w©rld

ปี 2019 เรากำลังอยู่ในโลกที่คนสนใจแต่ ‘ผลลัพธ์’

เงิน วัตถุสิ่งของ หรือสถานะบางอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงความร่ำรวย กำลังกลายเป็นผลลัพธ์หรือหน่วยวัดเดียวที่เราใช้

ความจริงแล้ว ความรวยไม่ใช่เรื่องผิด แต่การคิดว่า ‘เงิน’ คือหน่วยวัดความสำเร็จเดียวที่โลกใบนี้คือความคิดที่น่ากลัว

เพราะจะทำให้เราตกเป็น ‘เหยื่อ’ ของความสุขลวงตาในโลกสมัยใหม่

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

(Photo: izismile.com)

ลองหยิบโทรศัพท์ขึ้นมา แล้วเปิดโซเชียลมีเดีย คุณเห็นไหม ผู้คนกำลังกู่ก้องบอกเล่าผลลัพธ์ของพวกเขาผ่านภาพที่แสดงถึงความสุขความสำเร็จ

แต่ลึกๆ เราทุกคนรู้ดีว่านั่นเป็นเพียงผลลัพธ์ที่ผ่านการ ‘เลือกสรร’ และออกจากไกลจากความเป็นจริงของชีวิต

ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม เราต่างผูกติดตัวเองเข้ากับผลลัพธ์เหล่านั้น (ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือเราพยายามปั้นแต่งขึ้นมาก็ตาม) แล้วเราก็พยายามดิ้นรนสร้างผลลัพธ์เหล่านั้นขึ้นมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อโชว์กันและกัน

(Photo: drollfun.xyz)

ทว่าเมื่อเอา ‘ผลลัพธ์’ เป็นที่ตั้ง เราจึงมองแต่ผลลัพธ์ จนลืมนึกถึงวิธีการ

ด้วยเหตุนี้ที่เวลาเห็นคนรวย เราจึงยกย่อง มากกว่าจะสนใจว่าเงินของคุณมาจากไหน?

เช่นเดียวกับธุรกิจทุกวันนี้ที่มักตั้งผลลัพธ์เป็นโจทย์ใหญ่ว่าจะต้องมีผลกำไรเท่านั้นเท่านี้ หรือเปิดบริษัทมาวันแรกก็คิดว่าจะทำอย่างไรให้เข้าตลาดหุ้น

คงไม่เป็นการพูดแรงเกินไป ถ้าจะบอกว่าเรากำลังสนใจกับผลลัพธ์ จนลืมสิ่งสำคัญที่สุดที่เรียกว่า ‘กระบวนการ’

ทำไมผลลัพธ์ถึงไม่สำคัญเท่ากระบวนการ

ถึงตรงนี้ผมอยากยกตัวอย่างสั้นๆ เช่น บิตคอยน์ (Bitcoin) สกุลเงินดิจิทัลที่ช่วงหนึ่งเคยได้รับความสนใจจากนักลงทุนและคนทั่วไป หลังราคาพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 19,666 เหรียญสหรัฐต่อ 1 บิตคอยน์ (ธ.ค. 2017)

ขณะที่ราคา ณ วันที่ 8 พ.ค. 2019 อยู่ที่ 5,853.26 เหรียญสหรัฐต่อ 1 บิตคอยน์

หลายคนบอกว่าควรจะซื้อตั้งแต่ตอนที่ราคาบิตคอยน์ยังต่ำมาก

ถ้ามีคนถามว่าผมจะเสียดายไหมที่ไม่ได้ซื้อไว้ตั้งแต่ช่วงแรกๆ

ผมตอบได้ทันทีว่าไม่เสียดาย เพราะผมเชื่อว่าถ้าเข้าใจ ‘กระบวนการ’ การขึ้นและลงของราคาบิตคอยน์ เราจะซื้อช่วงเวลาไหนก็ได้

ลองมาดูสถิติการขยับขึ้นลงของราคาบิตคอยน์กันครับ

ราคาบิตคอยน์จากปี 2013 ถึงวันที่ 8 พ.ค. 2019

จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นว่ากระบวนการคือตัวแปรที่สร้างผลลัพธ์ ถ้ากระบวนการดี ผลลัพธ์ย่อมเกิดขึ้น ไม่ว่าเราจะสนใจผลลัพธ์หรือไม่ก็ตาม

คำถามสำคัญคือ เราจะสร้างกระบวนการที่ดี (เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ต้องการ) ได้อย่างไร?

แล้วกระบวนการที่ดีเกิดขึ้นได้อย่างไร?

สำหรับผม ‘คำถาม’ คือสิ่งสำคัญในขั้นตอนการค้นหากระบวนการ

เพราะกระบวนการจะเกิดขึ้นได้ ต้องรู้ทิศทางที่จะไป

จะรู้ทิศทางได้ ต้องรู้จุดมุ่งหมาย

จะรู้จุดมุ่งหมายได้ ต้องรู้ว่า เราเกิดมาเพื่ออะไร?

 

การตอบคำถามนี้ สำหรับผมเป็นขั้นตอนแรกของการหากระบวนการ แม้จะเป็นคำถามที่ตอบไม่ง่าย แต่ก็ใช่ว่าจะตอบไม่ได้

ผมคิดว่ามีวิธีคิดในการตอบคำถามนี้ 2 วิธี

1. เราดำรงอยู่เพื่อส่งมอบอะไร และให้ใคร (What do you stand for?)

เพื่อให้เห็นภาพ ผมขอยกตัวอย่างคลินิกศัลยกรรมความงามชื่อ มาสเตอร์พีซ คลินิก คลินิกแห่งนี้มองว่าตัวเองเป็น ‘ตัวกลาง’ ระหว่างหมอกับลูกค้า และเกิดมาเพื่อทำให้หมอซึ่งเป็นผู้ให้บริการมีความสุข

ดังนั้นสิ่งที่คลินิกนี้ต้องทำคือทำให้หมอมีความสุข เพื่อให้หมอทำให้ลูกค้ามีความสุข เมื่อหมอมีความสุข ลูกค้าย่อมมีความสุข พอทั้งสองฝ่ายมีความสุข คลินิกแห่งนี้ก็จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

สมมติคลินิกมีหมอ 50 คน หมอก็จะชวนหมอคนที่ 51 52 53… เข้ามา แต่การจะทำได้แบบนี้แปลว่าคลินิกต้องมีระบบหรือแพลตฟอร์มที่ดีพอที่จะดูแลหมอให้มีความสุข

จากตัวอย่าง จะเห็นว่าคลินิกแห่งนี้มองตัวเองเป็น ‘ตัวกลาง’ ที่จะทำให้หมอมีความสุขเพื่อสร้างความสุขให้ลูกค้า และรู้ว่าการจะทำได้ต้องมีแพลตฟอร์มที่ดี พอรู้จุดมุ่งหมายก็จะเห็นทิศทางและเกิดคำถามว่า เราจะสร้างแพลตฟอร์มที่ทำให้หมอมีความสุขได้อย่างไร?

ซึ่งคำถามนี้เองจะเป็นตัวสร้าง ‘กระบวนการ’ ให้เกิดขึ้น

2. อะไรคือสิ่งที่เราตื่นมาแล้วทำได้ทุกวัน แม้ว่าจะไม่ได้เงินก็ตาม (What are you really passionate about?)

ถ้าคุณตอบตัวเองได้ คุณจะมีความสุขระหว่างทางที่ทำงาน แม้ว่าจะยังไม่ได้ผลลัพธ์ที่หวัง

แต่ถ้ายังตอบไม่ได้ ไม่แน่ตอนนี้คุณอาจเป็นคนแบบที่หนังสือ วิชาความสุขที่มีสอนแค่ในฮาร์วาร์ด ระบุว่าหลายคนชอบเอาความสุขไปแขวนที่ความสำเร็จ แล้วยอมดิ้นรนทุกอย่าง แบกรับ ฟาดฟัน ทนทรหด ทุกข์ทรมานเพื่อให้ไปถึงตรงนั้น

(Photo: medium.com | @nuinattapon)

พอถึงก็ ‘เยส!’ อะดรีนาลินหลั่ง แล้วก็ตั้งเป้าหมายใหม่ แล้วก็อดทนระหว่างทางเพื่อให้ไปถึงจุดหมายอีกครั้ง

สำหรับผม การมีชีวิตแบบนั้นไม่ต่างอะไรกับ ‘หนูวิ่งแข่ง’ ทำงานหนัก อดทน ดิ้นรน เพื่อจะมีความสุขชั่วคราวเมื่อถึงเส้นชัย จากนั้นก็ต้องกลับไปทำงานหนักอีกครั้งเพื่อวิ่งเข้าสู่เส้นชัยใหม่ๆ

มันคือ ‘การทำสิ่งที่ทรมานในปัจจุบัน เพื่อความสุขในอนาคต’

กลับกัน ถ้าคุณมีแพสชันกับสิ่งที่ทำ คุณจะมี ‘ความสุขระหว่างทาง’ แม้ว่าตอนนั้นสิ่งที่คุณทำจะยังไม่สำเร็จก็ตาม

ความรู้สึกในการทำงานแบบนี้อธิบายได้ด้วย ‘แบบจำลองเพศสัมพันธ์’ ที่เปรียบเทียบชีวิตการทำงานว่าควรเหมือนการมีเพศสัมพันธ์ คือมีความสุขไปตลอดระหว่างทางจนถึงจุดสุดยอด

คู่รักชาวเปอร์เซียน โดย Reza Abbasi (ค.ศ.1629-1630)

เราก็จะมีความสุขที่สุด เพราะถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้

ถ้าเราทำงานได้เหมือนกับที่มีเพศสัมพันธ์ หรือถ้าเราค้นพบงานที่ทำให้เรารู้สึกได้แบบนั้น

การหาคำตอบว่า ‘เราเกิดมาเพื่ออะไร?’ ที่จะนำไปสู่ ‘กระบวนการ’ คงไม่ใช่ปัญหา

ในฐานะคนทำงาน ถ้าคุณพบคำตอบว่าเกิดมาเพื่ออะไร? หลังจากนี้คุณก็แค่จัดการตัวเองเพื่อหากระบวนการที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่คาดหวัง

แต่ถ้าเป็น ‘องค์กร’ สิ่งที่ผู้บริหารหรือเจ้าขององค์กรต้องทำคือทำให้พนักงานทุกคนมีเป้าหมายร่วมกัน

คำถามคือแล้วจะทำอย่างไร.

อ่านต่อ…

เรียบเรียง: วชิรวิชญ์ กิติชาติพรพัฒน์