละตัวยังนุ่มนวล ชวนให้การพิมพ์เพลิดเพลิน ไม่มีสะดุด และไม่ต้องออกแรงนิ้วเพื่อกดแป้นพิมพ์มากนัก
แต่ด้วยขนาดที่ใหญ่เทอะทะของ Hermes 3000 และน้ำหนักที่มากเกินกว่าจะพกติดตัวไปด้วยขณะเดินทาง ซึ่งด้วยงานและแพสชั่นส่วนตัวของเขาทำให้ต้องออกเดินทางอยู่บ่อยๆ สตีฟจึงต้องตามหาเครื่องพิมพ์ดีดน้ำหนักเบาและมีฟังก์ชันเหมาะกับการพกพาอีกเครื่อง
ก่อนที่จะตามมาด้วยการสะสมเครื่องพิมพ์ดีดโบราณอีกเป็นพรวน ที่สตีฟคงยังไม่จบที่เครื่องไหนเป็นเครื่องสุดท้ายง่ายๆ
9 เครื่องพิมพ์ดีดรุ่นพกพาที่ดีที่สุด
จากประสบการณ์พกพาเครื่องพิมพ์ดีดเดินทางไปเยือน 72 ประเทศทั่วโลก สตีฟพบว่า เครื่องพิมพ์ดีด 2 รุ่นที่มีน้ำหนักเบา และเหมาะแก่การเดินทางที่สุด ก็คือ Hermes Baby และ Smith Corona Skyriter ที่มีขนาดและน้ำหนักเท่ากันคือ 3.2 กิโลกรัม (หรือ 3.4 กิโลกรัมเมื่อใส่เคส)
โดยเฉพาะ Hermes Baby ที่เป็นรุ่นแรกของพิมพ์ดีดกระเป๋าหิ้ว และมีแป้นอักษรสี่แถว สร้างขึ้นเพื่อเจาะตลาดของพิมพ์ดีดขนาดเล็ก ทำให้เป็นที่นิยมในหมู่นักเขียน คนดัง และนักข่าวในยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็นฟรองซัวส์ ซากาน, โจเซฟ บรอดสกี้, จอห์น สไตน์เบค, เฟรเดอริก ฟอร์ไซต์ และวิลเลียม เอส. โบโรส์ ต่างก็เคยใช้ Hermes Baby กันทั้งนั้น
แต่สำหรับทริปไหนที่เขานึกครึ้มอกครึ้มใจพอที่จะยอมแบกน้ำหนักมากขึ้นมาอีกนิด เพื่อขนเครื่องพิมพ์ดีดที่แข็งแรง สมบุกสมบันติดตัวไปด้วย หลายครั้งที่เขาเลือก Gossen Tippa ที่มาพร้อมกระเป๋าหนังแท้ดีไซน์เฉพาะตัว สะดวกแก่การพกพามากยิ่งขึ้น
หลายครั้งอีกเช่นกันที่สตีฟยอมแบกน้ำหนักมากขึ้นอีก 1 กิโลกรัม เพื่อยอมแลกกับการพกเครื่องพิมพ์ดีดสุดแข็งแกร่ง สะเทินน้ำสะเทินบกอย่าง Olympia 66 และ Olympia 99 ที่ใช้งานได้อเนกประสงค์กว่า เพราะถูกผลิตมาเพื่อการใช้งานบนโต๊ะทำงานโดยเฉพาะ
รวมถึง Brother De Luxe และ Olivetti Lettera 32 ที่ใช้งานได้อย่างอเนกประสงค์ และให้ความรู้สึกที่พิเศษมากขณะพิมพ์ โดยเฉพาะ Lettera 32 ที่ได้ชื่อว่าเป็นแล็ปท็อปรุ่นโบราณ หรือ Ancient Laptop เพราะมีด้านล่างที่ปิดทึบ ทำให้วางบนตักได้ นับเป็นพิมพ์ดีดกระเป๋าหิ้วที่แข็งแรงทนทานมาก
แม้ Corona 3 จะไม่ใช่พิมพ์ดีดที่เหมาะแก่การพกพา เพราะข้อเสียคือ ตัวเครื่องต้องเก็บในเคสเฉพาะตัวที่รูปร่างเทอะทะจนไม่สามารถแพ็คใส่กระเป๋าเป้ขนาดทั่วไปได้ และต้องถืออย่างระมัดระวัง แต่สตีฟก็ยังเลือกพกไปด้วยเป็นอันดับต้นๆ เพราะให้ความรู้สึกที่พิเศษสุดขณะพิมพ์
Underwood Standard Portable เป็นอีกรุ่นที่พกพายาก แต่สตีฟก็ยอมลำบากที่พาไปด้วยในหลายๆ ที่บนโลกใบนี้ ด้วยศักดิ์ศรีของแบรนด์เครื่องพิมพ์ดีดเก่าแก่ที่ได้รับการยอมรับให้ใช้งานในระหว่างสงครามโลก คือ เครื่องหมายการันตีถึงความสมบุกสมบันที่พร้อมจะเดินทางไปกับสตีฟทุกพื้นที่บนโลกนั่นเอง
ยังมีเครื่องพิมพ์ดีดวินเทจอีกหลากยี่ห้อ หลายดีไซน์ ที่สตีฟช่วยคืนชีวิตให้อดีตเครื่องพิมพ์ของมนุษยชาติ ด้วยการพกพาเครื่องพิมพ์ดีดติดตัวไปทัวร์ทั่วโลกกับเขา พร้อมทั้งใช้งานจริงทุกเครื่อง อย่างน้อยก็เพื่ออนุรักษ์ให้เทคโนโลยีการพิมพ์แบบดั้งเดิมยังพอมีลมหายใจต่อไป
ติดตามการเดินทางของเครื่องพิมพ์ดีดโบราณกันต่อได้ทางอินสตาแกรม instagram.com/typewritertraveler/
หรือใครอยากเป็นเจ้าของเครื่องพิมพ์ดีดโบราณสักเครื่อง ศึกษาวิธีเลือกซื้อที่สตีฟแชร์ทิปส์สู่กันฟังแบบไม่หวงเครื่องได้ที่ www.typewritertraveler.com/