กำลังกินข้าวหน้าคอมพิวเตอร์ หรือกินข้าวคนเดียวกันอยู่หรือเปล่า
ถ้าคำตอบคือใช่ เราไม่ตัดสินว่าพฤติกรรมนี้เป็นเรื่องผิด
แต่ในโลกยุคปัจจุบันที่ผู้คนใช้ชีวิตในออฟฟิศมากกว่าที่บ้าน
‘วัฒนธรรมการกินอาหารในที่ทำงาน’ ถือเป็นเรื่องต้องใส่ใจ
เพราะ ‘อาหาร’ เป็นปัจจัยสี่ที่ให้มากกว่าความอร่อย
แต่ยังมอบคุณค่าด้านอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการทำงานและความสำเร็จขององค์กรไม่มากก็น้อย
‘Desktop Dining’ ปัญหาใหญ่ในออฟฟิศยุคใหม่
เมื่อชีวิตเข้าสู่ยุค work-life integration ที่มีแนวคิดการทำงานผสานกับการใช้ชีวิตเข้าด้วยกัน การกินข้าวเช้าหรือมื้อกลางวันหน้าคอมพิวเตอร์ อาจเป็นเรื่องปกติของคนรุ่นใหม่
รายงานของ The New York Times Magazine ปี 2016 ระบุว่า ชาวอเมริกันวัยทำงานเลือกกินอาหารแบบด่วนๆ เพียงลำพังหน้าคอมพิวเตอร์ เป็นตัวเลขสูงถึง 62% โดยพวกเขาอาจทำงานเล็กๆ น้อยๆ อย่างการเช็กอีเมลหรือดูโซเชียลมีเดียไปพร้อมๆ กัน
นักสังคมวิทยาตั้งชื่อให้ปรากฏการณ์นี้ว่า ‘desktop dining’
นอกจากนี้ หลายออฟฟิศในอเมริกายังจัดตู้กดขนมขบเคี้ยวให้พนักงาน ซึ่งมีจำนวนรวมกว่า 5 ล้านตู้ แต่มักเป็นขนมประเภทจังก์ฟู้ด หรือไม่มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ ทำให้คนทำงานหลายคนสุขภาพแย่ลงในระยะยาว
ออกแบบวัฒนธรรมกินอาหารในออฟฟิศ โดย Workplace Food Designer
เวโรนิก้า ฟอซซ่า (Veronica Fossa) ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารชาวอิตาเลี่ยน เห็นถึงปัญหาที่เธอนิยามว่า ‘toxic food culture’ ในหลายออฟฟิศ เธอจึงมุ่งมั่นทำงานในฐานะ ‘Workplace Food Designer’ หรือนักออกแบบอาหารสำหรับที่ทำงาน ซึ่งถือเป็นอาชีพใหม่ที่ช่วยให้พนักงานเห็นถึงความสำคัญของการกินมากขึ้น
“อาหารเป็นมากกว่าเชื้อเพลิงให้ร่างกายคนเรา บริษัทต่างๆ จึงควรให้ความสำคัญกับการกินของพนักงานมากกว่าแค่การจัดพื้นที่ และนอกจากเรื่องคุณภาพของอาหาร ยังควรใส่ใจไปถึงการสร้างวัฒนธรรมการกินอาหารที่มีประโยชน์ร่วมกันระหว่างคนในออฟฟิศ”
งานของเวโรนิก้า คือการสำรวจ ให้ความรู้ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รวมถึงวัฒนธรรมการกินในองค์กรหลายแห่ง โดยเริ่มต้นจากตั้งเป้าหมายที่ต้องการร่วมกันกับทางบริษัท และเข้าไปทำแบบทดสอบที่เรียกว่า Workplace Food Check ร่วมกับพนักงาน ซึ่งมีคำถามเกี่ยวกับการกินอาหารในออฟฟิศทุกคน เช่น ในเครื่องขายขนมขบเคี้ยวมีของมีประโยชน์ไหม ที่ออฟฟิศมีพื้นที่ให้พนักงานกินอาหารร่วมกันหรือไม่ พนักงานลางานเพราะมีปัญหาสุขภาพบ้างไหม
หลักจากนั้นเวโรนิก้าจะสรุปรายงาน เพื่อร่วมกันวางแผนแก้ปัญหาเรื่องอาหารการกินของพนักงานทีละขั้นตอน โดยแต่ละบริษัทมีกระบวนการที่แตกต่างกัน เช่น บางบริษัทจัดเวิร์คช้อปให้ความรู้เรื่องเรื่องการกินอาหารที่กระทบกับการทำงาน จัดงานอีเวนต์เล็กๆ และสาธิตการชงและดื่มกาแฟอย่างมีคุณภาพ หรือออกแบบโปรแกรมที่กระตุ้นให้พนักงานอยากมากินอาหารร่วมกันมากขึ้น เช่น จัดเชฟชื่อดังมาปรุงอาหารให้ทานสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง
จากการทำงานเธอพบว่าการกินอาหารกลางวันโดยลำพังหน้าคอมพิวเตอร์ แม้จะเพิ่มเวลาทำงาน แต่ได้ประสิทธิภาพเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะไม่สามารถโฟกัสได้อย่างเต็มที่ ที่สำคัญคือ เราจะสูญเสียช่วงเวลาที่จะได้ปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ
“ช่วงเวลาที่ได้กินข้าวร่วมกับเพื่อนร่วมงานหรือคนในทีม ถือเป็นช่วงเวลาที่หนุ่มสาวออฟฟิศจะได้ลดความเครียดหรือความกดดันจากการทำงาน เพราะมีโอกาสพูดคุยเรื่องงานในบรรยากาศที่ผ่อนคลายและเป็นกันเองกับเพื่อนร่วมงานทุกระดับ หรือแสดงความคิดเห็นข้ามสายงานกันได้ทุกตำแหน่ง
“หลายองค์กรอาจคิดว่า เรื่องอาหารการกินในที่ทำงานไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ แต่จริงๆ แล้ว การสังสรรค์ร่วมกันผ่านอาหาร ช่วยให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในหมู่พนักงานด้วยกัน ทุกคนจะได้บอกเล่าเรื่องส่วนตัวผสมผสานกับเรื่องงานโดยไม่รู้สึกติดขัด ซึ่งส่งผลดีต่อการทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะระหว่างแผนก เพราะเมื่อทุกคนมีความคุ้นเคยกันผ่านการทานอาหาร ก็จะทำให้การทำงานของทีมมีประสิทธิภาพมากขึ้น แน่นอนว่าย่อมส่งผลให้ธุรกิจของบริษัทเติบโตขึ้นตามไปด้วย”
‘เรื่องกิน’ เรื่องใหญ่ในออฟฟิศ
ปัจจุบันมีบริษัทระดับโลกหลายแห่งให้ความสนใจวัฒนธรรมการกินอาหารร่วมกันในหลากหลายรูปแบบ เพราะมองเห็นผลลัพธ์ที่ให้ประโยชน์ต่อตัวพนักงานและสร้างผลกำไรให้องค์กรในระยะยาวด้วย
- Soulbottles บริษัทสตาร์ทอัพชื่อดังที่ตั้งอยู่ในกรุงเบอร์ลิน ผู้สร้างสรรค์ไอเดียลดการใช้ขวดพลาสติก ที่นี่จัดให้พนักงานได้ทำอาหารร่วมกันสัปดาห์ละครั้ง เพื่อให้คนที่มีทักษะการทำอาหารได้โชว์ฝีมือ และทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงานที่เน้นทีมเวิร์ค
- FELFEL บริษัทสตาร์ทอัพจากสวิตเซอร์แลนด์ ผู้ให้บริการจัดอาหารที่มีคุณภาพ สด ใหม่ ส่งตรงให้องค์กรต่างๆ ทุกวัน ซึ่งแน่นอนว่าทางบริษัท FELFEL ต้องให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมการกินของพนักงาน โดยคัดสรรเมนูที่เต็มไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการและเลือกสรรให้เหมาะสมกับแต่ละคน
- Air BNB (ใส่ลิ้งก์บริษัท https://www.airbnb.com) สตาร์อัพระดับโลกอย่าง Air BNB ให้ความสำคัญกับพนักงานในทุกด้าน รวมทั้งเรื่องอาหารการกิน ทุกสัปดาห์ทางบริษัทจะจัดหาและคัดเลือกรถขายอาหารหรือฟู้ดทรัคที่ปรุงอาหารที่มีคุณภาพ เพื่อให้พนักงานได้มาลิ้มลองของอร่อย พร้อมสังสรรค์พูดคุยกัน
บริษัทเหล่านี้ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การออกแบบ ‘วัฒนธรรมการกินอาหารร่วมกันในที่ทำงาน’ เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สร้างทีมเวิร์คและเพิ่มความสุขในออฟฟิศ โดยเฉพาะในบริษัทที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ
เพราะไม่ว่าจะผ่านกี่ยุคสมัย ‘อาหาร’ ก็ยังคงเชื่อมโยงผู้คนได้อย่างไร้รอยต่อ.
อ้างอิง:
- We Factory. What Does it Mean to Work as a Workplace Food Designer?.http://bit.ly/2Iu2lRI
- Veronica Fossa. Who is a Workplace Eating Designer?.http://bit.ly/2Xdsit5
- Green Me Berlin.soulbottles: A Soul-Driven Startup Against Plastic Waste.http://bit.ly/2IgVPOM
- Monika Jiang. Food & The Workplace Culture: You are what you eat.http://bit.ly/2X3HybG